นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออก ประจำเดือนมกราคม 2553 ว่ามีการขยายตัวเป็นบวก ร้อยละ 30.83 มูลค่าการส่งออก 13,723 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปี 2552
นางพรทิวา กล่าวว่า สินค้าส่งออกที่สำคัญเพิ่มขึ้นในทุกหมวดติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยเฉพาะสินค้าสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรพวกข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 46.2 ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญพวกเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ สิ่งทอ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งพิมพ์ฯ เครื่องสำอางฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27.8 สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญ โดยตลาดหลักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 28.4 และตลาดอาเซียนเติบโตถึงร้อยละ 66.6 ด้านตลาดใหม่ยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัวสูงถึงร้อยละ 33.2 เช่น อินเดียขยายตัวร้อยละ 141.7 ไต้หวันร้อยละ 96 จีนร้อยละ 94.2 และอินโดจีนร้อยละ 58.3
ทั้งนี้ มาจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะมีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ สถาบันต่างๆ จึงปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ อาทิกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับการคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลกปี 2553 เป็น 3.9% จากคาดการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2552 ที่เดิมอยู่ที่ 3.1% ขณะที่ธนาคารโลกก็ปรับการคาดการณ์เพิ่มขึ้นเป็น 2.7% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2%
รวมไปถึงความต้องการสินค้าเกษตรของโลกคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนทั่วโลก จึงส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อภาคการเกษตร ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้ราคาสินค้าเกษตร อาทิ น้ำตาล มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าว มีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน แม้ไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันจากสินค้าราคาถูกจากเวียดนาม หลังจากมีการลดค่าเงินบาท แต่ก็ยังส่งผลในด้านบวกให้กับสินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุนที่นำเข้าจากไทย นอกจากนี้ยังมีสัญญาณที่ดีของการขยายตัวด้านการส่งออกอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของภาคการผลิต และการส่งออกของไทย ขณะที่ไทยกำลังได้รับประโยชน์จากการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีน อินเดีย และอาเซียน ทำให้การส่งออก ขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าเดือนมกราคม 2553 มีมูลค่า 13,208 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.8 ซึ่งสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.6 สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 และกลุ่มสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.3 ส่งผลให้ดุลการค้าเดือนมกราคม 2553 ของไทยเกินดุลการค้า 516 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยง ผลกระทบจากมาตรการที่จีนลดความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อและฟองสบู่ จึงส่งผลทำให้เศรษฐกิจจีน ชะลอความร้อนแรงลง รวมถึงวิกฤติหนี้ของประเทศกรีซ ที่แม้จะมีสัดส่วนการส่งออกน้อย แต่หากประเทศในแถบยุโรป หันมาเคร่งครัดในด้านนโยบายการคลังกับทุกประเทศ อาจจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศในแถบยุโรป
ขณะที่ความเสี่ยงด้านอื่น อาทิ การขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง และสถานการณ์การณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง และค่อนข้างเปราะบาง แนวโน้มราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
ที่มา: http://www.depthai.go.th