ข้อมูลข้าวของประเทศแคนาดา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 15, 2010 15:49 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. นโยบายข้าวของแคนาดา

แคนาดามีอากาศที่หนาวเย็น บางพื้นที่มีหิมะปกคลุมตลอดปี ทำให้มีพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกข้าวค่อนข้างจำกัด และผลผลิตข้าวภายในประเทศมีปริมาณน้อยไม่เพียงพอสำหรับการบริโภค แคนาดาจึงจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าข้าวจากทั่วโลก ซึ่งเป็นการนำเข้าโดยภาคเอกชนเท่านั้น ภาครัฐไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องของเก็บสต็อกสินค้าข้าวในประเทศ และไม่มีนโยบายการควบคุมหรือจำกัดการผลิตและการนำเข้า นอกจากนี้ประชากรของประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก

2. สถานการณ์ข้าวในประเทศ

สินค้าข้าวที่บริโภคในแคนาดาเกือบทั้งหมดนำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ไทย อินเดีย ปากีสถาน อิตาลี เป็นหลัก โดยในปี 2551 มีมูลค่าการนำเข้า 270.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสูงถึง 56.10% จาก ในปี 2550 ที่มีมูลค่า 172.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กลุ่มผู้บริโภคข้าวเป็นหลักในแคนาดา ได้แก่กลุ่มผู้บริโภคชาวเอเชีย และชาวตะวันตกในเมืองสำคัญๆ ของประเทศ โดยกลุ่มผู้บริโภคข้าวที่ใหญ่ที่สุดในแคนาดา คือ จีน รองลงมาได้แก่ผู้บริโภคจากกลุ่มประเทศเอเชียใต้ แนวโน้มการบริโภคข้าวในแคนาดาเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการหลั่งไหลของชาวเอเซียที่ย้ายถิ่นฐานมายังแคนาดาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายเปิดรับคนต่างชาติของแคนาดา ( Immigration Policy) และมุมมองของชาวแคนาดาที่มีต่อสินค้าข้าวว่าเป็นสินค้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดี เมื่อเปรียบเทียบกับ ขนมปัง พาสต้า (ที่ผลิตจากข้าวสาลี) ฯลฯ

3. การผลิต

ประเทศแคนาดามีการผลิตข้าวน้อยมาก โดยข้าวที่ผลิตได้เป็นพันธุ์ที่เรียกว่า Wild Rice ซึ่งถือกันว่าเป็นอาหารชนิดพิเศษที่มีราคาแพง มีไฟเบอร์สูง และปลูกได้ในประเทศเมืองหนาวเท่านั้น ทั้งนี้ มีปริมาณการผลิตปีละ 1.5 - 2 พันตัน นอกจากนี้ ยังมีข้าวสาลีที่แคนาดาสามารถผลิตได้ปีละประมาณ 13.3 ล้านตัน ข้าวหอมมะลิ หรือข้าวขาวชนิดอื่นๆ ม่สามารถเพาะปลูกได้ในแคนาดา

4. การบริโภค
4.1 ประเภทของข้าวที่บริโภคในประเทศ แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่
  • ข้าวหอมมะลิ (Hom Mali Rice) ที่มีเมล็ดความยาวระดับกลาง มีกลิ่นหอม ที่มีกลุ่มผู้บริโภคหลักได้แก่ ชาวแคนาดาเชื้อสายเอเซีย จีน ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา ฯลฯ
  • ข้าวนึ่ง (Parboiled Rice) ข้าวขาวที่ได้ผ่านกระบวนการทำข้าวนึ่งและขัดเอารำออกแล้ว ที่ง่ายสะดวกในการปรุงอาหาร ที่มีกลุ่มผู้บริโภคหลักได้แก่ ชาวแคนาดาคอเคเซียนผิวขาว (Caucasian) ที่เป็นตลาดหลักในแคนาดา (Mainstream Market)
  • ข้าวขาวสั้น (Short Grain Rice) ที่มีลักษณะเหมือนข้าวเหนียว ที่มีเมล็ดสั้นและใช้ตะเกียบในการบริโภค โดยกลุ่มบริโภคได้แก่ชาวเอเซียเชื้อสาย ญี่ปุ่น เกาหลี
  • ข้าวขาว (Long Grain Rice) ที่มีลักษณะคล้ายข้าวหอมมะลิ แต่ไม่มีกลิ่นหอม ที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐฯ ที่มีกลุ่มผู้บริโภคหลักได้แก่ชาวแคนาดาเชื้อสายเอเซีย
  • ข้าวบาสมาติ (Basmati Rice) มีลักษณะขาว ยาว และร่วน ที่มีกลุ่มผู้บริโภคหลักได้แก่ ชาวแคนาดาเชื้อสาย เอเซียใต้ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ฯลฯ
  • ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ข้าวธัญพืช ข้าวอินทรีย์ โดยเป็นข้าวประเภทที่มีคุณค่าทางโภชนาการราคาสูง โดยกลุ่มผู้บริโภคหลักได้แก่ชาวแคนาดาผิวขาว รวมถึงกลุ่มผู้มีรายได้สูง ที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพ

4.2 ปริมาณการบริโภค แคนาดามีประชากรรวม 33 ล้านคน (กุมภาพันธ์ 2553) บริโภคข้าวในปี 2551 ประมาณ 374,481 กิโลกรัม (สามแสนสี่หมื่นสี่พันสี่ร้อยแปดสิบเอ็ดกิโลกรัม) หรือประมาณ 11.23 กิโลกรัมต่อคน

           ปี           กิโลกรัม/คน       ปริมาณรวม (กิโลกรัม)
          2551           11.23           374,481,000
          2550           10.55           347,677,000
          2549           10.51           342,486,000
          ที่มา: http://www40.statcan.gc.ca/l01/cst01/demo02a-eng.htm
4.3 รสนิยมในการบริโภค แบ่งตามกลุ่มผู้บริโภคหลัก 2 ดังนี้

1) กลุ่มผู้บริโภคชาวแคนาดาเชื้อสายเอเชียและชาวเอเซีย

เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้มีอัตราการบริโภคต่อคนค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงนิยมซื้อข้าวหอมมะลิที่บรรจุถุงขนาดใหญ่ คือขนาด 18 ปอนด์ (8.17 กิโลกรัม), 20 ปอนด์ (9.07 กิโลกรัม) , 40 ปอนด์ (18.18 กิโลกรัม) และ ข้าวเหนียว ข้าวซ้อมมือ ขนาด 4.40 ปอนด์ (2 กิโลกรัม) บรรจุในถุงพลาสติกหรือกระสอบป่าน ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเน้นถึงคุณภาพและราคาเป็นหลัก โดยข้าวหอมมะลิของไทยจัดได้ว่าเป็นข้าวยอดนิยม เป็นสุดยอดของข้าวที่ดีและมีความนุ่มนวล หอมหวนผู้บริโภคจะสังเกตคำว่า Jasmine Rice, Thailand เป็นหลัก โดยเครื่องหมายการค้าจะเป็นลำดับรองและเปรียบเทียบราคาในแต่ละยี่ห้อเป็นปัจจัยสำคัญ

เกณฑ์การพิจารณาคุณภาพข้าวของผู้ซื้อกลุ่มนี้ จะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้

  • ผู้บริโภคชาวเอเซียจะชอบข้าวขาว 100% มากกว่าข้าวที่ปนข้าวพันธุ์อื่นๆ หรือมีส่วนปนน้อยที่สุด
  • คุณภาพของข้าวต้องไม่มีสิ่งอื่นเจือปน ได้แก่ แมลง หญ้าเมล็ดพืช ข้าวเปลือก ฝุ่นสกปรกและกรวดหิน
  • เมล็ดข้าวมีขนาดยาว รูปทรงสม่ำเสมอแบบเดียวกัน ไม่แตกหัก
  • ข้าวหอมมะลิจะต้องมีกลิ่นหอมที่สามารถทดสอบได้ มีกลิ่นที่แตกต่างจากข้าวธรรมดา

2) กลุ่มผู้บริโภคชาวแคนาดาเชื้อสายคอเคเซียน (Mainstream Market)

กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ ได้แก่กลุ่มชาวแคนาดาผิวขาว ชาวตะวันตกผิวขาวซึ่งเป็นกลุ่มชนส่วนใหญ่และตลาดค่อนข้างใหญ่ กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ชอบข้าวชนิด Long grain ขนาดบรรจุไม่ใหญ่นักประมาณ 350 กรัม — 2 กิโลกรัม เป็นขนาดที่เหมาะสมที่สุด พฤติกรรมผู้บริโภคในกลุ่มนี้ จะเน้นถึงสุขภาพเป็นสำคัญ จึงบริโภคข้าวแบบต่างๆ เช่นข้าวเมล็ดยาว ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวป่า (wild rice) ไม่นิยมที่จะบริโภคข้าวเปล่าๆ แต่มักจะผสมรสชาติอื่นๆ ได้แก่ เนยและซอสปรุงรส ต่างๆ ชาวคอเคเซียนหรือกลุ่มชนผิวขาวมีพฤติกรรมต้องการความรวดเร็วและทันสมัย จึงชอบอาหารที่เตรียมแบบง่ายๆ และรวดเร็ว ยังไม่นิยมหุงข้าว แบบคนเอเซียหรือใช้หม้อหุงข้าว แต่จะประกอบอาหารโดยใช้ หม้อหรือถาดสำหรับเตาอบ และเตาไมโครเวฟ ข้าวที่นิยมจึงเป็นข้าวพร้อมบริโภค ที่ไม่ต้องมีการต้องทำความสะอาด(ซาวข้าว) ก่อนการปรุงอาหาร เช่นผลิตภัณฑ์ข้าวของ Uncle Ben’s Minute Rice มีขนาดบรรจุพร้อมบริโภคจะมีขนาด 130-250 กรัม บางกล่องจะมีส่วนผสมรสชาติต่างๆ เรียกว่า “special rice” โดยใช้เวลาปรุงสั้นมาก ประมาณ 5-20 นาทีเครื่องหมายการค้าเป็นสิ่งสำคัญเพราะผู้บริโภคจะเน้นถึง คุณภาพและตามด้วยราคา ถ้าพอใจยี่ห้อใดก็จะ ประทับใจและเชื่อถือยี่ห้อนั้น และมีความจงรักภักดีต่อยี่ห้อที่เชื่อถือโดยตลอด

5. การจัดจำหน่ายในประเทศ

5.1 ช่องทางการจัดจำหน่าย

ช่องทางการจัดจำหน่ายในแคนาดา จะผ่าน ผู้นำเข้ารายใหญ่รายสำคัญในประเทศโดยส่วนใหญ่ จะมีการนำเข้าตลอดทั้งปี (มีการนำเข้าทุกสัปดาห์ โดยไม่นิยมสต็อกสินค้าหรือสั่งสินค้าครั้งละมากๆ ) โดยไม่มีการแยกประเภทข้าวใหม่ (New Crop) หรือข้าวเก่า (Old Crop) ทั้งนี้ร้านอาหารไทย/จีน ส่วนใหญ่นิยมซื้อข้าวเก่า เนื่องจากเป็นข้าวที่หุงขึ้นหม้อและเม็ดสวยเหมาะกับการไปปรุงอาหารข้าวผัด (ผู้นำเข้าจะสั่งนำเข้าข้าวเก่าในเดือน มิ.ย. - ก.ค. ของแต่ละปี) ทั้งนี้ช่องทางการจัดจำหน่ายในแคนาดา 2 ประเภท ได้แก่

  • ผู้นำเข้า - ผู้ค้าส่ง — ผู้ค้าปลีก — ผู้บริโภค
  • ผู้นำเข้า - ค้าปลีก (ห้างสรรพสินค้า Chain Store อาทิ Loblaw T&T Supermarket) - ผู้บริโภค

5.2 ราคาจำหน่ายในประเทศ (สำรวจ ณ วันที่ 3-4 ก.พ. 2553)

แคนาดาฝั่งตะวันตก

  • ข้าว Indian Basmati: ขนาดถุง 10 lb — ราคา ประมาณ 9-10 เหรียญแคนาดา
  • ข้าวหอมมะลิไทย: ขนาดถุง 40 lb — ราคาประมาณ 30 เหรียญฯ
  • ข้าว Long Grain (White) ไทย: ขนาดถุง 40 lb — ราคาประมาณ 19 เหรียญฯ
  • ข้าว Long Grain (White) เวียดนาม: ขนาดถุง 40 lb — ราคาประมาณ 18 เหรียญฯ

แคนาดาฝั่งตะวันออก

  • ข้าว Indian Basmati: ราคา ประมาณ 1.99 เหรียญฯ/ปอนด์
  • ข้าวหอมมะลิไทย: ราคาประมาณ 0.72-0.99 เหรียญฯ/ปอนด์
  • ข้าวขาวสหรัฐฯ: ราคาประมาณ 0.66-0.88 เหรียญฯ/ปอนด์
6. การนำเข้า/ส่งออก
6.1 ปริมาณการนำเข้า
อันดับ     ประเทศ                        หน่วย (เมตริกตัน)                           เปลี่ยนแปลง %
                     2549       2550       2551      2551       2552      2550/2551    2550/2551
                                                   (มค-พย)    (มค-พย)                   (มค-พย)
      รวม          342,486   347,677    374,481    347,945    345,416       7.71%        -0.73%
 1   สหรัฐอเมริกา    227,689   221,199    243,889    227,982    207,367      10.26%        -9.04%
 2   ไทย            71,228    78,364     80,644     72,102     68,347       2.91%        -5.21%
 3   อินเดีย          25,241    28,239     28,625     27,763     33,375       1.37%        20.21%
 4   ปากีสถาน         8,608     7,188     10,838     10,145      7,997      50.78%       -21.17%
 5   อิตาลี            2,572     1,853      2,431      2,295      1,305      31.19%       -43.14%
แหล่งข้อมูล: Statistics Canada อัพเดทล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2553 (จัดลำดับตามมูลค่าการนำเข้า มค-พย 52)
6.2 มูลค่าการนำเข้า
อันดับ     ประเทศ                 หน่วย (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)                    เปลี่ยนแปลง %
                     2549      2550     2551     2551      2552    2550/2551     2550/2551
                                               (มค-พย)   (มค-พย)                  (มค-พย)
      รวม           165.10   193.80   294.09    270.05   271.28      51.75%        0.46%
 1    สหรัฐอเมริกา     99.70   114.43   155.80    141.76   156.42      36.16%       10.34%
 2    ไทย            35.52    44.86    73.83     66.61    62.07      64.59%       -6.81%
 3    อินเดีย          19.04    21.89    40.80     39.48    36.78      86.41%       -6.83%
 4    ปากีสถาน         6.27     6.37    16.28     15.35     9.16     155.35%      -40.36%
 5    อิตาลี            1.96     2.11     2.52      2.34     2.13      19.32%       -8.78%
แหล่งข้อมูล: Statistics Canada อัพเดทล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2553 (จัดลำดับตามมูลค่าการนำเข้า มค-พย 52)
6.3 ปริมาณการส่งออก
อันดับ    ประเทศ                          หน่วย (กิโลกรัม)                             เปลี่ยนแปลง %
                     2549        2550        2551       2551         2552    2550/2551   2550/2551
                                                       (มค-พย)     (มค-พย)                (มค-พย)
      รวม          3,593,526   4,667,584  8,463,872   6,768,665   7,936,992     7.71%     17.26%
 1    สหรัฐอเมริกา   2,885,868   3,808,582  7,160,265   5,661,547   6,538,848    10.26%     15.50%
 2    สหราชอาณาจักร   237,719     113,159    536,368     506,503     731,910     2.91%     44.50%
 3    บาร์เบโดส        23,380     125,473    134,099     134,099      99,086     1.37%    -26.11%
 4    เลบานอน           0.00        0.00       0.00        0.00      85,889    50.78%      0.00%
 5    ฮังการี             0.00        0.00       0.00        0.00      75,748    31.19%      0.00%
แหล่งข้อมูล: Statistics Canada อัพเดทล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2553 (จัดลำดับตามมูลค่าการส่งออก มค-พย 52)
6.4 มูลค่าการส่งออก
อันดับ   ประเทศ                   หน่วย (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)                  เปลี่ยนแปลง %
                     2549    2550    2551    2551     2552     2550/2551      2550/2551
                                            (มค-พย) (มค-พย)                    (มค-พย)
      รวม            3.19   4.08     7.01   5.817    7.299       7.71%          25.48%
 1   สหรัฐอเมริกา      2.75   3.77     6.60   5.467    6.836      10.26%          25.03%
 2   สหราชอาณาจักร    0.09   0.05     0.16   0.156    0.206       2.91%          31.85%
 3   บาร์เบโดส        0.03   0.04     0.04   0.041    0.028       1.37%             n/a
 4   เลบานอน         0.00   0.00     0.00   0.000    0.022      50.78%         779.75%
 5   ฮังการี           0.00   0.00     0.00   0.000    0.022      31.19%         -30.13%
แหล่งข้อมูล: Statistics Canada อัพเดทล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2553 (จัดลำดับตามมูลค่าการส่งออก มค-พย 52)
7. กฏระเบียบการนำเข้าและการส่งออก
  • ไม่มีกฎระเบียบพิเศษเฉพาะและไม่มีข้อจำกัดในการนำเข้า
  • หลักเกณฑ์เรื่องบรรจุภัณฑ์และข้อความกำกับ ส่วนประกอบและความปลอดภัย เป็นไปตามข้อกำหนด ของกฎระเบียบว่าด้วยอาหารและยา กฎระเบียบว่าด้วยการบรรจุและข้อความกำกับสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.hc-sc.gc.ca/fn-an/label-etiquet/index-eng.php
  • ในกรณีที่นำเข้ามาเพื่อจำหน่ายปลีก ต้องมีฉลากภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสกำกับ พร้อมกับ ข้อมูลโภชนาการ http://www.hc-sc.gc.ca/fn-an/label-etiquet/nutrition/reg/index-eng.php
8. กฏระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้าวและผลิตภัณฑ์
  • กฏระเบียบ การระบุข้อมูล Food Allergies and Intolerances ควบคุมโดยหน่วยงาน Health Canada สามารถค้นหาข้อมูลได้ที่ http://www.hc-sc.gc.ca/fn-an/securit/allerg/index-eng.php
  • กฏระเบียบสินค้าเกษตรอินทรีย์ (Organic Product) ควบคุมโดยหน่วยงาน CFIA (Canadian Food Inspection Agency) สามารถค้นหาข้อมูลได้ที่ http://www.inspection.gc.ca/english/fssa/orgbio/orgbioe.shtml
9. ปัญหา/ อุปสรรคของการจำหน่ายข้าวไทย

ผู้บริโภคชาวแคนาดา (Caucasian) ยังไม่คุ้นเคยกับการบริโภคข้าวมากนัก จึงต้องประชาสัมพันธ์ให้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น ผู้บริโภคชาวแคนาดาไม่สามารถบอกถึงความแตกต่างระหว่างข้าวแต่ละประเภทได้ ทั้งนี้ชาวแคนาดาเริ่มให้ความสำคัญกับคุณค่าทางอาหารมากขึ้น และนิยมหันมาบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกข้าวของไทย โดยในปัจจุบัน มีข้าวหลายประเภทวางจำหน่ายในห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป อาทิ ข้าวขาว (White rice) ข้าวกล้อง (Brown rice) ข้าวหอมมะลิไทย และข้าวบาสมาติของอินเดีย ทั้งนี้ข้าวกล้องเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวแคนาดาที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น เนื่องจากให้คุณค่าทางอาหารมากกว่าข้าวขาวทั่วไป แม้ว่าจะมีราคาที่สูงกว่าก็ตาม

10. พันธกรณีผูกพันระหว่างไทย-แคนาดา
  • ไม่มี

สำนักงานฯ โตรอนโต และแวนคูเวอร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ