สถานการณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในเวียดนาม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 26, 2010 15:02 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1 . ขนาดของตลาด

การผลิต อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศเวียดนามมี local content เพียง 20—30% และมักเป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์พื้นฐาน ยกเว้นโทรทัศน์สีที่มี local content 60% ผู้ประกอบการของเวียดนามในสาขานี้เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ที่ผลิตสินค้าหลากหลายคุณภาพต่ำไม่สามารถนำไปใช้ได้กับ production lines ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการประมาณ 400 ราย แรงงานกว่า 80,000 คน และในจำนวนนี้ 30% เป็นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุน

ตามแผนแม่บทของการผลิตสินค้าอิเลคทรอนิคและเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2553 — 2563 รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าให้ภายในปี 2553 รายได้จากการผลิตสินค้าดังกล่าวเป็น US$ 4 — 6 พันล้าน โดยเป็นรายได้จากการส่งออก US$ 4 — 5 พันล้าน มีอัตราการเติบโต 20—30% ต่อปี และสร้างงานให้กับคนงาน 300,00 คน

การบริโภค ไม่สามารถหาสถิติเกี่ยวกับการบริโภคสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในตลาดเวียดนามได้ คาดว่าความต้องการซื้อของผู้บริโภคเวียดนามเติบโตโดยเฉลี่ยปีละ 15% เนื่องจากรายได้ของประชากรสูงขึ้น แต่สินค้าที่ผลิตในประเทศยังไม่มีคุณภาพมากนัก ส่วนใหญ่จึงนำเข้าจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน และไทย

การส่งออก เวียดนามส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิดไปยังลาว กัมพูชา บราซิล เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น โดยในปี 2551 ส่งออกเป็นมูลค่า US$ 3 ล้าน ปี 2552 คาดว่าส่งออก US$ 3.4 ล้าน และคาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น 12 — 15 % ในปี 2553

การนำเข้า สถิติการนำเข้าเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่สามารถหาได้ มีเพียงสถิติที่รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอิเล็คทรอนิค โดยในปี 2552 นำเข้าUS$ 3,931 ล้าน เพิ่มขึ้น 5.9%

2. ช่องทางการจำหน่าย

ปัจจุบันนิยมจำหน่ายโดยช่องทางการค้าสมัยใหม่คือศูนย์การค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และร้านค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายเฉพาะตราสินค้าของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กระจายทั่วประเทศ นอกจากนี้ E —Commerce จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในอีก 1 — 2 ปีข้างหน้า

3. พฤติกรรมผู้บริโภค

เดิมผู้บริโภคใช้ราคาเป็นตัวตัดสินใจในการซื้อ ทำให้กิจกรรมส่งเสริมการขายโดยการลดราคาของศูนย์เครื่องใช้ไฟฟ้าได้ผล แต่ปัจจุบันการลดราคาเป็นเพียงการจำหน่ายสินค้าตกรุ่นและต้องการรุสต๊อกผู้บริโภคเวียดนามเริ่มพิจารณาทั้งราคา คุณภาพและบริการ และส่วนใหญ่ยังคงเชื่อในโฆษณาจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งการบอกกล่าวจากผู้ที่เคยใช้สินค้ามาก่อน ทำให้ผู้ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ CSR มากขึ้น เช่นการให้ทุนการศึกษาแก่เด็กในพื้นที่ชนบท การให้การสนับสนุนในการจัดกิจกรรมทางสังคมต่างๆ เป็นต้น

ผู้บริโภคของเวียดนามมีพฤติกรรมการบริโภคแตกต่างกัน คือในเขตทางใต้ ( นครโฮจิมินห์ ) จะพิจารณาราคาสินค้าเป็นหลัก เขตตอนกลาง ( นครดานัง ) พิจารณาคุณภาพของสินค้า เขตตอนเหนือ ( กรุงฮานอย) พิจารณาคุณภาพ ความคงทน และราคา

4. การค้าในประเทศ

การค้าปลีกในประเทศของเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2552 เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ถึง 29% คิดเป็นมูลค่า US$ 98.3 ล้าน และคาดว่าปี 2553 จะเพิ่มเป็น US$ 1,178 ล้าน

ปริมาณสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิดที่จำหน่ายในประเทศ

                                               2551                 2552
             ตู้เย็น  ( หลัง )                มากกว่า 1.3 ล้าน      มากกว่า  1.6 ล้าน
             เครื่องซักผ้า ( หลัง )            มากกว่า 780,000      มากกว่า  800,000


5. คู่แข่งขันในตลาดเวียดนาม

สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่นเป็นที่นิยมมากในตลาดเวียดนาม รองลงมาคือ สินค้าจากเกาหลีใต้ จีน สิงคโปร์ มาเลเซียและไทย

‘พานาโซนิค’ เป็นแบรนด์ที่ครองตลาดสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นอับดับหนึ่งมาตั้งแต่ปี 2544 แม้ส่วนแบ่งตลาดจะลดลงมาบ้างจาก 16% ( ปี2544 ) เป็น 15% ( ปี 2551 )

6. มาตรการภาษีและมิใช่ภาษี

มาตรการภาษี - อัตราภาษีทั่วไป 0 - 40 %, อัตราภาษีภายใต้ CEPT 0 - 5 %

มาตรการมิใช่ภาษี - ตามแผนปฏิบัติการรายประเทศ ( Individual Action Plan: IAP ) ของสมาชิก APEC เวียดนามไม่ข้อจำกัดการนำเข้าด้านปริมาณและได้ยกเลิกมาตรการโควต้ารวมทั้งมาตรการ import licensing แล้ว

7. Swot Analysis สำหรับสินค้าไทย

จุดแข็ง - ราคาสินค้าไทยต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเภทสินค้าเดียวกันจากประเทศอื่น ๆ ( ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ )

  • เวียดนามมีความคุ้นเคยชื่นชอบสินค้าไทยมาก่อนแล้วโดยเฉพาะผู้ผริโภคที่มีรายได้ ปานกลาง

จุดอ่อน - เสียเปรียบด้านคุณภาพ การออกแบบและความหลากหลายของประเภทสินค้า ( ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ )

  • นโยบายการตลาดเพื่อการประชาสัมพันธ์สินค้าไทยยังสู้ประเทศคู่แข่งขันไม่ได้
  • เครือข่ายตัวแทนจำหน่าย / เอเยนต์ของสินค้าไทย ยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร

โอกาส - ด้วยความได้เปรียบด้านราคาที่ถูกกว่า สินค้าไทยจึงมีศักยภาพพอที่จะ segment ของลูกค้าที่มีรายได้ปานกลางและในเขตชนบทซึ่งแม้ขณะนี้สินค้าจากประเทศจีนจะครองตลาดส่วนใหญ่ของลูกค้ารายได้น้อย แต่สินค้าไทยก็ยังมีโอกาสเข้าไปแทรกได้

  • แม้ว่าสินค้าไทยจะต้องแข่งขันกับสินค้าเวียดนามในด้านราคาและคุณภาพ แต่สินค้าของเวียดนามไม่ได้รับความนิยมเชื่อถือด้านคุณภาพจากผู้บริโภคเวียดนาม รวมทั้งไม่สามารถให้บริการหลังการขายที่มีคุณภาพได้ ดังนั้นถ้าสินค้าไทยสามารถให้การดูแลลูกค้าด้วยระบบที่ดีได้ จะเป็นโอกาสมากขึ้นในการครองตลาด

ความท้าทาย - ปัจจุบันสินค้าที่ผลิตในประเทศและสินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีนที่มีราคาถูกกว่าสินค้าของไทยได้ครองตลาดใน segment ผู้มีรายได้น้อยแล้ว แม้ความคงทนและคุณภาพของสินค้าจากจีนจะไม่ดีนัก แต่การออกแบบที่สวยงามและความหลากหลายของสินค้าอาจเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างโอกาสใหม่เพิ่มขึ้นให้กับสินค้าจีนในการแย่งส่วนแบ่งตลาด segment ผู้มีรายได้ปานกลางซึ่งปัจจุบันสินค้าไทยครองอยู่

  • การปลอมแปลงสินค้ายังคงเป็นปัญหาต่อสินค้าไทยและจำเป็นต้องหาวิธีปกป้องเอง เพราะปัจจุบันการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเวียดนามก็ยังไม่มีประสิทธิภาพพอ

สินค้าไทยคงไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งที่แข็งแรง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ โดยใช้กลยุทธ์ราคาถูกได้แต่ควรต้องให้ความสำคัญต่อคุณภาพ ความคงทน การออกแบบ รวมทั้งราคาด้วย และที่สำคัญนโยบายการตลาดที่อิงสังคมของบริษัทไทยควรมีมากขึ้น

สคต.นครโฮจิมินห์ / สคต.กรุงฮานอย

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ