รายงานสรุปผลการเดินทางของ Mr. Ralf Bender ผู้สื่อข่าวเยอรมันเดินทางมาประเทศไทย
เพื่อทำข่าวฉบับพิเศษเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารไทย
ระหว่างวันที่ 12 — 19 ธันวาคม 2552
******************************************
1.1 หนังสือพิมพ์ Lebensmittel Zeitung เป็นหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและอุตสาหกรรมอาหารที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของประเทศเยอรมนี ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2491 พิมพ์และจำหน่ายเป็นรายอาทิตย์จำนวน 52 ครั้งต่อปีตีพิมพ์ครั้งละ 41,500 ฉบับ ใน 8 ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย อิตาลี โปแลนด์ ฮังการี สาธารณรัฐเชคสหรัฐอเมริกา และจีน ลูกค้าที่สำคัญคือบริษัทที่อยู่ในธุรกิจเกี่ยวข้องกับอาหารทั้งรายใหญ่ รายย่อย ซุปเปอร์มาเก็ตและไฮเปอร์มาเก็ตต่างๆ
1.2 Mr. Ralf Bender เป็น Manager country reports มีบทบาทสำคัญมากในหนังสือพิมพ์ Lebensmittel Zeitung เป็นผู้รับผิดชอบการลงบทความพิเศษเกี่ยวกับข้อมูล/การวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับตลาด/อุตสาหกรรมอาหารในประเทศต่างๆ
2. ระยะเวลาการเดินทาง ระหว่างวันที่ 12 — 19 ธันวาคม 2552
3. กลุ่มสินค้า อาหาร
4.1 สัมภาษณ์พิเศษอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก
4.2 จัดเยี่ยมชมโรงงานผู้ผลิตข้าว อาหารสำเร็จรูป (แช่แข็ง/กระป๋อง) ไก่แปรรูป กะทิ ซอสปรุงรส และผักผลไม้สดรายสำคัญๆ ที่ส่งออกมาตลาดยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนี
4.2 สัมภาษณ์เจ้าของกิจการผู้ส่งออก/ผู้รับผิดชอบตลาดยุโรปของบริษัทในข้อ 4.2
5.1 การสัมภาษณ์พิเศษอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออกถึงนโยบายการส่งออกสินค้าอาหารของประเทศไทย ทำให้สามารถเห็นภาพและทิศทางของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน โดย Mr. Bender กล่าวว่าเป็นนโยบายที่ปรับได้เข้ากับสถานการณ์ตลาดยุโรปอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะการส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันและการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าจะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สินค้าไทยสามารถขยายตลาดในยุโรปและเยอรมนีได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสินค้าอาหาร เช่น อาหารกึ่งสำเร็จรูป และผักสดบรรจุสำเร็จพร้อมเมนู เนื่องจากเอื้อต่อวิถีชีวิตของชาวเยอรมันซึ่งนิยมบริโภคสินค้ากึ่งสำเร็จรูปเพื่อประหยัดเวลา หากแต่ก็คำนึงถึงคุณประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการนอกจากนั้นยังเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมการบริโภคอาหารไทยให้กว้างขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอาหารไทยเองก็เป็นหนึ่งในอาหารที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเยอรมนีอยู่แล้ว
5.2 การเยี่ยมชมโรงงาน โดยการประสานงานของสคร.แฟรงก์เฟิร์ตและสำนักส่งเสริมสินค้าส่งออก (สำนักบริการส่งออก 1 เดิม) ในการนัดหมายเข้าชมบริษัทพร้อมสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง รวม 9 บริษัท ดังนี้
(1) บริษัท Chiameng CO.,LTD สินค้าข้าวหอมมะลิ
(2) บริษัท Swift CO.,LTD. สินค้าผักสด
(3) บริษัท Thai Agri food Public CO.,LTD สินค้าอาหารกึ่งสำเร็จรูป
(4) บริษัท Thai Union Frozen Product (Public) CO.,LTD ผลิตภัณฑ์จากกุ้ง/ทูน่ารูปแบบต่างๆ
(5) บริษัท The Union Frozen Product CO.,LTD ผลิตภัณฑ์จากปลารูปแบบต่างๆ พร้อมรับประทาน
(6) บริษัท BKP Public CO.,LTD (Cp Group) ผลิตภัณฑ์จากไก่รูปแบบต่างๆ พร้อมรับประทาน
(7) บริษัท Thep Padung Porn Coconut Co.,LTD ผลิตภัณฑ์จากกะทิ
(8) บริษัท President Interfood CO.,LTD. สินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต่างๆ
(9) บริษัท Exotic Food Co., LTD ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงอาหารและซอสกึ่งสำเร็จรูปต่างๆ
5.3 ข้อมูลในการสัมภาษณ์และการเยี่ยมชมดังกล่าวจะเป็นข้อมูลสำหรับบทความพิเศษเกี่ยวกับสินค้าไทยใน Country Report ของหนังสือพิมพ์ Lebensmittel Zeitung ซึ่งจะออกวางแผงในสัปดาห์ที่ 11 (ระหว่างวันที่ 8-13 มีนาคม 2553) ภายใต้หัวข้อหลัก คือ Trend Kitchen Asia ซึ่งมีความยาวรวม 6-8 หน้า คาดว่าสินค้าไทย/อุตสาหกรรมอาหารไทยจะมีพื้นที่ข่าวประมาณ 40-60 % ของทั้งหมด โดยบริษัทไทยข้างต้นจะมีบทความเกี่ยวกับสินค้า/บริษัทตนเองทุกบริษัท
6.1 จากการสอบถาม Mr. Bender การเดินทางและเข้าพบอธิบดี/เยี่ยมชมบริษัทผู้ผลิต/ส่งออกชั้นนำของไทยในครั้งนี้นับว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ทำให้เห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในหลากหลายแขนงของธุรกิจเป็นการย้ำภาพลักษณ์ผู้นำในวงการอุตสาหกรรมอาหารของไทยว่าอยู่ในระดับแนวหน้ากว่าประเทศเอเชียอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเยอรมัน นอกจากนั้น การจัดการและการประสานงานอย่างดีเยี่ยมของกรมฯ ยังสร้างความประทับใจและชื่นชมแก่ Mr. Bender อย่างมากและขอขอบคุณกรมฯ มา ณ โอกาสนี้
6.2 การเชิญ Mr. Bender เดินทางเข้าไปเยี่ยมชมโรงงานและทำข่าวเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารของไทยนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าอาหารไทย เนื่องจากหนังสือพิมพ์ Lebensmittel Zeitung เป็นแหล่งข้อมูลซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการอุตสาหกรรมอาหารเยอรมันมากที่สุด อันจะส่งผลให้สินค้าไทยสามารถเจาะกลุ่มผู้นำเข้า/ ผู้ค้าส่ง/ ผู้ค้าปลีกสินค้าอาหารในตลาดเยอรมันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการสร้างภาพลักษณ์การส่งออกสินค้าอาหารของไทยสู่ตลาดเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผล ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการลงโฆษณาในนสพ.อย่างเดียว
6.3 ปัจจุบันบริษัทของเยอรมนีเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับมาตรฐานทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainability) มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของสินค้า/วิธีการในการผลิต-ขนส่ง/สภาพแวดล้อมในการทำงานของพนักงานในสายการผลิตมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากคุณภาพของสินค้าซึ่งต้องได้ตามมาตรฐานเดิม ผู้ประกอบการไทยจึงควรตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานดังกล่าว และปรับใช้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของตนเพื่อเจาะตลาดและขยายช่องทางการตลาดในเยอรมนีและยุโรปต่อไป
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต
ที่มา: http://www.depthai.go.th