สถานการณ์ข้าวของประเทศเวียดนาม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 26, 2010 14:28 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การผลิตข้าวปี 2552
                                               ทั้งประเทศ          ภาคเหนือ            ภาคใต้
- พื้นที่เพาะปลูก (1,000 เฮคตาร์)                     7,440.1          2,520.6          4,919.5
- ผลผลิตที่ได้ (1,000 ตัน)                          38,895.5         13,419.6         25,475.9
- ผลผลิตเฉลี่ย  (100 กก./เฮคตาร์)                      52.3             53.2             51.8
- ฤดูกาลผลิต / ออกสู่ตลาด
  • ฤดูหนาว - ใบไม้ผลิ 1/
             - -  พื้นที่   ( 1,000  เฮคตาร์)        3,060.7          1,150.5          1,910.2
             - -  ผลผลิตเฉลี่ย  ( 100 กก./เฮคตาร์)     61.1             59.6             62.0
             - -  ผลผลิต   ( 1,000  ตัน )        18,696.3          6,852.8         11,843.5
  • ฤดูร้อน - ใบไม้ร่วง 2/
             - -  พื้นที่    ( 1,000  เฮคตาร์)       2,358.3            176.9          2,181.4
             - -  ผลผลิตเฉลี่ย  ( 100 กก./เฮคตาร์)     47.4             45.2             47.6
             - -  ผลผลิต  ( 1,000  ตัน )         11,184.1            799.2         10,384.9
  • ฤดูหนาว 3/
             - -  พื้นที่    ( 1,000  เฮคตาร์)       2,021.1          1,193.2            827.9
             - -  ผลผลิตเฉลี่ย  ( 100 กก./เฮคตาร์)     44.6             48.3             39.2
             - -  ผลผลิต  ( 1,000  ตัน )          9,015.1          5,767.6          3,247.5
- ชนิดข้าวที่ปลูก
            ฤดูหนาว - ใบไม้ผลิ             เป็นพันธ์ jasmine, OM 2517, OM 1490, OM 5930, OMCS 2000, OM 2717, VND 95 — 20
            ฤดูร้อน - ใบไม้ร่วง             เป็นพันธ์ VND 95 — 20,  OM 3536,  IR64

- ความต้องการบริโภค                       ประมาณ 1.2 — 1.4  ล้านตัน / ปี
- การบริโภคข้าวต่อคน                       150 กก. / ปี

ปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม ( MARD ) พยายามจำกัดให้ชาวนาเพาะปลูกข้าวชนิด IR 50404 และ OM 576 ซึ่งส่วนมากจะเป็นข้าวประเภท 25% ให้เหลือสัดส่วน 15% (ปัจจุบันเป็น 18.2% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด ) และพยายามสนับสนุนให้ปลูกข้าวที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อเฮคตาร์สูงและมีคุณภาพดีในสัดส่วนประมาณ 60 — 70% ข้าวคุณภาพดีประเภท 5% และข้าวหอมในสัดส่วนประมาณ 15 — 20%

----------------------------------------------------------------- 1 / จังหวัดต่าง ๆ ทางภาคใต้จะเริ่มหว่านข้าวและดำนาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เป็นต้นไป และสิ้นสุดการเก็บเกี่ยวกลางเดือนมีนาคมปีถัดไป ส่วนทางภาคเหนือเริ่มกลางเดือนกุมภาพันธ์ และเก็บเกี่ยวเสร็จกลางเดือนมิถุนายน 2 / เริ่มกลางเดือนเมษายนและเก็บเกี่ยวเสร็จเดือนกันยายน 2 / เริ่มกลางเดือนกรกฎาคมและเก็บเกี่ยวเสร็จเดือนพฤศจิกายน

2. การส่งออก / นำเข้าข้าว
            เป้าหมายการส่งออกปี 2552                      การส่งออกปี 2552
         ปริมาณ                มูลค่า                 ปริมาณ               มูลค่า
       ( ล้านตัน )           ( พันล้าน USD )          ( ล้านตัน )        ( พันล้าน USD )
       4.5 — 5.2                 -           6.006 ( +22.67%)     2.437 ( - 10.3%)

การส่งออกข้าวของเวียดนาม ปี 2552 ( รายเดือน )

           เดือน            ปริมาณ ( ตัน)      มูลค่า ( ล้าน USD)
          มกราคม             301,116             119.7
          กุมภาพันธ์            624,910             249.9
          มีนาคม              644,428             263.6
          เมษายน             710,670             296.0
          พฤษภาคม            663,469             282.4
          มิถุนายน             691,847             284.0
          กรกฎาคม            443,381             175.6
          สิงหาคม             464,577             184.9
          กันยายน             401,190             149.2
          ตุลาคม              395,040             153.6
          พฤศจิกายน           334,756             137.6
          ธันวาคม             298,230             125.2

ตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของเวียดนาม คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย คิวบา และอิรัก ในปี 2552 เวียดนามได้ส่งออกข้าวไปยังแอฟริกาและตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยส่งออกไปตลาดทั้งสองเพิ่มขึ้น 98% และ 65 % ตามลำดับ

การนำเข้า มีการนำเข้าข้าวสารจากไทย ไต้หวัน และกัมพูชา โดยมีบางส่วนที่ลักลอบนำเข้าจากกัมพูชาผ่านด่านที่จังหวัดอันยาง( An Giang ) เข้ามาจำหน่ายในเวียดนามบริเวณ Mekong Delta ทำให้รัฐบาลเวียดนามต้องร่วมมือกับกัมพูชาจัดตั้งองค์กรส่งออกข้าวมาเวียดนาม ส่วนข้าวสารของไทยที่วางจำหน่ายในตลาดข้าวสารเวียดนาม ( นครโฮจิมินห์ ) มี 2 ตราสินค้าคือ นาสยาม ราคา 125,000 ด่ง/ถุง ( 5 กก.) และหอมมะลิ ราคา 135,000 ด่ง / ถุง ( 5 กก.)

#####################################################

ข้อวิจารณ์ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นขอผู้ประกอบการข้าวเวียดนามบางราย

“...เวียดนามส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ราคาขายข้าวต่ำที่สุดในโลก ชีวิตของชาวนาจึงยากจนสาเหตุมิใช่ข้าวสารเวียดนามมีคุณภาพต่ำ แต่เพียงเพราะกลไกบริหารการส่งออกของ VFA มีปัญหา....ถึงเวลาที่ต้องปรับโครงสร้างส่งออกข้าวสารที่ต้องนำโดยรัฐบาล รวมการก่อสร้างระบบคลังสินค้าที่เพียงพอกักเก็บข้าวเป็นสิ่งสำคัญ..”

“...ไร้เหตุผลจริงๆ ที่ประเทศซึ่งส่งออกข้าวสารติดอันดับ 2 ของโลก ต้องกินข้าวสารที่นำเข้าจากเมืองไทย หนึ่งในหลายเหตุผลคือภาษีนี่เอง ผู้ค้าข้าวสารในประเทศต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% จึงไม่สนใจตลาดในประเทศสินค้านำเข้าจึงล้นมา.....”

#####################################################

3. ผู้ประกอบการค้าข้าวที่สำคัญ

รายชื่อผู้ประกอบการโรงสีข้าวและบริษัทผู้นำเข้า — ส่งออกบางราย ตามเอกสารแนบ 1

บริษัทผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามมีจำนวน 205 ราย ( ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2552 ) โดยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เพียง 11 ราย ( คิดเป็นสัดส่วน 69% ของปริมาณส่งออกข้าวทั้งหมดของเวียดนาม) ผู้ส่งออกข้าวที่ส่งออกได้น้อยกว่าปีละ 1,000 ตัน มีจำนวน 82 บริษัท และผู้ส่งออกข้าวได้น้อยกว่าปีละ 200 ตัน มีจำนวน 41 บริษัท

ส่วนบริษัทผู้นำเข้าข้าวของเวียดนามมีจำนวน 21 ราย ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของเวียดนามด้วยเช่นกัน ( เอกสารแนบ 2 )

การค้าและการจำหน่ายข้าวในตลาดเวียดนามอยู่ในมือของ 2 รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ซึ่งขึ้นกับกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม คือ Northern Food Corporation ( Vinafood 1 ) และ Southern Food Corporation (Vinafood 2) ซึ่งทั้ง 2 บริษัทครองตลาดข้าวในประเทศถึง 91% นอกจากนี้ทั้งสองรายยังเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม

ตามข้อผูกพันภายใต้องค์การการค้าโลกหรือ WTO เวียดนามจะต้องยินยอมให้บริษัทต่างชาติทำการค้าข้าวในเวียดนามได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 แต่เมื่อเดือนสิงหาคม 2552 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม ( MoIT ) ได้เสนอขอความเห็นชอบที่จะอนุญาตให้บริษัทต่างชาติในเวียดนามสามารถค้าและจำหน่ายข้าวในเวียดนามได้เพราะการเพิ่มผู้รับซื้อข้าวเป็นการทำให้เกษตรกรสามารถขายข้าวในราคาที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ได้รับความเห็นชอบในหลักการแล้วซึ่งหากรัฐบาลอนุญาตก็เท่ากับเวียดนามเปิดตลาดค้าข้าวเร็วกว่าข้อผูกพัน และเป็นการยุติการผูกขาดการค้าและจำหน่ายข้าวในตลาดเวียดนามโดย Vinafood 1 และ Vinafood 2

4. นโยบายด้านการผลิต / การตลาดของรัฐบาล

4.1 นโยบายด้านการผลิต

เวียดนามเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวอันดับ 5 ของโลก ผลผลิตปีละกว่า 38 ล้านตันข้าวเปลือกและเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก ปริมาณส่งออก 4.5 — 5 ล้านตันต่อปี โดยเฉพาะปี 2552 สามารถส่งออกได้ถึงกว่า 6 ล้านตัน แต่บางพื้นที่ของเวียดนามกลับประสบภาวะขาดแคลนอาหารโดยมีจำนวนครัวเรือนที่ขาดแคลนอาหารถึง 1.4 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 6.7 % ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดนายกรัฐมนตรีเวียดนามจึงได้ประกาศมติรัฐบาล ( Resolution ) เลขที่ 63/NQ — CP ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2552 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการผลิตภาคการเกษตร สนับสนุนให้มีระบบการจัดการที่ดีของการซื้อการขายและการสำรองอาหารในภูมิภาคการประกันรายได้จากการผลิตอาหารและการสร้างเงื่อนไขเพื่อการพัฒนาการเกษตรในประเทศ

มติที่สำคัญเพื่อสนับสนุนการผลิตข้าวและสร้างความมั่นคงด้านอาหารแห่งชาติ คือ

  • รักษาพื้นที่เพาะปลูกข้าวให้อยู่ที่ 3.8 ล้านเฮคตาร์

พื้นที่เพาะปลูกข้าวนับจากปัจจุบันจนถึงปี 2563 และวิสัยทัศน์ปี 2573 ต้องมีจำนวน 3.8 ล้านเฮคตาร์ ซึ่งในจำนวนนี้ต้องเป็นพื้นที่สมบูรณ์ด้วยชลประทานและสามารถเพาะปลูกข้าวได้ 2 ฤดูหรือมากกว่า เป็นจำนวน 3.2 เฮคตาร์ สามารถผลิตข้าวได้ปีละ 41—43 ล้านตันข้าวเปลือก จึงมีมติให้ MARD ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กระทรวงก่อสร้าง และกระทรวงคมนาคมจัดทำรายละเอียดการแบ่งโซนพื้นที่ปลูกข้าวและเสนอรัฐบาลให้ความเห็นชอบภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553

  • การเพาะปลูกข้าวต้องได้รับกำไรสูงขึ้น 2.5 เท่า

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหาวิธีลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้ภายในปี 2563 การผลิตข้าวได้รับผลกำไรสูงกว่าปัจจุบัน 2.5 เท่าและหามาตรการจูงใจให้เกษตรกรคงพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกข้าว มิให้เปลี่ยนเป็นสวนอุตสาหกรรมสนามกอล์ฟและธุรกิจอื่น ๆ ส่วนพื้นที่แถบภูเขาจะยังคงสนับสนุนการทำนาขั้นบันไดเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าว สร้างความมั่นคงด้านอาหารในเขตห่างไกล

นอกจากนี้ เพื่อมิให้เกิดปัญหาเช่นปัจจุบันที่บางพื้นที่มีการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วแต่ไม่มีโกดังเก็บข้าวที่ได้มาตรฐานส่งผลให้คุณภาพของข้าวลดลงไปอีก จึงมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามโครงการสร้างไซโลเก็บข้าวความจุ 4 ล้านตันข้าวเปลือกอย่างเร่งด่วน โดยให้แล้วเสร็จภายในปี 2555

  • สร้างความมั่นใจในความมั่นคงด้านอาหารแห่งชาติในระยะยาว

จากสถิติของ MARD พื้นที่เพาะปลูกข้าวของเวียดนามลดลงจาก 4.47 ล้านเฮคตาร์เมื่อปี 2543 เป็น 4 ล้านเฮคตาร์ในปัจจุบัน ซึ่งเท่ากับลดลงโดยเฉลี่ยปีละ 41,000 เฮคตาร์ เนื่องจากการขยายตัวเมืองและการเติบโตของเขตอุตสาหกรรม ขณะที่ประชากรของเวียดนามยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะมีมากกว่า 100 ล้านคนภายในปี 2563 และ 110 ล้านในปี 2573 นอกจากนี้การลงทุนในภาคการเกษตรยังมีเพียง 10% ของการลงทุนทั้งหมด

เพื่อมั่นใจว่าในระยะยาวผลผลิตข้าวจะพอเพียงกับการเลี้ยงประชากรในประเทศรัฐบาลจะส่งเสริมการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และความร่วมมือกับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านอาหาร โดยแต่ละปีจะจัดสรรงบประมาณเพื่อการลงทุนสำหรับภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 10 — 15% รวมทั้งเพิ่มพูนการฝึกอบรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิคการจัดการให้แก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2563 จะมีเกษตรกรที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการผลิตเป็นจำนวน 50%

ในไตรมาสแรกของปี 2553 กระทรวงการคลังจะต้องเสนอระดับการสำรองข้าวแห่งชาติที่เหมาะสมและแผนการประกันภัยด้านการเกษตรโดยเริ่มจากการประกันภัยข้าวให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ นอกจากนี้ กระทรวงกิจการภายในจะต้องศึกษาและวางแผนจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติด้านความมั่นคงของอาหาร

4.2 นโยบายด้านการตลาด

นับตั้งแต่เวียดนามเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ( WTO ) กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม ( MoIT) ก็ได้มอบหมายให้สมาคมอาหารเวียดนาม ( Vietnam Food Association — VFA) ทำหน้าที่แทน คือ เป็นผู้กำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำของข้าวที่สมาชิกส่งออก ให้ความเห็นชอบสัญญาซื้อขายข้าวส่งออก และจัดสรรโควต้าข้าวส่งออกให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกข้าว

อย่างไรก็ตาม มีข้อถกเถียงถึงบทบาทที่รัฐบาลมอบให้ VFA ว่ามีความเหมาะสมเพียงใด เพราะ VFA มีสมาชิกของตนเองมากกว่า 100 บริษัท จึงเป็นการยากที่จะเชื่อว่า VFA จะปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ลำเอียงเข้าข้างสมาชิกของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทในการจัดสรรโควต้าส่งออกข้าวให้ผู้ส่งออกแต่ละจังหวัดที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่ยุติธรรม โดยผู้ส่งออกข้าวหลายรายกล่าวว่าได้รับโควต้าส่งออกข้าวน้อยกว่ากำลังการผลิตที่มีขณะที่ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของประเทศ 2 ราย คือ Vinafood 1 และ Vinafood 2 กลับได้รับโควต้าการส่งออกจำนวนมาก ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้ เวียดนามมีแผนจะยกเลิกระบบโควต้าดังกล่าว

  • ระเบียบเกี่ยวกับการส่งออกข้าว

เวียดนามมีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตส่งออกข้าวกว่า 200 ราย ส่วนใหญ่ไม่มีโกดังเก็บข้าวเปลือกและโรงสีจึงรับซื้อข้าวเพื่อส่งออกหลังจากเซ็นสัญญากับผู้นำเข้าและถึงเวลาส่งมอบเท่านั้น ทำให้ราคาข้าวผันผวนและเกษตรกรเสียเปรียบ MoIT ร่วมกับ VFA และผู้ประกอบการส่งออกข้าว ร่วมกันร่างระเบียบเรื่องการจัดการส่งออกข้าวเพื่อเป็นกลไกในการเพิ่มราคาส่งออกข้าวและเพิ่มประสิทธิภาพการส่งออกข้าว ซึ่งมีทั้งหมด 7 บทและ 29 มาตรา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประเมินและรับฟังข้อคิดเห็นจากสาธารณะก่อนจะประกาศใช้ภายในปี 2553 นี้

ร่างระเบียบดังกล่าวกำหนดให้การส่งออกข้าวต้องมีการบริหารจัดการโดยการออกใบอนุญาตส่งออก การเชื่อมโยงผลประโยชน์ของผู้ส่งออกข้าวไว้กับข้อผูกมัดที่จะต้องซื้อข้าวจากชาวนาและสร้างเสถียรภาพของตลาดในประเทศร่วมกับ VFA ผู้ส่งออกข้าวต้องมีโรงสีข้าว โรงขัดข้าวและโกดังเก็บข้าวเปลือกตามที่ได้กำหนดไว้จึงจะได้รับอนุญาตให้ส่งออกได้ เงื่อนไขดังกล่าว เช่น ต้องมีโกดังเก็บข้าวความจุอย่างน้อย 5,000 ตัน และมีโรงสีข้าวที่มีกำลังการผลิตอย่างต่ำ 10 ตันต่อชั่วโมง เป็นต้น ผู้ส่งออกข้าวที่ไม่สามารถส่งสินค้าได้เป็นเวลา 12 เดือนติดต่อกันจะต้องถูกถอนใบอนุญาต ทั้งนี้ MoIT จะเป็นหน่วยงานหลักในการประเมินคำขอและอนุมัติใบอนุญาต รวมทั้งการต่ออายุ โดยจะเข้มงวดใน 3 เงื่อนไขที่ต้องมีคือ ปริมาณและคุณภาพของข้าวส่งออก ผลประโยชน์ของชาวนาและความมั่นคงด้านอาหาร

  • โครงการสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดข้าวในประเทศ

กระทรวงการคลังเวียดนามกำลังร่างโครงการเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดข้าวในประเทศ โดยจะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรหลายด้าน เช่น ให้การอุดหนุนดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้อวัตถุดิบและเครื่องมือ / อุปกรณ์ในการผลิต เสนอให้รัฐบาลยกเว้น / ลดภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อเป็นการช่วยเหลือบางส่วนในการลดต้นทุนปัจจัยการผลิตสำหรับการผลิตสินค้าเกษตร และเสนอตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการผลิตและการส่งออกข้าว ซึ่งส่งผลให้เกิดความมีเสถียรภาพด้านราคาข้าว เป็นต้น

5. ราคาซื้อขายข้าวเปลือก / ข้าวสาร ปี 2552
  • ราคาภายในประเทศ

ราคาข้าวเปลือก : ( 555 ด่ง = 1 บาท , อัตราของธนาคารแห่งประเทศไทย 22 มค. 52 )

  • ราคาโดยเฉลี่ย ( ณ สิ้นปี 2552 ) 5,800 — 5,900 ด่ง / กิโลกรัม
  • ราคาโดยเฉลี่ยตลอดปี 2552 5,000 ด่ง / กิโลกรัม

ราคาข้าวสาร :

  • ข้าวธรรมดา ( ราคา ณ สิ้นปี 2552 ) 7,350 — 7,650 ด่ง / กิโลกรัม
  • ข้าว 5 % ( ราคา ณ สิ้นปี 2552 ) 8,750 — 8,850 ด่ง / กิโลกรัม
  • ข้าว 25 % ( ราคา ณ สิ้นปี 2552 ) 8,350 — 8,450 ด่ง / กิโลกรัม
  • ราคาส่งออก

สมาคมอาหารเวียดนาม ( VFA) ได้ประกาศราคาส่งออกส่งออกขั้นต่ำสำหรับการส่งออกข้าวเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2552 ดังนี้

ข้าว 5% ราคา 430 เหรียญสหรัฐ / ตัน

ข้าว 15% ราคา 375 เหรียญสหรัฐ / ตัน

ข้าว 25% ราคา 350 เหรียญสหรัฐ / ตัน

ในเดือนธันวาคม 2552 Vinafood 2 ได้เข้าร่วมประมูลขายข้าวให้ฟิลิปปินส์โดยการประมูลครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 1ธันวาคม 2552 เวียดนามได้รับการประมูลข้าว 25% จำนวน 300,000 ตัน ในราคา 625 เหรียญสหรัฐ/ตัน เป็นราคาส่งถึงท่าเรือฟิลิปปินส์ เวลาส่งมอบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ — พฤษภาคม 2553 การประมูลครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2552 ที่ฟิลิปปินส์ เวียดนามได้รับการประมูลข้าว 25% จำนวน 300,000 ตัน ในราคาเฉลี่ย 650 เหรียญสหรัฐ/ตัน และการประมูลครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 จำนวน 600,000 ตัน ในราคา 664.9 เหรียญสหรัฐ/ตัน

ส่วนราคาส่งออก ( FOB ) โดยเฉลี่ยตลอดปี 2552 เป็น 404.69 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งต่ำกว่าราคาส่งออกปีที่แล้ว 180 เหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ราคาข้าวส่งออกโดยเฉลี่ยของเวียดนามมักต่ำกว่าราคาข้าวส่งออกของไทยประมาณตันละ 100- 200 เหรียญสหรัฐ ( ก่อนหน้านี้ราคาข้าวเวียดนามต่ำกว่าไทยเพียง 30—40 เหรียญสหรัฐ / ตัน)

6. สถานการณ์การผลิต / การตลาดข้าวในปี 2553

สมาคมอาหารเวียดนาม ( VFA ) คาดว่าปี 2553 จะเป็นปีที่สดใสสำหรับตลาดข้าว เพราะผลผลิตข้าวลดลงขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2553 ผู้ส่งออกข้าวเวียดนามได้เซ็นสัญญาส่งออกข้าวแล้วจำนวน 2.38 ล้านตัน ราคาส่งออกโดยเฉลี่ย 650 เหรียญสหรัฐ / ตัน ซึ่งสูงกว่าราคาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ถึง 20% VFA คาดว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 ผู้ส่งออกข้าวจะสามารถส่งออกได้จำนวน 1.47 ล้านตัน

MARD ตั้งเป้าว่าผลผลิตข้าวปี 2553 จะเป็น 39 ล้านตันและสามารถส่งออกข้าวได้ 5.5 ล้านตัน

ในปี 2553 จังหวัดทางภาคใต้ตั้งเป้าผลิตข้าวไว้ที่ 23 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 57,000 ตัน โดยผลผลิตข้าวจะเป็นไปตามมาตรฐานของ Vietnam Good Quality Practice ( Viet GAP) และ Global Good Quality Practice ( Global GAP) อย่างไรก็ตาม VFA ได้เตือนว่าเวียดนามอาจเผชิญหน้ากับคู่แข่งรายใหม่ คือพม่า ที่มีข้าวส่งออกประเภทเดียวกันแต่ขายในราคาต่ำกว่าเวียดนามตันละ 100 เหรียญสหรัฐ เมื่อปี 2553 พม่าส่งออกข้าว 900,00 ตัน และมีแผนจะเพิ่มปริมาณข้าวเป็น 1.5 ล้านตันในปี 2553 นี้

อย่างไรก็ตาม ผลผลิตข้าวของเวียดนามในฤดูกาลผลิต หนาว — ใบไม้ผลิอาจลดลง 12% อันเป็นผลจากความแห้งแล้งในภาคเหนือของประเทศและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างมากในทางภาคใต้ส่งผลให้น้ำในทุ่งนามีความเค็ม ทั้งนี้ เวียดนามเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก

เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐบาลเวียดนามกำหนดมาตรการต่าง ๆ จำนวนมากซึ่งเป็นการยากที่จะกำกับดูแลให้บังเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพต่อเศรษฐกิจตามเป้าหมายได้ นอกจากนี้ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภาวะความแห้งแล้งและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ยังจะเป็นสิ่งท้าทายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2553 ของเวียดนามด้วย

สคร.กรุงฮานอย / สคร.นครโฮจิมินห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ