สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าของกัมพูชาปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 9, 2010 14:15 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ

วิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจกัมพูชา ซึ่งเคยมีอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 9 ตั้งแต่ปี 2544 ถึงปี 2550 และระดับความยากจนของประชาชนลดลงจากร้อยละ 35 ในปี 2004 เหลือประมาณร้อยละ 30 ในปี 2550 อย่างไรก็ตาม หากวิกฤตเศรษฐกิจโลกขยายเวลาออกไป จะส่งผลต่อการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป รายได้จากการท่องเที่ยว และเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ ซึ่งเป็น 3 จาก 4 ปัจจัยหลักที่ช่วยให้เศรษฐกิจกัมพูชาเติบโต ดังจะเห็นได้จากไตรมาสสุดท้ายปี 2551 ผลจากการลดลงของปัจจัยหลักดังกล่าวทำให้ GDP ของกัมพูชาปี 2551 เติบโตเพียงร้อยละ 6.7

ในปี 2552 หลายสถาบันต่างคาดการณ์ตัวเลขอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจกัมพูชาแตกต่างกัน ตั้งแต่ -2.75 จนถึงตัวเลขของรัฐบาล ร้อยละ 6 ยกตัวอย่าง เช่น The Asian Development Bank หรือ ADB ประมาณว่าจะมีอัตราขยายตัว ร้อยละ -1.5 และจะเติบโตร้อยละ 3.5 ในปี 2553 ขณะที่ IMF ประมาณว่าจะมีอัตราขยายตัว ร้อยละ - 2.75 ส่วน Economic Intelligence Unit ของอังกฤษ คาดว่าอัตราขยายตัว อยู่ที่ร้อยละ -1.5 ขณะที่เงินเฟ้อ ปี 2552 ร้อยละ 5.25 และในปี 2553 ร้อยละ 6

ภาคอุตสาหกรรม มูลค่าร้อยละ 25.2 ของ GDP โดยเป็นการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปร้อยละ 52 ของ ภาคนี้ การส่งออกลดลงร้อยละ 27 เพราะคำสั่งซื้อจากตลาดหลักเช่นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แคนาดา ลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกประกอบกับกัมพูชาไม่อาจแข่งขันกับผู้ส่งออกรายอื่นๆซึ่งส่งออกไปในตลาดเดียวกันเช่น เวียดนาม บังคลาเทศ หรือจีนซึ่งได้รับการยกเลิกมาตรการ Safeguard จากสหรัฐฯ และ สหภาพยุโรป

การก่อสร้าง มูลค่าร้อยละ 26.9 ของภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง ลดลงเนื่องจากการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติโดยเฉพาะเกาหลีซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่ประสบปัญหาด้านการเงิน ทำให้ราคาที่ดินในกัมพูชาซึ่งเคยพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะก่อนหน้านี้ ลดราคาลงมากถึงร้อยละ 40 และไม่มีการซื้อขาย โครงการก่อสร้างและการพัฒนาที่ดินร้อยละ 80 หยุดดำเนินการ ชะลอโครงการ และยกเลิกโครงการในที่สุด จึงคาดว่าราคาที่ดินและสิ่งก่อสร้างในปี 2553 จะทรงตัวหรือลดลงอีกและไม่มีท่าทีที่จะส่อแววขยับตัวหรือเคลื่อนไหวแต่อย่างใด ประกอบกับมีสัญญาณเป็นลบจากเงินกู้ที่ปล่อยให้กับภาคการก่อสร้าง จึงคาดว่าจะยิ่งทำให้ภาคการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง ประสบปัญหาหนักกว่าเดิม

ภาคบริการ ซึ่งมีมูลค่าร้อยละ 46.8 ของ GDP รายได้จากการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเช่นโรงแรม ร้านอาหาร และบริการอื่นๆ ซึ่งมีมูลค่าร้อยละ 50.8 ของภาคบริการขยายตัวร้อยละ 0.6 ขณะที่ในปี 2551 เติบโตร้อยละ 9.8 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาทางเครื่องบินลดลงอย่างมากขณะที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาทางรถและเรือเพิ่มขึ้น

การขนส่งและโทรคมนาคม ได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยวทำให้อัตราเติบโตในปี 2552 ร้อยละ - 1.1 ขณะที่ในปี 2551 เติบโตร้อยละ 9.2 และมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ช้าเช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรม

ภาคการเกษตร มูลค่าร้อยละ 27.9 ของ GDP เติบโตประมาณร้อยละ 3.5 ลดลงจากปี 2551 ซึ่งมีอัตราเติบโตร้อยละ 5.8 เพราะผลกระทบจากสภาพดินฟ้าอากาศ แม้ว่าราคาผลผลิตในปี 2552 จะสูงกว่าปีที่ผ่านมาแต่ปัจจัยการผลิตที่สำคัญเช่น ปุ๋ยซึ่งต้องนำเข้าก็มีราคาสูงขึ้นเช่นกันคาดว่าในปี 2553 จะมีอัตราเติบโตร้อยละ 4.0

จากผลกระทบของทุกภาคส่วนที่กล่าวมา คาดว่า ในปี 2552 รายได้ของภาครัฐจะลดลงร้อยละ 1 ของ GDP จากร้อยละ 11.9 ในปี 2551 ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดดุลด้านงบประมาณเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อซึ่งสูงถึงร้อยละ 25.1 ในปี 2551 ลดลงเหลือร้อยละ 8.7 ในปี 2552 เพราะการลดลงของราคาเชื้อเพลิง อาหาร และความต้องการใช้ภายในประเทศ

คาดว่าการส่งออกสินค้าและบริการที่ลดลง จะไม่ส่งผลต่อการขาดดุลของบัญชีเดินสะพัด เพราะจะถูกชดเชยจากการนำเข้าสินค้าที่ใช้เป็นวัตถุดิบ (ผ้า อาหาร และวัสดุก่อสร้าง) รวมทั้งราคาเชื้อเพลิงที่ลดลงเช่นกัน คาดว่าบัญชีเดินสะพัดจะลดจากร้อยละ 16.5 ของ GDP ในปี 2551 เหลือ ร้อยละ 11.8 ในปี 2552 และการขาดดุลการค้าจะอยู่ที่ร้อยละ 13

ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจการเงินของกัมพูชามากนัก เนื่องจากกัมพูชาไม่มีตลาดทุน และตลาดการเงินภายในประเทศ อีกทั้งไม่มีส่วนร่วมในตลาดการเงินโลกหรือภูมิภาคมากนัก อย่างไรก็ตาม กัมพูชาได้รับผลกระทบจากการให้กู้ยืมแก่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤต ดังกล่าว และการลดลงของการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาพคล่องของธนาคาร

กัมพูชามีธนาคารพาณิชย์ 27 แห่ง ธนาคารพิเศษเฉพาะ 6 แห่ง (รวมธนาคารพัฒนาชนบท ซึ่งเป็นของรัฐ) และสาขาธนาคารต่างชาติในกัมพูชา 2 แห่ง หนี้เสียเพิ่มจากร้อยละ 3.7 ในเดือนธันวาคม 2551 เป็นร้อยละ 5.2 ในเดือนมิถุนายน 2552 แม้ว่าธนาคารมีอิสระในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย แต่ดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยประจำปีลดลงจากร้อยละ 15.3 ในปี 2547 เหลือ 9.8 ในปี 2552 ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2552 ลูกหนี้เงินกู้ในภาคการเกษตรและธุรกิจขนาดเล็กเพิ่มจาก 624,000 ราย เป็น 807,335 ราย โดยยอดเงินกู้ยืมเพิ่มจาก 160.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 262.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในช่วงต้นปี 2552 ธนาคารชาติกัมพูชา ได้แก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้เกิดสภาพคล่องแก่ธนาคาร และการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม โดยยกเลิกการกำหนดเพดานการปล่อยกู้ที่กำหนดไม่ให้เกินร้อยละ 15 แก่ภาคธุรกิจ ลดการสำรองเงินฝากจากร้อยละ 16 เหลือร้อยละ 12 (เดิมกำหนดสำรองร้อยละ 8 เพิ่มเป็นร้อยละ 16 เพื่อลดความร้อนแรงของการปล่อยเงินกู้และอัตราเงินเฟ้อ) การสร้างระบบอำนวยความสะดวกในการเบิกเงินเกินบัญชีเพื่อใช้ในการจัดการความเสี่ยงจากสภาพคล่องชั่วคราวของแต่ละธนาคาร พัฒนาระบบข้อกำหนดการสำรองเงิน ทบทวนแนวปฎิบติในการกำหนดหมวดหมู่ทรัพย์สิน และสัญญาที่จะพัฒนาปรับปรุงกรอบของกฎระเบียบ การควบคุมธนาคาร และการบังคับใช้กฎระเบียบอย่างเข้มงวด

2. การส่งออกของกัมพูชา
2.1 ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ

ญี่ปุ่น ถือว่าเป็นตลาดใหม่ที่สำคัญของกัมพูชา ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 กัมพูชาส่งออกเครื่อง นุ่งห่ม มูลค่า 9.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 98 จากช่วงเดียวกันของปี 2551 ที่มีมูลค่า 4.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงถือว่าเป็นตลาดใหญ่รองจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป และหากสามารถผลิตได้ตามความต้องการของตลาดญี่ปุ่น จะทำให้กัมพูชาได้รับประโยชน์อย่างมาก สำหรับสินค้าเกษตร ญี่ปุ่นยกเว้นภาษีนำเข้าให้กัมพูชาตั้งแต่ปี 2550 เช่น ข้าว และปลา ส่วนสินค้าเกษตรบางรายการกำหนดจำนวนโควต้านำเข้า

เกาหลีใต้ ถือว่ามีบทบาทสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาประเทศกัมพูชา ด้วยความช่วยเหลือแบบให้เปล่า เงินกู้ และการลงทุนในทุกๆ ด้าน ที่สำคัญคือด้านการเงิน สาธารณูปโภค และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในหลากหลายสถานการณ์ และการเดินทางมาท่องเที่ยวของประชาชนชาวเกาหลี

สภาหอการค้ากัมพูชาและสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมบูซานได้มีการลงนามความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง โดยมุ่งเน้นสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เทคโนโลยีและงานแสดงสินค้า ระหว่างสองภูมิภาค ขณะที่เกาหลีได้สร้างศูนย์วัฒนธรรม และการค้า กัมพูชา-เกาหลีใต้ ใกล้กับรัฐสภาใหม่ชื่อ “ศูนย์วัฒนธรรม ท่องเที่ยว การค้า และเผยแพร่การค้า” Phnom Penh Daegu-Gyeong Buk เพื่อเป็นสัญญลักษณ์ในความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของ ประเทศทั้งสอง

การค้าระหว่างเกาหลีใต้และกัมพูชาในระยะ 5 เดือนแรกของปี 2552 มีมูลค่า 114 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงจากปีก่อนในระยะเดียวกันร้อยละ 22.6 โดยสินค้าที่เกาหลีส่งออกมากัมพูชาได้แก่ Textiles , Car machinery, Textiles goods ส่วนสินค้าที่เกาหลีนำเข้าจากกัมพูชาได้แก่ Textiles goods, non-ferrous metals ,Agriculture goods

สิงคโปร์ ประกาศยกเว้นภาษีนำเข้าและเปิดรับการนำเข้าสินค้าเกษตรจากทุกประเทศ (ยกเว้นยาสูบและแอลกอฮอล์) เนื่องจากขาดแคลนผลิตผลทางการเกษตร ทำให้ต้องนำเข้านับล้านตันในแต่ละปี

สหภาพยุโรป ถือว่าเป็นตลาดที่สำคัญของกัมพูชา เพราะยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกชนิดทั้งเครื่องนุ่งห่มและสินค้าเกษตรจากกัมพูชา ตั้งแต่ปี 2544 (Everything but Arms) กัมพูชาจึงมุ่งมั่นที่จะส่งข้าวไปตลาดนี้ให้ได้เพราะได้เปรียบประเทศผู้ส่งข้าวอื่นเรื่องภาษีนำเข้า สหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นตลาดที่สำคัญของกัมพูชา แม้การสั่งซื้อสินค้าจะลดลงจากผลของวิกฤตทางเศรษฐกิจ สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม รวมถึงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไม้บางชนิด เครื่องนุ่งห่ม เช่น เสื้อแจ็คเก็ต สามารถส่งไปสหรัฐอเมริกาภายใต้เงื่อนไขยกเว้นภาษีนำเข้าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551

ในปี 2551 กัมพูชาเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 78 ของสหรัฐฯ ด้วยมูลค่าการค้ารวม 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯแยก เป็นการส่งออก 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้า 154 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กัมพูชาได้ดุลการค้า 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าสำคัญที่ส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มที่ใช้การถัก/ตัดเย็บ มูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เครื่องนุ่งห่ม/ผ้าทอ 786 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สิ่งทอ/เบ็ดเตล็ดอื่นๆ 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หมวก 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหมวดสินค้าเกษตรมูลค่า 519, 000 ดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของสินค้าเกษตรของกัมพูชา คือ ไม่มีการรวมกลุ่มของชาวนา และการที่ต้องขายผ่านพ่อค้าคนกลาง จึงมีความจำเป็นที่รัฐต้องช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงตลาดได้โดยตรง รวมถึงการจัดระบบการศึกษา และระบบสาธารณูปโภค

2.2 การค้าระหว่างไทย-กัมพูชา

ในปี 2552 มีมูลค่ารวม 1,658.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 22.16 เมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งมีมูลค่ารวม 2,130.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แยกเป็นการส่งออกจากไทยไปกัมพูชา มูลค่า 1,580.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และไทยนำเข้าจากกัมพูชา มูลค่า 77.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 22.52 และร้อยละ 13.86 โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 1,502.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

                                       ตารางแสดงการค้าระหว่างไทย-กัมพูชา
  รายการ                            มูลค่า : ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ                        อัตราการขยายตัว %
                             2549      2550       2551      2552        2549     2550     2551     2552
มูลค่าการค้ารวม             1,270.20   1,404.20  2,130.30  1,658.30       33.48    10.55    51.71   -22.16
การส่งออก                 1,235.50   1,355.40  2,040.10  1,580.60       34.26     9.70    50.52   -22.52
การนำเข้า                    34.70      48.80     90.20     77.70       10.51    40.63    84.84   -13.86
ดุลการค้า                  1,200.80   1,306.60  1,949.90  1,502.90       35.10     8.81    49.23   -22.92
ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากศุลกากร
การส่งออก

สินค้าส่งออกจากไทยที่สำคัญ ได้แก่

  • น้ำมันสำเร็จรูป มูลค่าส่งออก 182.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 55.03 เมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งมีมูลค่าส่งออก 404.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะปริมาณการใช้ลดลงทั้งภาคอุตสาหกรรม และการขนส่ง อีกทั้งราคาลดลงในช่วงปี 2552
  • น้ำตาลทราย มูลค่าส่งออก 174.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 74.09 เมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งมีมูลค่าส่งออก 100.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อบริโภคภายในประเทศ และส่งต่อไปเวียดนาม
  • ปูนซีเมนต์ มูลค่าส่งออก 83.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.61 เมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งมีมูลค่าส่งออก 90.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วน เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ มูลค่าส่งออก 68.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 44.35 เมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งมีมูลค่าส่งออก 123.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะปริมาณการก่อสร้างลดลง และต้องแข่งกับสินค้าจากเวียดนามที่มีราคาถูกกว่า
  • เครื่องดื่ม มูลค่าส่งออก 79.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 15.15 เมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งมีมูลค่า 93.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเครื่องดื่มจำพวกเบียร์ สุรา ไวน์ นม UHT ปรุงแต่งพร้อมดื่ม และนมถั่วเหลืองโดยมีคู่แข่งที่สำคัญ คือ เวียดนาม จีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้
  • เคมีภัณฑ์ มูลค่าส่งออก 74.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.61 เมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งมีมูลค่า 78.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้แก่ ยา ปุ๋ยเคมี สีย้อมผ้า และสารเคมีที่ใช้ในห้องน้ำ
  • เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว มูลค่าส่งออก 53.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มร้อยละ 19.28 เมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งมีมูลค่า 44.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง (ยางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถจักรยาน) ผ้าผืน และสินค้าปศุสัตว์ เพิ่มร้อยละ 5.48, 9.30 และ 35.31 ตามลำดับ
                                 สินค้าส่งออกของไทยไปกัมพูชา
รายการ                              มูลค่า : ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ                       อัตราการขยายตัว %
                               2549     2550     2551     2552        2549      2550      2551      2552
น้ำมันสำเร็จรูป                   144.7    215.2    404.9    182.1       11.82     48.72     88.15    -55.03
น้ำตาลทราย                      88.4     61.0    100.0    174.9       37.69    -31.00     63.93     74.90
ปูนซีเมนต์                        72.0     86.2     90.7     83.8       24.86     19.72      5.22     -7.61
เครื่องดื่ม                        69.2     74.1     93.1     79.0       31.81      7.08     25.64    -15.15
เคมีภัณฑ์                         51.1     54.5     78.5     74.1       17.20      6.65     44.04     -5.61
เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์         42.5     42.8    123.1     68.5       33.65      0.71    187.61    -44.35
ผลิตภัณฑ์ยาง                      32.0     42.1     56.6     59.7       19.85     31.56     34.44      5.48
เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว  31.9     37.0     44.6     53.2       12.20     15.99     20.54     19.28
ผ้าผืน                           55.8     37.2     47.3     51.7       50.17    -33.33      27.15     9.30
สินค้าปศุสัตว์                       1.2      0.2     33.7     45.6      -47.87    -83.33  16,750.00    35.31
อื่นๆ                           646.7    705.1    967.6    708.0          -       9.03      37.23   -26.83
   รวมทั้งสิ้น                  1,235.5  1,355.4  2,040.1  1,580.6       34.26      9.70      50.52   -22.52
ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากศุลกากร
การนำเข้า

ไทยนำเข้าจากกัมพูชา มูลค่า 77.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 13.86 เมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งมีมูลค่า 90.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง พริก และเม็ดมะม่วงหิมพานต์) ผัก/ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก/ผลไม้ สินแร่โลหะ เศษโลหะ และผลิตภัณฑ์เหล็ก เ หล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เนื้อสัตว์สำหรับบริโภค แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ และกาแฟ ชา และเครื่องเทศ

                                  สินค้านำเข้าของไทยจากกัมพูชา
รายการ                             มูลค่า : ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ                        อัตราการขยายตัว %
                                2549       2550      2551      2552      2549      2550      2551      2552
พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช                7.6        15.1      39.3      30.0    -15.56     98.68    160.26     -23.66
ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งจากผัก ผลไม้   0.1         1.0       3.6      17.2     76.18    900.00    260.00     377.78
สินแร่โลหะ เศษโลหะ และผลิตภัณฑ์      5.0         5.5      16.9       9.5    725.95     10.00    207.27     -43.79
เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์          7.2         9.6      15.2       6.6     67.63     33.33     58.33     -56.58
เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ           1.6         2.5       4.0       2.9    166.67     56.25     60.00     -27.50
ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์           0.7         0.6       0.5       2.9    -80.83    -14.29    -16.67     480.00
เสื้อผ้าสำเร็จรูป                    0.9         1.6       1.9       2.3    200.00     77.78     18.75      21.05
เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค             1.7         1.6       1.1       1.0     21.43     -6.25   - 31.25      -9.09
แร่ และผลิตภัณฑ์จากแร่                 -          -        0.4       0.7       -          -         -       75.00
สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์              1.1         0.5       0.8       0.6     12.12    -54.55     60.00     -25.00
อื่นๆ                             8.8        10.8       6.5       4.0       -       22.73    -39.81     -38.46
รวมทั้งสิ้น                        34.7        48.8      90.2      77.7     10.37     40.63     84.84     -13.86
ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากศุลกากร
การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา

ในปี 2552 การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา มีมูลค่า 45,374 ล้านบาท ลดลงจากปี 2551 ที่มีมูลค่า 50,308 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.81 แยกเป็นไทยส่งออก 42,879 ล้านบาท และนำเข้า 2,495 ล้านบาท ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า มูลค่า 40,384 ล้านบาท

สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ น้ำตาล น้ำมันเชื้อเพลิง สุกรมีชีวิต ปูนซีเมนต์ ยางรถยนต์และรถจักรยานยนต์ อาหารสัตว์ น้ำอัดลม เครื่องยนต์เบนซิน/ดีเซล อะไหล่รถจักรยานยนต์ ผ้าผืน และสินค้าอุปโภค-บริโภคทั่วไป ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าผัก/ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก/ผลไม้ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป แร่และผลิตภัณฑ์จากแร่ เนื้อสัตว์สำหรับบริโภค กาแฟ ชา และเครื่องเทศ

                              ตารางแสดงมูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา
รายการ                         มูลค่า : ล้านบาท                         อัตราการขยายตัว %
                     2549       2550      2551      2552       2550       2551      2552
มูลค่าการค้ารวม        34,597    34,930    50,308    45,374       0.96      44.03     -9.81
ส่งออก               33,360    33,283    47,372    42,879      -0.23      42.33     -9.48
นำเข้า                1,237     1,646     2,936     2,495      33.06      78.37    -15.02
ดุลการค้า             32,123    31,637    44,436    40,384      -1.51      40.46     -9.12
ที่มา : กองเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมการค้าต่างประเทศ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร
3. ความเห็นของสำนักงานฯ

ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 การส่งออกของไทยไปกัมพูชามีแนวโน้มดีขึ้น สินค้าที่มีศักยภาพในตลาดกัมพูชา ได้แก่ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว สินค้าเพื่อการเกษตร ยางรถยนต์/รถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ผ้าผืน สินค้าปศุสัตว์ และสินค้าเพื่อการบริโภคประจำวัน ซึ่งทั้งหมดเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันและสินค้าไทยยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดในกัมพูชาได้ประมาณร้อยละ 60 โดยมีคู่แข่งที่สำคัญ คือ จีน และเวียดนาม โดยเฉพาะสินค้าจากเวียดนามที่ได้รับความนิยมมากขึ้นดังจะเห็นได้จากสถิติการค้าระหว่างกัมพูชา-เวียดนามในปี 2552 (ม.ค - ต.ค) มีมูลค่ารวม 1,049 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปี 2551 ซึ่งมีมูลค่า 1,493 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดร้อยละ 29.74 แยกเป็นการนำเข้าจากเวียดนามมูลค่า 892 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และส่งออกไปเวียดนาม มูลค่า 157 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าตลอดปี 2552 การค้ารวมจะลดลงร้อยละ 20

สคต.พนมเปญ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ