ตลาดสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 18, 2010 16:44 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การผลิต

ในช่วงปี 2549 - 2551 เยอรมนีมีผลผลิตอุตสาหกรรมสินค้าต่างๆ เป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 1,288,577 ล้านยูโร ในจำนวนนี้เป็นสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์มูลค่า 142,513 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2552 (ม.ค.-มิ.ย.) มีผลผลิตทั้งสิ้นเป็นมูลค่า 513,170 ล้านยูโร เทียบกับปี 2551 ช่วงเวลาเดียวกันมูลค่าลดลงร้อยละ 21.85 ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์มีมูลค่า 50,699 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงร้อยละ 30.8 โดยสินค้าแต่ละประเภทมีมูลค่า ดังนี้

มูลค่าการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ของเยอรมันปี 2549 — 2552 (มค.-มิ.ย.)

                                 ปี 2549     ปี 2550    ปี 2551      ปี 2551       ปี 2552     เทียบ 52:51(%)
                                                                 ม.ค.-มิ.ย.    ม.ค.-มิ.ย.     ม.ค.-มิ.ย.
เครื่องไฟฟ้าใช้ในบ้าน สำนักงาน         56,385     61,804    64,324      32,463       26,291        -18.01
เครื่องใช้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์          72,680     73,153    70,397      35,817       20,503        -42.75
อุปกรณ์ใช้ในรถยนต์                    8,126      7,543     6,956       3,877        1,930        -50.21
การดูแล ติดตั้ง ซ่อมบำรุง               1,471      1,505     1,822         854          887         +3.79
รวมทั้งสิ้น                         139,101    144,485   143,955      73,263       50,699        -30.80
หน่วย = ล้านยูโร
ที่มา สนง. สถิติแห่งชาติเยอรมัน

2. การนำเข้า

ในระยะ 3 ปี (2549 — 2551) เยอรมนีนำเข้าสินค้าเครื่องอิเล็คทรอนิกส์เป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ81,093 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับปี 2552 (ม.ค.- ก.ย.) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 52,786.3 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 28.7 สินค้าสำคัญที่เยอรมนีนำเข้า ได้แก่ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ในปี 2552 (ม.ค. - ก.ย.) มูลค่า 11,551.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 33.1 ของการนำเข้าสินค้ารายการนี้ มูลค่าลดลงร้อยละ 25.3 แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ จีน เนเธอร์แลนด์และเช็ค มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 36.8, 20.6 และ 7.1 ตามลำดับ จากไทยมีการนำเข้าเป็นอันดับที่ 13 มูลค่า 258.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.5 มูลค่าลดลงร้อยละ 7.9 สินค้าสำคัญรองลงมาเป็นเครื่องโทรศัพท์ โทรสาร มีการนำเข้าในปี 2552 (ม.ค. - ก.ย.) มูลค่า9,151.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 17.3 มูลค่าลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 24.5 แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และจีน มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 25.7, 19.5 และ 19.0 ตามลำดับ จากไทยมีการนำเข้าเป็นอันดับที่ 18 มูลค่า 90.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.99 มูลค่าลดลงร้อยละ 34.2 ทรานซิสเตอร์ ไดโอดส์ มีการนำเข้าในปี 2552 (ม.ค. - ก.ย.) มูลค่า 6,693.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 12.7 มูลค่าลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 24.5 แหล่งนำเข้าสำคัญๆ ได้แก่ จีน มาเลเชีย และญี่ปุ่น มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 31.6, 10.9 และ 7.8 ตามลำดับ จากไทยมีการนำเข้าเป็นอันดับที่ 19 มูลค่า 39.7 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.6 มูลค่าลดลงร้อยละ 0.95

3. การนำเข้าจากไทย

สินค้าเครื่องใช้อิเล็คทรอนิกส์ที่เยอรมนีนำเข้าจากไทยมูลค่าสูงสุดจะเป็น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (แผ่นฮาร์ดดิสค์) ใน 9 เดือนแรกปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) นำเข้าทั้งสิ้นเป็นมูลค่า 258.8 ล้านเหรียญสหรัฐหรือร้อยละ 45 ของสินค้านำเข้ารายการนี้จากไทย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.5 นับเป็นอันดับที่ 16 มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 7.9 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ จีน เนเธอร์แลนด์ และ เช็ค มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 26.8, 20.6 และ 7.1 ตามลำดับ รองลงมาเป็น เครื่องโทรศัพท์โทรสาร มีการนำเข้าในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) เป็นมูลค่า 90.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 17 ของสินค้าจากไทย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.99 นับเป็นอันดับที่ 18 มูลค่าลดลงร้อยละ 34.2 แหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และจีน มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 25.6, 19.5 และ 19.0 ตามลำดับ แผงวงจร IC มีการนำเข้าเป็นอันดับที่ 16 มูลค่า 80.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 15 ของสินค้านำเข้าจากไทย คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.29 มูลค่าลดลงร้อยละ 0.94 แหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์เกาหลีใต้ และไอร์แลนด์ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 21.9, 9.7 และ 9.0 ตามลำดับ

4. การส่งออก

ในระยะ 3 ปี (2549 — 2551) เยอรมนีส่งออกสินค้าอิเล็คทรอนิกส์เป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 82,297 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) มีการส่งออกมูลค่า 49,421.7 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 32.2 ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 8.9, 7.5 และ 6.7 ตามลำดับ

สินค้าในรายการนี้ที่เยอรมนีส่งออกมากอันดับแรกเป็น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) ส่งออกเป็นมูลค่า 14,653 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าลดลงร้อยละ 30.6 โดยส่งออกไปยังสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ มีส่วนแบ่งร้อยละ 9.9, 9.4 และ 8.4 ตามลำดับ สินค้าที่ส่งออกมากรองลงมาเป็น เครื่องโทรศัพท์และโทรสาร มูลค่า 8,730 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าลดลงร้อยละ 21.4 โดยส่งออกไปยัง สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ มีส่วนแบ่งร้อยละ 12.0, 11.0 และ 10.3 ตามลำดับ แผงวงจรไฟฟ้า IC ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) ส่งออกมูลค่า 5,727 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าลดลงร้อยละ 44.7 โดยส่งออกไปยัง มาเลเชีย ฝรั่งเศส และจีน มีส่วนแบ่งร้อยละ 15.7, 7.8 และ 5.4 ตามลำดับ

5. ราคาจำหน่ายปลีกในตลาด

5.1 สินค้าประเภทแผงวงจรไฟฟ้า ไดโอด ทรานซิสเตอร์ จะมีการนำเข้าโดยผู้ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็คทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปต่อไป ได้แก่ บริษัท Blaupunkt, Bosch, Kathrein, Miele, Moeller Loewe และ Siemens เป็นต้น

5.2 สินค้าสำเร็จรูปต่างๆ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ประกอบสำเร็จ โน๊ตบุ๊ค แผ่นฮาร์ดดิสค์ เครื่องโทรศัพท์ โทรสาร เหล่านี้เป็นต้น จะนำเข้าโดยผู้นำเข้าสินค้าโดยเฉพาะ หรือร้านค้าปลีก ค้าส่งสินค้าเหล่านี้โดยจะมีการเพิ่มอัตราผลกำไรระหว่างร้อยละ 5 — 30 ในแต่ละขั้นตอนของการซื้อขาย โดยปัจจุบันสินค้าเหล่านี้มีแนวโน้มราคาลดต่ำลงมาโดยตลอด ขึ้นอยู่กับส่วนประกอบต่างๆ ของสินค้า เช่น

  • คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะมีราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 180 ยูโร
  • แผ่นฮาร์ดิสค์ขนาด 500 GB ประมาณ 35 ยูโร (1000 GB ประมาณ 199 ยูโร)
  • โทรศัพท์บ้าน ตั้งแต่ 25 ยูโรขึ้นไป
  • เครื่องโทรสาร ตั้งแต่ 80 ยูโรขึ้นไป
6. อัตราภาษี

สินค้าอุปกรณ์ เครื่องใช้อิเล็คทรอนิกส์ ต่างๆ ตามที่กล่าวข้างต้นนี้มีอัตราภาษีนำเข้าสูงสุดร้อยละ 5.0 แต่ส่วนใหญ่จะมีอัตรา 2.2, 1.7 หรือไม่ต้องเสีย นอกจากนี้จะมีภาษีมูลค่าในอัตราร้อยละ 19 สำหรับสินค้าทุกตัวที่นำเข้า

7. สถานการณ์ตลาด

ปัจจุบันในตลาดเยอรมนีมีการแข่งขันสูงและมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นมา มาตรการที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นการลดราคาสินค้าลง ในบางแห่งลดให้ถึงร้อยละ 20 นอกจากนี้จะมีการนำเสนอสินค้าใหม่ ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย ได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้า มีประสิทธิภาพสูง ใช้งานสะดวกและหลากหลากหลายหน้าที่มากขึ้น เสนอขายในราคาไม่แตกต่างกับสินค้าที่มีประสิทธิภาพด้อยกว่า หรือมีราคาสูงกว่าไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเยอรมนี ตลาดการบริโภคสินค้าเครื่องอิเล็คทรอนิกส์ โดยเฉพาะ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์บ้านและมือถือต่างๆ ค่อนข้างจะอิ่มตัว โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ ที่ปัจจุบันมีจำนวนเครื่องที่ใช้งานราว 90 ล้านเครื่อง ในขณะที่เยอรมนีมีประชากรเพียง 82 ล้านคน เช่นเดียวกับ คอมพิวเตอร์ ที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด โดยในปี 2551 มียอดการจำหน่ายคอมพิวเตอร์ Notebook มากกว่าคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ

8. ปัญหาและอุปสรรค

8.1 สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของไทย เป็นการผลิตโดยบริษัทข้ามชาติที่เข้าไปตั้งโรงงานผลิตในประเทศต่างๆ รวมทั้งในไทย นโยบายต่างๆ บริษัทต่างชาติจะเป็นผู้กำหนด

8.2 มีการออกกฏระเบียบ กฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ ในด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค ปกป้องสิ่งแวดล้อม สงวนทรัพยากรธรรมชาติ ที่เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นเรื่อย ตลอดจนข้อกำหนดในการทำลายสินค้า ทำให้มีต้นทุนในการผลิตเพิ่มสูงขึ้น

8.3 มีปัญหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาษี (NTB) มากขึ้น เกิดจากการร่วมมือกันของผู้ค้าและผู้นำเข้าตั้งข้อแม้ กฏเกณฑ์ต่างๆ ที่ในการผลิตสินค้า ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น ระบบ การติดตามสินค้า (RFID) เป็นต้น

8.4 ประเทศคู่แข่งอื่นๆ ของไทย มีความสามารถ หรือ มีบริษัทข้ามชาติเข้าไปตั้งโรงงานผลิตมากขึ้น ทำให้การผลิตสินค้าอย่างเดียวกันจะลดน้อยลงได้

8.5 มีการพัฒนาใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทันสมัยมากขึ้น และเสนอขายในราคาไม่แตกต่างกับสินค้ารุ่นก่อนหน้านี้ หรือแพงขึ้นเล็กน้อย หาก ไม่มีการพัฒนาติดตามตลาดโดยเร็ว จะทำสินค้าไทยล้าสมัย ไม่ได้รับการสนใจ

9. แนวโน้มตลาดปี 2553

ผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้การผลิต การส่งออกสินค้าประเภทต่างๆ ในรายการนี้ของเยอรมนีลดน้อยลงกว่าร้อยละ 30 ความต้องการชิ้นส่วน ส่วนประกอบอิเล็คทรอนิกส์จึงลดน้อยลงด้วยโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกปี 2552 แต่ในช่วงครึ่งปีหลังตลาด โดยเฉพาะในต่างประเทศเริ่มมีความต้องการความจำเป็น ต้องสั่งซื้อสินค้าเพิ่ม ทำให้สถานการณ์ตลาดในเยอรมนีมีความแจ่มใสขึ้นบ้าง และคาดว่าปี 2553 นี้มูลค่าผลผลิตในประเทศสินค้ารายการนี้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 3

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ