ข้อมูลตลาดสินค้าอาหารฮาลาลของประเทศตะวันออกกลาง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 12, 2010 16:56 —กรมส่งเสริมการส่งออก

บทนำ

ฮาลาล (Halal) นั้นหมายถึงการอนุญาต หรืออาหารที่มุสลิมได้รับอนุญาตให้บริโภคได้ ซึ่งจะหมายถึงอาหารเนื้อสัตว์และประกอบด้วยเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม และถูกต้องตรงกับหลักโภชนาการ คือ สะอาด ถูกหลักอนามัย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

การผลิตอาหารฮาลาลเพื่อจำหน่ายในตลาดโลกมุสลิมสามารถสร้างรายได้จำนวนมากแก่ประเทศผู้ส่งออก มูลค่าการค้าอาหารฮาลาลจะสูงถึงประมาณ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2011 (ข้อมูลจาก : World Islamic Economic Forum WIFE) สำหรับตลาดส่งออกอาหารฮาลาลของไทยก็คือ กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต เป็นต้น ประเทศเหล่านี้มีมุสลิมอยู่หนาแน่นและมีกำลังซื้อสูง นอกจากนี้ยังมีมุสลิมกลุ่มใหญ่อาศัยในประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา ดังนั้นอาหรฮาลาลจึงมีแนวโน้มที่จะสามารถขยายตลาดได้อีกมาก

กฎระเบียบการนำเข้าอาหารและหน่วยงานที่รับผิดชอบ

เอกสารสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลที่ใช้ในการส่งออกไปยูเออี นอกจากเอกสารประกอบการนำเข้าทั่วไปแล้ว จะต้องมีเอกสารรับรองผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล (Halal Certificate) ซึ่งออกให้โดยองค์กรทางศาสนาอิสลามของประเทศผู้ส่งออก ในประเทศไทยคือสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย The Central Islamic Committee of Thailand (CICOT) ที่ได้รับอนุมัติรับรองตราฮาลาลของไทยและยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศยูเออี เนื่องจากการตรวจรับรองของยูเออีนี้ เป็นการตรวจรับรองตามมาตรฐานของประเทศกลุ่มอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council : GCC) ซึ่งมีข้อตกลงร่วมกันว่า หากประเทศใดผ่านการตรวจรับรองจากประเทศสมาชิกใดสมาชิกหนึ่งแล้ว ให้ถือว่าสามารถส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่มได้ CICOT จะเป็นผู้ตรวจสอบและออกใบรับรองผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล (Halal Certificate) จากประเทศไทย

ประเทศในกลุ่ม GCC ได้แก่ ประเทศซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต โอมาน บาห์เรน และกาตาร์ เป็นกลุ่มประเทศที่มีอำนาจการซื้อสูง ใช้กฎระเบียบและมาตรฐานสินค้าร่วมกัน ทั้งนี้ได้ร่วมกันตั้งสำนักงานมาตรฐานและ ชั่ง ตวง วัด สำหรับกลุ่มประเทศ GCC ที่เรียกว่า Standardization & Metrology Organization for G.C.C. —GSMO มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย ทำหน้าที่ออกกฎระเบียบ กำกับดูแล และเผยแพร่มาตรฐานสินค้าของประเทศในกลุ่ม GCC ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ได้รับความปลอดภัย และได้รับความเป็นธรรม

ในส่วนของการนำเข้าสินค้าอาหาร จะใช้มาตรฐานของ CODEX และ OIE มาตราฐานอาหารและกฎระเบียบการนำเข้าอาหารของกลุ่มฯ หรือ Gulf Standard (GS) แต่ในความเป็นจริงประเทศสมาชิกไม่ปฏิบัติตามเท่าใดนัก แต่ละประเทศก็จะตั้งกฎการนำเข้าอาหารของตัวเองภายใต้กรอบ GS

สินค้าอาหารฮาลาลที่ประเทศยูเออีนำเข้ามีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องดังนี้

1) UAE Standard No.993/1993 เกี่ยวกับการเชือดสัตว์สำหรับเป็นอาหารตามบัญญัติศาสนาอิสลาม (Islamic Law)

2) UAE General Secretariat of Municipalities (GSM) Decision No. 8/52/2000, วันที่ 09/02/2000 — การเชือดที่ถูกต้อง “ฮาลาล” ตามบทบัญญัติ

3) UAE Ministry of Environment and Water, Ministerial Order No. 556 /2009 - กฎกระทรวงฯกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าสินค้าประเภทสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ปรุงสุกจากประเทศที่เกิดโรคระบาดไข้หวัดนก Avian Influenza

ปัจจุบันมาตราฐานฮาลาลมีทั้งสิ้นประมาณ 50 มาตราฐาน จาก 20 ประเทศทั่วโลก หน่วยงานสำคัญๆที่ตั้งขึ้นเพื่อวางมาตรฐานฮาลาลให้เป็นสากลและยอมรับ เช่น Organization of the Islamic Conference (OIC) มีสมาชิก 57 ประเทศ (รายชื่อตามแนบ) และประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นหนึ่งในสมาชิกของ OIC

องค์การ Food and Agriculture Organization (FAO) กำหนดมาตราฐานสากลของอาหารฮาลาลโดย Codex Alimentations Commission สำหรับแนะนำในการใช้คำ "ฮาลาล" (Halal) บนฉลากอาหาร และ Codex ได้จัดทำ (GENERAL GUIDELINES FOR USE OF THE TERM HALAL) ตั้งแต่ปี 2540 เพื่อให้ประเทศต่างๆมีความเข้าใจตรงกันและมีการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ทั้งทางด้านแหล่งที่มาของอาหาร วิธีการฆ่าสัตว์ การเตรียมอาหาร การแปรรูปอาหาร การบรรจุหีบห่อ การขนส่งและการเก็บรักษาอาหารอีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการค้ากับประเทศมุลลิม

เอกสารการนำเข้าอาหาร

กฎระเบียบการส่งสินค้าอาหารฮาลาลไปประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศในกลุ่ม GCC. ที่ผู้ส่งออกจะต้องศึกษาและปฏิบัติตาม มีดังนี้ เอกสารที่ใช้ในการส่งออก : B/L หรือ Airway Bill, Invoice, Packing List, Health Certificate, Halal Certificate

ป้ายฉลาก (Labelling) : สินค้าอาหารจะต้องติดป้ายฉลากเป็นภาษาอังกฤษ กำกับด้วยภาษาอาระบิก บนหีบห่อที่บรรจุอาหารทุกรายการ และป้ายฉลากนั้นจะต้องติดแน่น มีข้อความอ่านง่าย ชัดเจน ต้องระบุชนิดของไขมัน เอ็นไซม์ของเนื้อสัตว์ เจลาติน ถ้ามีส่วนผสมของวัตถุดิบเหล่านี้

ข้อความบนป้ายฉลากจะต้องประกอบด้วยข้อมูล ดังต่อไปนี้

  • ตราเครื่องหมายของสินค้า (Brand name)
  • ชื่อของสินค้า
  • ส่วนผสมของวัตถุดิบ ตามลำดับจำนวนมากไปน้อย
  • จำนวนสุทธิตามน้ำหนัก หรือ ปริมาณ
  • แหล่งกำเนิด (Country of Origin)
  • วันที่ ผลิต และวันหมดอายุ ของสินค้า
  • ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต
  • ชื่อ หรือ E No. ของวัตถุกันเสีย (ถ้ามี)
  • การเก็บรักษา (ถ้าสมควรแนะนำ)
  • วิธีการปรุง (ถ้าสมควรแนะนำ)
หมายเหตุ: ไม่อนุญาตให้มีแอลกอฮอล์ เป็นส่วนผสมของอาหาร
  • วันที่ที่ระบุบนป้ายฉลาก
สินค้าทุกรายการต้องระบุวันที่ผลิต และวันหมดอายุ เป็นตัวพิมพ์ หรือตัวนูน ไม่หลุดลอกง่าย โดย
  • ถ้าสินค้าอาหารมี Shelf life น้อยกว่า 6 เดือน ต้องระบุทั้ง วัน เดือน ปี ที่ผลิต และหมดอายุ
  • ถ้าสินค้าอาหารมี Shelf life เกินกว่า 6 เดือนสามารถระบุเฉพาะ เดือนและปี ที่ผลิตและช่วงเวลาหมดอายุ เท่านั้น

สินค้าอาหารที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้ว เห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะบริโภค (Unfit for Human Consumption) จะต้องถูกสั่งให้ทำลาย หรือส่งกลับประเทศต้นทาง แม้ว่าสินค้าอาหารนั้นเหมาะสมที่จะบริโภคได้ แต่การปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎระเบียบเกี่ยวกับป้ายฉลาก สินค้านั้นจะถูกสั่งห้ามนำเข้า และถูกทำลาย หรือส่งกลับประเทศต้นทาง หรือส่งออกต่อไปยังประเทศที่สาม (ที่ไม่ใช่กลุ่มประเทศ GCC.)

ขั้นตอนการตรวจปล่อยสินค้า

สินค้าอาหารที่ส่งถึงท่าเรือ หรือท่าอากาศยาน จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบโดยไม่มีข้อยกเว้น ดังนี้

  • สินค้าอาหารสำหรับเด็ก และน้ำมันปรุงอาหาร จะต้องเก็บตัวอย่างไปตรวจพิสูจน์ตรวจสอบคุณภาพในห้องทดลอง โดยปกติจะทราบผลภายใน 5 วัน
  • สินค้าอาหารอื่น ๆ จะถูกสุ่มตรวจตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า ตราสินค้า และประเทศต้นทาง ถ้าเห็นว่าเป็นสินค้าที่เหมาะสมในการบริโภค และเอกสารต่างๆ ถูกต้องครบถ้วน ก็จะอนุญาตให้ปล่อยสินค้านั้นได้ โดยปกติขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณไม่เกิน 1 ชั่วโมงอย่างไรก็ตาม แม้ว่าสินค้าอาหารจะได้รับการตรวจปล่อยจากด่านศุลกากรแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจจะสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าบนชั้นจำหน่ายของร้านค้า นำไปตรวจสอบเพิ่มเติมอีกก็ได้ ถ้าการตรวจสอบพบว่าไม่เหมาะสมต่อการบริโภค ก็จะสั่งให้ถอนสินค้าออกจากชั้นวางจำหน่ายด้วย
  • เนื้อสัตว์ที่นำเข้าจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของ Bluetongue, เชื้อไวรัส H1N1 และ H1N5 จะต้องมีเอกสารจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ Office International des Epizooties :OIE รับรองว่าประเทศนั้นปลอดจากการแพร่ระบาด สามารถควบคุมการแพร่ระบาด มีการป้องการและเฝ้าระวังการแพร่เชื้อตามมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ เพื่อขอรับการอนุญาตการนำเข้าจาก Ministry Of Environment & Water

Abu Dhabi Office

P.O.Box: 213, Abu Dhabi UAE

Telephone: 9712- 4495111 Fax: 9712- 4495154

Dubai Office

P.O.Box: 1509

Telephone: 04 2958333 Fax: 04 2959563

Email: minister@moew.gov.ae http://www.moew.gov.ae/En/Pages/default.aspx

การนำเข้าอาหารปกติทั่วไปจะอนุญาตการนำเข้าและตรวจปล่อยสินค้าในรัฐดูไบ ได้แก่ เทศบาลเมืองดูไบ ตามชื่อและที่อยู่ ดังนี้

Food Control Section

Public Health Department,Dubai Municipality

P.O. Box 67, Dubai, U.A.E.

Tel. (9714) 2285379 Fax. (9714) 2221513

Email: info@dm.gov.ae Website: http://www.dm.gov.ae

วิถีการจำหน่าย

สินค้าอาหารที่ประเทศในกลุ่ม GCC นำเข้า ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าโดยผู้นำเข้าที่เป็นผู้ค้าส่ง แล้วจำหน่ายไปยังร้านจำหน่ายปลีก ซุเปอร์มาร์เก็ต ร้านสหกรณ์ โรงแรมต่างๆ และส่งออกต่อไปประเทศใกล้เคียง ในส่วนของซุเปอร์มาร์เก็ตและร้านสหกรณ์ จะนำเข้าสินค้าอาหารโดยตรงส่วนหนึ่ง ที่เหลือจะวางสินค้า Competing Brand จากผู้นำเข้าของท้องถิ่น ผู้นำเข้าสินค้าอาหารนอกจากจำหน่ายในประเทศแล้ว ยังส่งออกต่อไปประเทศใกล้เคียงด้วย ดูไบจัดเป็นตลาดสำคัญที่ส่งออกสินค้าอาหารต่อไปยังกลุ่มประเทศ GCC และประเทศอาหรับต่างๆ แต่ละปีรัฐดูไบนำเข้าสินค้าอาหารหลากหลายชนิด จากทั่วทุกมุมโลก นับได้ว่าดูไบเป็นตลาดกลางของสินค้าอาหารหลากหลายชนิด ทั้งที่ผลิตในภูมิภาคตะวันออกกลาง จากยุโรป อเมริกาเหนือและใต้ จากเอเซีย และแอฟริกา ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่มีข้อจำกัดด้านขนาดของตลาด ทำให้การนำเข้าเองโดยตรงมีต้นทุนสูงกว่าที่นำเข้าผ่านรัฐดูไบ รัฐดูไบก็อยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสำหรับการติดต่อกับประเทศใกล้เคียงต่างๆ กอปรกับมีสิ่งอำนวยความสะดวก และสาธารณูปโภคอย่างพร้อมเพรียงและทันสมัย จึงทำให้รัฐดูไบครองความเป็นผู้นำในการกระจายสินค้า และธุรกิจการส่งออกต่อในตะวันออกกลางได้ตลอดมา

การแข่งขัน

ประเทศไทยมีชื่อเสียงว่า เป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าอาหารรายใหญ่ สินค้าอาหารที่ประเทศไทยส่งออกมีความหลากหลาย และมีคุณภาพเป็นที่เชื่อถือยอมรับของผู้นำเข้า ผู้ซื้อ และผู้บริโภค สินค้าอาหารของไทยครองความเป็นผู้นำในตลาดประเทศตะวันออกกลางหลายรายการ เช่น สินค้าอาหารทะเลกระป๋อง ข้าว เป็นต้น นอกจากนี้ สินค้าประเภทผลไม้สดของไทยหลายชนิด ได้รับความนิยมสูงกว่าและขายได้ราคาสูงกว่าสินค้าจากประเทศคู่แข่งขันรายอื่น อย่างไรก็ตาม ตลาดสินค้าอาหารในประเทศยูเออี และประเทศในกลุ่ม GCC โดยภาพรวม เป็นตลาดสินค้าที่มีการแข่งขันสูง ทั้งจากสินค้าที่นำเข้า และสินค้าที่ผลิตภายนประเทศ ผู้ขายแต่ละช่วงตั้งราคาส่วนต่าง (mark-up) ได้ไม่มาก โดยเฉพาะตลาดในรัฐดูไบ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกต่อ มีผู้นำเข้าที่เป็นผู้ส่งออกต่อสินค้าชนิดเดียวกันหลายราย ราคาซื้อและราคาจำหน่ายจึงมีการแข่งขันกันสูง ทำให้ระดับราคาสินค้าชนิดเดียวกันไม่แตกต่างกันมาก เว้นแต่สินค้าที่มีเฉพาะในช่วงฤดูกาล และมีปริมาณการนำเข้าจำกัด เช่น สินค้าผลไม้บางชนิดที่ฤดูกาลให้ผลผลิตไม่ตรงกัน ก็สามารถจะตั้งราคาสูงกว่าปกติได้

ข้อคิดเห็น

1. สินค้าอาหารของไทยที่ส่งออกไปตลาดภูมิภาคตะวันออกกลาง สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร และอาหารทะเลซึ่งไม่จำเป็นต้องมีตราฮาลาล สินค้าอาหารฮาลาลที่ส่งออกยังมีมูลค่าน้อยมาก เช่นสินค้าไก่และผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่ ดังนั้นอาหารผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่ของไทย น่าจะเป็นสินค้าที่มีศักยภาพขยายตลาดได้ดี โดยเฉพาะสินค้าอาหารพร้อมรับประทานทั้งในรูปแช่แข็ง และบรรจุกระป๋อง หากได้รับการส่งเสริมการตลาดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เช่น การจัดให้มีการสาธิตและเชิญชวนผู้ซื้อให้ทดลองชิมในซุเปอร์มาร์เก็ต และการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ตามที่กล่าวแล้ว ทั้งนี้จะต้องรีบดำเนินการยื่นรายละเอียดตามข้อกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าสินค้าประเภทสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ปรุงสุกจากประเทศที่เกิดโรคระบาดไข้หวัดนก Avian Influenza ตาม Decree 556 แก่กระทรวงสิ่งวดล้อมและน้ำ

2. เครื่องหมายมาตรฐานฮาลาล (HALAL) ของประเทศไทยได้รับการรับรองจากรัฐบาลยูเออีภายหลังจากที่คณะของเลขาธิการสภาเทศบาลยูเออีและคณะ เดินทางตรวจเยี่ยม และให้การรับรองระบบการตรวจสอบมาตรฐานอาหารฮาลาล เมื่อเดือนมิถุนายน 2550 รวมทั้งประกาศให้โรงงานที่ขึ้นบัญชีสามารถส่งออกไก่ปรุงสุกที่มีตราฮาลาลรับรองจากกรรมกลางอิสลามให้สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ปรุงสุกไปยังยูเออีและประเทศในกลุ่มอ่าวอาหรับได้

3. หลังจากรัฐบาลยูเออีได้มอบหมายให้ Ministry of Environment & Water เป็นผู้รับผิดชอบออกระเบียบและกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ได้ระงับการนำเข้าไก่ปรุงสุกจากไทย โดยให้เหตุผลว่าไทยยังไม่ถูกปลดจากรายชื่อของ OIE เพราะยังมีการแพร่ระบาดไข้หวัดนก อีกทั้งได้แก้ไขระเบียบการนำเข้าเนื้อสัตว์ ปรับปรุงรายชื่อโรงงานฆ่าสัตว์ที่ได้รับเครื่องหมายรับรองฮาลาล รวมทั้งของไทยที่ขึ้นบัญชีไว้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กรมปศุสัตว์) และสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ ได้พยายามติดต่อดำเนินการผลักดันเพื่อปลดชื่อประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศที่มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก

4. อย่างไรก็ตาม ยังมีความเข้าใจแตกต่างกันเกี่ยวกับอาหารฮาลาล ทั้งกับผู้ผลิตผู้ส่งออก องค์กรที่เกี่ยวข้อง และผู้บริโภค ว่าสินค้าอาหารใดเป็นอาหารฮาลาล หรืออาหารไม่ฮาลาล และได้เคยเกิดเป็นข้อโต้แย้งและร้องเรียนของผู้บริโภคในตลาดประเทศยูเออีมาแล้วว่า สินค้าอาหารที่ไม่อยู่ในข่ายต้องฮาลาล แต่มีตราเครื่องหมายฮาลาลอยู่บนป้ายฉลาก ทำให้ผู้บริโภคในกลุ่มที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์เกิดการสับสนว่า สินค้านั้นมีส่วนผสมของเนื้อสัตว์หรือไม่ และลังเลหรือไม่กล้าที่จะซื้อไปบริโภค กรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าว มีประเด็นที่น่าจะพิจารณาว่า สินค้าอาหารที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ ควรจะติดตราเครื่องหมายฮาลาลหรือไม่ เป็นอาหารฮาลาลหรือไม่ฮาลาล ยังมีความเข้าใจแตกต่างกันอยู่ในแต่ละพื้นที่และภูมิภาค ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง กรมส่งเสริมการส่งออกจึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาหารฮาลาลและการติดตราสินค้าฮาลาล เดินทางมาบรรยายให้ความรู้แก่ผู้ส่งออกไทย โดยในปี 2553 กำหนดจัด 2 ครั้งคือ ช่วงงานแสดงสินค้า Thaifex (พฤษภาคม) และช่วงเดือนตุลาคม

5. ประเทศอาหรับในภูมิภาคตะวันออกกลาง จำกัดและเข้มงวดอาหารฮาลาลเฉพาะอาหารที่ปรุงและมีส่วนผสมของเนื้อสัตว์เท่านั้นว่าเป็นนื้อสัตว์ต้องห้ามหรือเนื้อสัตว์ที่ผ่านการเชือดแบบฮาลาล โดยมี Halal Certificate รับรอง หากถูกต้องไม่มีข้อสงสัยเจ้าหน้าที่ก็จะอนุญาตให้นำออกจำหน่ายแก่ผู้บริโภคได้แต่ในบางประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศอาเซียน ซี่งรวมถึงประเทศไทย กำหนดให้สินค้าอาหารฮาลาลครอบคลุมถึงสินค้าอาหารทุกชนิด นอกจากจะเข้มงวดการตรวจสอบด้านเนื้อสัตว์ดังกล่าวแล้ว ยังรวมถึงขั้นตอนการผลิต ความสะอาดของส่วนผสมของอาหารที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ด้วย

6. ประเด็นการติดหรือไม่ติดตราเครื่องหมายฮาลาล จึงมีทั้งผลดีและผลเสียในบางตลาดและบางภูมิภาค สินค้าที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ ไม่มีข้อโต้แย้ง เพราะต้องเป็นสินค้าอาหารฮาลาลเท่านั้น จึงจะจำหน่ายในประเทศทีมีผู้บริโภคเป็นมุสลิมได้ แต่สินค้าที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ จะต้องติดตราเครื่องหมายฮาลาลหรือไม่ เพราะถ้าไม่ติดตราฮาลาลก็ส่งไปจำหน่ายในประเทศภูมิภาคตะวันออกกลางได้ แต่ในภูมิภาคอาเซียนอาจจะจำหน่ายได้น้อยลง แต่การติดตราฮาลาลก็มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง และอาจจะทำให้เกิดการสับสนของผู้บริโภคที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ได้เช่นกัน

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองดูไบ

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ