ตลาดข้าวในเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 17, 2010 10:52 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. นโยบายข้าว

ในเยอรมนีไม่มีการเพาะปลูกข้าวในเชิงการค้า นอกจากนี้เยอรมนียังเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป นโยบายหรือมาตรการ ตลอดจนระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวกับสินค้าในตลาดเยอรมันจะเป็นไปตามที่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปกำหนดไว้ ที่สำคัญๆ ได้แก่ การกำหนดโควต้าสำหรับการนำเข้า ผู้นำเข้าจะต้องจึงต้องยื่นเอกสารขออนุญาตก่อน จึงจะนำเข้าสินค้าได้

2. สถานการณ์ข้าวในประเทศ / ปัญหา

2.1 ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2551 ถึงต้นปี 2552 ทำให้ค่าขนส่งเพิ่มสูงขึ้น ข้าวในตลาดเยอรมนีจึงมีราคาแพงขึ้นมาก แต่ในช่วงเวลาต่อๆ มา ราคาน้ำมันลดลงราคาจำหน่ายของข้าวจึงถูกปรับลดลงมาเป็นปกติ

2.2 ชาวเยอรมันนิยมการบริโภคขนมปัง มันฝรั่งและอาหารทำจากแป้งสาลีมากกว่า สำหรับข้าวยังไม่เป็นที่นิยมเท่าใด ผู้บริโภคสำคัญจะเป็นชาวต่างชาติ คนเอเชียที่อาศัยอยู่ในประเทศ

2.3 ข้าวที่ชาวเยอรมันนิยมจะเป็นข้าวที่หุงแล้วมีเมล็ดร่วนไม่ติดกัน แต่ข้าวไทยมีลักษณะเหนียวติดกันเป็นก้อน และจากการที่ข้าวไทยมีความชื้นไม่สม่ำเสมอ (ข้าวเก่า ข้าวใหม่) ทำให้เกิดปัญหาในการหุงต้มข้าวปริมาณมากๆ ไม่เหมาะสมกับการใช้ตามโรงอาหาร และภัตตาคารขนาดใหญ่

2.4 ในด้านสุขอนามัย การปนเปื้อน การตกค้างของสารเคมี ยาฆ่าแมลง ยังไม่มีการตรวจพบเป็นครั้งคราวในข้าวที่นำเข้าจากแหล่งอื่นๆ จากไทยยังไม่ปรากฏว่ามีการตรวจพบ

2.5 ต้องแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นๆ ซึ่งมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เช่น เวียตนาม ที่มีการส่งออกเพิ่มมากขึ้นจาก 180 ตันในปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 6,777 ตันในปี 2551 และ ใน ช่วง 9 เดือนแรกปี 2552 จำนวน 4,557 ตัน

2.6 การแข่งขันกันเองของผู้ส่งออกข้าวไทย เนื่องจากเป็นการค้าเสรี มีผู้ส่งออกจำนวนมากราย

2.7 ปัญหาความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลยูโร และ เหรียญสหรัฐฯ โดยค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

3. การผลิต

ในเยอรมนีไม่มีการเพาะปลูกข้าวในเชิงการค้า ข้าวที่มีวางจำหน่ายในตลาดจะเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคภายในประเทศเป็นปริมาณโดยเฉลี่ยปี 360,000 ตัน

4. การบริโภค

อาหารหลักชาวเยอรมันนิยมจะเป็นขนมปัง มันฝรั่ง และอาหารทำจากแป้งหรือธัญพืชต่างๆ โดยมีการบริโภคขนมปังโดยเฉลี่ยปีละ 80 กิโลกรัมต่อคน มันฝรั่งปีละ 60 กิโลกรัมต่อคน ส่วนข้าวมีอัตราการบริโภคปีละประมาณ 3 กิโลกรัมต่อคน

แหล่งที่มีการบริโภคข้าว หรือมีการปรุงอาหารที่ใช้ข้าวเป็นส่วนประกอบ ได้แก่ โรงอาหารขนาดใหญ่ตามสถานที่ทำงานส่วนราชการ บริษัท และห้างร้านใหญ่ๆ รวมทั้งในภัตตาคารตามห้างสรรพสินค้า โดยจะเป็นข้าวนึ่ง ข้าวสารขาวธรรมดา สำหรับร้านอาหารไทยนิยมใช้ข้าวหอมมะลิกันมากขึ้น เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้ามีแนวโน้มลดต่ำลงเรื่อยมา ทำให้ราคาข้าวในตลาดลดลง การใช้ข้าวหอมมะลิจึงเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น

ผู้บริโภคข้าวส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเยอรมนีจำนวนประมาณร้อยละ 8 ล้านคน ส่วนใหญ่จะเป็นชนชาติตุรกี กลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออก อาทิ โปแลนด์ โรมาเนีย รัสเซีย และกลุ่มชาวเอเชีย ได้แก่ จีน ศรีลังกา เวียดนาม ไทย และฟิลิปปินส์

5. การจัดจำหน่ายในประเทศ

5.1 ช่องทางการจัดจำหน่าย

5.2 ราคาจำหน่ายในประเทศ

ผลจากการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าข้าวชนิดต่างๆ ของสหภาพยุโรปในช่วง 3 — 4 ปีที่ผ่านมาทำให้ราคาขายปลีกข้าวในตลาดเยอรมนีรวมทั้งข้าวจากไทยลดต่ำลงมาโดยตลอด

                                        ปี 2550           ปี 2553
          ข้าวกล้อง พิกัด 1006 20...        264.--           42.50         ยูโร/100 กก.
          ข้าวสาร พิกัด 1006 30...         416.--           145.--             “
          ข้าวหัก พิกัด 1006 40...          128.--           65.--              “

ตามร้านค้าของชำพื้นบ้าน Supermarket จะมีแต่ข้าวสารขาว เมล็ดสั้น/กลม เมล็ดยาวและข้าวบาสมาตี วางจำหน่ายในขนาดบรรจุ 125 กรัม 250 กรัม และ 500 กรัม ที่นำเข้าจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป มีราคาจำหน่ายตามยี่ห้อต่างๆ โดยเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.38 — 7.60 ยูโร (ประมาณ 68 — 264 บาท) หากเป็นข้าวที่นำเข้าจากประเทศในแถบเอเชียซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้าวกล้องที่นำมาขัดสีเพิ่มและบรรจุถุงขนาดเล็ก ไม่500 กรัม หรือบรรจุในถุงพลาสติกใสขนาด 4 x 125 กรัม เพื่อสะดวกต่อการหุงต้มจะมีราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 7.60 ยูโร (ประมาณ 373 บาท)

นอกจากนี้ จะมีข้าวชนิดเมล็ดสั้น เป็นข้าวพื้นบ้านในยุโรป จะมีราคาจำหน่ายที่ไม่แตกต่างจากข้าวสารเมล็ดยาวที่กล่าวข้างต้น

สำหรับข้าวหอมมะลิ และข้าวสารที่นำเข้าจากประเทศในแถบเอเชีย รวมทั้งจากประเทศไทยด้วย นั้น ส่วนใหญ่จะมีวางจำหน่ายในร้านค้าของชำที่จำหน่ายอาหารเอเชียโดยเฉพาะ โดยจะเป็นกระสอบพลาสติกขนาดบรรจุ 18, 20 และ 22 กิโลกรัม มีราคาจำหน่ายโดยเฉลี่ยกระสอบละ 22 — 32 ยูโร หรือกิโลกรัมละ 1.22 — 1.45 ยูโร (ประมาณ 60 — 72 บาท) สำหรับข้าวหักมีราคาจำหน่ายโดยเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1 ยูโร (ประมาณ 49 บาท)

6. การนำเข้า / ส่งออก

6.1 การนำเข้า ในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) เยอรมนีนำเข้าข้าวจากต่างประเทศทั้งสิ้นเป็นปริมาณ 258,947 ตัน มูลค่า 257.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 15.9 และ 15.8 ตามลำดับ แหล่งนำเข้าที่สำคัญ 5 อันดับแรก คือ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ไทย อินเดียและเบลเยี่ยม จาก อิตาลี มีการนำเข้าเป็นปริมาณ 73,768 ตัน มูลค่า 79.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 28.5 และ 30.9 ตามลำดับ ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 22.11 และ 20.8 จากเนเธอร์แลนด์ มีการนำเข้า 43,246 ตัน มูลค่า 48.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 16.7 และ 19.0 ตามลำดับ มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 และ 15.1 จากไทย นำเข้าเป็นปริมาณ 40,171 ตัน มูลค่า 30.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 15.5 และ 11.9 การนำเข้าลดลงร้อยละ 10.7 และ 6.7 ตามลำดับ จากอินเดีย นำเข้าเป็นปริมาณ 20,506 ตัน มูลค่า 27.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 7.9 และ 10.6 มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.5 และ 40.1 และจากเบลเยี่ยม นำเข้าเป็นปริมาณ 26,698 ตัน มูลค่า 16.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 10.3 และ 6.3 ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 4.3 และ 6.1 ตามลำดับ (รายละเอียดในเอกสารแนบ 1 และ 2)

ข้าวที่เยอรมนีนำเข้าจากประเทศที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป นั้น ส่วนใหญ่เป็นข้าวสารขาวเมล็ดกลม หรือเมล็ดสั้น ส่วนที่นำเข้าจากอินเดีย ปากีสถาน ส่วนใหญ่เป็นข้าวบาสมาตีสำหรับข้าวจากประเทศไทยจะเป็นข้าวสารเมล็ดยาว ข้าวหอมมะลิ 100% และข้าวหัก

6.2 การส่งออก ในปี 2552 (ม.ค.-ก.ย.) เยอรมนีส่งออกข้าวไปจำหน่ายยังต่างประเทศทั้งสิ้นเป็นปริมาณ 44,591 ตัน มูลค่า 61.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 33.9 และ 27.2 ตามลำดับ ตลาดส่งอกกสำคัญๆ ได้แก่ เดนมาร์ค มีการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกปี 2552 เป็นปริมาณ11,455 ตัน มูลค่า 16.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 25.7 และ 26.3 ตามลำดับปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 แต่มูลค่าลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.7 ออสเตรีย มีการส่งออกเป็นปริมาณ 5,691 ตัน มูลค่า 9.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12.8 และ 15.8 ตามลำดับ ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.37 มูลค่าลดลงร้อยละ 6.4 สวีเดน ส่งออกเป็นปริมาณ 3,871 ตัน มูลค่า 5.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 8.7 และ 8.9 ตามลำดับ ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 13.9 และ 10.9 ตามลำดับ

7. กฎระเบียบการนำเข้า และการส่งออก

ข้าวที่จะนำเข้าเยอรมนี ให้ถือปฏิบัติและใช้ข้อกำหนดตามที่สหภาพยุโรปได้กำหนดเอาไว้ ที่มีการจัดแบ่งเป็นพิกัดภาษี ตามความยาวของเมล็ดข้าว คือ ข้าวเมล็ดกลม เมล็ดสั้น เมล็ดกลาง เมล็ดยาวและข้าวหัก และตามวิธีการขัดสีข้าว คือ ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ข้าวขัดสีบ้างแล้ว และข้าวขาว

ในการขออนุญาตนำเข้าข้าวทุกครั้งจะต้องมีเอกสารประกอบการนำเข้า ได้แก่ หนังสือรับรอง Export License ประกอบด้วย ในกรณีที่การนำเข้าข้าวมีปริมาณไม่เกิน 1,000 กิโลกรัม สามารถนำเข้าได้โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาตนำเข้า แต่ต้องดำเนินการตามพิธีการศุลกากร และมีเอกสารต่างๆ ตามที่กล่าวแล้วประกอบการนำเข้าด้วยความปลอดภัยด้านสุขอนามัย เช่น Phythosanitary, Fumigation, Certificate of Origin เป็นต้น รวมทั้ง

อัตราภาษีนำเข้า ในแต่ละปีสหภาพยุโรปจะจัดสรรโควต้าพิเศษสำหรับข้าวที่นำเข้าจากประเทศที่สาม และเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราต่ำกว่าปกติ สำหรับประเทศไทยได้รับโควต้าปีละประมาณ 80,000 ตัน มีปริมาณและอัตราภาษีนำเข้าตามข้าวแต่ละชนิด ดังนี้

ข้าวกล้อง (พิกัด 1006 20) โควต้า 1,812 ตัน มีอัตราภาษีร้อยละ 15 ของมูลค่าสินค้า หรือ 88 ยูโร/ตัน ข้าวนอกโควต้าภาษี 145 ยูโร/ตัน

ข้าวขาว (พิกัด 1006 30) โควต้า 25,768 ตัน ไม่ต้องเสียภาษี นอกโควต้าตันละ 145 ยูโร

ข้าวหัก (พิกัด 1006 40) โควต้าปีละ 52,000 ตัน ภาษี 45 ยูโร/ตัน นอกโควต้าตันละ 65 ยูโร

8. กฎระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้าวและผลิตภัณฑ์
  • ไม่มี -
9. พันธกรณีผูกพันระหว่างประเทศ
  • ไม่มี -

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ