ข้อมูล Franchise Consultant ในประเทศสิงคโปร์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 2, 2010 16:25 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. รายชื่อบริษัทที่ปรึกษาด้านแฟรน์ไชส์หรือที่ปรึกษาด้านกฎหมายแฟรนไชส์

ในสิงคโปร์มีบริษัทให้คำปรึกษาด้านแฟรนไชส์ 6 บริษัท

2. วิธีการให้คำปรึกษา ได้แก่

2.1 การจัดตั้งธุรกิจแฟรน์ไชส์ไทยในสิงคโปร์ การจดทะเบียนต่างๆ การพิจารณารายละเอียดในหนังสือชี้ชวน การพิจารณารายละเอียดในสัญญาซื้อ-ขายแฟรน์ไชส์ รวมถึงให้คำปรึกษาด้านสถานที่ตั้ง การดำเนินการ ด้านการเงิน การส่งพนักงานเข้ารับการฝึกอบรม โลจีสติกส์ และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

2.2 การแก้ไขปัญหาการดำเนินการเป็นครั้งๆ ซึ่งจะให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาในแต่ละหัวข้อเรื่องที่เกิดปัญหา

2.3 การแนะนำ/เชิญชวน นักลงทุนในสิงคโปร์หรือต่างประเทศที่สนใจจะเป็น Franchisee ธุรกิจระบบแฟรน์ไชส์ของไทย

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่บริษัทที่ปรึกษาในสิงคโปร์จะได้รับ Practicing Management Consultant Certification (PMCs) และ/หรือได้รับ Certified Franchise Executive (CFE) จากสมาคม Franchising and Licensing Association (FLA)

3. ค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ปรึกษาในสิงคโปร์

บริษัทที่ปรึกษาจะได้รับค่าคอมมิชชั่นและค่าใช้จ่ายโครงการตามที่ตกลงกันเป็นจำนวนหนึ่งที่จ่ายครั้งเดียว ซึ่งไม่สามารถกำหนดหรือกะประมาณค่าคอมมิชชั่นและค่าใช้จ่ายโครงการได้ จะเป็นไปตามกลไกของแต่ละสาขาแฟรนไชส์ รวมถึงความเป็นที่นิยมของแฟรนไชส์นั้นๆ สำหรับค่าใช้จ่ายในการจับคู่ธุรกิจการค้า คิดร้อยละ 20 ของมูลค่ารวม นอกจากนี้ หากบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการเรื่องการฝึกอบรมพนักงาน หรือการจัดคณะผู้แทนการค้าที่สนใจซื้อ-ขายแฟรนไชน์ บริษัทที่ปรึกษาจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่งที่จ่ายครั้งเดียว

4. ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนกิจการ Brand

การจดทะเบียน Brand นั้น มีปัจจัยประกอบหลายประการ เช่น สาขาธุรกิจแฟรนไชส์ และประเทศ เป็นต้น ซึ่งการใช้บริการทนายความในสิงคโปร์เป็นผู้จัดการจดทะเบียน Brand จะเป็นวิธีที่ดีและปลอดภัยที่สุด ประมาณการค่าใช้จ่าย 3,000 — 5,000 เหรียญสิงคโปร์ (ไม่รวมการแก้ไขปัญหา)

ทั้งนี้ กฎหมายเครื่องหมายการค้าของประเทศสิงคโปร์ ดังนี้

ข้อมูลพื้นฐาน

1. กฎหมายที่ให้ความคุ้มครอง — พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2542

2. ระบบให้ความคุ้มครอง — เครื่องหมายการค้าที่ได้รับความคุ้มครอง จะต้องได้รับการจดทะเบียนกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศสิงคโปร์ (Intellectual Property Office of Singapore : IPOS) ซึ่งเป็นระบบการจดทะเบียนก่อน (First to File System)

3. สิ่งที่ได้รับความคุ้มครอง/นิยาม

  • เครื่องหมายการค้า หมายถึง เครื่องหมายใดที่สามารถมองเห็นได้ และสามารถแสดงให้เห็นด้วยภาพ และสามารถใช้แยกสินค้าและบริการที่มีหรือที่ให้ในทางการค้าโดยบุคคลหนึ่งออกจากสินค้าและบริการของอีกบุคคลหนึ่ง
  • เครื่องหมาย ให้หมายความรวมถึง ตัวอักษร คำ ชื่อ ลายมือชื่อ ตัวเลข ภาพประดิษฐ์ ตรา ข้อความ ฉลาก ตั๋ว รูปร่าง สี แง่มุมการบรรจุภัณฑ์ หรือสิ่งใดเหล่านี้รวมกัน

4. อายุความคุ้มครอง — 10 ปี นับแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน และต่ออายุได้คราวละ 10 ปี

การขอรับความคุ้มครอง

1. การเตรียมคำขอ

ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ได้มีที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ในประเทศสิงคโปร์ ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนดังกล่าวจะต้องแต่งตั้งหรือมอบอำนาจให้ตัวแทนเครื่องหมายการค้าในประเทศสิงคโปร์เป็นผู้ดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนแทน

2. เอกสารที่ใช้ในการขอรับความคุ้มครอง
  • คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (ต่อหนึ่งจำพวกสินค้า๗
  • หนังสือมอบอำนาจ (ไม่ต้อง legalized หรือ notarized)
  • รูปเครื่องหมายการค้า
  • ข้อมูลของผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนเช่น ชื่อ ที่อยู่ (สถานที่ติดต่อได้ในประเทศสิงคโปร์) และสัญชาติ
  • รายการสินค้า/บริการที่ประสงค์จะขอรับการจดทะเบียน
3. การประกาศโฆษณา

เมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้ประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใด คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะถูกนำไปลงประกาศโฆษณาในหนังสือประกาศโฆษณาเป็นระยะเวลาสองเดือน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียคัดค้านคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว

4. การรับจดทะเบียน

ในกรณีที่ไม่มีผู้คัดค้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือมีผู้คัดค้าน แต่ในที่สุดมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยถึงที่สุดให้ยกคำคัดค้านนั้น นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะมีคำสั่งให้รับจดทะเบียนและออกหนังสือสำคัญการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นให้แก่ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อไป

5. การขอถือสิทธิย้อนหลัง

ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนมีสิทธิที่จะขอถือสิทธินับวันยื่นคำขอย้อนหลังในประเทศสิงคโปร์ได้ โดยจะต้องยื่นคำขอถือสิทธินับวันยื่นคำขอย้อนหลัง พร้อมกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และสำเนาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศอื่น (ในกรณีที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้นำส่งเอกสารดังกล่าว) ภายในกำหนดเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศอื่น

6. ขั้นตอน/ระยะเวลา

โดยปรกติ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศสิงคโปร์จะใช้เวลาประมาณ 18-24 เดือน นับตั้งแต่วันยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจนกระทั่งถึงวันออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศสิงคโปร์ (Intellectual Property Office of Singapore : IPOS) เป็นหน่วยงานที่ดูแลและบริหารการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศสิงคโปร์

Intellectual Property Office of Singapore : IPOS

51 Bras Basah Road, #04-01 Plaza by the Park

Singapore 189554

                    Tel: 65- 6330 2720          Fax: 65-6339 0252

Website: http://www.ipos.gov.sg

ตารางค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
                                                ค่าธรรมเนียม (US$)       ค่าบริการวิชาชีพ (US$)
1. การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า                    175                     230
2. การยื่นเอกสารล่าช้า                                     -                       -
3. การแก้ไขคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
   -แก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อ                                    12                     115
   -แก้ไขเปลี่ยนแปลงที่อยู่                                   12                     115
4. การประกาศ                                           -                       90
5. คำขอตรวจสอบ                                         -                       -
6. การรับจดทะเบียน                                       -                       60
7. การขอนับวันยื่นย้อนหลัง                                   -                       60
ที่มา:  Department of Intellectual Property, Ministry of Commerce
5. ค่าธรรมเนียมสมาชิกสมาคมที่เกี่ยวข้อง

Franchising and Licensing Association (FLA) Singapore : ค่าสมาชิกปีละ 1,000 เหรียญ-สิงคโปร์

FLA จะให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น ส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชน์ ประสานงานกับภาครัฐเพื่อให้สมาชิกได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินสนับสนุน ให้การสนับสนุนเข้าโปรแกรมของภาครัฐภายใต้โปรแกรม Local Enterprise and Association Development (LEAD) ที่จะให้การช่วยเหลือในด้านการพัฒนาตลาด พัฒนาอุตสาหกรรม และการฝึกอบรมพนักงาน

นอกจากนี้ FLA ยังมีความร่วมมือกับ The International Franchise Association เปิดตัว US-based Certified Franchising Executive or CFE Program ในสิงคโปร์ จะส่งให้อุตสาหกรรมแฟรนไชส์ในสิงคโปร์เป็นมืออาชีพ ซึ่งบริษัทท้องถิ่นสามารถเข้าร่วมเพื่อจะได้รับประกาศนียบัตร ซึ่งทั้งผู้ขายและผู้ซื้อแฟรนไชส์จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการได้รับข้อมูลที่ทันเหตุการณ์ในด้านต่างๆ ได้แก่ แนวโน้ม ซอฟแวร์ และด้านกฎหมาย

6. ข้อมูลอื่นๆ

6.1 กลุ่มแฟรนไชส์ในสิงคโปร์ได้เจริญเติบโตขึ้นอย่างมากภายใน 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในปัจจุบันไม่เพียงแต่ในสาขาอาหารเท่านั้น ได้ขยายกิจการไปยังผู้ให้คำแนะนำด้านการลงทุน, ด้านความสวยความงามและสปา, ด้านยารักษาโรค, ด้านการศึกษา และด้านให้บริการสุขอนามัย

6.2 แนวโน้มแฟรนไชส์ ส่วนใหญ่มุ่งเน้นบริษัท SMEs เนื่องด้วยจำนวนเงินลงทุนไม่สูงมากและค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการอยู่ในขั้นต่ำ

6.3 บริษัทท้องถิ่นขนาดใหญ่สามารถขยายกิจการแฟรนไชส์ไปยังภูมิภาคและทั่วโลกในระดับ นานาชาติ ได้แก่ BreadTalk, Apex Pal International, Charles & Keith, V-Kool และ OSIM

6.4 สิงคโปร์ได้พยายามปรับปรุงและพัฒนาให้ประเทศเป็น Franchise Hub ในภูมิภาค ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ IP บริษัทต่างชาติได้เลือกใช้สิงคโปร์เป็นฐานในการขยายระบบและสิทธิ์ของแฟรนไชน์ ซึ่งสมาชิกของ FLA จำนวนครึ่งหนึ่ง เป็นบริษัทที่มียี่ห้อจากนานาชาติ ได้แก่ Pepper Lunch, Subway, O’briens, Marche’, Time Zone และ 7-Eleven โดยมีสำนักงานใหญ่ภูมิภาคในสิงคโปร์ มีการทำ R & D และให้การฝึกอบรมสำหรับแฟรนไชส์ภูมิภาค ใช้สิงคโปร์เป็นฐานที่ทำให้ขยายกิจการทั้งในสิงคโปร์และในภูมิภาค

6.5 บริษัทท้องถิ่น ที่ได้เป็นเจ้าของ 100 % และดำเนินกิจการของ Master Franchisee อื่นๆในสิงคโปร์ ได้แก่ Modem Montessori International และ The Coffee Bean & Tea Leaf

6.6 ตลาดสิงคโปร์เป็นตลาดเล็กมีประชากรเพียง 4.8 ล้านคน การขยายแฟรนไชส์ในสิงคโปร์คงจะเป็นไปได้น้อยมาก แต่เป็นโอกาสดีที่จะใช้สิงคโปร์เป็นฐานเพื่อส่งต่อให้การขยายแฟรนไชส์ไทยไปยังภูมิภาคและไปยังทั่วโลก

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ