การติดฉลากสินค้าอาหารเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 10, 2010 15:52 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ญี่ปุ่นมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในการบริโภคอาหาร รวมถึงเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคอย่างเหมาะสมเพื่อประกอบการเลือกซื้อสินค้าของชาวญี่ปุ่น ซึ่งผู้ผลิตอาหารในประเทศต่างให้ความร่วมมือ ในการปฏิบัติตามข้อบังคับเป็นอย่างดี แต่สำหรับสินค้าอาหารที่นำเข้ามาภายใต้กระแสความนิยมอาหารต่างชาติที่ เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะจากแถบเอเชีย พบว่า สินค้าที่นำเข้ามาจำนวนมากไม่ได้ติดฉลากที่เหมาะสมตาม The Law Concerning Standardization and Proper Labeling of Agricultural and Forestry Products (JAS Law) และไม่มีคำอธิบายถึงส่วนประกอบของอาหารเป็นภาษาญี่ปุ่น เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นการเพิ่มภาระและ ต้นทุนการผลิต

จากการตรวจสอบของ Consumer Affairs Agency พบการไม่ติดฉลากที่เหมาะสมตาม JAS Law และไม่มีคำอธิบายเป็นภาษาญี่ปุ่นในสินค้านำเข้าหลายรายการ โดยตัวอย่างสินค้าจากเกาหลีที่ตรวจพบเช่น Binchosan (น้ำส้มสายชู เข้มข้นจากเกาหลีที่มี Acetic Acid กว่าร้อยละ 99 เป็นส่วนประกอบ ซึ่งเกินสัดส่วนที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานของทางการญี่ปุ่นถึง 20 เท่า) รวมถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและสาหร่ายซองชนิดต่างๆ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีซุปก้อนปรุงรสต้มยำกุ้งจากไทยไม่ติดฉลากภาษาญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ในกรณีของ Binchosan ได้ทำให้ผู้บริโภคญี่ปุ่นซึ่งรู้เท่าไม่ถึงการณ์เกิดอาการท้องเสียและระคายเคืองในลำคอ เพราะไม่ได้นำผลิตภัณฑ์ไปผสมน้ำให้เจือจางลงก่อนการรับประทาน

สำนักงานฯ เห็นว่า การศึกษาและปฏิบัติตามข้อบังคับภายใต้ JAS Law จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าอาหารไทยที่สนใจส่งออกสินค้ามายังตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากแม้ว่าญี่ปุ่นจำต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ เป็นจำนวนมากถึงร้อยละ 60 ของการบริโภคในแต่ละปี เพราะผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อการบริโภค แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของญี่ปุ่นก็มิได้ละเลยความปลอดภัยในการบริโภคอาหารของประชาชนแต่อย่างใด ในทางกลับกัน ญี่ปุ่นได้คุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนอย่างเข้มงวดจนถึงขนาดสามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Tracibility) ไปได้จนถึงแหล่งผลิต วิธีการผลิต และส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ เนื่องจาก JAS Law ซึ่งออกโดย Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries ได้กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไว้หลายประการ ประกอบด้วย

1. ให้มีการติดฉลากสินค้าอาหาร (Food Labeling) ในสินค้าทุกรายการอย่างเหมาะสม ดังนี้

อาหารสด

  • พืชผัก ต้องระบุ ชื่อ แหล่งเพาะปลูก ส่วนประกอบทางอาหาร และผู้จัดจำหน่ายและที่อยู่
  • สัตว์น้ำ ต้องระบุ ชื่อ แหล่งเพาะเลี้ยง การผ่านกระบวนการหลังการแช่แข็ง (Thawed) การเพาะเลี้ยง (Cultured) ส่วนประกอบทางอาหาร และผู้จัดจำหน่ายและที่อยู่
  • สัตว์บก ต้องระบุ ชื่อ แหล่งเพาะเลี้ยง ส่วนประกอบทางอาหาร ผู้จัดจำหน่ายและที่อยู่
  • ข้าว (ทั้งที่สีแล้วและยังไม่ได้ผ่านการสี) ต้องระบุ ชื่อ แหล่งผลิต ปีที่เพาะปลูก สัดส่วนของข้าวส่วนประกอบทางอาหาร วันที่สีข้าว (เฉพาะข้าวที่สีแล้ว) และผู้จัดจำหน่ายและที่อยู่

อาหารแปรรูป

  • ทุกชนิด ต้องระบุ ชื่อ วัตถุดิบ แหล่งผลิตวัตถุดิบ ส่วนประกอบทางอาหาร วันหมดอายุ วิธีถนอมอาหารประเทศที่ผลิต และผู้จัดจำหน่ายและที่อยู่

2. กำหนดให้มีการตรวจสอบโดย Food Label G-men ที่ได้รับการมอบหมายโดยทางการนับแต่ปี 2008 รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคร้องเรียนได้ทาง Food Labeling Emergency Call 110 รวมถึงเป็น Food Product Watchers ได้อีกด้วย

3. จัดทำ Logo Mark เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในความปลอดภัยของอาหาร ดังนี้
  • JAS Mark สำหรับสินค้าอาหารที่ได้มาตรฐานทั่วไปของ JAS ในด้านคุณภาพ (รวมถึงสี กลิ่นวัตถุดิบ และส่วนประกอบ
  • Specific JAS Mark สำหรับสินค้าอาหารที่ได้มาตรฐานพิเศษของ JAS เช่น แหล่งผลิตและการแปรรูปอาหารที่พิเศษ รวมถึงคุณภาพที่สูงกว่าสินค้าชนิดเดียวกันทั่วไป
  • Organic JAS Mark สำหรับสินค้าอาหารที่ได้มาตรฐาน Organic JAS เช่น การเพาะปลูกโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี
  • Production Information Disclosed JAS Mark สำหรับสินค้าเนื้อวัว/หมู และอื่นๆ ที่ข้อมูลการผลิต เช่น ชื่อและที่อยู่ของผู้เพาะเลี้ยง ที่ตั้งของฟาร์ม อาหารสัตว์ที่ใช้ และการใช้ยากับสัตว์ที่เลี้ยง ได้รับการเปิดเผย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ