ข้อมูลสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในสิงคโปร์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 4, 2010 15:37 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ประเภทสินค้าที่สำคัญของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ จำแนกตามรหัสศุลกากรนำเข้า ดังนี้
        HS Code     รายการ
          7102      เพชร (Diamonds not Mounted or Set)
          7103      อัญมณีและพลอย (Precious & Semi-Precious Stones not Strung Mounted of
                    set incl Temporarily Strung for Transport)
          7113      เพชรพลอยและรูปพรรณต่างๆ ที่ทำด้วยโลหะมีค่าและเงิน  (Articles of
Jewellery & Parts thereof of Precious Metal or Metal clad with Precious Metal)
2. ภาวะการผลิต/แหล่งวัตถุดิบภายในประเทศ

2.1 แหล่งวัตถุดิบ สิงคโปร์นำเข้าจากประเทศต่างๆทั่วโลก ได้แก่ อินเดีย ฮ่องกง เบลเยี่ยม อิสราเอล สหรัฐฯ สาธารณรัฐอาหรับอิมิเรทส์ สวิสเซอร์แลนด์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย อัฟริกาใต้ จีน ไทย เยอรมัน ฝรั่งเศส ศรีลังกา โคลัมเบีย บราซิล สหราชอาณาจักร อิตาลี บรูไน เป็นต้น

2.2 ลักษณะการผลิต สิงคโปร์มีการผลิตภายในประเทศ เป็นเครื่องเพชร พลอย และรูปพรรณต่างๆที่ทำด้วยทอง/โลหะ/เงินและวัสดุที่มีค่า

2.3 ภาวะการผลิตภายในประเทศ

2.3.1 จากข้อมูลของ Singapore Jewellers Association มีโรงงานผลิต 70 แห่ง จำนวนแรงงานประมาณ 620 คน และร้านค้าจำหน่ายจำนวน 750 ราย ด้วยการจ้างงาน 5,400 คน และสำหรับบริษัทที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Singapore Jewellers Association (SJA- สมาคมที่เป็นตัวแทนผู้ค้าอัญมณีฯโดยไม่ได้รับผลกำไร) มีจำนวน 282 ราย

2.3.2 มูลค่ารวมการผลิตภายในประเทศเพื่อการส่งออก(Domestic Exports) ปี 2550-2552 ดังนี้

                               หน่วย : พันเหรียญสิงคโปร์
            HS Code     2550       2551        2552
             7102    181,604    168,944      199,455
             7103      9,403     12,785       16,136
             7113    793,553    968,327    1,140,515
          ที่มา: International Enterprise (IE) Singapore
ทั้งนี้ การผลิตในประเทศมีการส่งออกไปยังไทย โดยในปี 2552 มูลค่าการส่งออกไปไทยมีดังนี้
  • สินค้า 7102 มูลค่า 1,767,000 เหรียญสิงคโปร์ (ประเทศคู่ค้าอันดับที่ 12)
  • สินค้า 7113 มูลค่า 2,089,000 เหรียญสิงคโปร์ (ประเทศคู่ค้าอันดับที่ 4)
  • สินค้า 7103 มูลค่า 19,770,000 เหรียญสิงคโปร์ (ประเทศคู่ค้าอันดับที่ 10)
ประเทศคู่ค้าส่งออก(Domestic Exports) สำคัญ 10 อันดับแรกของสิงคโปร์ ได้แก่
  • สินค้า 7102 : ฮ่องกง, มาเลเซีย, จีน, เบลเยี่ยม, อินโดนีเซีย, อินเดีย, สาธารณรัฐ-อาหรับอิมิเรทส์, สหรัฐฯ, สวิสเซอร์แลนด์ และอิสราเอล,
  • สินค้า 7113 : ฮ่องกง, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ไทย, สหรัฐฯ, สวิสเซอร์แลนด์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
  • สินค้า 7103 : สาธารณรัฐอาหรับอิมิเรทส์, ฮ่องกง, อินเดีย, มาเลเซีย, บังคลาเทศ, สวิสเซอร์แลนด์, สหรัฐฯ, อินโดนีเซีย, ศรีลังกา และไทย

3. ข้อมูลทางการตลาด

3.1 รูปแบบสินค้า สินค้าที่ผลิตเองในประเทศ นิยมออกแบบ/ดีไซน์เป็นชุดซึ่งประกอบด้วยสร้อยคอ ต่างหู แหวน และกำไล ประดับด้วยอัญมณีและพลอยสีต่างๆ และเสริมด้วยเพชรหรือไข่มุก โดยเน้นการออกแบบสไตล์ยุโรป

3.2 ความนิยม-พฤติกรรมผู้บริโภค

3.2.1 สิงคโปร์มีประชากรประมาณ 4.8 ล้านคน (มิย. 52) ประกอบด้วยชนหลายเชื้อชาติ ซึ่งมีรสนิยมต่างกัน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

  • เชื้อชาติจีน ร้อยละ 77 ชอบเครื่องประดับทอง 916/เพชร/อัญมณี และเงินลงยา ที่มีค่า
  • เชื้อชาติมาเลย์ ร้อยละ 14 ชอบเครื่องประดับทอง 22/18 K มีลวดลายและประดับอัญมณีสีต่างๆรวมทั้งเครื่องประดับเงิน 925 และนิล ราคาไม่แพงมาก
  • เชื้อชาติอินเดีย ร้อยละ 7.6 ชอบเครื่องประดับทอง 22/18 K ลวดลายแบบอินเดีย และประดับด้วยพลอยสีต่างๆ

3.2.2 หากพิจารณาตามสถานภาพบุคคล สามารถจำแนกได้ 3 ลักษณะคือ

  • สตรีโสด ความต้องการไม่เปลี่ยนแปลงตามภาวะเศรษฐกิจ แต่จะขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ เครื่องประดับที่จำหน่ายได้ดี ได้แก่ ต่างหู และแหวนแบบตามแฟชั่นทันสมัย ซึ่งจะซื้อโดยคำนึงถึงรูปแบบมากกว่าคุณค่าของวัสดุ ทั้งนี้ จะถือว่าเครื่องประดับเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องใช้ร่วมกับเสื้อผ้าและการแต่งหน้า
  • สตรีที่เป็นคู่หมั้นหรือเตรียมจะแต่งงาน เครื่องประดับสำหรับกลุ่มนี้ คือ แหวนหมั้นและแหวนแต่งงาน ต้องการรูปแบบให้มีลักษณะคล้ายคลึงกันสำหรับคู่หนุ่มสาว โดยจะมีเพชรประดับ และส่วนใหญ่จะเป็นไปตามแฟชั่นทันสมัยในต่างประเทศ สินค้าในกลุ่มนี้ นอกจากจะได้ลูกค้าเป็นสตรีแล้ว ยังสามารถจำหน่ายแก่บุรุษที่เป็นคู่หมั้นได้ด้วย
  • สตรีที่แต่งงานแล้ว เครื่องประดับที่เป็นที่นิยม อาทิ เข็มกลัด สร้อยคอ แหวน ซึ่งจะเน้นคุณค่าของวัสดุและมีราคา ทั้งนี้ จะเน้นเครื่องประดับที่ผลิตจากทองหรือแพลทตินัม 950 ที่มีรูปแบบลักษณะพิเศษเฉพาะ
3.3 การกำหนดราคาขาย : ราคาขึ้นอยู่กับมูลค่าของวัตถุดิบและเป็นไปตามกลไกของตลาด อีกทั้งผู้ซื้อนิยมซื้อจากร้านที่มีชื่อเสียงและเป็นที่เชื่อถือได้ ซึ่งหน่วยงานสิงคโปร์ได้ออกตราเครื่องหมายรับรองให้แก่ร้านค้าที่สินค้าฯ มีมาตรฐาน แบ่งออกเป็น 3 เครื่องหมาย คือ

1) เครื่องหมาย SAO Hallmark จากหน่วยงาน Singapore Assay Office (SAO) เป็นหน่วยงานอิสระออกใบรับรองสำหรับเครื่องประดับทอง โดยประทับตราบนเครื่องประดับ พร้อมระบุคุณภาพเป็น 916 (Gold Article), 925 (Sterling Silver Article) หรือ 950 (Platinum Article)

2) เครื่องหมาย Quality Jewellers of Singapore (QJS) โดย Singapore Jewellers Association และได้รับการสนับสนุนจาก Singapore Tourism Board (STB) และ Standards Productivity and Innovations Board (SPRING Singapore) ดำเนินการโดย The Retail Promotion Centre (RPC) มอบตราเครื่องหมายให้แก่ร้านจำหน่ายเครื่องประดับอัญมณีที่ได้มาตรฐาน

3) เครื่องหมายโลโก้ของ Singapore Jewellers Association (SJA) ที่จะมอบให้แก่ร้านที่เป็นสมาชิก และมีการประกาศให้ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว มีความมั่นใจที่จะเลือกซื้อสินค้าเมื่อเห็นป้ายนี้

3.4 ช่องทางการจำหน่าย : จัดจำหน่ายตามร้านขายทอง/อัญมณีตามเขตต่างๆทั่วสิงคโปร์ และในห้างสรรพสินค้าทั่วไป อนึ่ง ร้านค้ามีการส่งเสริมการขาย โดยการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือร่วมกับศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้าจัดรายการลดราคาพิเศษแก่ลูกค้าในเทศกาลต่างๆ เช่น คริสต์มาส ปีใหม่ ตรุษจีน ฯลฯ อีกทั้งมีการส่งเสริมการขายโดยผ่านบัตรเครดิตต่างๆอีกด้วย

3.5 ข้อมูลการค้าอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

3.5.1 ตลาดค้าปลีกในสิงคโปร์มีมูลค่าประมาณปีละ 25 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ และเป็นภาคหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจสิงคโปร์ นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมภาคการลงทุนจากต่างประเทศและภาคการท่องเที่ยวให้มีนักท่องเที่ยวเยือนสิงคโปร์เพิ่มมากขึ้น สำหรับตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่าประมาณปีละ 1.46 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณร้อยละ 7 ของตลาดค้าปลีกรวม

3.5.2 ผู้ผลิตและผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับในสิงคโปร์มีคู่แข่งขันจากสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากยุโรป อิตาลี และฝรั่งเศส ที่สินค้ามีรูปแบบที่ถูกตาถูกใจผู้ซื้อ ดูมีราคา ส่วนประเทศที่เป็นคู่แข่งด้านค่าใช้จ่ายในการผลิตต่ำและมีความสามารถในการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่ใช้วัสดุต่างเกรดจากทางตะวันตก แต่ผลิตได้รูปแบบที่สวยงาม ทำให้ดูมีค่าและราคาสูง คือ ประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

3.5.3 รูปแบบของสินค้าเป็นปัจจัยเพื่อการแข่งขันในตลาดสิงคโปร์ ผู้ค้าจะต้องฉีกรูปแบบของตนเองออกให้ชัดเจน ตัวอย่างผู้ค้าที่ได้รับความนิยมในสิงคโปร์ ได้แก่ 1) Aspial-Lee Hwa ร่วมกับนักออกแบบ ชาวญี่ปุ่นออกแบบและผลิตอัญมณีชุดพิเศษใช้ชื่อว่า “Twist” ส่งผลให้บริษัทได้รับความนิยมจากผู้ซื้อในตลาด นานาชาติ 2) Goldheart มีความคิดสร้างสรรที่แตกต่างจากร้านค้าทั่วไป โดยให้นักแสดงที่มีชื่อเสียงในสิงคโปร์เป็นผู้ออกแบบ และมุ่งเน้นเฉพาะตลาดกลุ่มคนแต่งงานแล้ว

3.5.4 สินค้าที่มีแบรนด์เป็นของตนเองจะและได้ประชาสัมพันธ์ให้แบรนด์เป็นที่ติดตลาดแล้ว จะได้รับความสนใจและความมั่นใจจากผู้ซื้ออย่างมาก ได้แก่ 1) Tiffany (ได้ชื่อเสียงจาก Blue Box), 2) Poh Heng Jewellery (มุ่งเน้นตลาดระดับทำงาน และได้นำเสนอแบรนด์ใหม่อีก 2 ชื่อ คือ ORO22 และ itrust me), 3) Soo Kee Jewellery (เน้นเครื่องประดับเพชรที่ทุกระดับสามารถเป็นเจ้าของได้ และได้สร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นอีกชื่อหนึ่ง คือ SK Jewellery)

4. กฎระเบียบทางการค้า และการนำเข้าและส่งออก

4.1 กฎระเบียบทางการค้า การนำเข้าเป็นไปอย่างเสรี โดยผู้นำเข้าจดทะเบียนขอมีใบอนุญาตนำเข้า ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสิงคโปร์ต้องขออนุญาตนำเข้า/ส่งออกจากหน่วยงาน International Enterprise (IE) Singapore และ Department of Customs ทุกครั้งที่มีการนำเข้า/ส่งออก

4.2 สถิติการนำเข้าและส่งออก

4.2.1 การนำเข้า สิงคโปร์นำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ ประเภทเพชร อัญมณี พลอย และเครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณต่างๆ ที่ทำด้วยโลหะมีค่าและเงิน จากประเทศต่างๆ ทั่วโลกเช่น ฝรั่งเศส อิตาลี ไอร์แลนด์ อินเดีย เบลเยี่ยม รัสเซีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฮ่องกง สวิสเซอร์แลนด์ มาเลเซีย สหรัฐฯ สหราช-อาณาจักร เยอรมัน ฟิลิปปินส์ เวียตนาม ศรีลังกา จีน ไต้หวัน แคนาดา เกาหลี แอฟริกาใต้ และไทย

          มูลค่าการนำเข้ารวม และจากไทย ปี 2550-2552  ดังนี้
                                       หน่วย : พันเหรียญสิงคโปร์
      HS Code              2550         2551         2552
7102 นำเข้ารวม          1,082,995    1,265,701    1,294,049
         จากไทย            4,745        1,789        1,819
7103 นำเข้ารวม             47,005      133,046      116,521
         จากไทย            9,059        8,039        3,480
7113  นำเข้ารวม         2,174,345    2,757,710    2,533,278
         จากไทย           13,860       23,172       13,582
ที่มา : International Enterprise (IE) Singapore

ในช่วงปี 2552 สิงคโปร์นำเข้าสินค้าดังกล่าวข้างต้นจากประเทศต่างๆ ดังนี้

  • 7102 นำเข้าอันดับ 1 จากอินเดีย มูลค่า 856,009 พันเหรียญสิงคโปร์ ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 66.15 รองลงมาได้แก่ ฮ่องกง (856,009 พันเหรียญฯ ร้อยละ 9.08) เบลเยี่ยม (85,191 พันเหรียญฯ ร้อยละ 6.58) อิสราเอล (77,326 พันเหรียญฯ ร้อยละ 5.98) สหรัฐฯ (62,186 พันเหรียญฯ ร้อยละ 4.81) สาธารณรัฐอาหรับอิมิเรทส์ (24,582 พันเหรียญฯ ร้อยละ 1.90) สวิสเซอร์แลนด์ (20,554 พันเหรียญฯ ร้อยละ 1.59) มาเลเซีย (19,945 พันเหรียญฯ ร้อยละ1.54) ออสเตรเลีย (13,596 พันเหรียญฯ ร้อยละ 1.05) อินโดนีเซีย (5,735 พันเหรียญฯ ร้อยละ 0.44) และไทยอยู่ในอันดับ 13 มูลค่า 1,819 พันเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 1.68 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.14
  • 7103 นำเข้าอันดับ 1 จากอินเดีย มูลค่า 56,958 พันเหรียญสิงคโปร์ ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 48.88 รองลงมาได้แก่ ฮ่องกง (38,002 พันเหรียญฯ ร้อยละ 32.61) ไทย เป็นคู่ค้าอันดับ 3 มูลค่า 3,480 พันเหรียญฯ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 56.71 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.99 นอกจากนี้ นำเข้าจากโคลัมเบีย (2,924 พันเหรียญฯ ร้อยละ 2.51) ฝรั่งเศส (2,893 พันเหรียญ ร้อยละ 2.48) สหรัฐฯ (2,874 พันเหรียญฯ ร้อยละ 2.47) ศรีลังกา (2,563 พันเหรียญฯ ร้อยละ 2.20) จีน (1,944 พันเหรียญฯ ร้อยละ 1.67) มาเลเซีย (1,879 พันเหรียญฯ ร้อยละ 1.63)
  • 7113 นำเข้าอันดับ 1 จากมาเลเซีย มูลค่า 745,539 พันเหรียญสิงคโปร์ ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 29.43 รองลงมาได้แก่ อินโดนีเซีย (483,721 พันเหรียญฯ ร้อยละ 19.09) อินเดีย (309,240 พันเหรียญฯ ร้อยละ 12.21) ฮ่องกง (273,638 พันเหรียญฯ ร้อยละ 10.80) จีน (142,721 พันเหรียญฯ ร้อยละ 5.63) ฝรั่งเศส (139,960 พันเหรียญฯ ร้อยละ 5.52) สหรัฐฯ (130,522 พันเหรียญฯ ร้อยละ 5.15) สาธารณรัฐอาหรับอิมิเรทส์ (84,401 พันเหรียญฯ ร้อยละ 3.33) สวิสเซอร์แลนด์ (81,436 พันเหรียญฯ ร้อยละ 3.21) อิตาลี (45,508 พันเหรียญฯ ร้อยละ 1.80) บรูไน (21,300 พันเหรียญฯ ร้อยละ 0.84) สหราชอาณาจักร (16,175 พันเหรียญฯ ร้อยละ 0.64) และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 13 มูลค่า 13,582 พันเหรียญฯ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 41.38 และมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.54

4.2.2 การส่งออก สิงคโปร์ส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก เช่น ฮ่องกง มาเลเซีย ออสเตรเลีย สวิสเซอร์แลนด์ สหรัฐฯ เกาหลี ญี่ปุ่น ไทย เยอรมัน แคนาดา ฟิลิปปินส์ จีน เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ ศรีลังกา โดยมีทั้งการนำเข้าเพื่อส่งออกต่อและการผลิตภายในประเทศเพื่อส่งออก

   มูลค่าการส่งออกรวม และส่งออกไปยังไทย ปี 2550-2552  ดังนี้
                                           หน่วย : พันเหรียญสิงคโปร์
        HS Code                 2550         2551         2552
7102 ส่งออกรวม                 808,347    1,024,199    1,165,759
         ส่งออกไปไทย             3,881        3,341        5,884
7103 ส่งออกรวม                  23,846      117,544      118,460
         ส่งออกไปไทย             2,913        2,057        2,932
7113  ส่งออกรวม              1,302,418    2,225,867    2,335,166
         ส่งออกไปไทย            22,402       30,100       28,731
ที่มา : International Enterprise (IE) Singapore
ในช่วงปี 2552 สิงคโปร์ส่งออกสินค้าดังกล่าวข้างต้นไปยังประเทศต่างๆ ดังนี้
  • 7102 ส่งออกไปยังสาธารณรัฐอาหรับอิมิเรทส์เป็นอันดับ 1 มูลค่า 370,719 พันเหรียญสิงคโปร์ ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 31.80 รองลงมาได้แก่ อินเดีย (243,683 พันเหรียญฯ ร้อยละ 20.90) ฮ่องกง (214,358 พันเหรียญฯ ร้อยละ 18.39) มาเลเซีย (122,700 พันเหรียญฯ ร้อยละ 10.53) อินโดนีเซีย (42,029 พันเหรียญฯ ร้อยละ 3.61) อิสราเอล (31,990 พันเหรียญฯ ร้อยละ 2.74) สวิสเซอร์แลนด์ (31,514 พันเหรียญฯ ร้อยละ 2.70) ออสเตรเลีย (21,962 พันเหรียญฯ ร้อยละ 1.88) เบลเยี่ยม (21,594 พันเหรียญฯ ร้อยละ 1.85) สหรัฐฯ (20,946 พันเหรียญฯ ร้อยละ 1.80) และไทยอยู่ในอันดับ 13 มูลค่า 5,884 พันเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 76.13 มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.50
  • 7103 ส่งออกไปยังฮ่องกงเป็นอันดับ 1 มูลค่า 65,775 พันเหรียญสิงคโปร์ ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 55.53 รองลงมาได้แก่ ญี่ปุ่น (19,542 พันเหรียญฯ ร้อยละ 16.50) สวิสเซอร์แลนด์ (9,556 พันเหรียญฯ ร้อยละ 8.07) มาเลเซีย (3,843 พันเหรียญฯ ร้อยละ 3.24) สหรัฐฯ (3,508 พันเหรียญฯ ร้อยละ 2.96) ฝรั่งเศส (3,007 พันเหรียญฯ ร้อยละ2.54) และไทย เป็นคู่ค้าอันดับ 7 มูลค่า 2,932 พันเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 42.55 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.47 นอกจากนี้ ส่งออกไปยังเยอรมัน (2,416 พันเหรียญฯ ร้อยละ 2.04) สาธารณรัฐอาหรับ-อิมิเรทส์ (2,315 พันเหรียญฯ ร้อยละ1.95) และศรีลังกา (1,862 พันเหรียญฯ ร้อยละ 1.57)
  • 7113 ส่งออกไปยังสาธารณรัฐอาหรับอิมิเรทส์เป็นอันดับ 1 มูลค่า 1,165,890 พันเหรียญสิงคโปร์ ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 49.91 รองลงมาได้แก่ ฮ่องกง (292,760 พันเหรียญฯ ร้อยละ 12.53) มาเลเซีย (144,568 พันเหรียญฯ ร้อยละ 6.19) อินเดีย (133,202 พันเหรียญฯ ร้อยละ 5.70) สหรัฐฯ (115,827 พันเหรียญฯ ร้อยละ 4.96) สวิสเซอร์แลนด์ (88,933 พันเหรียญฯ ร้อยละ 3.81) บังคลาเทศ (43,578 พันเหรียญฯ ร้อยละ 1.87) อินโดนีเซีย (41,795 พันเหรียญฯ ร้อยละ 1.79) ฝรั่งเศส (40,121 พันเหรียญฯ ร้อยละ 1.72) สหราชอาณาจักร (32,265 พันเหรียญฯ ร้อยละ 1.38) และส่งออกไปยังไทยเป็นอันดับที่ 12 มูลค่า 28,731 พันเหรียญฯ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 4.55 และมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.23
5. โครงสร้างภาษี

5.1 การนำเข้า/ส่งออก เปิดเสรี ไม่เรียกเก็บภาษีขาเข้า

5.2 ภาษีที่เรียกเก็บคือ ภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax : GST) ร้อยละ 7

6. ข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี

ไม่มีข้อกีดกันทั้งทางด้านภาษีศุลกากรและไม่ใช่ภาษี อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงรสนิยมของผู้บริโภคซึ่งมีค่านิยมใช้อัญมณีที่มีรูปแบบและดีไซน์ตามความนิยมของชาวยุโรป ด้วยราคาที่เหมาะสม

7. การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ จากภาครัฐและเอกชน

7.1 ภาครัฐโดย International Enterprise (IE) Singapore จะส่งเสริมการจัดนำกลุ่มผู้นำเข้า/ ส่งออกเพื่อนำสินค้าไปจัดแสดง/จำหน่ายและ Networking ในงานนิทรรศการอัญมณีและเครื่องประดับในต่างประเทศ ทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐฯ

7.2 หน่วยงาน International Enterprise (IE) Singapore และ SPRING Singapore ได้ร่วมมือกันสนับสนุนเงินประมาณ 9 ล้านบาท ภายใต้ BrandPact ในการสนับสนุนให้บริษัท SMEs ได้มีโอกาสขยายตลาดในต่างประเทศ ซึ่งโปรแกรมนี้ ได้เปิดตัวตั้งแต่ปี 2548 และทำให้บริษัทกว่า 3,500 ราย ได้รับผลประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งการฝึกอบรม การสร้างแบรนด์ให้ติดตลาด การพัฒนาปรับปรุงแบรนด์สินค้าให้เป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่อง

7.3 ภาคเอกชน โดยสมาคม Singapore Jewellers Association : SJS (จัดตั้งเมื่อปี 2482 เป็นสมาคมตัวแทนกลุ่มผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับในสิงคโปร์ ดำเนินการโดยไม่ได้รับผลกำไร) รวมกลุ่มผู้ผลิต/ผู้นำเข้า/ผู้ส่งออก/ผู้ขายปลีก จัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายปลีกทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ SJA ดำเนิน- การจัดงานเพื่อส่งเสริมให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางแห่งอัญมณีและเครื่องประดับ โดยจัดงานและการประกวดเป็นประจำทุกปี คือ (1) Singapore International Jewellery Show ซึ่งในปี 2553 กำหนดจัดระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2553 ณ Marina Sand ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Singapore Tourism Board, SPRING Singaproe, Singapore Workforce Development Agency (2) Singapore Jewellery Design Award : SJDA (เดิมใช้ชื่อว่า Rotary Jewelry Design Award) สำหรับระดับนักศึกษา ซึ่งได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจาก Rotary Club of Singapore East (RCSE), Rotary Club of New Territories (Hong Kong), Rotary Club of Bangkok East (Thailand), SPRING Singapore, Diamond Exchange of Singapore, Solitaire, ผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับในสิงคโปร์ และสถาบันการออกแบบต่างประเทศ สำหรับการประกวดปี 2553 นี้ SJA ได้ประกาศรับสมัครตั้งแต่กลางปี 2552 และปิดรับสมัครแล้วเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2552 ทั้งนี้ การประกวดเป็นการออกแบบ 3 ประเภท คือ 1) Category A: Ladies Interchangeable Pendant or Earring (2 ways of wearing), 2) Category B: Men’s Jewellery และ 3) Category C: Jewellery for Casual Wear

7.4 สิงคโปร์ได้จัดตั้ง DesignSingapore Council ที่ร่วมมือประสานงานหน่วยงานภาครัฐและผู้ค้าในอุตสาหกรรมนี้ให้ร่วมกันส่งเสริมให้สิงคโปร์เป็นศูนย์แห่งผู้ชำนาญการในด้านการออกแบบ โดยจัดให้มีโปรแกรมเพื่อสนับสนุนการออกแบบเพื่อยกระดับสินค้าที่ผลิตจากสิงคโปร์ให้ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ ได้แก่ DesignSingapore Scholarships และ The President’s Design Awards

8. แนวโน้มและลู่ทางการขยายตลาด

8.1 สิงคโปร์เป็นตลาดที่มีศักยภาพและผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง แต่การซื้ออัญมณีและเครื่องประดับที่ถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยได้ชะลอตัวลงเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกทั้งในปี 2551 และ 2552 ซึ่งสิงคโปร์ได้รับผลกระทบอย่างมาก การค้าปลีกภายในประเทศชะลอตัว ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ขยายตัวลดลง และคาดการณ์ว่า ปี 2552 จะลดลงร้อยละ -2 จึงทำให้ผู้บริโภคพึงต้องระวังในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ คาดว่า การซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยยังคงชะลอตัวต่อไปในปี 2553-2554 แม้ว่าภาครัฐได้ประกาศว่า เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น ซึ่งคาดการณ์ GDP ในปี 2553 ประมาณร้อยละ 5.5 และภาคการค้าส่งและค้าปลีกจะขยายตัวร้อยละ 7 ก็ตาม

8.2 กลุ่มผู้บริโภคที่สำคัญสำหรับสินค้าเครื่องประดับ คือ กลุ่มวัยรุ่นทำงาน (ซึ่งยังคงจับจ่ายโดยคำนึงถึงความพึงพอใจส่วนตัว ไม่ระมัดระวังถึงภาวะเศรษฐกิจ) อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มของการจำหน่ายสินค้าฯ จะชะลอตัวลงต่อไปในปี 2553-2554 เนื่องจากกลุ่มนี้จะมีความสนใจพิเศษต่อสินค้า IT High Tech ที่แต่ละบริษัทได้ออกสินค้าตัวใหม่ๆเข้าสู่ตลาด

8.3 กลุ่มผู้ซื้อสำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง คือ นักท่องเที่ยว ซึ่งซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับประมาณปีละ 424 ล้านเหรียญสิงคโปร์ คิดเป็นประมาณร้อยละ 13 ของการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว ซึ่งนิยมซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอันดับ 3 รองจากสินค้าแฟชั่น-เครื่องประดับ และสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าไฮเทค

8.4 สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสามารถจำหน่ายได้เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลต่างๆ ได้แก่ 1) ประเภทเครื่องประดับทอง จำหน่ายได้มากขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน วันปีใหม่ของชาวมุสลิมและชาวอินเดีย อีกทั้งชาวสิงคโปร์มีประเพณีในการมอบของขวัญเครื่องประดับทองให้แก่เด็กแรกเกิดและในวันเกิดด้วย 2) ประเภทเครื่อง ประดับเงินประดับด้วยเพชร/พลอย จำหน่ายได้มากขึ้นในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ วันคริสต์มาส และวันปีใหม่

8.5 ลู่ทางและโอกาสสำหรับสินค้าไทยที่จะส่งออกมายังตลาดสิงคโปร์ คือ เครื่องประดับที่มีดีไซน์ ได้แก่ อัญมณี เพชรพลอยและรูปพรรณต่างๆ ที่ทำด้วยโลหะ โดยเฉพาะทำจากเงินลงยาประดับด้วยพลอยสี ลักษณะเป็นแฟนซี (หลายๆ สี) และที่ออกแบบในลักษณะเพื่อนำโชค เช่น กบกระโดด (Jumping Success) หมายถึงให้ประสบความสำเร็จ และเครื่องประดับเงินประเภท กำไล สร้อยคอ ต่างหู จี้ และเครื่องประดับครบชุด (สร้อยคอ จี้ เข็มกลัด แหวน และต่างหู)

9. ชื่อ/ที่อยู่/หมายเลขติดต่อของผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มีศักยภาพ

9.1 บริษัทผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับในสิงคโปร์ ที่เป็นสมาชิกของ SINGAPORE JEWELLERS ASSOCIATION ซึ่งสามารถดูรายชื่อทั้งหมดได้ที่เว็บไซด์ : http://www.sja.org.sg

(SINGAPORE JEWELLERS ASSOCIATION, NO 38-D, NORTH CANAL ROAD,

SINGAPORE 059294 TEL: (65) 6533 4053, 6535 2989 FAX: (65) 6533 0867

Email: sjeweasn@singnet.com.sg)

โดย สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ สิงคโปร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ