รายงานความคืบหน้าภาวะเศรษฐกิจของประเทศคอสตาริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 17, 2010 11:55 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศคอสตาริกากับประเทศสิงคโปร์

ประเทศคอสตาริกาและสิงคโปร์ ได้ตกลงเริ่มการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างทั้งสองประเทศ ในระหว่างการเยือนสิงคโปร์ของประธานาธิบดีคอสตาริกา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ได้มีการเจราเกี่ยวกับรายละเอียดของความตกลงทั้งหมด 4 รอบในปี 2552 และกำหนดจะมีการลงนามอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2553

สิงคโปร์ได้ตกลงเปิดตลาดเสรี ให้สินค้าจากคอสตาริกา สามารถเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องเสียภาษีโดยอัตโนมัติทุกรายการสินค้า ในขณะที่คอสตาริกาจะยกเว้นภาษีนำเข้าให้กับสินค้าของสิงคโปร์ประมาณร้อยละ 90 ของบัญชีสินค้านำเข้าทั้งหมด ส่วนรายการสินค้าที่เหลือนั้น จะทยอยลดภาษีนำเข้าในระยะเวลา 10 ปี ทั้งนี้ ความตกลงดังกล่าวรวมถึงการความคุ้มครองการลงทุนสองฝ่ายอีกด้วย

การค้าทวิภาคีระหว่างคอสตาริกาและสิงคโปร์ มีมูลค่า 413.7 ล้านเหรียญ ในปี 2552 เป็นการเพิ่มถึงร้อยละ 40 จากปี 2547 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของคอสตาริกาไปยังสิงคโปร์ได้แก่ วาลว์อิเล็กทรอนนิกส์ และชิ้นส่วนเครื่องจักร ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญจากสิงคโปร์ได้แก่ เครื่องมือชั่งตวง และยางพารา

ประเทศสิงคโปร์มีความสนใจขยายการค้าและการลงทุนในภาคบริการของคอสตาริกา โดยเฉพาะในด้านธุรกิจการโรงแรม ร้านอาหาร การศึกษาเอกชน และการก่อสร้าง

2. ความคืบหน้าการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศคอสตาริกากับประเทศจีน

ได้มีการหารือรอบที่ 5 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่กรุงปักกิ่ง และได้มีความคืบหน้าเกี่ยวกับหัวข้อย่อยในข้อตกลงในเรื่องของการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า การออกใบรับรองสุขภาพอาหาร ความร่วมมือเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา การเกลี้ยไกล่ข้อพิพาท การอำนวยกฏระเบียบการค้าและการค้าบริการ และข้อตกลงเกี่ยวกับการลงทุน ทั้งนี้ผลของการประชุมได้มีความคืบหน้าเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย และคาดว่าจะสามารถสิ้นสุดการเจรจาได้ในการหารืออีกหนึ่งรอบ

3. ภาวะเศรษฐกิจคอสตาริกา ปี 2552 และแนวโน้มการเติโตปี 2553

เศรษฐกิจของคอสตาริกาได้หดตัวร้อยละ 1.3 ในปี 2552 โดยการบริโภคภายในประเทศได้ลดลง และการส่งออกประสบภาวะเศรษฐกิจโลกหดตัว รวมทั้งการลงทุนจากต่างประเทศได้ลดลง ทั้งนี้ บริษัทจัดระดับเครดิต Fitch Ratings คาดว่าหากภาวะเศรษฐกิจโลกดีขึ้น และมีการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ การเติบโตของเศรษฐกิจคอสตาริกาในปี 2553 อาจจะมีอัตราขยายตัวได้ร้อยละ 2.9 ทั้งนี้ บริษัท Fitch ได้กำหนดระดับเครดิต IDRs ของคอสตาริกา ที่ BB สำหรับเงินกู้ต่างประเทศ BB+ สำหรับเงินกู้เงินสกุลท้องถิ่น โดยบริษัท Fitch มีความเห็นว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของคอสตาริกาอยู่ในฐานะที่ดี โดยคอสตาริกาได้ต้านภาวะวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกซบเซาได้ดีพอสมควร โดยระบบธนาคารไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์เสื่อมราคา และได้รับเงินกู้อุดหนุนทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศจำนวน 735 ล้านเหรียญฯ หรือร้อยละ 18 ของเงินสำรองระหว่างประเทศ

โครงสร้างเศรษฐกิจของคอสตาริกามีการกระจายของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่หลากหลาย และมีสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ดีพอสมควร สำหรับความเสียเปรียบของระบบเศรษฐกิจของคอสตาริกา คือการมีฐานการเก็บภาษีที่แคบ ฉะนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงการเก็บภาษี นอกจากนี้แล้ว โครงสร้างอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราไม่เข้มแข็งมากเท่าที่ควร รวมทั้งเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ถึงแม้ว่าจะได้ขยายตัวในปีที่ผ่าน ๆ มา ความพึ่งพาเศรษฐกิจสหรัฐฯ สูงมาก และการมีสัดส่วนการใช้เงินสกุลดอลลาร์ภายในประเทศสูง เป็นเหตุให้โครงสร้างของดุลการชำระเงินมีความอ่อนแอ รัฐบาลคอสตาริกาจึงจำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องการกู้ยืมเงินมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่ควรมีนโยบายสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวมากขึ้น

4. การเลือกตั้งประธานาธิบดี ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2553

มีผู้ลงสมัครแข่งขันจำนวน 9 คน การหาเสียงได้เน้นเรื่องความมั่นคง และเศรษฐกิจโดยคาดว่าจะมีผู้มาออกเสียงเลือกตั้งจำนวน 2.8 ล้าน โดยผู้นำผลสำรวจคะแนนเสียงได้แก่ Ms. Laura Chinchilla ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรค Partido Liberacion Nacional ของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน มีคะแนนสนับสนุน ร้อยละ 40.9 อันดับสองได้แก่ Mr. Otta Guevara นักกฎหมายที่เคยดำรงตำแหน่งวุฒิมา 6 สมัย และเคยสมัครเข้ารับการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เป็นสมาชิกพรรคฝ่ายขวา Movimiento Libertario มีคะแนนสนับสนุนร้อยละ 30.4 และ Mr. Otton Solix นักเศรษฐศาสตร์พรรคฝ่ายซ้าย Partido Accion Cuidadana ที่เคยสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยก่อนมาเหมือนกัน มีคะแนนสนับสนุนร้อยละ 13.7

5. เขตการค้าเสรีต่างๆ ที่ประเทศคอสตาริการ่วมเป็นพหุภาคี และความตกลงการค้าอื่น ๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาคอสตาริกามีความตกลงเขตการค้าเสรีพหุภาคี คือ

1. CAFTA-DR (ความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างกลุ่มประเทศอเมริกากลาง และสาธารณรัฐคอมินิกัน กับสหรัฐอเมริกา) ลงนามเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2547 มีผลบังคับในคอสตาริกาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2552 ทั้งนี้ กลุ่มประเทศอเมริกากลางเป็นตลาดส่งออกอันดับสามในกลุ่มละตินอเมริกาสำหรับสหรัฐฯ หลังจากเม็กซิโกและบราซิล การส่งออกจากสหรัฐฯ ไปยังกลุ่มประเทศ CAFTADR มีมูลค่า 26.3 พันล้านเหรียญฯ ในปี 2551

2. ความตกลงเขตการค้าเสรีพหุภาคีกับกลุ่มประเทศคาริเบียน (CARICOM) ลงนามเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2547 มีผลบังคับในคอสตาริกาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2548 โดยมีเงื่อนไขความตกลง 4 ระดับซึ่งเจรจากันระหว่างแต่ละประเทศอีกต่างหาก ได้แก่ การเปิดเสรีอัตโนมัติ การลดภาษีใน 4 ปี ข้อยกเว้น เป็นรายสินค้า และข้อยกเว้นสำหรับสินค้าเกษตรตามฤดูกาล

3. คอสตาริกามีความตกลงเขตการค้าเสรีทวิภาคีกับ เม็กซิโก (มีผลบังคับตั้งแต่ปี 2538) แคนาดา (2544) ชิลี (2545) สาธารณรัฐดอมินิกัน (2538) และปานามา (2551) และได้เริ่มกระบวนการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศจีน เมื่อปี 2550 และกับสหภาพยุโรป (AACUE) เมื่อปี 2549

4. ความตกลงระหว่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ICC/CBI (Carribean Basin Initiative-1983), GSP-Europe และ ALCA/FTAA (Free Trade Areas of the Americas-1994)

แหล่งข้อมูล: www.comex.go.cr

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโก

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ