กระแสความตื่นตัว ACFTA ในประเทศจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 8, 2010 17:26 —กรมส่งเสริมการส่งออก

กระแส ACFTA ความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีนได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2553 ทั้งภาครัฐภาคเอกชนของจีนให้ความสำคัญกับกระแสนี้อย่างไร โดยเฉพาะมณฑลในเขตตะวันตกของจีน ซึ่งเชื่อมโยงกับอาเซียนและมีความได้เปรียบในเรื่องระยะทาง สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตูได้รวบรวมและสรุปได้ดังนี้

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11

วันที่ 5-14 มีนาคม 2006ได้มีการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (National People Congress: NPC) ที่มหานครปักกิ่ง มีการประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่เป็นเสมือนพิมพ์เขียว (Road Map) ในการพัฒนาจีนต่อไปอีกเป็นเวลานาน 5 ปี (2006-2010) เนื้อหาโดยรวมเน้น 2 ประเด็นคือ การสร้างสังคมกลมกลืนและปรองดอง กับ การเน้นการพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ หรือการพยายามปรับแนวคิดการพัฒนาประเทศเชิงปริมาณมาเป็นการพัฒนาเชิงคุณภาพ ดร.อักษรศรีได้ศึกษาเนื้อหาแผนฯฉบับที่ 11 และวิเคราะห์นัยสำคัญที่จะมีต่อไทย ในเรื่องนโยบายการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศซึ่งจีนให้ความสำคัญกับชายแดนเป็นสิ่งสำคัญ และนโยบายการเพิ่มขอบเขตการเปิดเสรีการค้ากับต่างประเทศ การลดสัดส่วนการพึ่งพาจากภาคต่างประเทศ การส่งเสริมการออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะกรอบข้อตกลง ACFTA ซึ่งคิดริเริ่มโดยจีนและได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด (ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น พ.ศ.2550 เศรษฐกิจ มณฑลจีน )

คณะมนตรีพาณิชย์จีน-อาเซียน China-Asean Business Council

คณะมนตรีพาณิชย์จีน-อาเซียน เป็นองค์กรเพื่อการเจรจาความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียนด้านการค้าและการลงทุน ก่อตั้งโดยสภาส่งเสริมการค้าประเทศจีน (CCPIT) สภาอุตสาหกรรมและการค้าอาเซียน ผู้นำหรือผู้แทนสภาหอการค้าของประเทศสมาชิกอาเซียนเป้าหมายเพื่อ ส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนในกรอบความร่วมมือเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน โดยมีหน้าที่ในการให้ข้อมูลด้านการค้าการลงทุนแก่หน่วยงานของรัฐ สมาคมการค้า ผู้ประกอบการจีนและอาเซียน จัดการประชุมสัมมนาด้านการค้าการลงทุน เช่นการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) เป็นต้น (คณะมนตรีพาณิชย์จีน-อาเซียน. 2009. www.cafta.org.cn)

ความตื่นตัวในข่าวสารความร่วมมือเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553
1. ภาครัฐ

www.cafta.org.cn เป็นเวปไซต์ของคณะมนตรีพาณิชย์จีน-อาเซียน เป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารรายงานความเคลื่อนไหวขององค์กรฯ ซึ่งเป็นเสมือนพฤติกรรมของรัฐที่สามารถสะท้อนความตื่นตัวของจีนในความร่วมมือเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนได้ โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ซึ่งมีข้อน่าสังเกตดังนี้

  • เวปไซต์สามารถเปลี่ยนภาษาได้ 4 ภาษาคือ จีนไทย อังกฤษ และเวียดนาม
  • เวปไซต์เสนอข่าวสารด้านเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในอาเซียนรายวัน
  • คอลัมน์ที่สำคัญเช่น ตลาดอาเซียน ก้าวสู่อาเซียน จีนกับอาเซียน การลงทุนในอาเซียน เป็นต้น
  • มีการจัดกิจกรรมการประชุม การอบรมให้ความรู้กับหน่วยงานต่างๆทั่วประเทศ
  • การอบรมให้ความรู้ CAFTA เลขาธิการประจำคณะมนตรีฯฝ่ายจีน Mr.Xu NingNing เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนและเป็นบุคคลสำคัญในการเสนอนโยบายและแผนความร่วมมือต่างๆให้กับรัฐบาล และจัดกิจกรรมการอบรมให้ความรู้ CAFTA ทั่วประเทศจีน ซึ่งมณฑลเสฉวน โดยกรมการพาณิชย์มณฑลได้จัดกิจกรรมการประชุมและอบรมให้ความรู้ผู้ประกอบการในมณฑลเสฉวน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา
  • การให้คำปรึกษา CAFTA โดยหน่วยงานศูนย์กลางการให้ข้อมูลการค้าการลงทุนในอาเซียน Asean Business Consultant Center (ABCC) ดูแลและอำนวยการโดย เลขาธิการประจำคณะมนตรีฯฝ่ายจีน
  • เวปไซต์ให้ข้อมูลCAFTA เช่น

www.china-aseanbusiness.org.cn ,

www.chinaaseantrade.com ,

http://caexpo.com.cn/CAFTA/index.html ,

http://china.aftasources.com/ , http://www.aseannav.cn/

www.chinaasean.org

  • เวปไซต์ให้ข้อมูลCAFTAรายมณฑลที่สำคัญ เช่น
2. ภาคประชาชน

สคร.เฉิงตูได้ทำการสำรวจและสังเกตพฤติกรรมความตื่นตัวในข่าวสารความร่วมมือเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน(CAFTA)ของประชาชนทั่วไปในพื้นที่รับผิดชอบ คือมณฑลเสฉวน มณฑลกานซู มหานครฉงชิ่ง เขตปกครองตนเองหนิงเซียะ โดยการ ติดตามข่าวในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น การสอบถาม สัมภาษณ์ความคิดเห็นผู้ที่มาติดต่อประสานงาน และที่ได้ประสานงานมา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นมา พบว่า

1. ภาครัฐประสบความสำเร็จในการประชาสัมพันธ์และสร้างกระแสข่าวสารความร่วมมือเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน(CAFTA) เนื่องจากสามารถกำหนดทิศทางและกระแสของสื่อได้ ส่งผลให้ในภาคส่วนของประชาชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการโดยส่วนใหญ่มีความสนใจและตื่นตัวต่อผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นตามที่สื่อต่างๆของรัฐที่ได้ประชาสัมพันธ์ว่ามีโอกาสมากมายในอาเซียน จนเกิดเป็นประโยคฮิตที่ว่า “ไปขุดทองที่อาเซียน”

2. ผู้ประกอบการเข้ามาติดต่อขอข้อมูลการค้าการลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น เช่น ร้านขายของที่ระลึก Bo Guang Chengdu ร้านเฟอร์นิเจอร์ Zhang Shang tastea intelligently House (Thailand) ร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์UTMOST เฉิงตู ตลาดค้าส่งผลไม้มหานครฉงชิ่ง Chongqing Fruit Trading Co.,Ltd Ningxia Lingxian Guo Co.,Ltd เป็นต้น คำถามส่วนมากจะถามภาษีสินค้าที่ตนเองจำหน่ายจะลดเหลือเป็นศูนย์หรือไม่หลังวันที่ 1 ม.ค. 53 หรือจะมีสิทธิพิเศษอะไรบ้างเมื่อส่งออกหรือนำเข้าสินค้าจากอาเซียน ซึ่งน่าสังเกตว่าไม่มีใครถามถึงเรื่องแบบฟอร์มแจ้งแหล่งกำเนิดสินค้า

3. ประชาชนทั่วไปมีความคาดหวังว่าสินค้าเกษตรเช่นผลไม้เมืองร้อนที่ตนบริโภคอยู่เช่น ลำไย ทุเรียน มังคุด สับปะรด กล้วยไข่ เป็นต้นราคาจะถูกลงหลังจากวันที่ 1 ม.ค. 53

4. มีการจัดประชุมอบรมให้ความรู้ในเรื่องความร่วมมือเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน(CAFTA) จากหน่วยงานของรัฐโดยกรมการพาณิชย์มณฑล ซึ่งได้เชิญให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมก่อนวันที่ 1 ม.ค. 53

สรุป/ข้อคิดเห็น
  • รูปแบบการปกครองแบบสังคมนิยมในแบบฉบับของจีน ซึ่งพรรคฯหรือรัฐบาล เสมือนผู้ปกครองในครอบครัว พฤติกรรมในสังคมซึ่งถือเป็นส่วนสะท้อนของนโยบายจากพรรคฯหรือผู้ปกครองส่วนกลางกำกับผ่านลงมาให้ภาคส่วนมณฑลต่างๆ ความร่วมมือเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน(CAFTA) เป็นหนึ่งในนโยบายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ซึ่งต้องการให้จีน “ก้าวออกไป”ลงทุนในอาเซียน โดยมีความเชื่อว่าเศรษฐกิจที่ดีจะนำมาซึ่งความมั่งคัง มั่งมี และสันติภาพในภูมิภาคอาณาอิทธิพลที่สำคัญของตนคือ จีนแถบตะวันตกและอาเซียนโดยผ่านมณฑลยุทธศาสตร์ประตูสู่อาเซียนสำคัญ 2 มณฑลคือยูนนาน และกวางสี ซึ่งเป็นเสมือนพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการเฝ้าระวังรักษาไม่ให้ประวัติศาสตร์เกิดซ้ำรอยดั่งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าดูนโยบายและพฤติกรรมของจีนต่อไปว่าจะเดินซ้ำรอยประเทศอาณานิคมเก่าหรือไม่
  • สุภาษิตจีนคำว่า (ประชาชนถือเอาเรื่องปากท้องเป็นสิ่งสำคัญที่สุด) เป็นสัจธรรมในประวัติศาสตร์จีนที่สั่งสมและสั่งสอนให้ผู้ปกครองต้องตระหนักและจัดการให้ถุกต้องต่อผู้ถูกปกครอง นโยบายเปิดประเทศในปี ค.ศ.1979 โดยการนำของเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ การพัฒนาประเทศให้เป็น “สังคมที่อยู่ดีมีสุข” ตามคำมั่นที่พรรคฯได้ให้ไว้เมื่อตอนใช้นโยบายเปิดประเทศเมื่อ 31 ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน(CAFTA) ก็เป็นเสมือนอีกความคาดหวังหนึ่งของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลตน
  • บทเรียนทางประวัติศาสตร์ การถูกรุกรานจากอดีตเมืองล่าอาณานิคมต่างๆหล่อหลอมให้จีนเลือกใช้ปรัชญาการปกครองแบบวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (historical materialism) ของลัทธิมาร์คซิสต์ ให้เหตุผลว่า การที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ก็เนื่องจากความจำเป็นในการผลิตของตน เพื่อดำรงชีวิตและสืบเผ่าพันธุ์ของตนในโลกต่อไป การดำรงอยู่ได้ของมนุษย์นี้ ทำให้มนุษย์ต้องเผชิญกับ ความขัดแย้ง 2 ด้าน ก็คือ “ความขัดแย้งของมนุษย์กับธรรมชาติ” และ “ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเอง” มนุษย์ได้พยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะแก้ไขคลี่คลายความขัดแย้งเหล่านี้ของตน การเคลื่อนไหวของมนุษย์ในการแก้ไขความขัดแย้งนี้

ทำให้เกิดความก้าวหน้าของสังคมมนุษยชาติ (ปัญญา แพร่พันธุ์.2008.ทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ฉบับกระเป๋า) เป็นจุดอ่อนไหวสำคัญในการเจรจาการค้าความร่วมมือต่างๆระหว่างจีนกับไทย เช่น การปลูกพืชที่ผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรม (GMO) การระเบิดเกาะแก่งหินในแม่น้ำโขงเพื่อพัฒนาเส้นทางการเดินเรือสินค้าของจีนซึ่งกระทบต่อระบบนิเวศน์และการสูญพันธุ์ของปลาบึก การสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้ากว่า 16 แห่งตามแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำโขง เป็นต้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ