สินค้าอาหารไทยในตลาดเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 19, 2010 13:35 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ขนาดของตลาดอาหารในเยอรมนี

การผลิตภายในประเทศ

ภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมการผลิตอาหารแปรรูป เป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศเยอรมนี ในปัจจุบันเยอรมนีมีเกษตรกรประมาณ 1 ล้านคน และมีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร ประมาณกว่า 500,000 คน

ในช่วงปี 2549-2551 เยอรมนีผลิตอาหารแปรรูป มีมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 123,595 ล้านยูโรและในปี 2552 (ม.ค.-มิ.ย.) มีการผลิตเป็นมูลค่า 61,189 ล้านยูโร ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 4.5 สินค้าอาหารที่เยอรมนีผลิตได้มากสูงสุดเป็นอันดับแรก ได้แก่ นม เนย และผลิตภัณฑ์ และในปี2549-2551 มีการผลิตเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 17,940 ล้านยูโร และในช่วงครึ่งปีแรก 2552 ผลิตได้เป็นมูลค่า 8,378 ล้านยูโร หรือคิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 13.7

อาหารที่ผลิตได้รองๆลงมา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไส้กรอกชนิดต่างๆ และผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ทำจากเนื้อสัตว์ มีมูลค่าการผลิตโดยเฉลี่ยปีละ 14,303 ล้านยูโร โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 ผลิตได้เป็นมูลค่า 6,927 ล้านยูโร คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 11.3 เนื้อสัตว์ (ไม่รวมสัตว์ปีก) การผลิตในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (2549 — 2551) มีมูลค่าเฉลี่ย 11,512 ล้านยูโรต่อปี และในปี 2552 (ม.ค.-มิ.ย.) ผลิตเป็นมูลค่า 6,478 ล้านยูโร คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 10.6

สินค้าอาหารสำคัญอื่นๆที่เยอรมนีผลิตได้ ได้แก่ ขนมปัง (ไม่รวมคุ๊กกี้) มูลค่าการผลิตในปี 2552 (ม.ค.-มิ.ย.) เท่ากับ 5,987 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 และขนมเค็ก ขนมหวานอื่นๆ มีการผลิตเป็นมูลค่า 3,627 ล้านยูโร ลดลงร้อยละ 2.6

การบริโภคภายในประเทศ และการส่งออก

จากสถิติของสมาคมอุตสาหกรรมอาหารเยอรมนี พบว่า ประเทศมียอดขายสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.6 หรือคิดเป็นมูลค่า 155,000 ล้านยูโรในปี 2551 ซึ่งในจำนวนนี้แบ่งเป็นมูลค่าการขายภายในประเทศ 112,600 ล้านยูโร (ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5) และมีการส่งออกมูลค่า 42,400 ล้านยูโร(เพิ่มขึ้นร้อยละ 15) ทั้งนี้ เป็นผลมาจากราคาวัตถุดิบและต้นทุนการผลิต (สินค้าพลังงาน ค่าขนส่งและบรรจุภัณฑ์) ที่ขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้มูลค่าการขายสินค้าอาหารภายในประเทศ และส่งออกเพิ่มสูงขึ้นมาก

การนำเข้าสินค้าอาหารของเยอรมนี

ในปี 2552 (ม.ค.-ส.ค.) เยอรมนีนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร (HS 01—24) เป็นมูลค่ารวม 55,533 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.4 ของการนำเข้าทั้งสิ้นของประเทศ สินค้าอาหารนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่

ผลไม้ ผลส้มและถั่วต่างๆ (HS 08) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 8,129 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2552 (ม.ค.-ส.ค.) มีการนำเข้ามูลค่า 5,201 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 9.4 มูลค่าลดลงร้อยละ14.3 แหล่งนำเข้าที่สำคัญๆ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ สเปน และอิตาลี มีส่วนแบ่งร้อยละ 19, 18 และ 13 ตามลำดับ สินค้าที่สำคัญๆ ได้แก่ กล้วยหอม ส้ม เฮเซิลนัท และแอปเปิ้ล เป็นต้น มีการนำเข้าจากไทย คิดเป็นมูลค่า 4.756 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 0.09 มูลค่าลดลงร้อยละ 17.3

นม เนย ไข่ และผลิตภัณฑ์ (HS 04) มีมูลค่าการนำเข้าโดยเฉลี่ยปีละ 7,458 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2552 (ม.ค.-ส.ค.) มีการนำเข้ามูลค่า 4,544.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 8.2 ของการนำเข้าสินค้าอาหาร มูลค่าลดลงร้อยละ 22.4 แหล่งนำเข้าที่สำคัญๆ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเดนมาร์ค มีส่วนแบ่งร้อยละ 30, 14 และ 8 ตามลำดับ จากไทยมีการนำเข้าเล็กน้อย มูลค่า 0.214 ล้านเหรียญสหรัฐ

เครื่องดื่ม (HS 22) มีการนำเข้ามูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 6,592 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2552 (ม.ค.-ส.ค.) มีการนำเข้ามูลค่า 4,450.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 8.0 ของการนำเข้าสินค้าอาหารทั้งสิ้นมูลค่าลดลงร้อยละ 10.7 แหล่งนำเข้าที่สำคัญๆ ได้แก่ อิตาลี ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ มีส่วนแบ่งร้อยละ 21, 20 และ 8 ตามลำดับ จากไทยมีการนำเข้าเป็นมูลค่า 1.04 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งร้อยละ 0.01 มูลค่าลดลงร้อยละ 3.5 สินค้าสำคัญๆ ในพิกัดนี้ ได้แก่ เหล้าองุ่น วิสกี้ น้ำแร่ เป็นต้น

การนำเข้าสินค้าอาหารจากประเทศไทย และสถานะของประเทศคู่แข่งที่สำคัญในตลาด

ปี 2549-2551 เยอรมนี นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร พิกัด HS 01—24 จากประเทศไทย มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 386.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 12.2 ของการนำเข้าทั้งสิ้นจากไทย และในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 (ม.ค.-ส.ค.) มีการนำเข้าจากไทยเป็นมูลค่า 266.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.8 ของการนำเข้าสินค้าทั้งสิ้นจากไทย สินค้านำเข้าที่สำคัญ ประกอบด้วย

  • เนื้อสัตว์ (HS 16) เยอรมนีนำเข้าสินค้าพิกัดนี้จากไทย เป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 77.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 8 เดือนแรกปี 2552 (ม.ค.-ส.ค.) นำเข้าเป็นมูลค่า 92.8 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าลดลงร้อยละ 24.8 สินค้าส่วนใหญ่ของไทย ได้แก่
  • เนื้อไก่แปรรูป ไก่ต้มสุก (HS 1602) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 1,040 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2552 (ม.ค.-ส.ค.) นำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 724.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 16.4 จากไทยมีการนำเข้าเป็นอันดับที่ 7 มูลค่า 48.7 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 6.7 มูลค่าลดลงร้อยละ 28.9 แหล่งนำเข้าอื่นๆที่สำคัญ ได้แก่ บราซิล เนเธอร์แลนด์และออสเตรีย มีส่วนแบ่งร้อยละ 18.2, 16.9 และ 11.6 ตามลำดับ
  • กุ้งแปรรูป (HS 1605) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 279.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2552 (ม.ค.-ส.ค.) นำเข้าเป็นมูลค่า 175.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 16.8 จากไทยนำเข้าเป็นอันดับที่ 2 มูลค่า 33.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 18.9 มูลค่าลดลง
ร้อยละ 4.8 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ค และฝรั่งเศส มีส่วนแบ่งร้อยละ 28.9, 11.2 และ 9.9 ตามลำดับ
  • ปลากระป๋อง (HS 1604) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 722 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2552 (ม.ค.-ส.ค.) นำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 400.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ21.5 จากไทยมีการนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 39.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 8 เดือนแรกปี 2552 นำเข้าเป็นอันดับที่ 9 มูลค่า 10.7 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.7 มูลค่าลดลงร้อยละ 45.7 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ โปแลนด์ เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ค มีส่วนแบ่งร้อยละ 17.4, 16.9 และ 11.4 ตามลำดับ

ผลไม้แปรรูป (HS 20) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 5,088 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี2552 (ม.ค.-ส.ค.) นำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3,229 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 18.1จากไทยมีการนำเข้าเป็นอันดับที่ 14 มูลค่า 48.7 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.5 มูลค่าลดลงร้อยละ 7.9 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และเบลเยี่ยม มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ25.4, 13.8 และ 7.4 ตามลำดับ สินค้าไทยที่นำเข้าส่วนใหญ่ คือ สับปะรดกระป๋อง (HS 2008) มีการนำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกปี 2552 เป็นอันดับที่ 7 มูลค่า 39.98 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.4 มูลค่าลดลงร้อยละ 10.0 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ ตุรกี เนเธอร์แลนด์ และกรีก มีส่วนแบ่งร้อยละ 16.7, 12.7 และ 8.4 ตามลำดับ

อาหารทะเล แช่เย็นแช่แข็ง และแปรรูป (HS 03) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 3,261 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2552 (ม.ค.-ส.ค.) นำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,275 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 3.7 จากไทยมีการนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 43.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2552 (มค.-ส.ค.) มีการนำเข้าอันดับที่ 14 มูลค่า 31.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.4 มูลค่าลดลงร้อยละ 4.3 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ จีน เดนมาร์ค และโปแลนด์ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14.4, 13.2 และ 11.5 ตามลำดับ สินค้าส่วนใหญ่ของไทยจะเป็น กุ้งแช่เย็นแช่แข็ง (HS 0306) มีการนำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกปี 2552 เป็นอันดับที่ 4 มูลค่า 22.1 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12.3 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ บังคลาเทศ เนเธอร์แลนด์ และเวียดนาม มีส่วนแบ่งร้อยละ 15.0, 14.0 และ 13.6 ตามลำดับ

ข้าว (HS 10) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าเฉลี่ยปีละ 2,227 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2552(ม.ค.-ส.ค.) นำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,719.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากระยะเดียวกันในปีก่อนหน้า ร้อยละ 21.1 จากไทยมีการนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 28.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2552 (มค.-ส.ค.) มีการนำเข้าอันดับที่ 12 มูลค่า 29.1 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.7 มูลค่าลดลงร้อยละ 2.5 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ฝรั่งเศส เช็ค และโปแลนด์ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 28.5, 14.3 และ 11.0 ตามลำดับสินค้าส่วนใหญ่ของไทยจะเป็น ข้าวสาร (HS 1006) มีการนำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกปี 2552 เป็นอันดับที่ 3 มูลค่า 29.1 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12.8 มูลค่าลดลงร้อยละ 2.5 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และเบลเยี่ยม มีส่วนแบ่งร้อยละ 31.0, 18.8 และ 10.2 ตามลำดับ

ผักสด (HS 07) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 5,786 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2552 (ม.ค.-ส.ค.) นำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 4,106.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 12.6 ผักสดที่เยอรมนีนำเข้ามากจะเป็น มะเขือเทศ พริกหยวก และแตงกวา เป็นต้น จากไทยมีการนำเข้าเป็นอันดับที่ 26 มูลค่า 6.68 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.16 มูลค่าลดลงร้อยละ 3.3 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ สเปน และอิตาลี มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 35.9, 20.3 และ 10.8 ตามลำดับสินค้าผักสดของไทยที่มีการนำเข้ามากจะเป็น ผักสดต่างๆ (HS 0709) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าเฉลี่ยปีละ 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 8 เดือนแรกปี 2552 นำเข้าเป็นอันดับที่ 12 มูลค่า 5.7 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.64 มูลค่าลดลงร้อยละ 3.4 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ สเปน และอิตาลี มีส่วนแบ่งร้อยละ 42.1, 24.2 และ 7.9 ตามลำดับ

ผลไม้สด (HS 08) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 7,795 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2552 (ม.ค.-ส.ค.) นำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 5,200.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 17.9 ผลไม้ที่เยอรมนีนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ กล้วยหอม แอปเปิ้ล องุ่นและส้ม ผลไม้จากจากไทยมีการนำเข้าเป็นอันดับที่ 44 มีมูลค่า 4.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.09 มูลค่าลดลงร้อยละ 17.3 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ สเปน เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 19.7, 18.4 และ 12.6 ตามลำดับ ผลไม้ไทยที่มีการนำเข้ามาก ได้แก่ ผลไม้สด (มะม่วง มังคุด HS 0804) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 2.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 8 เดือนแรกปี 2552 นำเข้าเป็นอันดับที่ 15 มูลค่า 1.84 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.75 มูลค่าลดลงร้อยละ 16.6 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม และคอสตาริกา มีส่วนแบ่งร้อยละ 40.0, 12.7 และ 10.2 ตามลำดับ

ต้นไม้ และดอกไม้ (HS 06) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 3,069 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2552 (ม.ค.-ส.ค.) นำเข้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 2,392.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนระยะเดียวกันร้อยละ 10.6 จากไทยมีการนำเข้าเป็นอันดับที่ 27 มูลค่า 1.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.08 มูลค่าลดลงร้อยละ 10.3 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และเดนมาร์ค มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 79.6, 6.1 และ 3.7 ตามลำดับ สินค้าไทยที่มีการนำเข้ามาก ได้แก่ ดอกกล้วยไม้สด (HS 0603) มีการนำเข้าเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยปีละ 1.77 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 8 เดือนแรกปี 2552 นำเข้าเป็นอันดับที่ 19 มูลค่า 0.640 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.09 มูลค่าลดลงร้อยละ 46.6 แหล่งนำเข้าอื่นๆ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เคนยา และอิตาลี มีส่วนแบ่งร้อยละ 89.0, 2.4 และ 1.9 ตามลำดับ

2. ช่องทางการนำเข้าอาหารไทย และช่องทางการจำหน่าย

การนำเข้าสินค้าอาหารไทยในตลาดเยอรมนี ผ่านช่องทางทั้งทางน้ำ และทางอากาศ ดังนี้

  • สินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ สินค้าอาหารเก็บรักษาได้นาน เครื่องกระป๋อง และอาหารแช่แข็ง---> ท่าเรือ ฮัมบูร์ก ร๊อตเตอร์ดาม เบรเมน---> ท่าเรือภายในประเทศ (ดุยส์บวร์ก มานน์ไฮม์) และในยุโรปกลาง(เช็ค ฮังการี ตอนใต้ของฝรั่งเศส)
  • สินค้าอาหารสด แช่เย็น ----> สนามบิน แฟรงก์เฟิร์ต มิวนิค Schiphol เนเธอแลนด์ ----> สนามบินภายในประเทศ เบอร์ลิน ฮันโนเฟอร์ ไลพ์ซิก

ร้านค้าในเยอรมนีที่จำหน่ายสินค้าอาหารจากไทยเกือบทั้งหมด เป็นร้านค้าของชำจำหน่ายอาหารเอเชียโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีทั้งอาหารสด ผัก ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง และอาหารแห้ง เครื่องกระป๋องต่างๆ ตั้งอยู่ตามเมืองใหญ่ ที่มีคนเอเชียและชาวต่างชาติอาศัยอยู่มาก ได้แก่ แฟรงก์เฟิร์ต โคโลญจน์ มิวนิคและเบอร์ลิน นอกจากนี้ สินค้าอาหารไทยยังมีขายใน Supermarket และห้างสรรพสินค้าด้วย ทั้งนี้ สินค้าอาหารไทยที่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคในประเทศ ได้แก่ กะทิ ผักและผลไม้กระป๋อง ข้าวสาร น้ำจิ้ม เครื่องแกงซอสปรุงรสและผงปรุงรส เป็นต้น สำหรับผักและผลไม้สดที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภค ได้แก่ ลิ้นจี่ มะม่วง มังคุด เงาะ ข่า ตะไคร้ ขิง พริก หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดอ่อน หอมหัวแดง เป็นต้น

อาหารไทยจะนำเข้ามาโดย บริษัทผู้นำเข้าอาหารเอเชีย และร้านค้าชำดังกล่าว เป็นผู้นำเข้าด้วยตนเอง แล้วกระจายสินค้าให้กับผู้ประกอบการค้าส่ง ค้าปลีกอาหาร และร้านอาหารอื่นๆ ต่อไป

3. พฤติกรรมผู้บริโภค
  • ความต้องการสินค้าอาหารไทยในตลาดเยอรมนี มาจากกลุ่มผู้บริโภคชาวเอเชียที่อาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนี เป็นส่วนใหญ่ กลุ่มผู้บริโภคที่สำคัญ ได้แก่ ชาวไทย และเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งผู้บริโภคนิยมหาซื้อสินค้าอาหารไทยจากร้านค้าชำสินค้าอาหารเอเชีย ที่ส่วนใหญ่เป็นกิจการของทั้งนักธุรกิจเวียดนาม และไทย
  • ปัจจุบันตลาดเยอรมนี ยังคงอยู่ในกระแสความนิยมบริโภคอาหารจากภูมิภาคเอเชียอาทิ อาหารไทย ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภัตตาคาร และร้านอาหารเอเชีย ขนาดต่างๆ มีการสั่งซื้ออาหารวัตถุดิบ และเครื่องปรุงรสที่ผลิตในประเทศไทยด้วย
  • ผู้บริโภคชาวเยอรมัน ให้ความสำคัญในลำดับต้นๆกับการบริโภคอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ ไม่มีสารปรุงแต่ง และปัจจุบันมีแนวโน้มในการจัดเตรียมหาอาหารที่ไม่ยุ่งยาก หรือสะดวกในการจัดหามากขึ้น จึงส่งผลให้ นอกจากสินค้าอาหารสดได้รับความนิยมต่อเนื่องแล้ว แนวโน้มการบริโภคสินค้าอาหารสำเร็จรูปแช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งผู้บริโภคชาวเยอรมันเห็นว่า เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพรองลงมาจากอาหารสด และสะดวกในการจัดเตรียม นั้น ได้รับความนิยมสูงไม่แพ้กันโดยกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมบริโภคสินค้าอาหารสำเร็จรูปแช่เย็นแช่แข็งนี้ จะเป็นกลุ่มคนโสด ครอบครัวขนาดเล็ก(2 คน) กลุ่มผู้หญิงทำงาน และกลุ่มคนสูงอายุ
  • ตลาดเยอรมัน มีความต้องการสินค้าอาหารสำเร็จรูป (Ready to Eat) ในกลุ่มอาหารเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารไทย เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากปัจจัยด้านความสะดวกสบายในการจัดเตรียม (Convenience) ความนิยมชมชอบในรสชาติอาหารไทย (Exotic Flavours & Ethnic Cuisines) ตลอด
จนคุณค่าของอาหารทีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ (Health & Welness)
  • สินค้าอาหารเกษตรินทรีย์ ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นในตลาดเยอรมนี ซึ่งเป็นผลมาจากการให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพด้วยเช่นกัน ดังนั้น ตลาดอาหารเกษตรอินทรีย์ จึงเป็น Niche Market ที่สำคัญในตลาดเยอรมนี
  • ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารของกลุ่มผู้บริโภคชาวเยอรมัน จะให้ความสำคัญด้านคุณภาพของอาหารก่อนจึงพิจารณาราคา ดังนั้น ผู้ผลิตอาหารต่างๆที่จำหน่ายในประเทศเยอรมนีจะต้องเน้นที่คุณภาพอาหาร และการสร้างแบรนด์ของอาหารที่เน้นในด้านคุณภาพเป็นสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ในการกำหนดราคาของสินค้าอาหารในตลาดเยอรมนีในปัจจุบัน ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารมีความพยายามที่จะรักษาเสถียรภาพของราคาอาหารของตนเอาไว้ และพยายามที่จะไม่ผลักภาระต้นทุนค่าวัตถุดิบอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นไปยังผู้บริโภค เนื่องจากความกลัวที่จะสูญเสียอุปสงค์ในสินค้าอาหารของตนไป หากมีการปรับเพิ่มราคาสินค้า
4. ช่องทางการค้าในประเทศ และราคาขายปลีกสินค้าอาหารไทย

สินค้าอาหารไทยในตลาดเยอรมนี มีวางจำหน่ายในร้านค้าของชำจำหน่ายอาหารเอเชียโดยเฉพาะ ตั้งอยู่ตามเมืองใหญ่ ที่มีคนเอเชียอาศัยอยู่มาก รวมทั้ง มีวางขายในห้างสรรพสินค้า Suppermarket Food-Superstores และ Hypermarkets ต่างๆ ด้วย

5. มาตรการด้านภาษี และไม่ใช่ภาษี
มาตรการด้านภาษี

ช่วงอัตราภาษีนำเข้าสินค้าอาหารที่สำคัญ มีดังนี้

          สินค้า                    อัตราภาษี (ร้อยละ)

HS 03 อาหารทะเลแช่แข็ง 7.5 — 20.0

          HS 06 ดอกไม้              8.5 — 12.0
          HS 07 ผักสด               3.2 — 14.4
          HS 08 ผลไม้สด             2.0 — 20.8
          HS 10 ข้าว                211 ยูโร/ตัน
          HS 20 ผลไม้แปรรูป          12.5 — 25.6

ที่มา: EU Commission Regulation (EC) No 948/2009 of 30 September 2009

          อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) :        สินค้าอาหาร 7%
          (เยอรมนี)                      สินค้าที่ไม่ใช่อาหาร 19%

มาตรการที่มิใช่ภาษี

เยอรมนีถือปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านสินค้าเกษตรและอาหารของ EU ซึ่งเน้นความสำคัญของมาตรการการรับรองด้านสุขอนามัยผ่านทางห่วงโซ่อุปทาน “From the Farm to the Fork” เพื่อเป็นหลักประกันว่าสินค้าอาหารที่จำหน่ายในสหภาพยุโรปปลอดภัย หากสินค้าที่ส่งออกมาไม่ผ่านมาตรฐานด้านสุขอนามัยของสหภาพยุโรป หรือมีสารเคมีปนเปื้อน สินค้าจะถูกทำลาย หรือส่งกลับประเทศ กฏระเบียบที่สำคัญและมีผลต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทย เช่น

(1) กฎระเบียบในการบังคับการติดฉลากสินค้าอาหาร

(2) กฎระเบียบด้านมาตรฐานบรรจุภัณฑ์สินค้าอาหารในตลาดยุโรป

(3) กฎระเบียบการใช้วัสดุและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สัมผัสกับอาหาร

(4) กฎระเบียบข้อบังคับสุขอนามัยเฉพาะสำหรับสินค้าอาหารที่ทำจากสัตว์

(5) กฎระเบียบวิธีการสุ่มตรวจและวิธีการตรวจวิเคราะห์หาสารเคมีตกค้างในสินค้าอาหาร

(6) กฎระเบียบว่าด้วยการปกป้องสวัสดิภาพไก่เลี้ยงเพื่อการบริโภคเนื้อของสหภาพยุโรป

(7) กฎระเบียบเกี่ยวข้องกับสารเสริมที่ใช้ในอาหารเพื่อการบริโภคของมนุษย์

(8) กฏระเบียบว่าด้วยเกณฑ์บรรทัดฐานด้านจุลชีววิทยาสำหรับสินค้าอาหาร

(9) กฎระเบียบว่าด้วย การกำหนดเงื่อนไขในการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์จากประเทศที่สาม

(10) กฏระเบียบกำหนดค่าปนเปื้อนสูงสุดของสาร Dioxins และสาร PCBs ในอาหารมนุษย์ และอาหารสัตว์

(11) กฎระเบียบว่าด้วยการป้องกัน ต่อต้าน และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม หรือกฎระเบียบ IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Finishing) (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 โดยสินค้าประมงที่จะส่งออกมายังตลาดสหภาพยุโรปจะต้องมีใบรับรองการจับสัตว์ น้ำที่ออกโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบของประเทศเจ้าของสัญชาติของเรือประมงที่ใช้จับสัตว์น้ำกำกับมาด้วย เพื่อรับรองว่าการจับสัตว์น้ำดังกล่าวได้กระทำถูกต้องตามกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรการการอนุรักษ์และการบริหารจัดการระดับนานาชาติ ซึ่งครอบคลุมทั้งสินค้าประมงแปรรูปและไม่แปรรูป)

(12) กฎระเบียบมาตรฐานด้านการตลาดสำหรับสินค้าเนื้อสัตว์ปีก (กำหนดให้การจำหน่ายเนื้อสัตว์ปีกสด ในตลาด EU ต้องมาจากเนื้อสัตว์ปีกที่ถูกเก็บรักษาอยู่ในช่วงอุณหภูมิ -2 ถึง 4 องศาเซลเซียสเท่านั้น ห้ามใช้เนื้อสัตว์ปีกที่ผ่านการแช่แช็งในอุณภูมิที่ต่ำกว่านี้ ซึ่งจะเริ่มต้นใช้ในทุกประเทศสมาชิก EU ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นไป)

(13) ข้อบังคับเรื่องการจำกัดสารเคมีที่ใช้ในยาฆ่าแมลง (EU เตรียมคุมเข้มสารเคมีอันตรายที่ใช้ในยาฆ่าแมลง และส่งเสริมการใช้ยาฆ่าแมลงอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการส่งเสริมการรักษาโรคพืชโดยไม่ใช้สารเคมี คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2554 และเป็นที่น่าจับตาว่าข้อบังคับนี้ จะทำให้การควบคุมตรวจสอบสารตกค้างจากยาฆ่าแมลงในสินค้าพืชนำเข้า อาจทวีความเข้มงวดขึ้นในอนาคต)

ข้อกำหนดเพิ่มเติมที่ไม่ได้เป็นข้อบังคับตามกฎหมาย ส่วนใหญ่จะกำหนดขึ้นโดยภาคเอกชนเป็นมาตรการโดยสมัครใจ ได้แก่
  • ข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental requirements) เช่น GLOBALGAP(ชื่อเดิมคือ EurepGAP (Euro-Retailer Produce Working Group หรือ EUREP) เป็นมาตรฐานรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารตามกระบวนการผลิตทางเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agricultural Practice: GAP) ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ในยุโรปส่วนใหญ่จะเป็นสมาชิกของ GLOBALGAP (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.globalgap.org ) นอกจากนี้ บางบริษัทก็มีการกำหนดเกี่ยวกับการผลิตที่ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ส่งออกสามารถหาข้อมูลของลูกค้าที่บริษัทต้องการจะทำธุรกิจด้วยว่ามีข้อกำหนดในเรื่องใดบ้างจากเว็บไซต์ของบริษัทนั้น
  • ข้อกำหนดด้านสังคม (Social requirements) ส่วนใหญ่จะเป็นไปตามมาตรฐานพื้นฐานของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ที่เกี่ยวกับสิทธิแรงงานสำคัญ 4 ประเด็นใหญ่ คือ เรื่องของการไม่ให้ใช้แรงงานภาคบังคับ การไม่ใช้แรงงานเด็กอย่างไม่ถูกต้อง การเคารพและยอมรับในสิทธิในการรวมตัวกัน และเจรจาต่อรองของคนงาน และการไม่เลือกปฏิบัติ แต่มีบางบริษัทมีข้อกำหนดด้านสังคมที่ต้องการให้ซัพพลายเออร์ปฏิบัติมากกว่านี้ สำหรับบริษัทที่มีมาตรการด้านสังคมสูงสุด จะดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการของ Fair Trade แต่จะเน้นไปที่ Niche market
6. SWOT Analysis

สินค้าอาหารส่งออกของไทยมายังตลาดเยอรมนี มีจุดแข็ง จุดอ่อน ในหลายประเด็น รวมทั้งยังมีปัจจัยภายนอก ทั้งที่เป็นโอกาส และเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกอาหารไทยมายังตลาดเยอรมนี โดยมีรายละเอียดดังนี้

**จุดแข็ง

  • ไทยมีแหล่งวัตถุดิบอาหารที่หลากหลาย จากภาคเกษตรกรรม จึงสามารถผลิตอาหารได้หลากหลายประเภท
  • ผู้ประกอบการผลิตอาหารเพื่อการส่งออกของไทยมีทักษะ และฝีมือด้านการผลิต สามารถผลิตอาหารผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกสู่ตลาด และสามารถผลิตอาหารที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน/กฎระเบียบการนำเข้าของ EU
  • ผู้ประกอบการ มีประสบการณ์และมีฐานลูกค้าผู้นำเข้าสำคัญ ในตลาดเยอรมนี
  • อาหารไทย มีรสชาติดี และมีสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นแนวโน้มของตลาดอาหารในเยอรมนี
  • สินค้าไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ

**จุดอ่อน

  • วัตถุดิบอาหาร จากภาคเกษตรกรรมมีปริมาณและคุณภาพไม่สม่ำเสมอ บางรายการสินค้าไม่สามารถผลิตได้ตลอดปี
  • สินค้าผัก ผลไม้สดบางรายการ มีปัญหาสารพิษตกค้าง ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในสายตาผู้นำเข้า
  • อุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออกของไทย ยังขาดระบบการควบคุม/ตรวจสอบคุณภาพ ที่ได้มาตรฐาน
  • สินค้าไทยมีราคาสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขัน เช่น จีน เวียดนาม
  • ปัญหาไข้หวัดนกที่มีต่อการส่งออกไก่สดของไทย

**โอกาส

  • เยอรมนีเป็นตลาดใหญ่ มีประชากร 82 ล้านคน และผลิตอาหารได้ไม่เพียงพอ ต้องพึ่งการนำเข้าจากต่างประเทศ
  • พฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนเยอรมัน ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางอาหารและประโยชน์ด้านสุขภาพ จึงเป็นโอกาสของสินค้าอาหารไทยที่มีวัตถุดิบเป็นสมุนไพรต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ทางโภชนาการ
  • ชาวเยอรมันนิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจึงรู้จักและเคยลองรับประทานอาหารไทย และยังคงหาซื้อบริโภค/ใช้บริการร้านอาหารไทย ในเยอรมนี
  • ชาวเยอรมันสนใจบริโภคอาหารและผลไม้ที่มาจากต่างประเทศ (Exotic food and fruits) มากขึ้น

**อุปสรรค

  • ผู้บริโภคเยอรมันให้ความสำคัญกับราคาสินค้าเป็นอย่างมาก ต้องการสินค้าคุณภาพดี ราคาถูก การซื้อสินค้าอาหารจาก Discounters จึงเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่ง Discounters จะสั่งซื้อสินค้าจำนวนมากสำหรับร้านค้าในเครือข่าย ทำให้มีอำนาจการต่อรองสูง สามารถเลือก suppliers ที่เสนอขายในราคาต่ำได้
  • การแข่งขันในตลาดสูงมาก ส่วนใหญ่นำเข้าสินค้าอาหารจากประเทศใน EU โดยเฉพาะสินค้าผักและผลไม้สด ซึ่งได้เปรียบในด้านการขนส่งและราคา
  • มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี และกฎระเบียบทางการค้าใหม่ๆของ EU ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าอาหารไทย
  • มาตรการที่ไม่ได้เป็นข้อบังคับตามกฎหมาย ที่ผู้ค้าปลีกรายใหญ่กำหนดขึ้น เช่นมาตรฐานGLOBALGAP และบางครั้งมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานสูงกว่าของ EU เช่น ค่า MRLs

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ