จีนต้องการนำเข้าน้ำตาลเกือบ 2 ล้านตัน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 25, 2010 12:05 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. สภาพการนำเข้าน้ำตาลของจีนในปี 2552

ในปี 2552 ประเทศจีนนำเข้าน้ำตาลรวมทั้งหมด 1.06 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 380 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเทียบกับปี 2551 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.5 และ 18.8 ตามลำดับ ราคาการนำเข้าน้ำตาลโดยเฉลี่ย 355.5 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลงร้อยละ 13

ในช่วง 1-7 เดือนแรกของปี 2552 การนำเข้าน้ำตาลของจีนโดยเฉลี่ย 1แสนตัน/เดือน โดยเฉพาะเดือนเมษายน ปริมาณการนำเข้าสูงถึง 1.84 แสนตัน และในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม ปริมาณการนำเข้าได้ลดลงไปมาก ซึ่งในเดือนธันวาคม ปริมาณการนำเข้าเพียง 20,000 ตันเท่านั้น ขณะเดียวกัน ราคาการนำเข้าน้ำตาลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในช่วงเดือนธันวาคม 2551 ราคาการนำเข้าสูงถึง 607 เหรียญสหรัฐ/ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.3

2. รูปแบบในการนำเข้า

การนำเข้าน้ำตาลในรูปแบบการค้าทั่วไป รวมทั้งสิ้น 8.3 แสนตัน ขยายตัวร้อยละ 34.1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด การนำเข้าในรูปแบบการเข้า bonded warehouse (ไม่ต้องเสียภาษี) รวมทั้งสิ้น 1.28 แสนตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 250 ส่วนการนำเข้าเพื่อแปรรูป รวมทั้งสิ้น 1.01 แสนตัน ลดลงร้อยละ6.9

3. แหล่งสำคัญในการนำเข้าน้ำตาลและตลาดสำคัญในจีน

ในปี 2552 ประเทศจีนนำเข้าน้ำตาลมากที่สุดจากประเทศคิวบา ปริมาณการนำเข้ารวมทั้งสิ้น 4.38 แสนตัน ขยายตัวร้อยละ 7.4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.2 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดของจีน ขณะเดียวกัน การนำเข้าจากประเทศบราซิลรวมทั้งสิ้น 2.36 แสนตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 812 เท่า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.2 ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมดของจีน นอกจากนี้ การนำเข้าจากประเทศ ASEAN รวมทั้งสิ้น 1.48 แสนตัน เพิ่มขึ้น 1.1 เท่า และนำเข้าจากประเทศเกาหลีใต้ รวมทั้งสิ้น 1.24 แสนตัน ลดลงร้อยละ 5.1

สำหรับตลาดสำคัญภายในประเทศจีน ได้แก่ กรุงปักกิ่ง มณฑลซานตง และมณฑลกวางตุ้ง ปริมาณการนำเข้าของพื้นที่ดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 93.3 โดยแยกเป็น

  • กรุงปักกิ่ง 6.21 แสนตัน ขยายตัวร้อยละ 22.9
  • มณฑลซานตง 2.76 แสนตัน ขยายตัวร้อยละ 72.6
  • มณฑลกวางตุ้ง 0.96 แสนตัน ขยายตัว 1 เท่า
4. แนวโน้มการนำเข้าน้ำตาล

เริ่มจากเดือนสิงหาคม 2552 เป็นต้นมา เนื่องจากราคาน้ำตาลของโลกเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปริมาณการนำเข้าน้ำตาลของจีนมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ รวมทั้งในปี 2552 ที่ผ่านมา ประเทศคิวบาและประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตน้ำตาลสำคัญ ได้ประสบปัญหาสภาพอากาศ ผลผลิตลดลงไปมาก คาดว่าในปี 2553 ปริมาณการขาดแคลนน้ำตาลของโลกจะสูงถึง 8 ล้านตัน

สำหรับประเทศจีนแล้ว ในช่วงเดือนธันวาคม 2552 รัฐบาลจีนได้ประมูลขายน้ำตาลจำนวน 5 แสนตันในราคาเฉลี่ย 5000 หยวน/ตัน แต่ในโกดังของรัฐบาล ยังมีน้ำตาลเก็บไว้ประมาณ 2.1 ล้านตัน ในด้านผลผลิตนั้น เนื่องจากประเทศจีนประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตอ้อยลดน้อยลง คาดว่าในปี 2553 ประเทศจีนขาดแคลนน้ำตาลมากกว่า 2 ล้านตัน ซึ่งเห็นได้จากราคาน้ำตาลในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 5200 หยวน/ตัน

5. การเตือนภัยล่วงหน้าของศุลกากรกรจีน

ศุลกากรจีนเห็นว่า เนื่องจากราคาน้ำตาลในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้ธุรกิจที่ต้องใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่างขึ้นราคาสินค้าในการจำหน่าย เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น แต่ในที่สุดผู้ที่ได้รับผลกระทบคือผู้บริโภค นอกจากนี้ บางธุรกิจอาจมีการหาสินค้าอื่นมาแทนน้ำตาลเช่น สารเพิ่มความหวาน (Sweeteners) เป็นต้น ทำให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยสำหรับสินค้าประเภทอาหาร

6. ข้อคิดเห็น สคร. กวางโจว

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2552 กระทรวงพาณิชย์จีนได้ประกาศโควตาการนำเข้านำตาลสำหรับปี 2553 คือ 1.945 ล้านตัน ในจำนวนนี้ กำหนดแบ่งโควตาให้รัฐวิสาหกิจ 70% (1.36 ล้านตัน) สคร. กวางโจว เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยในการส่งออกน้ำตาลมายังประเทศจีน สำหรับภาษีในการนำเข้านั้น เนื่องจากสินค้าน้ำตาลเป็นสินค้าอ่อนไหวของจีน ปัจจุบันนี้ ภาษีนำเข้าของจีนยังเป็น 15 % (ในโควตา) และ 50 %(นอกโควตา) นอกจากนี้ ยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 17%

สคร. เมืองกวางโจว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ