“ข้าวไทย” มีแนวโน้มเติบโตสูงในตลาดสแกนดิเนเวีย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 12, 2010 11:42 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในปี 2552 ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยมีมูลค่าถึง 29.153 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตลาดแถบนี้จะมีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง ประกอบกับอาหารไทยเป็นที่นิยมในตลาดแถบนี้เพิ่มมากขึ้น

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก ในฐานะ Chief of Product ดูแลสินค้าอาหารและข้าว เผยว่า ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียเป็นตลาดที่น่าสนใจในการขยายผลิตภัณฑ์เกษตร โดยเฉพาะข้าว เพราะประเทศในแถบนี้ไม่ใช่ผู้ผลิตข้าว จึงต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพื่อการบริโภคทั้งหมด โดยมีทั้งการนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวโดยตรง เช่น ไทย ปากีสถาน อินเดีย สหรัฐฯ จีน และเวียดนาม เป็นต้น และนำเข้าผ่านประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปหรือประเทศใกล้เคียงอีกทอดหนึ่ง เช่น เบลเยี่ยม เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สเปน และฝรั่งเศส เป็นต้น

“ข้าวที่นำเข้าไปยังตลาดประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียส่วนใหญ่จะใช้ในการบริโภคสำหรับประชาชนทั่วไปเฉลี่ย ประมาณ 141,000 ตัน มูลค่าประมาณ 187 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีอัตราการบริโภคเฉลี่ยต่อคนต่อปีประมาณ 5.73 กิโลกรัม โดยผ่านช่องทางการจัดจำหน่าย ผ่านทางซุบเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ เช่น Dansk Supermarked Gruppen ในประเทศเดนมาร์ก ICA AB ในประเทศสวีเดน Kesko Food ในประเทศฟินแลนด์ COOP Norge AS ในประเทศนอร์เวย์ และ Hagar ในประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งในปี 2552 ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยมีมูลค่าถึง 29.153 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตลาดแถบนี้จะมีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง ประกอบกับอาหารไทยเป็นที่นิยมในตลาดแถบนี้อย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารชาติอื่นๆ เช่น อาหารจีน อาหารญี่ปุ่น และอาหารเวียดนาม นอกจากนี้ ร้านอาหารจีนบางร้านก็นิยมใช้ข้าวไทยในการประกอบอาหาร จึงเป็นโอกาสดีในการขยายการส่งออกข้าวไทยไปยังตลาดแถบนี้ ในด้านการนำเข้าข้าวจากประเทศคู่แข่งขันของไทย ได้แก่ อินเดีย และปากีสถาน กำลังมีแนวโน้มลดลง” นางศรีรัตน์ กล่าวเพิ่มเติม

การนำเข้าข้าวในตลาดสแกนดิเนเวียจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบการนำเข้าของสหภาพยุโรป ซึ่งสหภาพยุโรปมีการกำหนดโควต้าภาษีนำเข้าข้าวสำหรับประเทศไทยไว้ คือ ข้าวขาวปีละ 26,968 ตัน (แบ่งเป็น 2 จำนวน คือ 21,455 ตัน และ 5,513 ตัน) และข้าวหักปีละ 52,000 ตัน ทั้งนี้ ได้แบ่งการขอหนังสืออนุญาตนำเข้า เป็นงวดๆ แยกตามประเภทของข้าวและการบริหารโควต้าตามระเบียบของสหภาพยุโรปไว้ หากมีการนำเข้าเกินกว่าโควต้าภาษีที่กำหนดไว้ก็จะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติที่สหภาพยุโรปกำหนด สำหรับประเทศนอร์เวย์ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป การนำเข้าข้าวจากไทยไม่ต้องเสียภาษีการนำเข้า

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ