รายงานภาวะการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดเดนมาร์ก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 12, 2010 14:31 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ขนาดของตลาด

การผลิต

เดนมาร์กถือว่าเป็นประเทศผู้ผลิตที่สำคัญรายหนึ่งในสหภาพยุโรป ในช่วงปี 2004 — 2008 การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 และในปี 2008 ผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของเดนมาร์กมีประมาณ 297 ราย ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับได้รวมทั้งสิ้น มีมูลค่า 160 ล้านยูโร แยกเป็น Precious jewellery 134 ล้านยูโร ได้แก่ Diamonds (ร้อยละ 45) Article of natural or cultured pearls (ร้อยละ 32) Rubies, sapphires, and emeralds (ร้อยละ 7) และ Costume jewellery 26 ล้านยูโร ได้แก่ Imitation jewellery (ร้อยละ 16) ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลาง จัดเป็นอันดับที่ 10 ของประเทศผู้ผลิตในสหภาพยุโรป นักออกแบบชื่อดังหลายคนของเดนมาร์กเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องของความปราณีตในการผลิตและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งเป็นการผลิตเครื่องประดับเงินและทองคำขาว ด้วยการออกแบบที่ทันสมัยตามรสนิยม แฟชั่น และสไตล์ของชาวสแกนดิเนเวีย

ผู้ผลิตรายใหญ่ของเดนมาร์ก ได้แก่ Dyrberg/Kern AS (www.dyrbergkern.dk) Pilgrim AS (www.pilgrim.dk) Carre Copenhagen (www.carre.dk) และ BNH Kaedavarer (www.bnh.dk)

คาดว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก โดยคาดว่าการผลิตสินค้าแบรนด์ดังๆ จะลดลง เช่น Pilgrim, Dyrberg Kern เนื่องจากมีการทำสัญญาผลิตในต่างประเทศโดยเฉพาะในจีนเพิ่มขึ้น

การบริโภค

การบริโภคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา แต่กลับลดลงเล็กน้อยในปี 2008 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ และราคานำเข้าสูงขึ้นเนื่องจากค่าของเงินเดนิชโครนลดลง ปี 2008 มีการบริโภคคำนวณจากยอดขายปลีกรวมทั้งสิ้นมีมูลค่า 306 ล้านยูโร แยกเป็น Precious jewellery มูลค่า 254 ล้านยูโร และ Costume jewellery 52 ล้านยูโร โดยมีอัตราการใช้จ่ายเงินในการบริโภคสินค้านี้ต่อคนต่อปีประมาณ 55.6 ยูโร ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของสหภาพยุโรป (ประมาณ 47.2 ยูโร) แสดงให้เห็นว่าเดนมาร์กเป็นตลาดที่มีความต้องการสินค้านี้ค่อนข้างสูง

การนำเข้า

ในช่วง 9 เดือน ปี 2009 (มกราคม — กันยายน) เดนมาร์กนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับรวมทั้งสิ้นมูลค่า 223.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2008 ที่นำเข้ามูลค่า 287.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 22.45 โดยนำเข้าจากไทยมูลค่า 112.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2008 ที่นำเข้าจากไทย 95.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.67 นำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 50.21 รองลงมาเป็นการนำเข้าจากจีน 25.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 11.35 เยอรมนี 18.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 8.34 และสหรัฐฯ 11.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 5.08 ตลาดนำเข้าที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ อินเดีย นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ ลิทัวเนีย สวีเดน อิตาลี และอิสราเอล

การส่งออก

ในช่วง 9 เดือน ปี 2009 (มกราคม — กันยายน) เดนมาร์กส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่า 343.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2008 ที่ส่งออก 349.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.61 ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เยอรมนี มูลค่า 117.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.19 สหราชอาณาจักร มูลค่า 81.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.76 สเปน นอร์เวย์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ เบลเยี่ยม โปรตุเกสสวิตเซอร์แลนด์ กรีซ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรีย และสหรัฐฯ

ช่องทางการจำหน่าย

โดยทั่วไปผู้นำเข้าและผู้ค้าส่งจะนำเข้าสินค้าแล้วกระจายสินค้าต่อไปยัง Specialised retailers ซึ่งเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่สำคัญที่สุด

การค้า Precious jewellery จะจัดจำหน่ายโดย Specialised retailers เป็นส่วนใหญ่ และจะมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มผู้ซื้อใหญ่ๆ นอกจากนั้น จะมี Chain รายใหญ่สำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับแฟชั่นที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วย ปัจจุบันช่องทางการขายผ่านอินเตอร์เน็ตถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สำคัญและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนผู้จัดจำหน่ายที่เป็น Non-specialists ที่สำคัญ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ร้านจำหน่ายเสื้อผ้า ร้านขายของขวัญและของชำร่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Costume and silver jewellery ซึ่งส่วนใหญ่จะจำหน่ายตาม Shopping center ต่างๆ ห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ของเดนมาร์ก ได้แก่ Magasin du Nord, Salling และ Herald Nyborg ร้านจำหน่ายเสื้อผ้ารายใหญ่ ได้แก่ H&M, Bestseller, IC Company, Varner Gruppe และ Mira

ผู้นำเข้าและผู้ค้าส่งรายใหญ่ในเดนมาร์ก ได้แก่ Clausager Jewellery Design (www.clausager.com) Opium One Jewellery (www.opiumone.com) Danish Silver (www.danishsilver.com) Staehr (www.staehr.as) และ Nectar Design (www.nectar-design.dk)

การค้าปลีก ส่วนใหญ่จะผ่าน Specialised retailers โดยเฉพาะร้านค้าที่กระจายอยู่ตามเมืองเล็กๆ ทั่วไป ในปี 2008 มีร้านค้าปลีกที่จำหน่ายเครื่องประดับและนาฬิกา รวมทั้งร้านจำหน่ายเครื่องแก้วที่จำหน่ายเครื่องประดับด้วยรวมทั้งสิ้น 976 ร้าน สำหรับกลุ่มผู้ซื้อรายใหญ่ ได้แก่ Smykkekaeder มี Outlet มากถึง 47 แห่ง และมียอดขายในปี 2008 ถึง 19 ล้านยูโร

การจำหน่ายผ่านอินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางหนึ่งที่สำคัญและกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากชาวสแกนดิเนเวียใช้อินเตอร์เน็ตกันค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป เพราะถือว่าเป็นช่องทางการจำหน่ายที่ค่อนข้างจะสะดวก รวดเร็ว และเป็นที่นิยม

พฤติกรรมของผู้บริโภค

เดนมาร์กถือว่าเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้หญิงวัยทำงาน (Working women)ในอัตราสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญของสินค้านี้ ประกอบกับโดยทั่วไปแล้วคนเดนมาร์กเป็นคนรักแฟชั่นและชอบใช้เครื่องประดับแบบใหม่ๆ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่อการใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อเครื่องประดับจะขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้หญิงที่อยู่ในวัยทำงาน และการพัฒนาการออกแบบใหม่ๆ ตามสไตล์ของชาวสแกนดิเนเวีย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับแฟชั่นต่างๆ นอกจากนั้น ตลาดใหม่สำหรับผู้ชาย โดยเฉพาะวัยรุ่นหรือผู้ที่เพิ่งจะเริ่มทำงานใหม่ๆ ก็มีแนวโน้มหันมาใช้เครื่องประดับกันมากขึ้น เครื่องประดับแบรนด์ดังๆ ของผู้ชาย เช่น Pilgrim และ Dyrberg Kern เป็นต้น

ปรกติผู้บริโภคนิยมบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพดี โดยเฉพาะเครื่องประดับเงินและทองคำขาว อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำลงทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มเริ่มหันมาบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพลดลงเล็กน้อยบ้างเช่นเดียวกัน

โครงสร้างราคา

Wholesalers’ margins จะอยู่ระหว่างร้อยละ 30 — 50 ของราคานำเข้า (CIF) Agents’ margins อยู่ระหว่างร้อยละ 6 -12 ขณะที่ Retailers’ margins อยู่ระหว่างร้อยละ 90 — 120

อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของเดนมาร์กร้อยละ 25 Consumer prices มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นระหว่างปี 2004 — 2008 ดังจะเห็นได้จากดัชนีราคาอัญมณีและเครื่องประดับ และนาฬิกาของเดนมาร์กในปี 2008 เท่ากับ 122.9 (ปี 2005 เท่ากับ 100)

ราคานำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นระหว่างปี 2004 — 2008 โดยในปี 2008 ราคานำเข้ารวมเฉลี่ยของเดนมาร์กเท่ากับ 157.82 ล้านยูโรต่อตัน และราคานำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนาเฉลี่ยเท่ากับ 124.52 ล้านยูโรต่อตัน

คู่แข่งขันที่สำคัญในตลาดเดนมาร์ก

คู่แข่งขันที่สำคัญที่สุด คือ จีน มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับสองรองจากไทย โดยไทยมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 50.21 จีน ร้อยละ 11.35 ส่วนคู่แข่งขันรายอื่นๆ ได้แก่ เยอรมนี ร้อยละ 8.34 และสหรัฐฯ ร้อยละ 5.08

มาตรการด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี

อัตราภาษีการนำเข้าเป็นอัตราเดียวกับที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้

เดนมาร์กใช้ Voluntary hallmarking system for gold jewellery รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถค้นหาได้จาก http://info.goldavenue.com/Info_site/in_jewe/in_je_hall.htm นอกจากนั้น มีข้อกำหนดเกี่ยวกับ Export packaging ซึ่งสามารถดูรายละเอียดได้จาก http://www.intracen.org/ep/packaging/packit.htm

แนวโน้มของสินค้าไทย

การนำเข้าจากไทยในระยะ 9 เดือน (มกราคม — กันยายน) ปี 2009 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.67 แสดงว่าความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดเดนมาร์กยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างดี จากการสอบถามจากผู้นำเข้าพบว่าสินค้าไทยมีคุณภาพดี ฝีมือปราณีต การออกแบบทันสมัยตรงกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องประดับเงินจากไทยเป็นที่นิยมในตลาดสแกนดิเนเวียอย่างมาก ปัจจุบันเครื่องประดับเงินหรือทอง 14 กะรัตกำลังได้รับความนิยมค่อนข้างสูงในกลุ่มลูกค้าสตรี โดยเฉพาะการออกแบบในรูปร่างต่างๆ เก๋ๆ เท่ๆ ดูดี และทันสมัย ซึ่งสามารถใส่ไปทำงานตามปรกติได้ สำหรับ Costume jewellery ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนแปลงไปตามแฟชั่นโดยเน้นการใช้ที่เข้ากับเสื้อผ้าและเครื่องประดับอื่นๆ การออกแบบก็ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค และในเดนมาร์กเองก็มีนักออกแบบชื่อดังที่เป็นที่รู้จักหลายคนด้วยกัน นอกจากนั้น แนวโน้มของตลาดเดนมาร์กในปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับ Eco-fashion อย่างมากด้วย เช่น ใชัวัตถุดิบที่ทำจาก Recycled materials หรือผลิตจากหนังที่ย้อมสีโดยวิธีธรรมชาติ หรือผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environmentally friendly production) หรือ Ethnic design เป็นต้น

โอกาสและลู่ทางการขยายตลาดสินค้านี้ของไทยยังคงมีลู่ทางที่แจ่มใส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องประดับเงินสำหรับตลาดระดับกลางและสูง และเน้นการใช้ร่วมกับเครื่องแต่งกายแฟชั่นอื่นๆ ได้ด้วย ดังนั้น หากผู้ผลิตและส่งออกของไทยยังคงรักษาคุณภาพที่ดีของสินค้าเอาไว้ และกำหนดราคาที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งที่สำคัญได้ (Competitive price advantage) ก็น่าจะมีลู่ทางในการขยายตลาดส่งออกไปยังเดนมาร์กเพิ่มขึ้นได้นอกจากนั้น ควรเน้นที่การออกแบบที่มีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของตัวเอง วัตถุดิบที่ใช้ และความปราณีตบรรจงด้วย

ข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์

EU Expanding Exports Helpdesk : http://exporthelp.europa.eu Eurostat - Official statistical office of the EU : http://epp.eurostat.ec.europa.eu

Danish National Statistics : http://www.statbank.dk

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ