พระราชบัญญัติมาตรฐานความปลอดภัยอาหารทะเลนำเข้า (Imported Seafood Safety Standard Act)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 10, 2010 15:04 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความเป็นมา

สินค้าอาหารทะเลที่จำหน่ายและบริโภคในสหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 80 นำเข้าจากต่างประเทศ แต่สหรัฐฯไม่มีกฎหมายหรือมาตรการในการควบคุมดูแลในด้านการตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารทะเลนำเข้า US FDA ทำการตรวจสอบอาหารทะเลนำเข้าของสหรัฐฯ ได้เพียงร้อยละ 2 ของการนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมด ดังนั้น วุฒิสมาชิก David Vitter พรรค Republican แห่งรัฐ Louisiana นำเสนอร่างพระราชบัญญัติมาตรฐานความปลอดภัยอาหารทะเลนำเข้า (Imported Seafood Safety Standard Act : S. 2934) ต่อวุฒิสภาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2553 ที่ผ่านมาจุดประสงค์สำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ต้องการที่จะต่อต้านอาหารทะลนำเข้าที่ไม่ปลอดภัย มีสารเจือปน ไม่มีมาตรฐาน และ เพื่อยกระดับอาหารทะเลนำเข้า เพื่อให้ผู้บริโภคสหรัฐฯ ได้บริโภคอาหารที่ดีและมีคุณภาพ

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติ

1. บังคับให้ผู้ผลิต/ส่งออกในต่างประเทศปฏิบัติตามกฏหมายของ Federal Food, Drug and Cosmetic Act ในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในการส่งสินค้าอาหารทะเลไปยังสหรัฐฯ ผู้ส่งออกในต่างประเทศจะต้องพิสูจน์ได้ว่าสินค้าอาหารทะเลที่ส่งมายังสหรัฐฯมีความปลอดภัยในการบริโภค

2. การเพิ่มการตรวจสอบ/ทดสอบให้เข้มงวดมากขึ้น โดยต้องตรวจสอบสินค้าอาหารทะเลนำเข้าให้ได้อย่างต่ำร้อยละ 20 ในกรณีเป็นสินค้าอาหารทะเลของผู้ส่งออกต่างประเทศรายใหม่เพิ่งส่งสินค้าไปสหรัฐฯ สินค้าต้องได้รับการตรวจสอบ/ทดสอบทุกรายการ (100 เปอร์เซนต์)

3. ห้ามการยักย้ายสลับเปลี่ยนท่าเรือนำเข้า (Port Shopping) ของสินค้าอาหารทะเลที่มีผลทดสอบไม่ผ่าน รวมไปถึง Transshipment และ Mislabeling สินค้าอาหารทะเลของผู้ส่งออกในต่างประเทศ

4. ผู้นำเข้าอาหารทะเล และ ผู้ส่งออกอาหารทะเลในต่างประเทศต้องชำระค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบ/ทดสอบสินค้า ชำระค่าธรรมเนียมในด้าน การตรวจสอบ หนังสือรับรอง ในส่วนที่ ฝ่ายราชการต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ

บทลงโทษ

1. หากสินค้าอาหารทะเลนำเข้าถูกทดสอบแล้ว และผลไม่ผ่านการตรวจสอบ ผู้นำเข้ามีความผิดและจะถูกลงโทษโดยบังคับให้สินค้าอาหารทะเลของผู้นำเข้าต้องได้รับการทดสอบ 100 เปอร์เซนต์ และจะต้องมีผลการทดสอบผ่านจำนวน 15 Shipment ติดต่อกัน จึงจะพ้นความผิด

2. สินค้าอาหารทะเลนำเข้าที่มีผลการทดสอบไม่ผ่าน 3 ครั้งในปีปฏิทิน ผู้ส่งออกสินค้าจะถูกสั่งห้ามส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯเป็นเวลา 1 ปี และเมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว จึงสามารถส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯได้ โดยสินค้าต้องได้รับการตรวจสอบ 100 เปอร์เซนต์

3. หากสหรัฐฯ พบว่า ผู้ส่งออกอาหารทะเลในต่างประเทศมีผลการทดสอบไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยจำนวนบ่อยครั้ง สหรัฐฯ สามารถสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศผู้ส่งออกที่กระทำความผิดบ่อยครั้งได้ มีกำหนดระยะเวลาอย่างต่ำ 1 ปี

4. ผู้นำเข้าที่กระทำผิดในเรื่อง Port Shopping จะมีความผิดตามกฏหมาย US Food Safety Law และเป็นความอาญา ทั้งปรับและจำคุก

ข้อเสนอและคิดเห็น

1. ปัจจุบัน สหรัฐฯ มีกฎหมายบังคับด้านความปลอดภัยสินค้าอาหารซึ่งอยู่ภายใต้ Federal Food, Drug and Cosmetic Act ซึ่งดูแลและกำกับโดย US FDA และกฎหมายได้รับการปรับปรุงใน 2552 ที่ผ่านมา สาระของพรบ.ฉบับใหม่ ควรจะเป็นส่วนนำไปเพิ่มเติม (Amend) เข้าไปในกฎหมายฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะความปลอดภัยของอาหารทะเลแยกออกไปเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นผลให้พรบ.ไม่ได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสภา

2. ร่างพรบ.ฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อต่อต้านการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศเป็นสำคัญและเพื่อยังประโยชน์ให้แก่ชาวประมงกุ้งสหรัฐฯ โดยเฉพาะชาวประมงกุ้งของรัฐหลุยส์เซียน่า ซึ่งได้รับผลเสียหายอย่างสูงจากการขยายตัวของสินค้ากุ้งนำเข้าจากต่างประเทศ พรบ.ฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าการรัฐหลุยส์เซียน่า และ สมาคมประมงกุ้งของรัฐหลุยส์เซียน่า

3. วุฒิสมาชิก Mary Landrieu พรรค Democrat รัฐหลุยส์เซียน่า มีความเห็นว่า ปัญหาของอุตสาหกรรมอาหารทะเลของสหรัฐฯ ต้องได้รับการแก้ปัญหาโดยการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ FDA ในการตรวจสอบอาหารทะเลนำเข้า เพื่อลดจำนวนอาหารทะเลที่ไม่ปลอดภัยและไม่ได้มาตรฐาน ไม่ใช่การออกกฏหมายมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารทะเลนำเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหา

4. หากพรบ.ฉบับนี้มีผลบังคับ จะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลเพิ่มขึ้นทั้งในด้านของผู้นำเข้าและผู้ส่งออกในต่างประเทศ และจะส่งผลให้ราคาสินค้าอาหารทะเลที่จะหน่ายมีราคาสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบในวงกว้าง ทั้งผู้บริโภค ร้านอาหาร และ อุตสาหกรรมต่อเนื่อง (Food Processing) โดยรวมแล้ว น่าจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี มีผู้ได้รับประโยชน์เป็นเพียงคนกลุ่มเดียว แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นผู้บริโภคทั้งประเทศ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ