ข้อมูลข้าวอิหร่าน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 8, 2010 15:35 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. นโยบายข้าว

ช่วงระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลอิหร่านมอบหมายให้หน่วยงานของอิหร่าน คือ Government Trading Corporation (GTC) เป็นผู้ผูกขาดการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศแต่เพียงผู้เดียว โดยนำเข้าข้าวผ่านการประมูล ซึ่งข้าวสารที่ GTC นำเข้านั้น ก็เพื่อแทรกแซงราคาข้าวและป้องกันปัญหาขาดแคลนข้าวภายในประเทศ และประเทศไทยได้เคยส่งออกข้าวขาว 100% ชั้น 2 ให้อิหร่านจำนวนหลายแสนตันต่อปี

อย่างไรก็ดี ในปี 2551 ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ราคาข้าวสารในตลาดอิหร่านขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวและป้องกันปัญหาขาดแคลนข้าวภายในประเทศ รัฐบาลอิหร่านเปลี่ยนนโยบายจากเดิมให้ GTC ผูกขาดการนำเข้า มาสนับสนุนให้ผู้นำเข้าข้าวเอกชนอิหร่านนำเข้าข้าวจากต่างประเทศแทน โดยรัฐบาลได้ลดภาษีการนำเข้าข้าวทุกชนิดจากเดิมร้อยละ 140 เหลือร้อยละ 4 เพื่อสร้างแรงจูงใจในการนำเข้าข้าว ซึ่งผู้นำเข้าภาคเอกชนอิหร่านได้เริ่มนำเข้าข้าวบาสมาติกจากอินเดียและปากีสถานเข้าสู่ตลาดอิหร่านเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ข้าวไทยไม่มีการนำเข้าเท่าที่ควร

2. สถานการณ์ข้าวในประเทศ / ปัญหา

ในปี 2552 เกษตรกรผู้ผลิตข้าวในอิหร่านได้ประท้วงรัฐบาลและขอให้กีดกันการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ โดยอ้างว่าการนำเข้าข้าวทำลายภาคการผลิตข้าวของอิหร่าน รัฐบาลจึงออกกฎหมายขึ้นภาษีนำเข้าข้าวเป็นร้อยละ 45 และเก็บค่าธรรมเนียมปกป้องเกษตรกรอิหร่านอีกตันละ 150 เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ปัจจุบัน ข้าวนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ต้นปี 2553 กระทรวงพาณิชย์อิหร่าน ได้ระงับการออกใบอนุญาตนำเข้าข้าวทุกชนิด เพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวในประเทศตกต่ำ ทำให้ราคาข้าวสารในประเทศมีราคาสูงขึ้น คาดว่ารัฐบาลอิหร่านจะผ่อนผันให้นำเข้าอีกครั้งหลังเดือนมีนาคม 2553

3. การผลิต

3.1. พื้นที่

พื้นที่เพาะปลูกข้าวของอิหร่านส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในบริเวณภาคเหนือของประเทศ โดยจังหวัดที่มีการปลูกข้าวมากที่สุดได้แก่ จังหวัดกีลอน (Gilan) และมอซันดะรอน (Mazandaran) รองลงมาได้แก่จังหวัดกุลิสตอน (Golestan) อิสฟาฮาน (Isfahan) คุรอซาน (Khorasan) ส่วนจังหวัดอื่นๆ เช่น จังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศมีการเพาะปลูกข้าวเพื่อการบริโภคภายในท้องถิ่นเท่านั้น การปลูกข้าวของอิหร่านมี 2 แบบคือ แบบนาดำและแบบนาหว่าน ซึ่งเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าว อิหร่านนิยมปลูกข้าวโดยใช้วิธีการดำ มากกว่าการปลูกข้าวแบบนาหว่าน

ปัจจุบันประเทศอิหร่านมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมบนพื้นที่ของประเทศกว่า 600,000 เฮกเตอร์ ใน 15 จังหวัดของประเทศ แต่ทั้งนี้ พื้นที่หลักกว่าร้อยละ 80 จะผลิตในจังหวัดมาร์ซานดาราน Mazandaran (ประมาณ 265,000 เฮกเตอร์) และจังหวัดกีลาน Gilan (ประมาณ 230,000 เฮกเตอร์) นอกจากนี้จังหวัดที่สำคัญได้แก่ จังหวัดอิสฟาฮาน (Isfahan) อาเซอร์ไบจานตะวันตก (West Azerbaijan) และกุลลิสตาน (Gulistan)

3.2. ปริมาณ

ประเทศอิหร่านสามารถผลิตข้าวได้ในปริมาณ 2 ล้านตันต่อปี มีอัตราการผลิต ประมาณ 3,780 กิโลกรัมต่อเฮกเตอร์ ข้าวที่ผลิตเพาะปลูกบนพื้นที่ชื้นและบนดินที่มีค่าปกติ (pH 7.0 -7.5) และเพาะปลูกเป็นข้าวนาปี เพาะปลูกในระหว่าง เดือนเมษายน/พฤษภาคม ถึง เดือนสิงหาคม/กันยายน โดยใช้เวลาจากการเพาะปลูกถึงเวลาเก็บเกี่ยวประมาณ 110-125 วัน แต่มีเพียงบางพื้นที่ของสองจังหวัดที่สามารถเพาะปลูกข้าวนาปรังได้สำหรับสถิติการผลิตนั้น

ข้าวอิหร่านที่นิยมปลูกและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวอิหร่านได้แก่ ข้าวพันธ์เฟ่ะเรดูนเค่ะนอร (Feredon Kenar) ซึ่งเป็นข้าวหอมพันธ์ที่ดีที่สุดและมีราคาแพงที่สุด ส่วนพันธ์ข้าวที่ได้รับความนิยมอันดับรองลงมาคือ ข้าวหอมพันธ์ทอรุม (Tarom) ดุมซิยอฮ์ (Dom Seyah) ซัดรี ( Sadri) อะลอเย่ะอัชรัฟฟี (Alaye Ashrafif) กุลสิสตอน (Goolestan) เลนจูนเน่ะอิสฟาฮาน (Lenjoone Isfahan) ส่วนข้าวหอมดูดี (Dodi) เป็นข้าวสารที่ได้รับการเพิ่มความหอมโดยการรมควัน ซึ่งเมื่อเกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวต้นข้าวและแยกเมล็ดออกจากรวงข้าวแล้ว จะนำเมล็ดข้าวสารที่ได้ไปรมควันกับไม้หรือถ่าน เพื่อช่วยเพิ่มความหอมของข้าว

3.3. ผลผลิต

ปริมาณข้าวที่ประเทศอิหร่านผลิตประมาณร้อยละ 80 เป็นข้าวหอม เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดภายในประเทศ และสามารถขายได้ในราคาที่สูง ทั้งที่สามารถผลิตได้ในอัตราที่ต่ำ (โดยเฉลี่ยประมาณ 2.5 — 3 ตันต่อเฮกเตอร์) รูปร่างข้าวหอมของประเทศอิหร่านจะมีความคล้ายคลึงกับข้าวบัสมาติ และรูปร่างเรี่ยวยาว ปัจจุบันข้าวหอมพันธุ์พื้นเมืองที่นิยมเพาะปลูกได้แก่ พันธุ์ Hasan sarai, Domsiah, Binam, Hasani, Salari, Ambarboo, และ Sang tarom

4. การบริโภค

4.1. ประเภทข้าว

ระดับคุณภาพของข้าวหอมของประเทศอิหร่าน สามารถจำแนกได้เป็น 3 ระดับ ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดตามกายภาพและราคาของตลาด ได้แก่

  • ระดับ Sadri มีขนาดเรียวยาวมาก เมล็ดขนาดความยาวมากกว่า 7 มม. มีคุณภาพสูง มีความหอมสูง หุงง่าย โดยมีอัตราการเพาะปลูกเฉลี่ยประมาณ 5 ตันต่อเฮกเตอร์ จำหน่ายในตลาดในราคาสูงที่สุด
  • ระดับ Champa ความเรียวยาวขนาดกลาง เมล็ดขนาดกลาง ราคาในตลาดต่ำกว่าระดับ Sadri แต่มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อม แมลงและโรคได้ดีกว่า ทั้งปริมาณผลิตต่อหน่วยสูง
  • ระดับ Gerdeh ขนาดเมล็ดสั้น ไม่มีกลิ่นหอมและราคาต่ำในตลาด แต่มีผลผลิตสูงต่อหน่วย มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อม แมลงและโรคมากกว่าทั้งสองกลุ่ม
4.2. ปริมาณ

อิหร่านเป็นประเทศที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลักเช่นเดียวกับประเทศไทย โดยในแต่ละปี อิหร่านมีความต้องการบริโภคข้าวปีละ 3.6 ล้านตัน แต่มีผลผลิตภายในประเทศปีละ 2 ล้านตัน จึงจำเป็นต้องนำเข้าข้าวปีละ 1.6 ล้านตัน

4.3. รสนิยมในการบริโภค

รสนิยมการบริโภคข้าวของประชาชนอิหร่านมีลักษณะโดยรวมดังนี้

  • เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจอิหร่านไม่ดีนัก ประชาชนจะนิยมซื้อข้าวบรรจุในถุงขนาดเล็กขนาด 5 ถึง 10 กิโลกรัม โดยจะไม่ซื้อข้าวปริมาณมากๆ ไปเก็บในบ้าน
  • ชาวอิหร่านนิยมหุงข้าวปริมาณมากๆ แล้วอุ่นรับประทานใหม่ (Re-cooked) เป็นครั้งๆ ไปจนหมด ดังนั้น ข้าวที่อุ่นใหม่แล้วเสียคุณภาพ จะไม่เป็นที่นิยม
  • ข้าวที่ชาวอิหร่านนิยมรับประทาน จะเป็นข้าวที่หุงแล้วร่วนซุย ขาว และมีเมล็ดยาว (non-sticky and long grain) หรือเป็นข้าวที่มีกลิ่นรมควัน ซึ่งหากข้าวมีคุณภาพใกล้เคียงกับข้าวหอมชั้นเลิศของอิหร่านเท่าใด ก็จะเป็นที่นิยมมากขึ้นเท่านั้น
  • ในตลาดอิหร่าน ข้าวบรรจุถุงจะแข่งขันโดยใช้ยี่ห้อประทับบนถุง เพื่อเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สร้างความแตกต่าง โดยจะวางขายทั้งในลักษณะแบ่งชั่งกิโลขายหรือบรรจุถุงขาย 3
  • สำหรับร้านอาหารทั่วไป จะหุงข้าวในหม้อขนาดใหญ่ที่มีวิธีการหุงแตกต่างจากหม้อขนาดเล็กที่ใช้ในครัวเรือน และจะตักข้าวเพื่อบริการลูกค้าเป็นจานๆ ไป ดังนั้น ข้าวที่หุงในหม้อขนาดใหญ่จะต้องมีคุณภาพดีเสมอกันทั้งหม้อเท่านั้นจึงจะเป็นที่นิยม
5. การจัดจำหน่ายในประเทศ

5.1. ช่องทางการจัดจำหน่ายข้าวในอิหร่านมีสองช่องทางได้แก่

  • จำหน่ายโดยรัฐบาลหรือสหกรณ์ โดยรัฐบาลหรือสหกรณ์จะประกาศเปิดประมูลข้าวสาร โดยให้เอกชนอิหร่านเป็นผู้เสนอราคา เพื่อไปจำหน่ายในร้านค้าของรัฐบาล เพื่ออุดหนุนค่าครองชีพของประชาชน
  • จำหน่ายโดยภาคเอกชน ผู้นำเข้ารายย่อยเป็นผู้นำเข้าข้าว เพื่อจำหน่ายในร้านค้าย่อยทั่วไปในอิหร่าน

5.2. ราคาจำหน่ายในประเทศ

ราคาข้าวในอิหร่านสามารถแบ่งออกได้เป็นสามระดับดังนี้

  • ระดับบน ได้แก่ข้าวหอมชั้นเลิศของอิหร่าน ราคาประมาณกิโลกรัมละ 3 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งข้าวชนิดนี้มีความหอมและมีเมล็ดข้าวเรียวยาว ผู้บริโภคจะเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง และบางรายมีที่นาเป็นของตัวเอง และจ้างชาวนาปลูกข้าวหอมชั้นเลิศ เพื่อบริโภคเองในครอบครัวและญาติมิตรเท่านั้น
  • ระดับกลาง ได้แก่ข้าวหอมชั้นกลางและข้าวบาสมาติก ราคาประมาณกิโลกรัมละ 2.4 เหรียญสหรัฐฯ เป็นข้าวที่มีเมล็ดยาว ผู้บริโภคเป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่มีรายได้ปานกลาง
  • ระดับล่าง ได้แก่ข้าวอุรุกวัยและข้าวขาว100% ชั้น 2 ของไทย ราคาประมาณกิโลกรัมละ 1.3 เหรียญ เป็นข้าวคุณภาพต่ำ ซึ่งรัฐบาลให้การอุดหนุนให้เป็นข้าวราคาถูกสำหรับผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย
6. การนำเข้า/ส่งออก

ตามสถิติของกรมศุลกากรอิหร่านพบว่า ในปี 2548 อิหร่านนำเข้าข้าวสารจำนวน 1,044,609 ตัน คิดเป็นมูลค่า 345,284,000 เหรียญสหรัฐฯ และในปี 2549 อิหร่านนำเข้าข้าวสารปริมาณ 1,216,192 ตัน เป็นมูลค่า 403,188,000 เหรียญสหรัฐฯ การนำเข้าข้าวสารในปี 2549 เทียบกับการนำเข้าในปี 2548 เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าคิดเป็นปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนร้อยละ 16.4 และร้อยละ 16.8 ตามลำดับ ทั้งนี้ในปี 2549 อิหร่านนำเข้าข้าวสารมากกว่าปี 2548 ในปริมาณ 171,533 ตัน คิดเป็นมูลค่า 57,904,000 เหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ในปี 2550 การนำเข้าข้าวสารของอิหร่านลดปริมาณลง โดยมีการนำเข้าจำนวน 1,062,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 417 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ในปีที่ผ่านมาการนำเข้าข้าวสารขยับตัวสูงขึ้น โดยมีการนำเข้าจำนวน 1,383,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 790 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเทียบกับปีก่อนหน้าการนำเข้าเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าในอัตราส่วนร้อยละ 30 และ 85 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การนำเข้าในปี 2552 ยังคงขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรกของปีงบประมาณอิหร่าน (มีนาคม-มิถุนายน 2552) อิหร่านนำเข้าข้าวสารจำนวน 368,000 ตัน มูลค่า 310 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นปริมาณและมูลค่าในอัตราส่วนร้อยละ 3 และ 2.66 ของสินค้านำเข้าทั้งหมด ขณะที่ในระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมามีการนำเข้าในปริมาณ 250,000 ตัน มูลค่า 97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นปริมาณและมูลค่าในอัตราส่วนร้อยละ 2.77 และ 0.74 ของสินค้านำเข้าทั้งหมด ดังนั้นอิหร่านมีการนำเข้าข้าวสารในปีปัจจุบันเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าในอัตราส่วนร้อยละ 46.79 และ 219.35 ตามลำดับ

ในปี 2552 อิหร่านนำเข้าข้าวจากไทยเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 79.89 ดังตาราง

                         มูลค่าการส่งออกข้าวไทยไปตลาดอิหร่าน ปี 2549-2552
                                                        มูลค่า : ล้านเหรียญ
                              2549     2550     2551    2552%    เปลี่ยน
                    ข้าว      201.4    200.6     79.6    16.0     -79.9
        ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

ในปี 2552 อิหร่านนำเข้าข้าวจากไทยเป็นปริมาณทั้งสิ้น 24144.19 ตัน ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 84.3 ดังตาราง

                    ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยไปตลาดอิหร่าน ปี 2549-2552
                                                                       หน่วย : ตัน
                              2549        2550        2551      2552%      เปลี่ยน
                    ข้าว    650,696.7  615,904.3  153,596.4   24,144.2      -84.3
                    ที่มา :กรมการค้าต่างประเทศ



          สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน

          ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ