สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 20, 2010 16:40 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ขนาดของตลาด

ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่ โดยตลาดค้าปลีกมีมูลค่าประมาณ 1,250,000 ล้านเยน อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่ในภาวะถดถอยในปัจจุบัน ทำให้ประชากรญี่ปุ่นมีรายได้ในการจับจ่ายใช้สอยลดลงและสนใจหาซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยรวมทั้งเครื่องประดับอัญมณีลดลงโดยการนำเข้าจะเป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ไม่เหมือนกับช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟูในอดีต

ญี่ปุ่นผลิตอัญมณีได้เพียงชนิดเดียว คือ มุก (Cultured pearls) ดังนั้น อุตสาหกรรมเครื่องประดับญี่ปุ่นต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบเกือบทั้งหมดจากต่างประเทศ ทั้งนี้ เครื่องประดับที่ผลิตโดยชาวญี่ปุ่น (Japanese-made jewelry) มีฝีมือประณีตและพิถีพิถัน (Precise and careful workmanship)

อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นมีการนำเข้าสินค้า เครื่องประดับจากต่างประเทศด้วยหลากหลายเหตุผล เช่น เครื่องประดับจากประเทศในทวีปเอเชียเนื่องจากมีราคาต่ำ และเครื่องประดับจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาเนื่องจากมีลักษณะในการออกแบบที่ดีและมีรูปแบบ

2. ช่องทางการจำหน่าย

มีผู้ที่เกี่ยวข้องทำธุรกิจในอุตสาหกรรมเครื่องประดับในประเทศญี่ปุ่นประมาณ 10,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าขนาดเล็กและขนาดกลาง ไม่มีผู้ค้าปลีกหรือผู้ค้าส่งใดที่มีอำนาจผูกขาดทางการตลาด

ช่องทางการกระจายสินค้าในตลาดญี่ปุ่น ดังรายละเอียดตามแผนภูมิข้างล่างนี้ โดยเครื่องประดับอัญมณี และโลหะจะถูกนำเข้าโดยผู้นำเข้า (Direct imports) คือ บริษัทผู้นำเข้า บริษัท/ผู้ค้าส่งวัตถุดิบ และบริษัท/ผู้ค้าส่งโลหะ แล้วส่งจำหน่ายต่อให้ผู้ผลิตโลหะมีค่าและเครื่องประดับ (Precious metal & jewelry producers) หลังจากนั้น จึงจำหน่ายต่อให้ผู้ค้าปลีก คือ Direct outlet นายหน้า ห้างสรรพสินค้า Mass merchandisers, Specialty stores และอื่นๆ เพื่อจำหน่ายให้ผู้บริโภคต่อไป

ช่องทางกระจายสินค้าที่น่าสนใจ คือ การจำหน่ายทาง Mail order catalogue การจำหน่ายทางโทรทัศน์ช่องต่างๆ ซึ่งมักจะจัดจำหน่ายคั่นรายการ/โปรแกรม การจำหน่ายทางโทรทัศน์ที่จำหน่ายสินค้าเป็นการเฉพาะ อาทิ ช่อง Shop Channel และการจำหน่ายทาง Internet ซึ่งลู่ทางตลาดดังกล่าวมานี้เป็นช่องทางตลาดใหม่ และเหมาะสำหรับสินค้าเครื่องประดับและอัญมณีมาก

3. พฤติกรรมผู้บริโภค

3.1 ญี่ปุ่นจะนิยมใช้เครื่องประดับทอง 18-carat ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีเครื่องประดับทองหลายมาตรฐาน อาทิ 24-carat, 14-carat, 9-carat

3.2 ลักษณะความต้องการใช้อัญมณีและเครื่องประดับของผู้บริโภคญี่ปุ่นจะแตกต่างกันไป คือ

  • ตลาดสตรีวัยรุ่นที่ยังไม่ได้แต่งงาน กลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อตลาดเครื่องประดับญี่ปุ่นมาก ความต้องการของสตรีกลุ่มนี้ไม่เปลี่ยนแปลงตามภาวะเศรษฐกิจ และจะซื้อเครื่องประดับโดยคำนึงถึงการออกแบบและแฟชั่นสมัยนิยมมากกว่าคุณค่าของวัสดุ โดยถือว่าเครื่องประดับเปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของแฟชั่นซึ่งใช้ร่วมกับเสื้อผ้าและการแต่งหน้า และการตัดสินใจซึ้อจะเน้นประโยชน์ความหลากหลาย โอกาสในการสวมใส่เพื่อให้เป็นไปตามแฟชั่น (wearability and variation)โดยแรงบันดาลใจการใช้เครื่องประดับมาจากหนังสือแฟชั่นต่างๆ เครื่องประดับที่จำหน่ายได้ดีสำหรับสตรีกลุ่มนี้ คือ ต่างหู ต่างหูที่ต้องเจาะรูที่หู(pierced earrings) และแหวนแบบตามแฟชั่นทันสมัย
  • ตลาดสตรีที่เป็นคู่หมั้นหรือจะแต่งงาน เครื่องประดับสำหรับสตรีกลุ่มนี้ คือ แหวนหมั้น และแหวนแต่งงาน ความต้องการเครื่องประดับประเภทแหวนหมั้นและแหวนแต่งงานขยายเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากกลุ่มสตรี baby boomers (เกิดปี 2514 - 2517) เติบโตถึงวัยหมั้นและแต่งงานแล้วแนวโน้มความนิยมใหม่ของคนในวัย baby boomers คือ การแต่งตัวแบบเดียวกันตามแฟชั่น ซึ่งปรากฎมากในการแต่งกายเสื้อผ้าแฟชั่น แนวโน้มปรากฎการณ์นี้ก็เกิดขึ้นในวงการเครื่องประดับ โดยมีการออกแบบเครื่องประดับสำหรับคู่หนุ่มสาวให้มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ซึ่งกำลังเป็นแฟชั่นนิยมในขณะนี้
  • ตลาดสตรีที่แต่งงานแล้ว เครื่องประดับที่จำหน่ายได้ดีสำหรับสตรีกลุ่มนี้ คือ แหวนตามแฟชั่น เข็มกลัดและสร้อยคอ สตรีกลุ่มนี้จะเน้นคุณค่าของวัสดุและราคาแพงเพื่อความภาคภูมิใจและเพิ่มบารมี โดยเน้นเครื่องประดับที่มีลักษณะไม่ซ้ำใคร (unique) และหายาก
4. การค้าในประเทศ

4.1 การนำเข้าเครื่องประดับอัญมณีของญี่ปุ่นในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบันจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนเช่นในอดีต นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่นยุคใหม่ส่วนหนึ่งจับจ่ายใช้สอยเงินมากขึ้นในการท่องเที่ยวและการพักผ่อนหย่อนใจ ไม่เน้นการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยเช่นเครื่องประดับอัญมณีเหมือนในอดีต

4.2 การที่ญี่ปุ่นมีประเพณีในการมอบของขวัญให้แก่กัน และนิยมซื้อหาเครื่องประดับและอัญมณีเป็นของขวัญให้ญาติมิตรและผู้ที่สนิทสนมในวาระโอกาสต่างๆ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การจำหน่ายเครื่องประดับและอัญมณีในตลาดญี่ปุ่นยังคงมีโอกาสที่ดีเมื่อประชาชนมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น

4.3 เครื่องประดับเงินเป็นสินค้าที่มีโอกาส เนื่องจากมีราคาถูก มีหลากหลายรูปแบบให้เลือก Lifestyle ของสตรีญี่ปุ่นเปลี่ยนไป โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น และวัยทำงาน นิยมเลือกซื้อเครื่องประดับเงินให้เข้ากับชุดแต่งกายซึ่งมีแฟชั่นหลากหลายสำหรับในวาระต่างๆ นอกจากนี้ เครื่องประดับทองคำขาวก็เป็นเครื่องประดับยอดนิยมของชาวญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นของมีค่า สวยมาก และมีระดับ (Class)

4.4 ลู่ทางตลาดที่น่าสนใจในการเจาะขยายตลาดเครื่องประดับและอัญมณีในประเทศญี่ปุ่น คือการจำหน่ายทาง Mail Order Catalogue และการจำหน่ายทางโทรทัศน์ช่องต่างๆ การจำหน่ายทางโทรทัศน์ที่จำหน่ายสินค้าเป็นการเฉพาะ อาทิ ช่อง Shop Channel และการจำหน่ายทาง Internet ซึ่งลู่ทางตลาด ดังกล่าวมานี้เป็นช่องทางตลาดใหม่ และเหมาะสำหรับสินค้าเครื่องประดับและอัญมณีมาก

5. ระดับราคา

5.1 Costume Jewelry

  • สินค้าประเภท Street Fashion ราคาประมาณชิ้นละ 3,000 เยน
  • สินค้าประเภท Brand Fashion ราคาประมาณชิ้นละ 5,000-10,000 เยน

5.2 อัญมณีและเครื่องประดับที่ผลิตจากวัตถุดิบจริง

  • ไม่สามารถระบุได้ เนื่องจากแตกต่างกันไปตามวัตถุดิบ ชนิด และคุณภาพของสินค้า
6. สถานะของประเทศคู่แข่งในตลาดญี่ปุ่น

ในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) ญี่ปุ่นนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ รวมมูลค่า 1,507.52 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 28.63 โดยนำ เข้าเพชรเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาตามลำดับ คือ เครื่องประดับทองคำ เครื่องประดับทองคำขาว และไข่มุก ญี่ปุ่นนำเข้าเครื่องประดับและอัญมณีจากไทยมูลค่า 96.42 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 18.06 คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 6.40 โดยนำเข้าเครื่องประดับทองคำเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทองคำขาว เพชรพลอย ทับทิม มรกต รัตนชาติอื่นๆ และไข่มุก ตามลำดับในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) ญี่ปุ่นนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจำแนกตามประเภทสินค้า ดังนี้

  • เพชร (HS 7102.39-000) นำเข้ามูลค่า 456.43 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 23.76 โดยนำเข้าจากอินเดียเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาตามลำดับคือ เบลเยี่ยม อิสราเอล และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 5 มูลค่า 24.655 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.06 ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 5.40
  • เครื่องประดับทอง (HS 7113.19-021, -029) นำเข้ามูลค่า 394.33 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 37.12 โดยนำเข้าจากฝรั่งเศส อิตาลี และฮ่องกง ตามลำกับ ทั้งนี้ นำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 4 มูลค่า 26.93 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 38.91 ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 6.83
  • เครื่องประดับทองคำขาว (HS 7113.19-010) นำเข้ามูลค่า 266.97 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 24.08 โดยนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาตามลำดับคือ ฝรั่งเศส และสวิตนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 4 มูลค่า 11.05 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 20.12 ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 4.14
  • ไข่มุก (HS 7101) นำเข้ามูลค่า 201.81 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 32.87 โดยนำเข้าจากออสเตรเลียเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาตามลำดับคือ เฟรนซ์โอซิเนีย อินโดนีเซีย และฮ่องกงนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 5 มูลค่า 0.35 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 50.20 ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 0.17
  • เครื่องประดับเงิน (HS 7113.11-000) นำเข้ามูลค่า 132.06 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 18.98 โดยนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาตามลำดับคือ ไทย โดยนำเข้าจากไทยมูลค่า 15.55 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 33.28 ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 16.80
  • รัตนชาติอื่นๆ (HS 7103.99-000) นำเข้ามูลค่า 34.01 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ21.33 โดยนำเข้าจากจีนเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาตามลำดับคือ ฮ่องกง อินเดีย และบราซิล โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 5 มูลค่า 4.18 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 43.48 ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 12.29
  • พลอย ทับทิม ไพลิน มรกต (HS 7103.91-000) นำเข้ามูลค่า 21.91 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 21.05 โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาตามลำดับคือ สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง โคลัมเบีย และศรีลังกา นำเข้าจากไทยมูลค่า 9.08 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 33.09 ไทยมี

ส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 41.43

7. มาตรการด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี (NTBs)

7.1 ปัจจุบัน อัตราภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทยภายใต้ JTEPA อยู่ที่ร้อยละ 0

7.2 การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมายังประเทศญี่ปุ่นทำได้โดยเสรี เนื่องจากทางการญี่ปุ่นไม่ได้กำหนดมาตรการที่มิใช่ภาษีในลักษณะกีดกันทางการค้า

7.3 สินค้าที่กำหนดข้อจำกัดและห้ามนำเข้าตามกฎหมายศุลกากร คือ เหรียญปลอม สินค้าที่ผิดกฎหมายเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ทั้งนี้รวมถึงสินค้าลอกเลียนแบบสินค้าที่มีชื่อเสียงด้วย และสินค้าที่นำเข้าต้องไม่ขัดกับ Washington Convention (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora)

7.4 สินค้าเครื่องประดับที่จำหน่ายในญี่ปุ่น ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยฉลาก แต่กฎหมายให้ความคุ้มครองแก่ผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ต้องการจด Whole mark (การจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองคุณภาพโลหะมีค่า ว่าเนื้อปริมาณ และคุณภาพเนื้อโลหะมีค่าตรงตามมาตรฐานสากล) และ Quality mark program (กำหนดโดย the Japan Jewelry Association เหมือนเครื่องหมายการค้าที่ได้รับรองว่าเป็นเครื่องประดับที่ทำด้วยโลหะมีค่า เช่นเดียวกับเครื่องหมายรับรองของ อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส เป็นต้น ทั้งนี้ เป็นการจดทะเบียนด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่ข้อบังคับตามกฎหมาย)

7.5 ภายใต้ Product Liability Law ได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้สินค้านั้นๆ กล่าวคือ อัญมณีและเครื่องประดับที่นำออกจำหน่าย จะต้องไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

8. สถานะสินค้าไทยในตลาดญี่ปุ่น (SWOT)

8.1 จุดแข็ง

  • สินค้ามีการออกแบบที่ดี
  • การเจียรนัยอัญมณีมีความละเอียดและปราณีตสูง

8.2 จุดอ่อน

  • ความน่าเชื่อถือในคุณภาพและการให้ข้อมูลและรายละเอียดสินค้าแก่ผู้บริโภค

8.3 โอกาส

  • การได้รับความร่วมมือที่ดีในการจัดกิจกรรมเพื่อทำตลาดประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องจากสมาคมผู้นำเข้าต่างๆ เช่น Japan Jewelry Association และ Japan Color Stone Association เป็นต้น

8.4 อุปสรรค

  • ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยของญี่ปุ่น ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ