ม.ค.53 ไทยได้ดุลการค้าจากการเปิดเขต CAFTA

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 2, 2010 16:07 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตามสถิติของศุลกากรจีน ในช่วงเดือนมกราคม 2553 ที่ผ่านมา ASEAN ได้กลายเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 3 ของจีน รองลงมาจาก EU และสหรัฐอเมริกา (ในช่วงที่ผ่านมา คู่ค้าสำคัญอันดับ 3 ของจีน คือประเทศญี่ปุ่น) โดยมีมูลค่านำเข้าส่งออกรวมทั้งสิ้น 21,480 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 80 ในจำนวนนี้ มูลค่าส่งออกไปยัง ASEAN รวมทั้งสิ้น 10,550 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.8 มูลค่านำเข้าจาก ASEAN รวมทั้งสิ้น 10,930 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 120 ประเทศจีนขาดดุลการค้า 380 ล้านเหรียญสหรัฐ (ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 ประเทศจีนได้ดุลการค้า 1,870 ล้านเหรียญสหรัฐ)

สำหรับการค้าขายระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนในช่วงเดือนมกราคม 2553 มูลค่านำเข้าส่งออกรวมทั้งสิ้น 3,691.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 89.8 ในจำนวนนี้ มูลค่าส่งออกไปไทยรวมทั้งสิ้น 1,290.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.5 มูลค่านำเข้าจากไทยรวมทั้งสิ้น 2,401.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 114.2 จีนขาดดุลการค้า 1,111.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

เพื่อรองรับสถานการณ์การนำเข้าสินค้าจาก ASEAN เพิ่มมากขึ้น ศุลกากรกรจีนได้ออกมาตรการต่างๆ อำนวยความสะดวกในการผ่านด่านให้กับสินค้าจาก ASEAN เช่น ศุลกากรในเมืองเซินเจิ้น ซึ่งเป็นด่านนำเข้าสินค้าจาก ASEAN ที่สำคัญของจีน ได้สร้างระบบการปล่อยสินค้าอัตโนมัติสำหรับรถบรรทุก ความเร็วในการปล่อยสินค้าออกจากด่านเพิ่มขึ้น 20 กว่าเท่าด่านผิงเสียง (Ping Xiang) และ ด่านตงซิง(Dong Xing) ของเขตปกครองตนเองกวางสีได้กำหนดทำงานตลอดวันและไม่มีวันหยุดราชการตลอดปี

ก่อนที่จะเปิดเขต CAFTA ในวันที่ 1 มกราคม 2553 หลายท่านมีความกังวลว่าสินค้าจีนจะทะลักเข้าไปประเทศไทย และประเทศจีนจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์ที่สุดในการเปิดเขต CAFTA เนื่องจากสินค้าจีนราคาถูก มีศักยภาพในการแข่งขันสูงมาก แต่ถ้ามองจากตัวเลขการนำเข้าส่งออกดังกล่าวแล้ว ดูเหมือนว่าเรื่องที่หลายท่านกังวลนั้นไม่ได้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเพียง 1 เดือนคงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์ทั้งปีจะเป็นอย่างไร สคร.กวางโจวจะติดตามสถานการณ์ เขต CAFTA และรายงานเป็นระยะๆ ต่อไป

สคร. เมืองกวางโจว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ