รายงานสถานการณ์ตลาดสินค้าครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคโทรนิคส์ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 11, 2010 15:26 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ขนาดตลาด

นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินเมื่อปี 2551 ตามด้วยวิกฤติเศรษฐกิจโลก 2552 ส่งผลให้ภาวะตลาดสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ของปีที่ผ่านมาค่อนข้างซบเซา กอรปกับที่ รัฐบาลดูไบประกาศเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2552 เพื่อขอพักชำระหนี้ ฉุดให้สถานการณ์เศรษฐกิจดูไบที่เริ่มกระเตื้องขึ้นกลับดิ่งลงไปอีก

ปี 2553 หลายประเทศทั่วโลกคาดหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวเป็นรูปเป็นร่างให้เห็น แต่จากข้อเท็จจริงภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเฉพาะดูไบยังดูเลือนราง ภาวะตลาดหุ้นที่ยังไร้เสถียรภาพ อีกทั้งวิกฤติด้านการเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม และความไม่สงบของประเทศใกล้เคียงพร้อมที่จะฉุดให้การฟื้นตัวชะลอออกไปอีกในระยะครึ่งปีแรก แต่คาดว่าหลังจากการชำระหนี้ที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐอาบูดาบี คาดในช่วงไตรมาสสุดท้ายจะมีอัตราการขยายเพิ่มขึ้น

กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมรัฐดูไบ (Dubai Chamber of Commerce and Industry) คาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาสแรกปี 2010 ตลาดรวมเครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีอัตราการเติบโตเพียง 5-7% ซึ่งถือว่าเติบโตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สำหรับสินค้าที่เป็นตัวชูโรงของตลาดได้แก่ สินค้ากลุ่ม 3G mobile handsets, smart-phones, โน้ตบุ๊ค ส่วนสินค้ากลุ่มภาพและเสียงมี ทีวีแอลซีดี เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก นอกจากนั้นได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องซักผ้า/อบผ้า ที่มีโอกาสจะเติบโตได้อีก

รัฐดูไบนำเข้าสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคโทรนิส์คิดเป็นร้อยละ 80 ของการนำเข้าทั้งสิ้น จึงเป็นศูนย์กลางนำเข้าและส่งออกต่อ (Re-export) เครื่องใช้ไฟฟ้าของประเทศสหรัฐอาหรับฯและของภูมิภาคตะวันออกกลาง รัฐบาลดูไบเตรียมความพร้อมที่จะดำเนินมาตรการและนโยบายใหม่ๆ เพิ่มเติมลงไปในเศรษฐกิจ ได้จัดสร้างและบริหารงานด้านโลจิสติกส์ให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับขนส่ง

ส่วนตลาดในประเทศมีจำนวนห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้นใหม่หลายแห่ง การเพิ่มตัวของจำนวนประชากรและนักท่องเที่ยว จะส่งผลให้ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคโทรนิคส์ขยายตัว กระทรวงพาณิชย์ฯของดูไบคาดว่าธุรกิจนี้จะสามารถขยายขึ้นได้เป็นมูลค่า 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2013

การผลิต

มีโรงงานประกอบเครื่องปรับอากาศ คอมพิวเตอร์ ในเขตอุตสาหกรรมพิเศษจีเบลอาลีสำหรับส่งออก แต่ยังไม่เป็นที่นิยมซื้อหาในประเทศ เพราะลูกค้าให้ความมั่นใจกับยี่ห้อสินค้ายี่ห้อดังจากญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนครองตลาดมากกว่าร้อยละ 60

การบริโภค & พฤติกรรมผู้บริโภค

ในครึ่งหลังปี 2010 คาดว่าสถานการณ์จะไม่เลวร้ายนัก สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคโทรนิคส์แต่ละแบรนด์จะวางแผนและปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เช่น พัฒนาสินค้าและอินโนเวชั่นใหม่ๆ การแข่งขันด้านราคาจะลดน้อยลงเพราะทำไปแล้วไม่ได้กำไรไม่คุ้มกับการลงทุน และไม่ได้ส่งผลดีต่อแบรนด์และตลาด แต่ผู้ผลิตจะหันไปแข่งขันเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองกระแสของการดูแลสิ่งแวดล้อม หรือ Green Product ทัศนคติของผู้บริโภคยังยึดติดอยู่กับแบรนด์ดังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงถึงระดับกลาง(บน) ถ้าเป็นกลุ่มผู้ซื้อระดับกลางทั่วไปที่มีความต้องการสินค้าเพื่อใช้งานจริงจะไม่ยึดติดอยู่กับแบรนด์มากนักแต่จะดูที่คุณภาพของสินค้าและราคา ส่วนลูกค้ากำลังการซื้อน้อยมักจะพิจารณาราคาสินค้าเป็นสำคัญ

ในสภาวะเศรษฐกิจที่กดดันภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภค เชื่อว่าตลาดสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เช่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น จะยังเติบโตเพราะเป็นสิ่งที่ตรงกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุค สามารถให้ชีวิตประจำวันมีความสะดวกสบาย อีกทั้งประหยัดเวลาสำหรับชีวิตในปัจจุบันที่เวลาน้อยลง

การนำเข้า

ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นำเข้าสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคโทรนิคส์ ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมามีดังนี้

ปี 2006 มูลค่า 7,754 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปี 2007 มูลค่า 10,205 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25

ปี 2008 มูลค่าประมาณ 14,303 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 41

โดยนำเข้าจากประเทศ จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน เกาหลีใต้ ฮังการี ซาอุดิอาระเบีย ฟินแลนด์ อังกฤษ และอเมริกา ตามลำดับ และนำเข้าจากไทยมูลค่ามากเป็นอันดับที่ 17

การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้จากไทยไปยูเออี พอสรุปได้ดังนี้

ปี 2006 มูลค่า 1,407 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปี 2007 มูลค่า 2,210 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 50

ปี 2008 มูลค่าประมาณ 2,794 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 426

ปี 2009 (เดือนมกราคม-พฤศจิกายน ) มูลค่า 2,219 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราการขยายตัวลดลงร้อยละ 15 เมือเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 15 เมือเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

การส่งออกต่อ (Re-export)

ตลาดหลักที่ส่งออกต่อคือ ประเทศอิหร่าน อิรัค รัสเซีย เยเมน คาซัคสถาน ปากีสถาน และซาอุดิอาระเบีย มูลค่าส่งออกต่อปี 2008 ทั้งสิ้น 3,938 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการขยายตัวลดลงร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับมูลค่า 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐที่ส่งออกต่อปี 2007

การส่งออกต่อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2010 นี้คาดว่ามูลค่าจะมีอัตราขยายตัวลดลงในช่วงไตรมาสแรก และจะสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในไตรมาสสุดท้าย สินค้าที่ส่งออกจะเป็นสินค้าราคาไม่สูง เช่น ไอที อุปกรณ์สื่อสารแต่ทั้งนีจะต้องมีเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อจูงใจผู้บริโภค

ช่องทางการจำหน่าย

ช่องทางการนำเข้าไม่ซับซ้อน บริษัทผู้ผลิตสินค้า Global brands ตั้งสำนักงาน Logistic ในเขตอุตสาหกรรมพิเศษจีเบลอาลีในดูไบเป็น Distributor นำเข้าสินค้าเพื่อจำหน่ายในยูเออีหรือส่งออกต่อไปประเทศอื่นๆใกล้เคียง เอเซียกลาง และประเทศในอัฟริกา

          - ผู้นำเข้า/ค้าส่ง           ร้อยละ  :    70
          - ร้านค้าปลีก              ร้อยละ  :    40

การค้าในประเทศ ราคาขายปลีก

สินค้าเครื่องทำความเย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการในตลาดมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในรัฐอาบูดาบีที่มีโครงการก่อสร้างต่างๆยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการลงทุนภาคสาธารณะเพื่อชดเชยการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ลดลง

สำหรับส่งออกต่อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าปีนี้คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะมีอัตราขยายตัวลดลงในช่วงไตรมาสแรก และจะสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในไตรมาสสุดท้าย สินค้าที่ส่งออกต่อมักจะเป็นสินค้าราคาไม่สูง สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์ เช่น ไอที อุปกรณ์สื่อสาร จะต้องมีเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อจูงใจผู้บริโภค

สินค้าเครื่องปรับอากาศของไทยที่สามารถผลิตสินค้าได้มาตรฐาน ประกอบกับสภาวะอากาศที่แปรปรวนทั่วโลก จะยังคงมีความต้องการเครื่องปรับอากาศเพิ่มมากขึ้น

ระดับราคาขายส่ง-ขายปลีก

เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านมีส่วนต่างของราคาขายส่ง/ขายปลีกน้อย เพราะเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันในด้านราคาสูง อัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 5 ส่วนสินค้าผ่านแดนเพื่อส่งออกต่อไม่มีภาษีนำเข้า

สถานะของประเทศคู่แข่งขันในตลาดนั้น

สินค้ายี่ห้อของญี่ปุ่นเป็นที่นิยมมากที่สุด รองลงไปเป็นสินค้าของเกาหลี จากยุโปรและอเมริกาGlobal brand รู้จักกันทั่วไปและติดตลาดอยู่แล้ว

ส่วนสินค้าสินค้าเครื่องไฟฟ้าและอิเลคโทรนิคส์ของไทยที่ส่งไปตะวันออกกลางส่วนใหญ่เป็น สินค้า OEM เช่นเครื่องรับโทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ คอมพิวเตอร์ หากสินค้าชนิดและยี่ห้อเดียวกันแต่ผลิตจากหลายประเทศ ผู้ซื้อมักจะเลือกที่ผลิตในไทย เพราะเชื่อว่ามีคุณภาพดี

สินค้าจากจีนที่ใช้ยี่ห้อตนเองซื้อหาโดยกลุ่มผู้ซื้อที่มีรายได้น้อยหรือสำหรับส่งออกต่อไปกลุ่มประเทศอัฟริกา

มาตรการด้านภาษีและไม่ภาษี (NTBs)

อัตราภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ร้อยละ 5 และไม่มีภาษี NTBs สินค้าผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้ากำหนดให้มีมาตรฐานความปลอดภัยของ Standardization Organization for GCC (GSO)

ปัญหาและอุปสรรคใ..กระทบต่อการขยายตัว
  • ภาวะเศรษฐกิจของตลาดส่งออกต่อซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัวลงตามการชะลอลงของภาวะเศรษฐกิจโลก
  • การขยายส่วนแบ่งตลาดของไทยยังคงเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในจีนที่มีต้นทุนต่ำกว่า และสินค้าที่ผลิตในมาเลเซียคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับขณะเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้การสั่งซื้อชะลอลงจากปีที่ผ่านมา
  • ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และคุณภาพสินค้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อขยายโอกาสทางการค้าและเพิ่มส่วนแบ่งทางตลาดให้มากขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ