สถานการณ์ตลาดข้าวในประเทศเดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 9, 2010 12:29 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การผลิตและการบริโภค

ประเทศในแถบนี้ไม่ใช่ผู้ผลิตข้าว จึงต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพื่อการบริโภคทั้งหมด โดยมีทั้งการนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวโดยตรง เช่น ไทย ปากีสถาน อินเดีย สหรัฐฯ จีน และเวียตนาม เป็นต้น และนำเข้าผ่านประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปหรือประเทศใกล้เคียงอีกทอดหนึ่ง เช่น เบลเยี่ยม เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สเปน และฝรั่งเศส เป็นต้น

ขนาดของตลาด (Market size) ตลาดสแกนดิเนเวียมีประชากรรวมทั้งสิ้นประมาณ 24.6 ล้านคน กล่าวคือ เดนมาร์กมีประชากรจำนวน 5.5 ล้านคน สวีเดน 9.0 ล้านคน ฟินแลนด์ 5.2 ล้านคน นอร์เวย์ 4.6 ล้านคน และไอซ์แลนด์ 0.3 ล้านคน การบริโภคข้าวในตลาดสแกนดิเนเวียรวมทั้งสิ้นในปี 2551 ประมาณ 141,000 ตัน มูลค่าประมาณ 187 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีอัตราการบริโภคเฉลี่ยต่อคนต่อปีประมาณ 5.73 กิโลกรัม

ข้าวที่นำเข้ามาส่วนใหญ่จะใช้ในการบริโภคสำหรับประชาชนทั่วไป ปลายข้าวจะใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมเบียร์ ส่วนข้าวเมล็ดสั้น (Round grain rice) ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการทำ Pudding หรือ Porridge ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ของคนในแถบนี้และเป็นส่วนหนึ่งของอาหารเย็นในช่วงคริสต์มาสของทุกปี ประเภทของข้าว ได้แก่ Semi/wholly milled rice, Husked brown rice, Broken rice, และ Paddy/rough in husk

ปัจจุบันข้าวหอมมะลิของไทยเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เนื่องจากมีร้านอาหารไทยเป็นจำนวนมาก และคนในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียค่อนข้างจะคุ้นเคยกับอาหารไทยเป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่เคยเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศไทยมาแล้วเกือบทั้งนั้น นอกจากนี้ ร้านอาหารจีนบางแห่งก็ใช้ข้าวไทยด้วย ข้าวไทยจะวางจำหน่ายตามซุบเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ และร้านขายของชำของคนเอเซียทั่วไป เช่น ไทย จีน และเวียตนาม เป็นต้น

คู่แข่งขันของข้าวหอมมะลิไทยที่สำคัญ คือ ข้าวบาสมาติ อย่างไรก็ตามขณะนี้มีแนวโน้มว่าผู้บริโภคเริ่มนิยมข้าวหอมมะลิจากไทยเพิ่มขึ้น

การจัดจำหน่ายภายในประเทศ

ช่องทางการจัดจำหน่าย หลังจากที่นำเข้าข้าวโดยผู้นำเข้า/ผู้ค้าส่งแล้ว ก็จะจัดส่งไปยังผู้ค้าปลีกอีกต่อหนึ่ง ผู้นำเข้า/ผู้ค้าส่งบางรายก็มีร้านจำหน่ายปลีกเป็นของตนเองเช่นกัน และผู้นำเข้าอีกกลุ่มจะเป็นผู้ค้าปลีกรายใหญ่ ได้แก่ ซุบเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ (Supermarket chain) ในสแกนดิเนเวียก็นำเข้าเองโดยตรง เช่น Dansk Supermarked Gruppen (เดนมาร์ก), ICA AB (สวีเดน) Kesko Food (ฟินแลนด์) COOP Norge AS (นอร์เวย์) และ Hagar (ไอซ์แลนด์) เป็นต้น

อย่างไรก็ตามขณะนี้มีแนวโน้ม (Trend) ใหม่ที่เกิดขึ้นในยุโรป คือ มีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ค้าปลีกรายใหญ่ในยุโรปเพื่อกดราคารับซื้อจากผู้ขายหรือผู้ส่งออกโดยตรง หรือ AMS : Associated Marketing Services โดยมีสมาชิกเป็นกลุ่มผู้ค้าปลีกรายใหญ่ในหลายประเทศในยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน โปรตุเกส ฟินแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ อิตาลี เบลเยี่ยม และฝรั่งเศส เป็นต้น เพื่อกดราคาสั่งซื้อสินค้าทั้ง Food and Non-food ซึ่งถือว่าเป็นการฮั้วกันที่มีอำนาจในการกดราคาสั่งซื้อได้เพราะมีการสั่งซื้อในปริมาณที่ค่อนข้างมาก

ราคาจำหน่ายภายในประเทศ

ราคาข้าวที่วางจำหน่ายตามซุบเปอร์มาร์เก็ตในตลาดเดนมาร์ก

(1) Bilka

  • ข้าวหอมมะลิของไทย บรรจุถุงละ 1 ก.ก. ราคา 14.95 เดนิชโครน
  • ข้าวหอมมะลิของไทย (เกรดดี) บรรจุถุงละ 1 ก.ก. ราคา 21.95 เดนิชโครน
  • ข้าวหอมมะลิของไทย (Organic) บรรจุถุงละ 500 กรัม ราคา 15.95 เดนิชโครน
  • ข้าวบาสมาติของอินเดีย บรรจุถุงละ 1 ก.ก. ราคา 14.95 เดนิชโครน
  • ข้าวบาสมาติของอินเดีย (เกรดดี) บรรจุถุงละ 1 ก.ก. ราคา 21.95 เดนิชโครน
  • ข้าวบาสมาติของอินเดีย (Organic) บรรจุถุงละ 500 กรัม ราคา 15.95 เดนิชโครน
  • ข้าวบาสมาติของอินเดีย บรรจุถุงละ 5 ก.ก. ราคา 79.95 เดนิชโครน

(2) Super Best

  • ข้าวหอมมะลิของไทย บรรจุถุงละ 1 ก.ก. ราคา 18.95 เดนิชโครน
  • ข้าวหอมมะลิของไทย (High class) บรรจุถุงละ 1 ก.ก. ราคา 22.95 เดนิชโครน
  • ข้าวหอมมะลิของไทย (Organic) บรรจุถุงละ 500 กรัม ราคา 19.95 เดนิชโครน
  • ข้าวบาสมาติของอินเดีย บรรจุถุงละ 1 ก.ก. ราคา 20.95 เดนิชโครน
  • ข้าวบาสมาติของอินเดีย (High class) บรรจุถุงละ 1 ก.ก. ราคา 22.95 เดนิชโครน
  • ข้าวบาสมาติของอินเดีย (Organic) บรรจุถุงละ 500 กรัม ราคา 24.95 เดนิชโครน
การนำเข้า
ประเทศ                          ข้าวปี 2552         % เพิ่ม/ลด          ข้าวปี 2552          % เพิ่ม/ลด
                                   (ตัน)           2552/2551      (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)       2552/2551
เดนมาร์ก (ม.ค. — ต.ค.)             32,220            -10.32           39.871              -13.82
สวีเดน    (ม.ค. — ต.ค.)            43,713            -16.56            4.828              -15.97
ฟินแลนด์ (ม.ค. — ต.ค.)              20,099            -13.60           24.361              -11.79
นอร์เวย์   (ม.ค. — ธ.ค.)            23,426              1.73           30.807                1.92
ไอซ์แลนด์ (ม.ค. — ธ.ค.)              1,237            -15.55            1.871              -24.02
รวม                              120,695            -11.30          151.738              -11.68
                ปริมาณการนำเข้า                       มูลค่าการนำเข้า
ประเทศ           ข้าวปี 2551         % เพิ่ม/ลด          ข้าวปี 2551          % เพิ่ม/ลด
                    (ตัน)           2551/2550      (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)       2551/2550
เดนมาร์ก            35,190            12.85             54.997             55.70
สวีเดน              62,842           -13.23             78.838             45.03
ฟินแลนด์             27,328            -1.91             32.754             27.46
นอร์เวย์             23,028             6.21             30.225             47.21
ไอซ์แลนด์             1,465             7.94              2.463             41.59
รวม               149,853            -2.99            199.277             44.77

แหล่งนำเข้าข้าวสำคัญ ได้แก่ เยอรมนี ไทย อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม อินเดีย สเปน ปากีสถาน สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เวียตนาม และจีน

ประเทศ                          ข้าวปี 2552         % เพิ่ม/ลด          ข้าวปี 2552          % เพิ่ม/ลด
                                   (ตัน)           2552/2551      (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)       2552/2551
เดนมาร์ก (ม.ค. — ต.ค.)              3,153            -9.53             5.817              -6.88
สวีเดน   (ม.ค. — ต.ค.)                619           -83.71              0.97             -74.09
ฟินแลนด์  (ม.ค. — ต.ค.)                 39              -61             0.076             -44.79
นอร์เวย์  (ม.ค. — ธ.ค.)                 75           -65.24             0.083             -64.44
ไอซ์แลนด์ (ม.ค. — ธ.ค.)                0.4           -70.20             0.002             -48.56
รวม                             3,886.40           -48.86             6.948             -32.99
การส่งออก
                ปริมาณการส่งออก                       มูลค่าการส่งออก
ประเทศ           ข้าวปี 2551         % เพิ่ม/ลด          ข้าวปี 2551          % เพิ่ม/ลด
                    (ตัน)           2551/2550      (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)       2551/2550
เดนมาร์ก             4,374            17.87             7.828              46.90
สวีเดน               3,977           -77.92             4.006             -62.95
ฟินแลนด์                117           -87.75             0.169             -78.13
นอร์เวย์                215           172.85             0.235             250.75
ไอซ์แลนด์                 1           -66.38             0.003             -24.44
รวม                 8,684           -61.85            12.241             -27.93

ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียด้วยกันเอง ออสเตรีย สาธารณรัฐเช็ก เยอรมนี สเปน แคนาดา เนเธอร์แลนด์ เอสทัวเนีย ฝรั่งเศส อินเดีย สหราชอาณาจักร ลัทเวีย สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี โปแลนด์ และสหรัฐฯ

การนำเข้าข้าวจากไทย
                               ปริมาณการนำเข้า                       มูลค่าการนำเข้า
ประเทศ                            ปี 2552          % เพิ่ม/ลด           ปี 2552            % เพิ่ม/ลด
                                   (ตัน)           2552/2551      (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)       2552/2551
เดนมาร์ก (ม.ค. — ต.ค.)              2,904             2.15             2.944               3.17
สวีเดน    (ม.ค. — ต.ค.)            12,372            -7.70            11.231              -6.15
ฟินแลนด์ (ม.ค. — ต.ค.)               1,831           -14.52             1.361             -20.41
นอร์เวย์   (ม.ค. — ธ.ค.)            12,047             4.23            13.065               7.31
ไอซ์แลนด์ (ม.ค. — ธ.ค.)                570             0.73             0.552             -10.34
รวม                               29,724            -2.58            29.153              -0.58
ประเทศ           ปริมาณการนำเข้าปี 2551 (ตัน)       % เพิ่ม/ลด        มูลค่าการนำเข้าปี 2551        % เพิ่ม/ลด
                                                2551/2550         (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)         2551/2550
เดนมาร์ก                   3,054                   34.42                3.053                98.38
สวีเดน                    15,896                   43.01               14.196                91.64
ฟินแลนด์                    2,448                   41.18                 1.96               106.53
นอร์เวย์                   11,558                   14.10               12.175                54.39
ไอซ์แลนด์                     565                   -0.29                0.616                63.73
รวม                      33,521                   29.82                   32                76.32

แนวโน้มการนำเข้าข้าวจากไทยในปี 2551 เพิ่มขึ้นทั้งด้านปริมาณและมูลค่าเกือบทุกประเทศ โดยในปี 2552 ประเทศที่นำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ เดนมาร์ก และนอร์เวย์

ชนิดของข้าวที่นำเข้าจากไทยและมีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้นที่สำคัญ ได้แก่ Wholly-milled long grain rice, Long grain husked (brown) rice, Broken rice, Semi-milled long grain rice, Paddy/rough in husk, และ Wholly-milled medium grain rice

กฎระเบียบการนำเข้า

การนำเข้าข้าวในตลาดสแกนดิเนเวียจะต้องปฏบัติตามกฎระเบียบการนำเข้าของสหภาพยุโรป ซึ่งสหภาพยุโรปมีการกำหนดโควต้าภาษีนำเข้าข้าวสำหรับประเทศไทยไว้ โดยภายใต้ระเบียบคณะกรรมาธิการยุโรปที่ 327/98 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541 สหภาพยุโรปกำหนดโควต้าภาษีนำเข้าข้าวไทยไว้ คือ ข้าวขาวปีละ 26,968 ตัน (แบ่งเป็น 2 จำนวน คือ 21,455 ตัน และ 5,513 ตัน) และข้าวหักปีละ 52,000 ตัน ทั้งนี้ ได้แบ่งการขอหนังสืออนุญาตนำเข้า (Import licence) เป็นงวดๆ แยกตามประเภทของข้าวและการบริหารโควต้าตามระเบียบของสหภาพยุโรปไว้ หากมีการนำเข้าเกินกว่าโควต้าภาษีที่กำหนดไว้ก็จะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติที่สหภาพยุโรปกำหนด สำหรับประเทศนอร์เวย์ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป การนำเข้าข้าวจากไทยไม่ต้องเสียภาษีการนำเข้า นอกจากนั้น บางประเทศอาจกำหนด Levies สำหรับการนำเข้าข้าวไว้ด้วย และผู้นำเข้าข้าวจะต้องยื่นขอใบอนุญาตนำเข้า (Import licence)

แนวโน้มของตลาด และลู่ทางการขยายการส่งออกข้าวไทย

แนวโน้มของตลาดข้าวในประเทศแถบสแกนดิเนเวียยังคงมีลู่ทางที่จะสามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้นอีก แม้ว่าขนาดของตลาดนี้จะไม่ใหญ่มากนักก็ตาม แต่ก็เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง ประกอบกับอาหารไทยเป็นที่นิยมในตลาดแถบนี้อย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารชาติอื่นๆ เช่น อาหารจีน อาหารญี่ปุ่น และอาหารเวียตนาม เป็นต้น นอกจากนั้น ร้านอาหารจีนบางร้านก็นิยมใช้ข้าวไทยด้วยเช่นเดียวกัน จึงคาดว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการขยายการส่งออกข้าวไทยไปยังตลาดแถบนี้เพิ่มขึ้นต่อไปอีก ทั้งนี้ ผู้ผลิตและส่งออกของไทยควรคำนึงถึงเรื่องคุณภาพของสินค้าเป็นสำคัญและควรรักษาคุณภาพของสินค้าให้คงที่ รวมทั้งควรซื่อสัตย์และส่งมอบสินค้าให้ตรงตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ด้วย

สำหรับการนำเข้าจากประเทศคู่แข่งขันที่สำคัญของไทย ได้แก่ อินเดีย และปากีสถานมีแนวโน้มลดลง ขณะที่การนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนการนำเข้าจากเวียตนาม และจีนมีมูลค่าไม่มากนัก โดยการนำเข้าจากเวียตนามมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ขณะที่การนำเข้าจากจีนมีแนวโน้มลดลง

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ