การท่าเรือและการขนส่งทางทะเลของสิงคโปร์ ปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 3, 2010 16:20 —กรมส่งเสริมการส่งออก

แม้ว่าสิงคโปร์ได้รับผลต่อเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกทำให้ปี 2552 เป็นปีที่ท้าทายอย่างมากสำหรับการท่าเรือและการเดินเรือทางทะเลของสิงคโปร์ ซึ่งได้ประสบกับปัญหาสภาวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดอัตราค่าระวางขนส่งสินค้า, การเงินขาดสภาพคล่อง, จำนวนงานการขนส่งสินค้าลดลง และการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ลดลง อย่างไรก็ตามจากสถิติข้อมูล แสดงให้เห็นว่า ในปี 2552 ตู้คอนเทนเนอร์ของสิงคโปร์มีปริมาณ 25.9 ล้าน TEUs, ลดลงร้อยละ 13.5 (เทียบกับปี 2551) และมีการขนส่งสินค้า 469.6 ล้านตัน (ลดลงร้อยละ 8.9)

อย่างไรก็ดี แม้ว่าสิงคโปร์จะต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆและมีแนวโน้มว่า การขยายตัวจะลดลง แต่ท่าเรือสิงคโปร์ยังคงเป็นผู้นำของโลกในด้านการขนส่งตู้บรรจุสินค้า, จำนวนเรือเดินทะเลที่เข้าเทียบท่าเรือและการจำหน่าย bunker ซึ่งจากสถิติปี 2552 (เทียบกับปี 2551) ปรากฎว่า เรือเดินทะเลเข้าเทียบท่าสิงคโปร์ขยายตัวขึ้นร้อยละ 10.1 ปริมาณ 1.78 พันล้าน gross tons (gross ton = 2,000 ปอนด์) และการจำหน่าย bunker ขยายตัวร้อยละ 4.2 ปริมาณ 36.4 ล้านตัน อีกทั้งจำนวนเรือเดินทะเลจดทะเบียนภายใต้ธงสิงคโปร์มีมากขึ้น มีการขยายตัวร้อยละ 4.4 ปริมาณ 45.6 ล้าน gross tons และติดอันดับอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก

สิงคโปร์มุ่งความพยายามอย่างเต็มที่ในการดึงดูดให้บริษัทเดินเรือต่างๆให้ความสนใจดำเนินกิจการในสิงคโปร์ ซึ่งนับว่าได้รับความสำเร็จอย่างดียิ่ง ในปี 2551 มีบริษัทที่เข้ามาจัดตั้งกิจการในสิงคโปร์หลายบริษัท เช่น Oceanic Livestock (ผู้ขนส่งสินค้า Livestock), Hill Dickinson (สำนักงานทนายความนานาชาติ) และ The Shipowner’s Protection Limited (P&I Club)

การสนับสนุนจากภาครัฐ

1. ภาครัฐสิงคโปร์ได้มีแผนการในการสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมการเดินเรือทะเลสิงคโปร์ ท่ามกลางความผันผวนของเศรฐกิจ ภาครัฐได้มุ่งเน้นแผนการในการลดค่าใช้จ่ายการดำเนินธุรกิจและยกระดับทักษะการปฏิบัติงาน ซึ่งหน่วยงาน The Maritime and Port Authority (MPA) ได้แนะนำมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเดินเรือทะเล เพื่อให้ควบคู่ไปกับโปรแกรม Job Credits Scheme และการรับประกันความเสี่ยงของภาครัฐ ทั้งนี้ รวมถึงอัตราสัมปทานค่าธรรมเนียมท่าเรือ และแผนสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนช่วยเหลือการจัดจ้างบริษัทสำรวจ Bunker นอกจากนี้ ได้จัดสรรเงิน กองทุนเพิ่มเติมให้แก่ Maritime Cluster Fund เพื่อสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆของบริษัทต่างๆในวงการ

2. ในการยกระดับทักษะการทำงาน MPA ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆหลายแห่ง เช่น Singapore Shipping Association, The Workforce Development Agency และ NTUC Employment and Employability Institute ในโครงการฝึกอบรม นอกจากนั้น MPA ได้เปิดโครงการ Graduate Attachment Program เพื่อเตรียมพื้นฐานและโอกาสให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาใหม่สามารถเข้าทำงานในบริษัทต่างๆภายในอุตสาหกรรมการเดินเรือทะเล

3. MPA ยังทำการปรับปรุงระบบความปลอดภัยภายในเขตท่าเรือให้ดียิ่งขึ้น และกำหนดว่าตั้งแต่ปี 2555 เรือทุกลำที่หนักน้อยกว่า 300 Gross Ton จะต้องติดตั้งอุปกรณ์เครื่องรับส่งเรดาห์อัตโนมัติระบบ “บี” (Automated Identification System “B” transponder) ที่ได้รับอนุญาต ซึ่งปัจจุบันระบบนี้ใช้ในเรือขนส่งขนาดใหญ่ ทั้งนี้ จะช่วยส่งผลให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบชนิดและขนาดของเรือที่เข้ามาเทียบท่าเรือสิงคโปร์ได้

4. ในระดับนานาชาติ MPA ได้รับความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Cooperation Forum ครั้งที่ 2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ระหว่างประเทศร่วมกันในหัวข้อ Straits of Malacca and Singapore นอกจากนี้ สิงคโปร์ได้รับการเลือกให้ร่วมอยู่ใน IMO Council อีกครั้งหนึ่งเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2552 ด้วยคะแนนออกเสียงที่สูงที่สุด

กิจการท่าเรือของ PSA International สิงคโปร์

PSA International (PSA) สิงคโปร์ เป็นบริษัทดำเนินการธุรกิจการขนส่งทางเรือรวมทั้งตู้บรรจุสินค้า (container) สืบเนื่องจากการถดถอยของการค้าโลกในปี 2552 ส่งผลให้ PSA ประสบปัญหาการจัดการธุรกิจตู้บรรจุสินค้าในต่างประเทศ ซึ่ง PSA มีตู้บรรจุสินค้าขนาดมาตราฐานจำนวน 56.93 ล้านตู้ในท่าเรือต่างๆทั่วโลก จำนวน 28 แห่ง ใน 16 ประเทศ ทั้งในยุโรป, เอเซีย และอเมริกา (นอกเหนือจากที่ท่าเรือ Brani Terminal และ Keppel Terminal ในสิงคโปร์) โดยมีอัตราลดลงร้อยละ 9.9 (เทียบกับปี 2551)

การขนส่งตู้บรรจุสินค้าได้ขยายตัวลดลงตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา แต่ในปี 2552 เป็นครั้งแรกที่ PSA ประสบกับปัญหาการขนส่งตู้บรรจุสินค้ามีอัตราลดลงตามท่าเรือต่างๆทั่วโลก นับตั้งแต่เริ่มกิจการต่างประเทศตั้งแต่ปี 2539 ทำให้ธุรกิจของ PSA ขยายตัวลดลงร้อยละ 7.1 (เทียบกับปี 2550) รวมดำเนินการ 31.78 ล้านตู้ แต่นับเป็นโชคดีของ PSA ที่มีกิจการในเวียตนามซึ่งเพิ่งเริ่มเมื่อปี 2551 ได้ช่วยชดเชยอย่างมากในส่วนของการลดต่ำลงของตู้บรรจุสินค้าในต่างประเทศ อนึ่ง การขนส่งตู้บรรจุสินค้าที่ท่าเรือในสิงคโปร์ของ PSA ในปี 2551 ได้ขยายตัวลดลงร้อยละ 13.1 รวมดำเนินการเพียง 25.14 ล้านตู้

ปี 2552 เป็นปีที่ PSA ประสบกับความยากลำบากและท้าทายเป็นอย่างยิ่ง เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าและการท่าเรือ เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มต่ำลงและการค้าโลกก็ลดลง ส่งผลให้ความต้องการในการใช้ตู้ขนส่งสินค้าตกฮวบลงอย่างมาก ผู้ที่อยู่ในวงการจำเป็นต้องใช้มาตรการเร่งด่วนที่จะให้ลดค่าใช้จ่ายและให้บริษัทมีความอยู่รอดได้ในปี 2552 และในอนาคต

แนวโน้มอุตสาหกรรม

(1) Maritime and Port Authority of Singapore (MPA) ได้ประกาศคาดการณ์การขนส่งสินค้าที่ท่าเรือสิงคโปร์ปี 2552 ลดลงร้อยละ 13.5 และสำหรับปี 2553 ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ แต่คาดหวังว่า ด้วยศักยภาพที่สิงคโปร์มีรากฐานมั่นคง กลุ่มอุตสาหกรรมการเดินเรือทะเลของสิงคโปร์จะอยู่ในระดับที่ดี และมีโอกาสที่จะเพิ่มการเจริญเติบโตให้ขยายตัวขึ้นในทางบวก ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาการขนส่งทางเรือได้คาดการณ์ว่า ในปี 2553 การค้าโลกจะเจริญเติบโตขึ้นร้อยละ 2.4 ซึ่งจะส่งผลให้การขนส่งสินค้าทางเรือมีการขยายตัวขึ้นตามไปด้วย

(2) Singapore Maritime Week เป็นงานสำคัญที่สนับสนุนการเดินเรือทะเลของสิงคโปร์ ซึ่งกำหนดจัดระหว่างวันที่ 25 — 30 เมษายน 2553 ผู้ร่วมจัดงานฯคือ MPA และสมาคมเรือเดินทะเลที่เกี่ยวข้องต่างๆ นอกจากจะมุ่งเน้นการขยายธุรกิจด้านการเดินเรือทะเลแล้ว ยังประสานความร่วมมือเพื่อให้สาธารณชนทั่วไปได้มีความรู้ถึงความสำคัญ ความหลากหลาย และสีสันของการเดินเรือทะเลของสิงคโปร์ด้วย

(3) PSA สิงคโปร์ อยู่ในฐานะเป็นหนึ่งในท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถเป็นหลักให้การขนส่งทางเรือของสิงคโปร์มีการขยายตัวในทางบวก ซึ่ง PSA มีศักยภาพในการแข่งขันกับท่าเรืออื่นๆได้แก่ Hutchison Whampoa (ฮ่องกง), Dubai Ports World (ดูไบ), Rotterdam (Netherlands) และท่าเรือ เซี่ยงไฮ้

(4) การเปลี่ยนผู้นำของ Singapore Maritime Foundation (SMF) อาจทำให้มีการสร้างสรรระบบการจัดการที่มีแนวใหม่ เพื่อพัฒนาให้มีภาคการขนส่งทางเรือและการท่าเรือขยายตัวมากขึ้นอีก ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2553 นี้ Singapore Maritime Foundation (SMF) ได้แต่งตั้งให้ Mr. Michael Chia (เดิมดำรงตำแหน่ง MD ของ Keppel Offshore and Marine) เป็นประธาน SMF ปฏิบัติหน้าที่แทน Mr. S.S. Teo (ประธานคนแรกของ SMF และพ้นจากตำแหน่งหลังจากรับหน้าที่ 6 ปี ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างดียิ่งทั้งโอบอุ้มและทะนุบำรุง จน SMF เป็นที่ยอมรับในธุรกิจการเดินเรือทะเล)

รายละเอียดการดำเนินการด้านการท่าเรือของสิงคโปร์ ปี 2548-2552
 Year      Vessel Arrivals     Container Throughput   Cargo Throughput   Bunker Volume      S'pore
         (billion gross tons)     million TEUs)       (million tonnes)   (million tonnes)   Registry of Ships
                                                                                            (million gross tons)
 2548           1.15                  23.2                  423.3             25.5             33.0
 2549           1.31                  24.8                  448.5             28.4             34.8
 2550           1.46                  27.9                  483.6             31.5             39.6
 2551           1.62                  29.9                  515.3             34.9             43.7
 2552       1.78 [+10.1%]        25.9 [-13.5%]        469.6 [-8.9%]      36.4 [+4.2%]        45.6 [+4.4%]

ที่มา : PSA International (PSA), Maritime and Port Authority of Singapore (MPA)

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ