พาณิชย์แนะผู้ส่งออกอาหารไทยใช้ประโยชน์จาก AFTA หวังกระตุ้นยอดในกลุ่มอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 4, 2010 11:10 —กรมส่งเสริมการส่งออก

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก ในฐานะ Chief of Product ดูแลสินค้าอาหารและข้าว เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมเรื่อง “การขับเคลื่อนการส่งออกและการใช้ประโยชน์จาก AFTA” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “AFTA Action 2010” ร่วมกับผู้แทนภาคเอกชนกลุ่มสินค้าดังกล่าว โดยมีผู้แทนจากทั้งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและกรมการค้าต่างประเทศมาให้ความรู้สำหรับกลุ่มสินค้าอาหารและเกษตรในเชิงลึก ซึ่งภาคเอกชนให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งได้แสดงความตั้งใจในการผลักดันการส่งออกสินค้าอาหารและเกษตรของไทยโดยใช้ประโยชน์จาก AFTA

“สินค้าอาหารและเกษตรถือได้ว่าเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของไทย และจากการประชุมในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าผู้แทนจากกลุ่มสินค้าอาหารและเกษตร ได้ให้ความสนใจในเรื่องสิทธิประโยชน์พิเศษทางศุลกากรที่จะเป็นศูนย์ ในสินค้าแฟชั่นทั้งหมด และการขอใช้สิทธิประโยชน์จาก AFTA โดยเฉพาะในเรื่องการใช้ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า หรือ Form D ซึ่งช่วยให้สารมารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าอาหารและข้าวในภูมิภาคเอเซียเพิ่มขึ้น ซึ่งตลาดอาเซียนถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าอาหารและเกษตรที่สำคัญของไทย คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 16 ของมูลค่าการส่งออกของไทย ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 ไทยสามารถส่งออกสินค้าอาหารและเกษตรไปภูมิภาคอาเซียนมีมูลค่าถึง 2,856.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าในปี 2553 นี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารและเกษตรจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน” นางศรีรัตน์ กล่าวเพิ่มเติม

ในปี 2552 สินค้าอาหารและข้าวของไทยมีมูลค่าส่งออก 19,561.44 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 7.37 อย่างไรก็ตาม ผู้แทนจากสมาคมต่างๆได้คาดการณ์ว่าการส่งออกสินค้ากล่มอาหารและข้าวโดยรวมจะเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 5-10% โดยกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ร้อยละ 10-13 อาหารทะเลกระป๋อง ผักผลไม้กระป๋อง ร้อยละ 5 ผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งร้อยละ 7 ส่วนสินค้ารไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป รวมถึงสินค้าข้าว คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกใกล้เคียงกับปี 2552

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกให้ความเห็นว่า กลุ่มสินค้าอาหารและเกษตร เป็นสินค้าที่ส่วนหนึ่งอยู่ในกลุ่มสินค้าอ่อนไหว เช่น เนื้อไก่ ผักผลไม้บ่งชนิด กาแฟ ซึ่งเป็นสินค้าที่ภาษียังไม่เป็น 0% แต่ไม่เกิน 5% และข้าวถือได้ว่าเป็นสินค้าที่อ่อนไหวที่สุด ในบางประเทศมีการกำหนดภาษีนำเข้าที่ค่อนข้างสูง ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์จาก AFTA ได้ ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ช่วยประสานงานและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี รวมถึงปัญหาด้านโลจิสติกส์ขนส่งทางบกสินค้าผักผลไม้ที่เป็นปัญหาหลักของอุตสาหกรรมนี้ รวมทั้งการหาตลาดเป้าหมายใหม่ให้เพิ่มมากขึ้นต่อไป

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ