การประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การค้า นโยบายและการแก้ไขปัญหาของประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 14, 2010 14:14 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สรุปประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจการค้า
  • สวิตเซอร์แลนด์เป็นตลาดที่สำคัญและมีศักยภาพสูงของไทย แม้ว่าจะมีพื้นที่ขนาดเล็ก (41,280 ตารางกิโลเมตร) และมีประชากร 7.67 ล้านคน (เป็นชาวสวิสร้อยละ 80) แต่มีชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวและพำนักมีบ้านพักอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นประชากรกว่า55 % หรือประมาณ 4.3 ล้านคนเป็นประชากรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจกว่าและมีกำลังซื้อสูง
  • สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจมั่นคงและมีเสถียรภาพในลำดับต้นๆ ของโลก ในช่วงปี 2548-2551 มีอัตราเฉลี่ยการขยายตัวของ GDP อยู่ระหว่างร้อยละ 2-4 ต่อปี อย่างไรก็ตาม นับ ตั้งแต่ปี 2551 วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่พึ่งพิงภาคบริการด้านการเงินการธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์อย่างรุนแรง ส่งผลให้อัตรา GDP ลดลงต่ำที่สุดในช่วงกลางปี 2551 อยู่ที่ -5%
  • ช่วงต้นปี 2552 เศรษฐกิจสวิสอยู่คงอยู่ในภาวะตกต่ำจนกระทั่งถึงกลางปี 2552อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่กลางปี 2552 เป็นต้นมาเศรษฐกิจสวิสได้เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวม GDP ตอนปลายปี 2552 ลดลงเพียงแค่ - 2.9% อัตราการว่างงาน 4.8%อัตราเงินเฟ้ออยู่ระหว่าง 0.6 — 0.8%
  • รายได้ของประเทศอยู่ในภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 34.00, ภาคเกษตรกรรมร้อยละ 1.5 และ บริการต่างๆ ร้อยละ 64.5
การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

เนื่องจากธุรกิจภาคบริการการเงินการธนาคาร/ประกันเป็นธุรกิจหลักที่ทำรายได้เข้าประเทศมากที่สุดรัฐบาลสวิสจึงเน้นมาตรการสร้างเสถียรภาพของตลาดทุนเป็นหลักซึ่งที่ผ่านมานับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง สามารถยับยั้งไม่ให้เศรษฐกิจถดถอยลงมากกว่าเดิมและยังสามารถปรับแก้ให้เศรษฐกิจโดยรวมกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งอย่างรวดเร็ว มาตรการดังกล่าวได้แก่

  • การเพิ่มมาตรการควบคุมดูแล (supervision) ตลาดทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะธุรกิจการเงิน บริษัทประกันขนาดใหญ่และธนาคารทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก
  • การเพิ่มเงินสนับสนุนจากรัฐ/มณฑลต่างๆ แก่ภาคเอกชน
  • การลดอัตราดอกเบี้ยและรักษาให้คงอยู่ในระดับต่ำเพื่อเพิ่มความคล่องตัวทางการเงินแก่ภาคเอกชน
  • การเพิ่มอุปสงค์/การบริโภคสินค้าภายในประเทศ
สถานการณ์การนำเข้าสินค้า/บริการไทย
  • สวิสเป็นตลาดส่งออกอันดับ 10 ของไทย ในปี 2552 (ม.ค.-พ.ย.)สวิสนำเข้าสินค้าจากไทยรวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 3,068.69 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 93.58 เมื่อเทียบกับปี 2551 ระยะเวลาเดียวกันโดยเพิ่มขึ้นมากกว่าเป้าส่งออกที่วางไว้ถึง 70.44 % และคาดว่าปี 2553 จะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาทองในตลาดโลกเพิ่มมูลค่าขึ้นอย่างมาก
  • ไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 24 ของสวิส ส่วนแบ่งการตลาด 0.47% ลดลงจากปีที่ผ่านมา 0.04% อย่างไรก็ตามจากสถิติที่ผ่านมาไทยขาดดุลการค้ามาโดยตลอด
  • ในระยะ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา สินค้าส่งออกหลักของไทยไปสวิสจำแนกตามสัดส่วนมูลค่าสินค้าได้ดังนี้

1. อัญมณีและเครื่องประดับ (85%)

2. นาฬิกาและส่วนประกอบ (5%)

3. เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (3%)

4. เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ(2%)

5. เนื้อสัตว์กระป๋องและแปรรูป(0.7%)

6. ส่วนประกอบอากาศยาน (0.6%)

7. เครื่องใช้สำหรับเดินทาง/กระเป๋า(0.5%)

8. หัวน้ำหอมและเครื่องสำอาง(0.4%)

9. ธัญพืช (0.3%)

10. ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (0.3%)

ประเมินเศรษฐกิจปี 2553

จากการคาดการณ์สำหรับปี2553 ศก.สวิสจะค่อยๆ ฟื้นตัวGDP เพิ่มขึ้น 2.2 % อัตราการลงทุนเพิ่มขึ้น 0.4 %โดยเฉพาะการลงทุนด้านสิ่งก่อสร้างพื้นฐานและที่อยู่อาศัย อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับปานกลาง คือ 0.6%อย่างไรก็ตามคาดว่าปัจจัยด้านสังคม โดยเฉพาะอัตราการว่างงานที่ 4.6 % และอัตราเงินเดือนคงที่จะส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศอยู่ในระดับทรงตัว สวนทางกับการขยายตัวด้านการส่งออกซึ่งคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.2%

โอกาสสินค้าไทย
  • สินค้าที่สามารถส่งเสริมผ่านกิจกรรมทางการตลาด

1. สินค้าอาหารและธุรกิจร้านอาหารเนื่องจากอหารไทยเป็นที่นิยมในหมู่ชาวสวิสและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวในสวิส นอกจากนั้นอาหารไทยยังเป็นอาหารที่เน้นสุขภาพทำให้เป็นที่นิยมอย่างมาก

2. สินค้าไลฟ์สไตล์ ของตกแต่งบ้านจากผลการวิเคราะห์และประมาณการของสำนักงานสถิติแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์ พบว่าชาวสวิสมีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคในกลุ่มสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและของใช้/ของตกแต่งภายในบ้านสูงที่สุด(Housing, Household Goods and Services) คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงกว่าร้อยละ 28 ของการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของครัวเรือนสวิสทั้งหมด

3. สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังสวิตเซอร์แลนด์มาโดยตลอด

  • สินค้าที่สามารถส่งเสริมผ่านการให้บริการข้อมูลและเครือข่ายการค้าได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรมหนักต่างๆ เช่น เครื่องไฟฟ้าและส่วนประกอบเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ