องค์การสหประชาชาติได้ทำการศึกษาวิจัยและจัดอันดับประเทศที่คาดว่าประชากรจะมีอายุเฉลี่ยยืนยาวที่สุด (Life Expectancy Ranking) ซึ่งผลการวิจัยพบว่า อายุเฉลี่ยสำหรับผู้ชายชาวญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 4 ร่วมกับออสเตรเลีย (79.4 ปี) รองจากไอซ์แลนด์ (80.4 ปี) ฮ่องกงและ สวิตเซอร์แลนด์ (79.6 ปี) ส่วนประชากรหญิงนั้น หญิงชาวญี่ปุ่นครองอันดับ 1 โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 86.5 ปี ตามมาด้วยฮ่องกง (85.3 ปี) ฝรั่งเศส (84.3 ปี) สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และสเปน ครองอันดับ 4 ร่วมกัน (84.3 ปี) รายละเอียดพิจารณาได้
เมื่อพิจารณาโครงสร้างประชากรของประเทศ ญี่ปุ่นมีผู้ที่อยู่ในตลาดแรงงาน 66 ล้านคนในปัจจุบัน แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้า จำนวนผู้ที่ทำงานจะลดลงเหลือ 61 ล้านคน ในขณะที่ ประชากรที่ไม่ได้ทำงานจะเพิ่มเป็น 45 ล้านคน โดยในจำนวนนั้นเป็นแม่บ้านและผู้สูงอายุรวมกันถึงร้อยละ 40 การที่ญี่ปุ่นมีประชากรสูงอายุจำนวนมากได้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากจำนวนแรงงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รายได้รัฐบาลที่เกิดจากจากภาษีเงินได้ของผู้ที่ทำงานและการบริโภคของประเทศโดยรวมหดตัวลง
วิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าและการดูแลสุขภาพที่ดีของชาวญี่ปุ่นส่งผลให้ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ยังมีสุขภาพที่แข็งแรง และส่วนหนึ่งของผู้สูงอายุเหล่านี้แสดงความปรารถนาที่จะทำงานต่อไป ทั้งนี้ Japan Association of Corporate Executives วิเคราะห์ว่า หากผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี เข้ามาทำงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 อัตราการเจริญเติบโตทางเศราฐกิจของประเทศจะขยายตัวจากอัตราเฉลี่ยปัจจุบันไปจนถึงปี 2020 ซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ประมาณร้อยละ 1 ไปเป็นร้อยละ 1.6
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตระหนังดีถึงปัญหาหาการขาดแคลนแรงงานจึงได้แก้ไขกฎหมาย การจ้างงานของประเทศ โดยขยายเวลาการจ้างงานผู้ที่มีอายุครบ 60 ปี อย่างเป็นขั้นตอนไปจนถึงอายุ 65 ปีภายในปี 2013 อย่างไรก็ดี ความพยายามในการจ้างงานผู้สูงอายุดังกล่าวยังไม่ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก แม้ว่าในปี 2009 รัฐบาลได้ผลักดันและสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ทั้งประเทศถึง 4.7 ล้านตำแหน่ง สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยทำงานทั้งชายและหญิง รวมถึงผู้สูงอายุ เนื่องจากการขาดแผนการดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนซึ่งเป็นนายจ้างอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
สำหรับประเทศที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียอื่นๆ ต่างก็ประสบปัญหาเรื่องการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุไม่แตกต่างจากญี่ปุ่นที่ปัจจุบันมีประชากรอายุตั้งแต่65 ปีขึ้นไปจำนวนร้อยละ 23 และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 29 ในปี 2020 โดยในทศวรรษหน้า อัตราส่วนของประชากรเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จะมีถึงร้อยละ 20 การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุดังกล่าวนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศราฐกิจโดยรวมของภูมิภาคเอเชียในอนาคตอันใกล้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากการแก้ปัญหา Aging Population ของญี่ปุ่น เกิดผลสำเร็จ ก็อาจเป็นต้นแบบให้แก่ประเทศอื่นๆ ที่ที่มีโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุจำนวนมากเช่นกันในการนำไปใช้กำหนดมาตรการของตนต่อไป
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
ที่มา: http://www.depthai.go.th