เอเชียชิงดำผู้ส่งออกโลก-สมดุลใหม่ของการค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 4, 2010 15:39 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อการส่งออกจีน เกาหลี และอินเดียพุ่งกระฉูด ขณะที่การส่งออกของประเทศประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเริ่มแผ่วลง ส่งผลต่อการกำหนดทิศทางการส่งออกของไทยในอนาคต

ในปี 1999 อำนาจการส่งออกยังอยู่ในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเดิมๆ คือสหรัฐ เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และอังกฤษ โดยมีสัดส่วนถึง 43% ของการส่งออกโลก อย่างไรก็ตามในปี 2009 สมดุลของการค้าโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยจีนได้ไต่อันดับจากผู้ส่งออกอันดับ 9 ไปเป็นอันดับ 1 ขณะที่เยอรมนียังคงรักษาอันดับ 2 ไว้ได้ด้วยมูลค่าการการส่งออกที่แซงหน้าสหรัฐไปได้ในช่วงปี 2003-2008 เพราะความเข้มแข็งในการส่งออกเครื่องจักรและเทคโนโลยีซึ่งเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกของประเทศทั่วโลก ขณะที่สหรัฐตกไปเป็นผู้ส่งออกอันดับ 3 ส่วนอังกฤษตกจากอันดับ 5 ไปเป็นอันดับ 10

สำหรับส่วนแบ่งตลาดของกลุ่ม 5 เสือของปี 1999 ก็ลดลงจากระดับ 43% ในปี 1999 ไปเป็น 34% ในปี 34% ส่วนแบ่งที่หายไป 9% กลับไปเพิ่มให้กับส่วนแบ่งตลาดของจีน อินเดีย เกาหลีใต้ โดยจีนได้รับส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นมากที่สุด ทั้งนี้จีนมีการเติบโตของการส่งออกเฉลี่ยปีละ 20% แต่ที่น่าประทับใจไม่น้อยเห็นจะเป็นในปี 2009 ขณะที่ในภาพรวมของประเทศผู้ส่งออก 40 อันดับแรกมีการส่งออกหดตัว 21% ประเทศจีนกลับมีการส่งออกลดลงเพียง 16% และเมื่อพิจารณาจากผู้ส่งออกอันดับต้น 12 ประเทศก็พบว่า ญี่ปุ่น อิตาลีและแคนาดา ส่งออกลดลงถึง 25% ส่วนสหรัฐลดลง 18%

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสหรัฐมีการส่งออกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 4% ซึ่งต่ำกว่าประเทศผู้ส่งออกใหม่ในเอเชียอย่างเกาหลีใต้ (10%) อินเดีย (16%) ขณะที่อังกฤษ แคนาดา และญี่ปุ่นมีการขยายตัวน้อยกว่า 4%

การส่งออกของโลกในช่วงปลายปี 1999 เริ่มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว โดยในเดือนธันวาคม 2009 สหรัฐมีการส่งออกเพิ่มขึ้น 21% (ธ.ค.2009=18%)

ในเดือนมกราคม 2010 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า จีนมีการส่งออกเพิ่มขึ้น 21% ขณะที่เกาหลีเพิ่มขึ้น 47% และไต้หวันเพิ่มขึ้น 77%

ข้อมูลดังกล่าวน่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกหลักกลุ่มใหม่จะมีรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้นและมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งไทยจะต้องปรับกลยุทธ์การส่งออกให้สอดคล้องกับทิศทางดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปก็คือการส่งออกของโลกจะมีการปรับตัวเข้าสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะระหว่างปี 2003-2008 ที่มีการเติบโตเฉลี่ยถึง 10% ต่อปีได้หรือไม่

ผอ. สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองเจนไน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ