ตลาดสินค้าอาหารในฟิลิปปินส์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 18, 2010 17:00 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ข้อมูลทั่วไป

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ต้องพึงพาการนำเข้าสินค้าอาหารประเภทต่าง ๆ ประมาณ ปีละกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบด้วยอาหารสด 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และอาหารปรุงแต่ง 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ แนวโน้มการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยตลอด ตามอัตราการขยายตัวของประชากรที่คาดการว่ามีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย ร้อยละ 2 ต่อปี จากจำนวนประชากร 93 ล้านคนในปี 2553

สินค้าอาหารรายการสำคัญที่มีการนำเข้า ได้แก่ ข้าว อาหารปรุงแต่งที่มีส่วนผสมของโปรตีนอาหารปรุงแต่งที่ได้จากแป้งสำหรับทารก ผลิตภัณฑ์นม แป้งประเภทต่างๆ น้ำหวาน น้ำมันพืช อาหารปรุงแต่งสำเร็จรูป เช่นบะหมี่ ซุป เครื่องปรุงต่าง ๆ และซ้อสปรุงรส ผลไม้อบแห้งและน้ำผลไม้ขนมขบเคี้ยวที่ได้จากธัญพืช และเมล็ดผลไม้ ข้าวโพด และผักผลไม้ต่าง ๆ หลายรายการ

แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนิเซีย เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส เนเธอแลนด์ เยอรมัน บราซิล อิสราเอล อังกฤษ และเดนมาร์ค

แนวโน้มตลาดนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยตลอด โดยเฉพาะการนำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียนเนื่องจากในปัจจุบันคุณภาพสินค้า ใกล้เคียงกับสินค้าที่ผลิตจากอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย ขณะ เดียวกันก็มีความได้เปรียบด้านระยะทางการขนส่ง การนำเข้าแต่ละครั้งไม่จำเป็นต้องนำเข้าจำนวนมาก เพราะสามารถส่งมอบสินค้าได้ภายในระยะเวลา 1สัปดาห์ และช่วยให้ผู้นำเข้า ลดภาระด้านต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลังลงได้มาก พฤติกรรมในการบริโภคของฟิลิปปินส์มีความคล้ายคลึง เช่นเดียวกับผู้บริโภคในตลาดอาเซียน กล่าวคือมีการบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ส่วนผสมของอาหารประเภทต่าง ๆ ที่ใช้รับประทานกับข้าว ก็มีความคล้ายคลึงกันขณะเดียวกัน ฟิลิปปินส์มีข้อจำกัดด้านการผลิตสินค้าเกษตรที่ใช้ผลิตอาหาร เนื่องจากภัยธรรมชาติ จึงต้องพึงพาการนำเข้าสินค้าอาหารประเภทต่าง ๆ เพื่อสนองต่อความต้องการของตลาดภายในประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

ตลาดสินค้าอาหารของฟิลิปปินส์ มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยประมาณ ร้อยละ 12—15 ต่อปีสินค้าที่ รายการสำคัญที่มีแนวโน้มอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว อาหารปรุงต่างจากแป้งที่มีส่วนผสมของโปรตีน อาหารปรุงแต่งจากแป้งที่ใช้สำหรับเด็ก ผลิตภัณฑ์นม อาหารสำเร็จรูปปรุงแต่ง เช่น ซุป บะหมี่สำเร็จรูป ส่วนผสมอาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ ซ้อสปรุงรส น้ำมันพืช ผลไม้อบแห้งอาหารประเภท Snack แป้งชนิดต่าง ๆ น้ำตาล ข้าวโพดกระป๋อง เป็นต้น

2. การนำเข้าสินค้าไทย และส่วนแบ่งตลาด

ฟิลิปปินส์นำเข้าสินค้าอาหารประเภทต่างๆ จากไทย ทั้งอาหารสำเร็จรูป และกึ่งสำเร็จรูปมูลค่าประมาณ ปีละ 170 — 200 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าอาหารไทย มีส่วนแบ่งตลาดในฟิลิปปินส์ประมาณ ร้อยละ 7 ในปี 2551

มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารรายการสำคัญของไทยที่ส่งไปตลาดฟิลิปปินส์ ในปี 2551 ได้แก่ อาหารปรุงแต่งที่มีส่วนผสมของโปรตีน มูลค่า 54.7 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 28 คู่แข่งสำคัญของไทยคือ สหรัฐอเมริกา เนเธอแลนด์ ไอแลนด์ และอุรุกวัย

อาหารปรุงแต่งที่ทำจากแป้งชนิดต่างๆ สำหรับใช้เลี้ยงทารก มูลค่า 20.9 ล้านเหรียญสหรัฐมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 13.5 คู่แข่งสำคัญของไทย คือ สิงคโปร์ เนเธอแลนด์ ไอร์แลนด์

นม และผลิตภัณฑ์นม มูลค่า 17.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12 คู่แข่งสำคัญของไทย คือ สหรัฐอเมริกา เนเธอแลนด์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และมาเลเซีย

ข้าว มูลค่า 14.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 2.9 คู่แข่งสำคัญของไทย ได้แก่ เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และปากีสถาน

น้ำตาลดิบและกากน้ำตาล มูลค่า12.74 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 40 คู่แข่งสำคัญคือ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย ออสเตรเลีย และเยอรมัน

อาหารสำเร็จรูป เช่น ซุป เครื่องปรุงรส แกงสำเร็จรูป อาหารไทยแช่แข็ง มูลค่า 7.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 65 คู่แข่งสำคัญคือ สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ และบราซิล

แป้งชนิดต่าง ๆ ที่เป็นผง และเส้น ใช้ในการประกอบอาหาร มูลค่า 7.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 33.8 คู่แข่งสำคัญคือ เวียดนาม อินโดนิเซีย เยอรมัน และเบลเยี่ยม

ขนมขบเคี้ยวที่มีส่วนผสมชอกโกเล็ดและน้ำตาล มูลค่า 6.13 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 32 คู่แข่งสำคัญคือ จีน อินโดนิเซีย และอินเดีย

ข้าวโพดกระป๋อง มูลค่า 3.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 17.8 คู่แข่งสำคัญคือ ออสเตรเลีย อินเดีย และสหรัฐอเมริกา

ซอสปรุงรส ผลไม้อบแห้ง น้ำผลไม้กล่อง/กระป๋อง พืชผักแห้งต่าง ๆ มูลค่า 2.56 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 4.6 คู่แข่งสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น อเมริกาใต้ ชิลี และ กรีซ

อาหารปรุงแต่งจากธัญพืช เช่น คอนเฟรก ขนมขบเคี้ยว มูลค่า 1.3 ล้านเหรียญสหรัฐส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 26.6 คู่แข่งสำคัญ มาเลเซีย อินโดนิเซีย จีน และสวิตเซอร์แลนด์

โอกาสขยายตลาดสินค้าอาหารไทยไปตลาดฟิลิปปินส์ มีความเป็นได้อีกมาก เพราะตลาดมีมูลค่ากว่า สามพันล้านเหรียญสหรัฐ พฤติกรรมการบริโภคของคนฟิลิปปินส์ใกล้เคียงหรือคล้ายๆ กับคนไทย วัตถุดิบอาหารไทยหลายๆ ชนิดสามารถใช้ทดแทนกันได้ โดยแนวโน้มการบริโภค จะขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นตามอัตราการขยายตัวของประชากรภายในประเทศ คาดว่าในปี 2553 จะมีการนำเข้าสินค้ากลุ่มอาหารจากไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ประมาณ ร้อยละ 10-12 หรือมูลค่าประมาณ 200 — 250 ล้านเหรียญสหรัฐ

3. กฎระเบียบการนำเข้าและภาษีนำเข้า

ฟิลิปปินส์มีมาตรการควบคุมการนำเข้าสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ โดยมีการเข้มงวดในการนำเข้าสินค้าผัก และผลไม้สดจากประเทศเขตร้อน สินค้าผลไม้ไทยที่อนุญาตให้นำเข้าโดยสะดวกคือ มะขามหวานและลองกอง ส่วนสินค้าไก่สด ไก่แช่แข็ง ไก่แปรรูป จากไทย สินค้า เนื้อวัวสดและแช่เย็น เนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ มีการควบคุมการนำเข้าอย่างเข้มงวดและผู้นำเข้าต้องได้นับใบอนุญาตนำเข้า (Import license) ขณะนี้รัฐบาลฟิลิปปินส์อยู่ระหว่างการปรับปรุงกฏระเบียบการนำเข้า และการตรวจรับรองโรงงาน ด้านสุขอนามัยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้

สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมอาหาร เช่น อาหารสำเร็จรูป และอาหารปรุงแต่ง สินค้ากึ่งสำเร็จรูปเช่นแป้งประเภทต่าง ๆ สามารถส่งออกไปตลาดฟิลิปปินส์ไม่มีข้อจำกัดด้านการนำเข้า ผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าไปจำหน่ายในฟิลิปปินส์ ต้องจดทะเบียนที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งในทางปฏิบัติผู้นำเข้าจะเป็นผู้ดำเนินการยื่นขอจดทะเบียน

ภาษีนำเข้าสินค้าอาหารปรุงแต่งและอาหารสำเร็จรูป ภายในอาเซียน ใช้อัตรา Common Effective Preferential Tariff [ CEPT ] ภาษีนำเข้า เฉลี่ย 0 — 5 % และต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า[ Form A ] กำกับ

4. โอกาสในการขยายตลาด และช่องทางการตลาด

ตลาดนำเข้าสินค้าอาหารในฟิลิปปินส์ มูลค่ากว่าปีละ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประชากรประมาณ 93 ล้านคน อัตราการขยายตัวของประชากร ประมาณ ร้อยละ 2 ต่อปี ขณะที่สินค้าอาหารไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ ร้อยละ 7 ฉะนั้นโอกาสในการขยายตลาดหรือเพิ่มส่วนแบ่งตลาดสินค้าอาหารของไทย ในตลาดฟิลิปปินส์ มีความเป็นไปได้อีกมาก ปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญ ได้แก่ พฤติกรรมในการบริโภคคล้ายคลึงกับคนไทย และคนฟิลิปปินส์นิยมการออกมารับประทานอาหารนอกบ้าน ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าไม่ยาวนาน อัตราภาษีนำเข้าสินค้าอาหารกึ่งและสำเร็จรูปเพียงร้อยละ 0-5

ช่องทางการตลาดในการส่งออกสินค้าอาหาร ไปสู่ตลาดฟิลิปปินส์ สามารถสรุปได้ 3 ช่องทางคือ

  • ผู้นำเข้าสินค้าอาหาร ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ที่มีระบบกระจายสินค้าสู่กิจการค้าปลีก
  • กิจการค้าปลีกที่มีระบบกระจายสินค้าเป็นของตนเอง เช่น 7 อีเลเว่น หรือกิจการค้าปลีกที่มีเครือข่ายกิจการค้าปลีกขนาดกลาง และเล็ก จำนวนมาก
  • ส่งสินค้าผ่านศูนย์กระจายสินค้าเอกชน ที่มีเครือข่ายกระจายสินค้าเป็นของตนเอง กระจายสินค้าให้กับร้านค้าปลีกในเครือ

สำนักงานส่งเสริมการค้า ฯ ณ กรุงมะนิลา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ