ตลาดสิ่งทอในประเทศญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 21, 2010 12:00 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ขนาดของตลาด

ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยส่งผลให้แนวโน้มของราคาสินค้าเสื้อผ้าและแฟชั่นลดต่ำลง รวมถึงยอดขายของสินค้าระดับสูงที่วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าลดลง ในขณะที่ Specialty Stores เช่น UNIQLO หรือ Shimamura ซึ่งเน้นขายสินค้าราคาถูกกลับมียอดขายเพิ่มขึ้น โดยขนาดตลาดของอุตสาหกรรมเสื้อผ้า (Garment) ของญี่ปุ่นในปี 2008 อยู่ที่ 7.95 ล้านล้านเยน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.79 โดยเสื้อผ้าสตรีครองสัดส่วนสูงสุดราวร้อยละ 26.9 รองลงมา คือ Shirt และ Sweater (ร้อยละ 25.6) เสื้อผ้าบุรุษ (ร้อยละ 14.9) ชุดชั้นใน (ร้อยละ 11.2) เสื้อผ้าเด็ก (ร้อยละ 6.7) ถุงเท้าและถุงน่อง(ร้อยละ 4.2) และอื่นๆ (ร้อยละ 10.6)

2. ช่องทางการจำหน่าย

3. พฤติกรรมผู้บริโภค

3.1 เป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีความรอบรู้ เนื่องจากข้อมูลที่หาได้ง่ายและหลากหลาย

3.2 ผู้บริโภคมีความต้องการที่แตกต่างกันและเปลี่ยนแปลงเร็ว ทำให้ผู้ผลิตต้องตอบสนองในการผลิตสินค้าจำนวนน้อยชิ้นในแต่ละแบบแต่มีสินค้าให้เลือกหลากหลาย (small-lot and wide-ranged production)

3.3 ผู้บริโภคมีความต้องการที่หลากหลาย สินค้าที่วางจำหน่ายมีมากเกินกว่าความต้องการของตลาด (Oversupply) ส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูงในบรรดาผู้ผลิตและผู้ส่งออก

3.4 ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่มีคุณภาพสูง อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบัน ทำให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญในเรื่องราคาสินค้ามากขึ้น ดังนั้น สินค้าที่มีโอกาส คือ สินค้าราคาถูกแต่มีคุณภาพได้มาตรฐาน

3.5 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งเสริมการแต่งกายแบบธุรกิจในฤดูร้อนที่เหมาะสมต่อการประหยัดพลังงานในภาวะโลกร้อน (Cool Biz) และการแต่งกายแบบธุรกิจในหน้าหนาวที่ช่วยให้ร่างกายอบอุ่นพื่อลดการใช้พลังงานจากเครื่องทำความร้อน (Warm Biz) แต่เน้นแฟชั่นและความหลากหลาย ส่งผลให้ความต้องการเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นสำหรับผู้ชายโดยรวมมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเครื่องแต่งการสำหรับผู้ชายจะมีแบบที่ไม่แตกต่างกันมากนักและมีวงจรชีวิตที่ยาวกว่าเสื้อผ้าสตรี

3.6 สำหรับลูกค้าสตรี สินค้าที่มีลักษณะที่โดดเด่นในเรื่องของการสะท้อนแนวโน้มแฟชั่นอย่างรวดเร็วผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ารูปแบบลำลองในราคาที่เหมาะสม เช่น Zara และ H&M ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากผู้บริโภค

3.7 เสื้อผ้าในกลุ่มเด็กมีแนวโน้มที่ถดถอยลงอันเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ลดลง สืบเนื่องจากอัตราการเกิดที่น้อยลง ประกอบกับภาวะการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรงเพื่อครองตลาด ทั้งนี้ Specialty Store ซึ่งผลิตสินค้าที่มีความหลากหลายและวางขายในราคาที่ต่ำเพื่อตลาดขนาดใหญ่ (Mass Market) ในปัจจุบัน เช่น Gap และ Uniqlo ก็เป็นที่ได้รับความนิยม

4. การค้าในประเทศ

ที่ผ่านมา โครงสร้างการผลิตและการค้าของอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายและแฟชั่นของประเทศญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับต้นน้ำ (Upstream) ซึ่งจะครอบคลุมการผลิตเส้นใย (Fiber) และสิ่งทอต่างๆ ระดับกลางน้ำ (Midstream) จะครอบคลุมการผลิตเสื้อผ้าและการขายส่ง และระดับปลายน้ำ(Downstream) จะครอบคลุมธุรกิจค้าปลีก อย่างไรก็ดี เมื่อไม่นานมานี้ โครงสร้างของระบบดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมไปเป็นแบบที่เรียกว่า “Product-out” ซึ่งเป็นการผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภค ภายใต้ระบบปัจจุบัน อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายและแฟชั่นของญี่ปุ่นจะมุ่งเน้นการผลิต สินค้าจำนวนน้อยชิ้นในแต่ละแบบแต่มีสินค้าให้เลือกหลากหลาย (small-lot and wide-ranged production) เพื่อตอบสนองผู้บริโภคญี่ปุ่นที่มีความต้องการที่แตกต่างกันและเปลี่ยนแปลงเร็ว ซึ่งข้อมูลจากระดับปลายน้ำหรือร้านค้าปลีกเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ผลิตนำมาใช้ผลิตสินค้าเนื่องจากเป็นสิ่งที่สะท้อนความต้องการของผู้บริโภคโดยตรง

ที่น่าสนใจคือ ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายซึ่งอยู่ในระดับกลางน้ำได้เริ่มเข้ามาทำธุรกิจในระดับปลายน้ำด้วย โดยการเปิดร้านค้าปลีกของตนเองภายใต้ชื่อแบรนด์ต่างๆ (Specialty store retailer of Private label Apparel : SPA) ดังนั้น อุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำเริ่มจะไม่มีเส้นแบ่งระหว่างกัน ส่งผลให้วงจรชีวิตของสินค้าและระยะเวลาการพัฒนาสินค้าจนพร้อมสำหรับวางจำหน่าย (lead time) สั้นลงมากในปัจจุบัน

ระบบ SPA มีการขยายตัวเป็นอย่างมากในญี่ปุ่น เนื่องจากการสร้างมูลค่าให้แก่สินค้าภายใต้แบรนด์ต่างๆ ของตนด้วยลักษณะสินค้าที่โดดเด่นและแตกต่างจากสินค้าอื่นๆ ในท้องตลาด ทั้งนี้การวางแผน การผลิต การขายสินค้า ตลอดจนการควบคุมสินค้าคงคลังที่เบ็ดเสร็จในผู้ประกอบการรายเดียวได้ทำให้ลดขั้นตอนการทำงานและสร้างกำไรเพิ่มขึ้น โดยผู้ที่นำระบบนี้มาใช้อย่างโดดเด่นคือ UNIQLO และ GAP รวมถึง Specialty Stores ต่างๆ

อย่างไรก็ดี ระบบดังกล่าวก็มีข้อจำกัด ผู้ประกอบการจะต้องรับความเสี่ยงในสินค้าคงค้างที่ไม่สามารถจำหน่ายได้ และต้องมีความชำนาญเป็นพิเศษในหลากหลายทักษะนับแต่การบริหารจัดการการผลิตไปจนกระทั่งการบริหารร้านค้าปลีก ซึ่งต้องการประสานงานที่มีประสิทธิภาพระหว่างฝ่ายผลิตและร้านค้าปลีกในการบันทึกยอดขาย ณ จุดขาย เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการบริหารสินค้าคงคลัง วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต และการจัดส่งสินค้า (POS Systenm) หรืออาจมีการจ้างบริษัทที่มีความชำนาญการมาควบคุมและวางแผนการผลิตในบางกรณี แต่บริษัทเหล่านี้อาจมีการรวบรวมคำสั่งผลิตจากผู้ประกอบการหลายรายในเวลาเดียวกัน ฉะนั้น การวางแผนการตลาดและการผลิตอาจเป็นไปในทางเดียวกัน จึงอาจส่งผลให้แนวโน้มและรูปแบบสินค้าที่ผลิตมีความคล้ายคลึงกันได้เช่นกัน และในระยะหลัง ผู้ผลิตเสื้อผ้าของญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจร่วมกับผู้ผลิตจีนโดยตรงโดยไม่ผ่าน Trading Firms มีจำนวนมากขึ้นเช่นกัน

5. ระดับราคา

ประมาณการราคาจากการนำเข้าเสื้อผ้าของญี่ปุ่น ดังนี้

1. สินค้าสำหรับ Mass Market

  • ชุดภายนอก (Outer Wear) ราคาประมาณชิ้นละ 1,000-15,000 เยน
  • ชุดชั้นใน (Underwear) ราคาประมาณชิ้นละ 500-4,000 เยน
  • อื่นๆ (เช่น ถุงเท้า ถุงน่อง ถุงมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอ เน็คไทด์ เป็นต้น) ราคาประมาณชิ้นละ 300-3,000 เยน ต่อชิ้น

2. สินค้า Brand Name

  • ราคาสูงกว่าสินค้าสำหรับ Mass Market ทั้งนี้ ไม่สามารถระบุราคาได้ได้ เนื่องจากแตกต่างกันไป ตามความนิยม วัตถุดิบ และคุณภาพของสินค้า
6. สถานะของประเทศคู่แข่งในตลาดญี่ปุ่น

การนำเข้าสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของญี่ปุ่น (HS 61 และ 62)ในปี 2009 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 20,280 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจีนสามารถครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 84.04 โดยมีเวียดนามและอิตาลีตามมาห่างๆ อยู่ที่ร้อยละ 4.11 และ 2.99 ตามลำดับ ในขณะที่ไทยอยู่ในอันดับ 4 คิดเป็นมูลค่า 213 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 1.05

สำหรับสิ่งทออื่นๆ (HS 50-60) ในปี 2009 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 2,934 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจีนสามารถครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 36.97 โดยอินโดนีเซียและเกาหลีใต้อยู่ในอันดับ 2 และ 3 ที่ร้อยละ 8.36 และ 7.58 ตามลำดับ ในขณะที่ไทยอยู่ในอันดับ 5 คิดเป็นมูลค่า 152 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 5.19

7. มาตรการด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี (NTBs)

7.1 ปัจจุบัน อุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอได้มีการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศลิตเป็นส่วนใหญ่แล้วเนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงและแรงงานที่มีจำกัด ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงเปิดรับการนำเข้าสินค้าสิ่งทอที่มีคุณภาพจากต่างประเทศ

7.2 ภาษีนำเข้าสินค้าสิ่งทอภายใต้ JTEPA จากไทยมายังประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 0 ดังนั้นการส่งออกสินค้าสิ่งทอไทยมายังประเทศญี่ปุ่นจึงไม่มีอุปสรรคในด้านภาษี

7.3 ญี่ปุ่นไม่ได้กำหนดมาตรการ NTBs เพื่อกีดกันการนำเข้าสินค้าสิ่งทอจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าสิ่งทอมายังประเทศญี่ปุ่นจำเป็นจะต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน และสอดรับกับทิศทางแฟชั่นในประเทศญี่ปุ่น

7.4 ไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือภายใต้คณะทำงานร่วมตามกรอบความร่วมมือด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภายใต้ JTEPA ซึ่งมีพัฒนาการที่ดีนับแต่การลงนามความตกลงฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2007 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้สนองตามข้อเสนอของไทยในเรื่อง Capacity Building เพราะคาดหวังให้ไทยเป็นแหล่งรับจ้างผลิตแบบ OEM สำคัญในอาเซียนเพื่อทดแทนการพึ่งพาจีน ในขณะที่ ภาคเอกชนไทยมีท่าทีสอดรับเช่นกัน แต่ก็หวังให้ญี่ปุ่นช่วยสนับสนุนสินค้า Brand ไทยที่มีศักยภาพด้วยเช่นกัน

8. สถานะของสินค้าไทยในตลาดญี่ปุ่น

8.1 จุดแข็ง

  • สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับของผู้นำเข้าญี่ปุ่นในเรื่องของคุณภาพการผลิต และราคา
  • ญี่ปุ่นมั่นใจในเรื่องการควบคุมคุณภาพสินค้า และระยะเวลาส่งมอบสินค้า OEM จากไทยมากกว่าหลายแหล่งผลิต

8.2 จุดอ่อน

  • สินค้าไทยที่วางจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่น คือ สินค้า OEM เป็นหลัก ยังไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการจำหน่ายสินค้าที่มี Brand Nameได้
  • ผู้ประกอบการไทยมีข้อจำกัดในการผลิตสินค้าจำนวนน้อยชิ้นต่อแบบแต่มีสินค้าให้เลือกหลากหลายสำหรับสินค้า OEM

8.3 โอกาส

  • นักออกแบบไทยมีผลงานออกแบบเป็นที่ยอมรับและได้รางวัลจากงาน Fashio Week ในประเทศญี่ปุ่น
  • AJCEP จะช่วยต่อยอด JTEPA และสร้างแรงจูงใจแก่ภาคเอกชนญี่ปุ่นในการทำการค้าและการลงทุนด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกับไทยและอาเซียนมากขึ้น โดยผู้ประกอบการญี่ปุ่นได้แสดงความประสงค์ที่จะใช้ไทยและอินโดนีเซียเป็นฐานการผลิตผ้าผืน และใช้เวียดนามและกัมพูชาเป็นแหล่งตัดเย็บเสื้อผ้า

8.4 อุปสรรค

  • ในระยะยาว การสร้าง Brand ตนเองเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนของไทยในการรับจ้างผลิตแบบ OEM ลดลงไปเรื่อยๆ สู้กับจีนซึ่งครองตลาดญี่ปุ่นในปัจจุบันไม่ได้

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ