สินค้า Fairtrade ในเยอรมนี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 17, 2010 11:43 —กรมส่งเสริมการส่งออก

Fair Trade คือ การค้าที่เป็นธรรม, การค้าโดยชอบธรรม เป็นการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ ความยุติธรรมในการค้า สนับสนุนมาตรฐานสากลในเรื่อง แรงงาน สิ่งแวดล้อม และสังคม สำหรับสินค้าและบริการ โดยเฉพาะที่ส่งออกมาจากประเทศโลกที่สามและโลกที่สอง ไปยังประเทศอุตสาหกรรม มาตรฐานเหล่านี้อาจเป็นแบบสมัครใจ หรือแบบที่บังคับโดยรัฐบาลหรือองค์กรระหว่างประเทศ

สำหรับในเอเชียนั้น เมื่อ พ.ศ. 2546 นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้น ได้กล่าวสุนทรพจน์แก่ที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค (APEC CEO Summit) ในหัวข้อ "ความท้าทายต่อกระแสโลกาภิวัตน์" (Globalization and its challenges) มีใจความว่า การเปิดเสรีการค้าโลกเพื่อรับกระแสโลกาภิวัตน์นั้น เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การเปิดเสรีทางการค้า (ฟรีเทรด) นั้น ยังไม่สำคัญเท่ากับการค้าที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย (แฟร์เทรด) เพราะการค้าที่เป็นธรรมนั้นนั้นอาจก่อให้เกิดการค้าเสรีได้ แต่การค้าเสรีส่วนใหญ่นั้นก่อให้เกิดการค้าที่ไม่เป็นธรรม และความล้มเหลวในการเจรจาการค้าที่ผ่าน ๆ มาของ WTO นั้น ก็เป็นเพราะเหตุนี้

จุดประสงค์หลักของแฟร์เทรด

1. พัฒนาความเป็นอยู่ของผู้ผลิต (เกษตรกร) โดยการเพิ่มอำนาจในการต่อรอง และประกันราคาที่เป็นธรรม

2. ไม่ใช้แรงงานเด็ก และ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการผลิตและการค้าของผู้ด้อยโอกาสโดยเฉพาะผู้หญิงและชาวพื้นเมือง

3. กระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของการค้าโดยชอบธรรม

4. เพื่อเป็นตัวอย่างของการค้าที่โปร่งใส ชอบธรรมและมีความรับผิดชอบ

5. รณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลงของกฏเกณฑ์และวิถีการค้าขายแบบดั้งเดิมที่ผู้ผลิตรายย่อยมักจะถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง

6. ปกป้องสิทธิมนุษยชน แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม กระบวนการค้า เศรษฐกิจแบบยั่งยืน

ความเป็นมา

ในอดีตและแม้แต่ปัจจุบันก็ตาม ผู้ผลิต/เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงมีความยากจนโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา (แอฟริกา ลาตินอเมริกา เละเอเชีย) ถูกพ่อค้า นายทุนเอารัดเอาเปรียบมาโดยตลอด กลุ่มพระ บาทหลวงจากประเทศในยุโรปจึงได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ นำผลผลิตของพวกเขาเหล่านั้นเข้าสู่ตลาด สินค้าส่วนใหญ่ในช่วงแรกๆ จะเป็นสินค้าหัตถกรรม เครื่องถักสารต่างๆ

ต่อมาในปี 1988 Max Havelaar ชาวดัทช์ ได้นำกาแฟจากเม็กซิโกวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยใช้ตราสัญลักษณ์โดยเฉพาะ เป็นที่ยอมรับและแพร่หลายไปยังประเทศอื่นๆ ทั้งในยุโรป และอเมริกาเหนือ

ในปี ค.ศ. 1997 องค์กรสมาชิกจากชาติต่าง ๆ ซึ่งโดยมากจะมาจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มีมาตรฐานในการครองชีพสูง คือ องค์กร IFAT (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น WFAT), NEWS และ EFTA ได้ร่วมกันก่อตั้ง องค์กรฉลากสินค้าแฟร์เทรด Fairtrade Labelling Organizations International (FLO) เพื่อร่วมกันจัดการดูแลสินค้า Fair Trade รับรอง ดูแล และประชาสัมพันธ์เรื่องการติดฉลากสินค้าแฟร์เทรด โดยจะมีการตรวจสอบกระบวนการผลิตสินค้าว่าได้มาตรฐานมีความชอบธรรมหรือไม่เพื่อให้ผู้บริโภคมีความได้มั่นใจว่า การบริโภคสินค้าดังกล่าว จะทำให้ผู้ผลิตในทุกลำดับชั้นได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมจริง ถึงแม้ว่า ผู้ผลิตจำนวนไม่น้อยรายในประเทศอุตสาหกรรม ประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้วจะประสบกับปัญหา การค้าที่ไม่เป็นธรรมก็ตาม จะถูกจำกัดมิให้ใช้ตราสัญลักษณ์ FAIRTRADE เนื่องจากหนึ่งในจุดประสงค์หลักของการใช้ ตราแฟร์เทรด คือ การบรรเทาความยากจนในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น

ในปี 2004 องค์กรนี้ได้แยกออกเป็น 2 ส่วน ตามการทำงาน กล่าวคือ

1. FLO ทำงานเกี่ยวกับด้านมาตรฐานสินค้า และการร่วมมือให้ความช่วยเหลือผู้ผลิต

2. FLO — Cert ออกหนังสือรับรอง ควบคุม ดูแลการใช้ตราสัญลักษณ์ Fair Trade

ผู้ประกอบการต่างๆ ตั้งแต่ ผู้ผลิต ผู้แปรรูปสินค้า ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าจะต้องลงทะเบียนเป็นสมาชิกของ Fair Trade ก่อนจึงจะทำการค้าขายสินค้าเหล่านี้ได้ โดยสมาชิกเหล่านี้ต้องจ่ายชำระค่าธรรมเนียมสมาชิกตามประเภทของกิจการและอัตราต่างๆ ที่กำหนดไว้ และปฎิบัติการอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับ การซื้อขายสินค้าโดยแจ้งราคาสินค้าให้ทราบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อใช้ในการคิดคำนวณพรีเมี่ยมที่ผู้ผลิต/เกษตรกรจะได้รับต่อไป เป็นต้น

สินค้าที่ใช้ตรา Fairtrade

ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเกษตรต่างๆ ที่สำคัญๆ คือ

          - กาแฟ        - ผลไม้           - สมุนไพร
          - ชา          - น้ำผลไม้         - ข้าว
          - โกโก้        - น้ำผึ้ง           - น้ำตาล
          - ดอกไม้       - เครื่องเทศ       - เหล้าองุ่น

ส่วนสินค้าประเภท non-food ได้แก่ ฝ้าย และผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ลูกบอลล์ การท่องเที่ยว เป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังมีโครงการที่จะเพิ่ม คอมพิวเตอร์ น้ำมันดิบ ตลอดจน เพชร เข้าในโครงการอีกด้วย

ราคาสินค้า Fairtrade และพรีเมี่ยม

สินค้าที่ใช้ตรา FairTrade จะมีการกำหนดราคาประกันที่แน่นอน ชัดเจน และปรับเปลี่ยนราคาให้เหมาะสมตามราคาในตลาดโลก ราคาประกันที่กำหนดนี้ เป็นราคาต่ำสุดที่เกษตรกร/ผู้ผลิตจะได้รับ ซึ่งปกติจะเป็นอัตราที่สูงกว่าราคาในตลาดโลกเสมอ เป็นราคาที่รับประกันได้ว่าผู้ผลิตจะไม่ถูกเอาเปรียบ หรือเป็นราคาที่คุ้มกับต้นทุนการผลิต ในกรณีที่ราคาตามที่ Fair Trade กำหนดต่ำกว่าราคาในตลาดโลก ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ พ่อค้าคนกลาง ผู้ส่งออก และผู้นำเข้าต้องจ่ายค่าสินค้าโดยตรงให้กับผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกตามราคาในตลาดโลก

สินค้าในโครงการทุกตัวจะมีการกำหนดอัตราพรีเมี่ยม ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องจ่ายชำระรวมไปในการซื้อขายสินค้า

  • ในกรณีผู้ส่งออกเป็นสหกรณ์การเกษตร ผู้นำเข้าจะชำระสินค้าพร้อมค่าพรีเมี่ยมให้โดยตรง
  • หากผู้ส่งออกเป็นพ่อค้าคนกลาง จะต้องรับผิดชอบค่าพรีเมี่ยมและจ่ายให้กับผู้ผลิตหลังจากที่ได้ส่งออกสินค้านั้นๆ ไปให้ผู้นำเข้าในต่างประเทศ
ปัจจุบันสินค้าไทยในโครงการ Fair trade ที่มีการซื้อขายกัน มี ข้าว กาแฟและน้ำสับปะรด
  • ข้าวมีพรีเมี่ยมให้ตันละ 750 บาท ราคาประกันขั้นต่ำที่ตันละ 7,200 — 12,000 บาท (ข้าวสารขาว —ข้าวหอมมะลิ) ข้าวไทยที่ส่งออก ตามข้อกำหนดของ Fair Trade ผู้ที่รับผิดชอบต้องจ่ายพรีเมี่ยม คือ ผู้ส่งออก ซึ่งเป็นคนกลาง ที่ไม่ได้เป็นเกษตรกรผู้ผลิต โดยค่าพรีเมี่ยมนี้ จะได้คืนมาจากผู้นำเข้าในต่างประเทศ
  • น้ำสับปะรดธรรมดาตันละ 550 พรีเมี่ยม 50 เหรียญสหรัฐฯ
  • น้ำสับปะรดเกษตรอินทรีย์ ตันละ 1,950 พรีเมี่ยม 195 เหรียญสหรัฐฯ
  • น้ำสับปะรดเข้มข้นตันละ 1600 พรีเมี่ยม 160 เหรียญสหรัฐฯ
  • กาแฟดิบโรบัสตา ปอนด์ละ 1.05 พรีเมี่ยม 0.10 เหรียญสหรัฐฯ
  • กาแฟดิบโรบัสตาเกษตรอินทรีย์ ปอนด์ละ 1.25 พรีเมี่ยม 0.10 เหรียญสหรัฐ

ปกติเงินพรีเมี่ยมที่ได้รับนี้จะนำไปใช้ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมของกลุ่มเกษตรกรต่างๆ เพื่อการพัฒนาความเป็นอยู่ สังคม ให้ดียิ่งขึ้น

ช่องทางตลาดสินค้า Fairtrade

ผู้บริโภคให้ความสนใจสินค้าประเภทนี้เพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด ในปี 1995 มีมูลค่าตลาดของสินค้า Fair Trade ทั่วโลก 260 ล้านยูโร และเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านยูโรในปี 2005 มีอัตราการขยายตัว 154 % หรือโดยเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี สำหรับมูลค่าตลาดในปี 2008 ที่ผ่านมานี้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 2,900 ล้านยูโร ในจำนวนนี้เป็นยอดการจำหน่ายเฉพาะในเยอรมนีประมาณ 213 ล้านยูโร ในจำนวนนี้เป็นยอดการขายเฉพาะจากร้าน Weltladen มูลค่าประมาณ 60 ล้านยูโร

ในเยอรมนีสินค้า Fair trade ที่เป็นผลผลิตโดยเกษตรกร สหกรณ์การเกษตรจาก 58 ประเทศทั่วโลกมีวางจำหน่ายที่ร้าน World Shop ตามสาขาต่างๆ ทั่วเยอรมนี 800 แห่ง และโดยพ่อค้าเร่ที่จำหน่ายสินค้า Fair Trade โดยตรงตามตลาดนัดในท้องที่ต่างๆ อีกกว่า 6,000 ราย สถานที่จำหน่ายอื่นๆ ที่สำคัญๆ คือ ห้างสรรพสินค้า ร้านกาแฟและซุปเปอร์มาร์เก็ตอีกกว่า 30,000 แห่ง นอกจากนี้ในโรงอาหารขนาดใหญ่ ตลอดจนโรงแรมได้มีการใช้สินค้าประเภทนี้อีกด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ