ฮ่องกงแนะผู้ประกอบการขยายตลาดการค้าออนไลน์ ในจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 4, 2010 16:07 —กรมส่งเสริมการส่งออก

การซื้อสินค้าออนไลน์ กำลังได้รับความนิยมในจีน โดยเฉพาะกับผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลาง ยังไม่แต่งงาน อายุ ระหว่าง 20-44 ปี พบว่าในจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในจีนที่มีกว่า 338 ล้านคน (มิ.ย.2009) ประมาณ 87.88 ล้านคนมีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ นอกจากนั้น ทางการจีนได้มีมาตรการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจออนไลน์ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และตั้งเป้าหมายว่าธุรกิจนี้จะขยายตัวจากเดิมที่น้อยกว่าร้อยละ 2 ต่อปี เป็นกว่าร้อยละ 5 ในปี 2015

ไม่เหมือนร้านค้าทั่วไปที่มีข้อจำกัดในด้านทำเลที่ตั้งและขนาดของร้าน ร้านออนไลน์สามารถนำสินค้าทั้งหมดโชว์บนเว็ปไซด์ เพื่อนำเสนอขายลูกค้าได้ทั่วทั้งประเทศจีน ดังจะเห็นว่าแม้ว่าปัจจุบันโลกได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ยอดสั่งซื้อโดยเฉลี่ยของธุรกิจออนไลน์ในจีนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการซื้อสินค้าออนไลน์กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน ดังนั้นผู้ประกอบการต่างชาติอาจใช้ช่องทางนี้เป็นช่องทางหนึ่งในการขยายตลาดสู่ตลาดค้าปลีกของจีน

รูปแบบการทำธุรกิจนี้ อาจเริ่มจากการเปิดเว็ปไซด์เอง หรือเปิดร้านบนเว็ปไซด์จีนที่มีอยู่แล้ว หรือร่วมลงทุนกับเจ้าของเว็ปไซด์จีนที่มีอยู่เดิม ซึ่งเจ้าของเว็ปไซด์จีนใหญ่ที่มีอยู่อาจมีบริการด้านโกดังเก็บสินค้า การขนส่งสินค้า และการชำระเงินทางอิเลคทรอนิกส์ หรืออาจมีกระทั่งบริการด้านการบริหารลูกค้า และรวบรวมข้อคิดเห็นของลูกค้า ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับนโยบายและยุทธศาสตร์ของบริษัทที่จะเลือกรูปแบบในการดำเนินการ

ส่วนการทำการตลาดนั้นจำเป็นมากที่จะต้องสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะจากความเห็นปากต่อปากหรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ให้มีชื่อร้านปรากฎใน search engine ของตำแหน่ง “recommended position, keyword advertising, friendly links, promotional link” เพื่อเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากขึ้น

พฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนจะมองหาสินค้าที่ทันสมัย คุณภาพดีและมีการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ และด้วยประสบการณ์การค้าขายกับต่างประเทศเป็นเวลานาน ของผู้ประกอบการฮ่องกงแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมาก เพียงแต่ควรมีการปรับให้เหมาะสมกับความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคจีนด้วย นอกจากนี้ต้องระลึกเสมอว่า ต้องแข่งขันกับสินค้าประเภทเดียวกันนี้ในตลาดอีกมาก รวมทั้งผู้บริโภคชาวจีนจะให้ความสำคัญกับเรื่องราคาสูง ดังนั้น ควรมีการนำเสนอสินค้าใหม่ๆ สม่ำเสมอ และมีให้เลือกหลากหลาย ในราคาที่แข่งขันได้

1. การพัฒนาการซื้อสินค้าออนไลน์ของจีน

จีนมีแนวโน้มซื้อสินค้าและบันเทิงออนไลน์มากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นของเว็ปไซด์ และมีความหลากหลายของสินค้าออนไลน์มีให้เลือกมากขึ้น การพัฒนาระบบส่งสินค้า รวมทั้งระบบชำระเงินทางอิเลคทรอนิกส์ที่ดีขึ้นและปลอดภัยขึ้น

จากข้อมูลทางการจีน พบว่าจำนวนการซื้อขายออนไลน์ในช่วง 4 ปี (2005-2008) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 86.4 โดยในปี 2008 มีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 1.15 ของการซื้อขายปลีกทั้งหมด และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เช่น สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 4 เกาหลีใต้ ร้อยละ 10 จะเห็นว่าการซื้อขายออนไลน์ในจีนยังสามารถขยายได้อีกมาก กระทรวงการค้าของจีน (MOFCOM) ตั้งเป้าหมายว่า อีก 5 ปี (ปี 2015) การค้าออนไลน์ จะเป็นร้อยละ 5 ของการค้าปลีกทั้งหมด

วิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบันไม่ได้กระทบต่อการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ดังจะเห็นว่ามูลค่าการสั่งซื้อโดยเฉลี่ยของนักช๊อปจีนต่อคนเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 7.2 จาก 152 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคน(ต.ค.-ธ.ค.2008) เป็น 163 เหรียญสหรัฐฯต่อคน (มี.ค.-พ.ค.2009) สำหรับขาช็อปแล้ว การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ให้ "ความยืดหยุ่นและสะดวก" สามารถซื้อได้ทุกที่ ทุกเวลา จากแบรนด์ต่างๆ ทั่วโลกในราคาที่ถูกกว่าซื้อจากร้านค้าปกติ คนรุ่นใหม่และคนทำงานสำนักงานที่ไม่ค่อยมีเวลาว่าง จะชอบซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุด

2. ลักษณะของผู้ซื้อออนไลน์

2.1 ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และเป็นคนรุ่นใหม่

จากข้อมูลทางการจีน (กันยายน 2009) ส่วนแบ่งระหว่างชาวท่องเน็ตที่เป็นผู้หญิงต่อผู้ชาย ห่างกันไม่มาก คือประมาณ 53:47 แต่ชาวเน็ตที่เป็นขาช็อปออนไลน์ระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายคิดเป็น 62:38 และนักช็อปออนไลน์เหล่านี้ร้อยละ 85 เป็นคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 30 ปี และมีแนวโน้มจะซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น หากใช้เวลาในการท่องเน็ตมากขึ้นหรือมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น

2.2 นิยมค้นหาสินค้าโดยการใช้ search engines

ชาวเน็ตจีนจะค้นหาสินค้าทั้งจาก search engines ทั่วไป(ร้อยละ 27.1) และ search engines ภายในเว็ปไซด์ช็อปปิ้ง(ร้อยละ 20.6) ในขณะที่บางส่วนหาจากเว็ปไซด์ของเจ้าของสินค้าโดยตรง(ร้อยละ 23.6) ดังนั้นเพื่อเพิ่มจำนวนอัตราการเข้าไป click ค้นหาของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะได้คำสั่งซื้อจำเป็นต้องมีการแบ่งสินค้าให้ชัดเจน และระบุรายละเอียดสินค้า ตัวอย่าง เช่น การขายปากกาเลเซอร์ ถ้าระบุแค่ปากกา ใน keyword สำหรับค้นหาอัตราการค้นหาอาจสูง แต่อาจไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่การเป็นผู้ต้องการหาปากกาสี ดินสอ หรือพู่กันจีน

2.3 จะไปดูสินค้าจากร้านค้าปกติก่อนตัดสินใจสั่งซื้อออนไลน์

โดยทั่วไป สินค้าที่มีมาตรฐาน และรายละเอียดกำกับตาม รุ่น หรือชนิด เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ หรือหนังสือ จะเหมาะกับการสั่งซื้อทางออนไลน์ เพราะผู้ซื้อสามารถศึกษาการทำงานของสินค้าแต่ละรุ่นได้จากรายละเอียดที่ระบุ แต่อย่างไรก็ตามในจีนสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า หรือเครื่องประดับตกแต่งบ้าน เริ่มเป็นที่นิยมสั่งซื้อออนไลน์มากขึ้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้ผู้ซื้ออาจไม่สามารถทราบรายละเอียดทั้งหมดจากที่ระบุไว้ออนไลน์ได้ ขาช็อปออนไลน์ที่มองหาเสื้อผ้า รองเท้าจะไปที่ร้านค้าเพื่อดูสินค้า ก่อนสั่งซื้อออนไลน์ที่ราคาถูกกว่าขายในร้านปกติมาก สำหรับในกรณีที่สินค้า นี้ไม่มีวางขายในร้านทั่วไป ผู้ขายออนไลน์จะแนะนำให้ผู้ซื้อซื้อสินค้าเพื่อดูขนาดก่อน ถ้าไม่ถูกใจสามารถนำมาคืนที่ร้านสำหรับรับคืนได้ นักช็อปออนไลน์ให้ความเห็นว่าปัจจุบันร้านเสื้อผ้าและรองเท้าในจีนมีอยู่เป็นจำนวนมาก และมีให้เลือกหลากหลาย จึงต้องใช้เวลามาก และยุ่งยากหากต้องเลือกจากร้านค้าปกติเพื่อหาสินค้าถูกใจ search engines บนอินเตอร์เน็ตจะช่วยพวกเขาในการเลือกหาสินค้าที่ต้องการให้เร็วและง่ายขึ้น

เช่นเดียวกับสินค้าเครื่องประดับตกแต่งบ้าน ซึ่งการซื้อออนไลน์จะได้ราคาที่ถูกกว่ามาก แต่ ผู้ซื้อจะไปดูสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อออนไลน์

3. พัฒนาช่องทางการซื้อขายออนไลน์

3.1 ผ่านเว็ปไซด์ทั่วไปที่มีอยู่

เว็ปไซด์อีคอมเมิรส์ (B2C) ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในจีน ได้แก่ taobao.com, eachnet.com, dangdang.com, amazon.cn, และ 360buy.com เว็ปไซด์เหล่านี้มีบริการครบวงจร เสมือนเป็นศูนย์การค้าเลยทีเดียว มีสินค้าหลากหลายชนิดให้เลือกตามหมวดหมู่ต่างๆ ที่ง่ายต่อการค้นหา ซึ่งจะดึงดูดความสนใจของนักช๊อปออนไลน์นอกเหนือจากส่วนลดและราคา

บางเว็ปไซด์ก็จะเน้นกลุ่มลูกค้าเฉพาะ เช่น เว็ปไซด์ redbaby.com.cn จะนำเสนอสินค้าเกี่ยวกับการดูแลแม่และเด็กทั้งหมด ตั้งแต่ชุดสตรีตั้งครรภ์ ผลิตภัณฑ์อนามัย นมทารก ของเล่น ฯลฯ รวมทั้งมีพื้นที่สำหรับกระทู้สำหรับแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในหมู่พ่อแม่ทั้งหลาย แต่อย่างไรก็ตามก็มีหลายรายที่ขยายการครอบคลุมสินค้าให้มากขึ้นเช่น redbaby ขยายสินค้าไปสู่นาฬิกา เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องสำอางค์ เช่นเดียวกับ 360buy.com, ugon.cn, m18.com

เจ้าของบริการเว็ปไซด์เหล่านี้ จะไม่ใช่บริษัทผู้ผลิตสินค้า แต่เป็นผู้ให้บริการด้านเทคนิคออนไลน์เพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสินค้ากับผู้ซื้อ เจ้าของสินค้ามีค่าใช้จ่ายได้แก่ ค่าธรรมเนียมการใช้บริการเว็ปไซด์ (ประมาณหลักพันหยวนต่อปี) และค่าคอมมิชชั่นของสินค้าที่มีการสั่งซื้อ (โดยทั่วไปจะประมาณ ร้อยละ 0.5-5 ของยอดการสั่งซื้อ)

โดยทั่วไปเว็ปไซด์จะไม่มีบริการด้านคลังสินค้า หรือบริการการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อ จะเป็นแค่เวทีสำหรับ 2 ฝ่ายที่จะติดต่อกันและต่อรอง ก่อนตัดสินใจซื้อ จะไม่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ คุณภาพ ความปลอดภัย หรือ การละเมิดต่อกฎหมายของสินค้าที่ค้าขายกัน รวมทั้งไม่รับผิดชอบต่อความถูกต้องของข้อมูลการค้า ตลอดจนข้อผูกพันตามสัญญาที่ผู้ซื้อและผู้ขายมีต่อกัน แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อดึงดูดความสนใจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเว็ปไซด์เหล่านี้ อาจมีการเสนอบริการที่เพิ่มขึ้น เช่น โกดังเก็บสินค้า ระบบโลจิสติกส์และขนส่งสินค้า ช่องทางการชำระเงินทางอิเลคทรอนิกส์ เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น Joyo Amazon(amazon.cn) มีบริการการชำระเงินให้ผู้ซื้อจากปักกิ่ง เทียนจิน เซี้ยงไฮ้ และกวางโจว สามารถจ่ายเครดิตคาร์ด หรือเดบิตคาร์ดได้ เมื่อได้รับสินค้าและตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อย โดยใช้ mobile POS (Point of Sale) จากผู้ส่งสินค้าในขณะที่การชำระค่าสินค้าวิธีอื่น เช่น การโอนเงิน การจ่ายเช็ค การเปิดบัญชีอิเลคทรอนิกส์ ผู้ซื้อจะต้องชำระเงินแล้วเท่านั้นจึงจัดส่งสินค้าไปให้ Joyo Amazon มีโกดังเก็บสินค้าในปักกิ่ง ซูโจว และกวางโจว โดยเมื่อมีคำสั่งซื้อจะมีการพิจารณาว่าโกดังใดส่งสินค้าได้ในราคาที่ถูกสุด ก็จะส่งตรงจากโกดังนั้นไปยังผู้ซื้อ เจ้าของสินค้าจะส่งสินค้าไปให้ Joyo Amazon เท่านั้น และหลังจากนั้นไม่ต้องยุ่งกับการขนส่งสินค้า ระบบคลังสินค้าของเจ้าของสินค้าและ Joyo Amazon สามารถเชื่อมต่อกันได้ ทำให้สามารถตรวจสอบระดับสินค้าคงคลัง และปรับลดสินค้าลงเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา รวมทั้งเจ้าของสินค้าสามารถปรับแผนการผลิตได้ทันทีให้ทันต่อความต้องการตลาด

3.2 ผู้แทนจำหน่ายบนเว็ปไซด์ (Website Distributors)

ผู้แทนจำหน่ายบนเว็ปไซด์ (Website Distributors) จะให้บริการในลักษณะ B2B2C ตัวอย่างเช่น ผู้ขายจะขายสินค้าให้ลูกค้าผ่านผู้แทนจำหน่ายบนเว็ปไซด์

บริการที่ผู้แทนจำหน่ายทางเว็ปไซด์ดำเนินการนอกเหนือจากการขายให้แล้วอาจมีบริการเสริมอื่นๆ อาทิ การบริหารจัดการลูกค้า การรวบรวมข้อคิดเห็นลูกค้า การบริหารจัดการฐานลูกค้า เจ้าของสินค้าเพียงให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดสินค้า อาทิ รูปภาพ คุณสมบัติ ราคา การบริการ ด้านการซ่อมและบำรุงรักษา ส่วนผู้แทนจำหน่ายจะรับผิดชอบในการติดต่อกับลูกค้าทั้งหมด ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการขายให้เจ้าของสินค้า และเมื่อคำสั่งซื้อมาผู้แทนจำหน่ายจะแจ้งเจ้าของสินค้าให้ส่งสินค้า ส่วนค่าสินค้าเจ้าของสินค้าสามารถให้ผู้แทนจำหน่ายรวบรวมให้หรือให้ลูกค้าชำระโดยตรงก็ได้

ผู้แทนจำหน่ายทางเว็ปไซด์ จะเหมือนกับนักขายมืออาชีพ ช่วยทำการตลาดและการขายสินค้า ซึ่งจะลดจำนวนทีมงานและการฝึกอบรมต่างๆ ผู้แทนจำหน่ายทางเว็ปไซด์จะต้องนำเสนอข้อมูลสินค้าอย่างมืออาชีพเพื่อดึงดูดความสนใจผู้ซื้อออนไลน์ ดังนั้น จะต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในแต่ละสินค้า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา ดิกชันนารีอิเลคทรอนิกส์ หรือสินค้าแต่ละแบรนด์โดยเฉพาะ เช่น Zhongguancun-based ZOL (dealer.zol.com.cn) เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

ผู้แทนจำหน่ายบนเว็ปไซด์ จะคิดค่าบริการจากผู้ซื้อที่ลงทะเบียนมา และค่าคอมมิสชั่นของสินค้าที่ขาย เปรียบเทียบกับ รูปแบบ B2C ต้นทุนในการใช้ผู้แทนจำหน่ายฯอาจสูงกว่า ทำให้ราคาขายปลีกต้องตั้งให้สูงขึ้น ซึ่งจะไปลดความน่าสนใจของสินค้าลง

3.3 เว็ปไซด์แนะนำการซื้อสินค้า

ผู้บริโภคชาวจีนมักประสบปัญหาเสมอในการเลือกเว็ปไซด์สำหรับหาสินค้า เพราะปัจจุบันมีเว็ปไซด์เป็นจำนวนมากและสินค้าก็มีให้เลือกมากมาย search engines. ในเว็ปไซด์แนะนำ ช็อปปิ้งจะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการหาสินค้า โดยวิธการหาต้องง่าย และสามารถหาได้ตามข้อมูลที่กำหนด เช่น ราคา การใช้งาน แบรนด์ และ specification เว็ปไซด์แนะนำการซื้อสินค้าที่ได้รับความนิยมในจีน อาทิ aibiwang.com, smarter.com.cn จะมีรายละเอียดข้อมูลสินค้าขายปลีกในภูมิภาคต่างๆ

Website นี้จะให้ข้อมูลด้านราคาของสินค้าชนิดเดียวกันจากผู้ขายในเมืองต่างๆ ผู้ซื้อสามารถตั้งเงื่อนไขการค้นหาสินค้าได้จาก ราคา แบรนด์ ผู้ค้า หรือแหล่งผลิต โดยจะแจงออกมาเป็น list รายชื่อ รวมทั้งมีความเห็นของผู้ซื้อที่ผ่านมาเกี่ยวกับสินค้าและผู้ขาย ทำให้สามารถเปรียบเทียบก่อนแวะเข้าชมร้านค้าออนไลน์นั้นๆ

ด้วยข้อมูลประกอบการซื้อที่ครบครัน ทั้งด้านสินค้า ราคา การค้นหา การเปรียบเทียบ การใช้งาน เว็ปไซด์แนะนำการช็อปปิ้งนี้จะช่วยผู้ซื้อในการหาสินค้าออนไลน์ ในขณะเดียวกัน จะช่วยแนะนำลูกค้าที่มีศักยภาพให้กับผู้ขายด้วย ดังนั้นเพื่อให้สินค้า/ร้านค้าออนไลน์ถูกเลือกขึ้นใน List ของ search engines ผู้ขายจะต้องให้รายละเอียดสินค้าและการใช้งาน และ มีการเลือกใช้ keyword ที่เหมาะสมและใช้บ่อยในการหาสินค้า

4. การเปิดเว็ปไซด์ของร้านค้าออนไลน์โดยตรง

4.1 เบ็ดเสร็จในตัวเอง

เว็ปไซด์ทั่วไปที่มีอยู่จะมีกลุ่มลูกค้าที่แน่นอน และมีอัตราการเข้ามาค้นหาข้อมูลสูง ซึ่งจะช่วยผู้ขายสินค้าเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์หาผู้ซื้อที่มีศักยภาพได้เร็วและสะดวก แต่ก็ต้องแข่งขันกับสินค้าของผู้ขายรายอื่นๆ เป็นจำนวนมากที่ใช้เว็ปไซด์นั้นด้วยเช่นกัน และไม่ง่ายที่จะทำให้สินค้าของตนโดดเด่นออกมา

สำหรับผู้ขาย/เจ้าของสินค้าที่มีลูกค้าประจำอยู่แล้วมักจะเลือกเปิดเว็ปไซด์ร้านออนไลน์ของตนเองเพื่อสร้างแบรนด์ของตน ดังจะเห็นได้ว่ามีแบรนด์ฮ่องกงที่มีชื่อเสียงในตลาดจีน เช่น Giordano, Sa Sa หรือ Chow Sang Sang ขายสินค้าออนไลน์ผ่านเว็ปไซด์ของตนเอง Sa Sa ตั้งร้านแฟรนไชส์ร้านแรกในเซี้ยงไฮ้ เมื่อปี 2005 แต่ร้านค้าออนไลน์ของ Sa Sa เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2000 สำหรับหาลูกค้าจากจีนและทั่วโลกในการซื้อสินค้าออนไลน์ ในปี 2008-9 ยอดขายออนไลน์ผ่าน Sa Sa.com คิดเป็นร้อยละ 4.8 ของยอดขายทั้งหมดและเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 66 จากปี 2007-8

ธุรกิจของจีนเองบางแบรนด์ก็เริ่มต้นธุรกิจจากร้านค้าออนไลน์ เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากจีน แบรนด์ VANCL (vancl.com) ก่อตั้ง ต.ค. 2007 มีวัตถุประสงค์ เป็น Online Trendy Fashion และได้ขยายสินค้าไปสู่เสื้อผ้าเด็ก รองเท้า และเครื่องใช้ในครัว แม้บริษัทจะไม่มีร้านค้าของตนเอง แต่ยอดขายสินค้าได้พุ่งขึ้นจาก 1.12 ล้านหยวนในปี 2007 เป็น 600 ล้านหยวนในปี 2009 และเป็นผู้นำด้านการตลาด B2C สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปในจีนด้วยส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 28.4

ในปัจจุบัน เจ้าของเว็ปไซด์ทั่วไปได้เล็งเห็นความจำเป็นของผู้ขายออนไลน์ที่ต้องการให้ภาพลักษณ์สินค้าตนเองโดดเด่นหรือสร้างแบรนด์ แต่ไม่ต้องการความยุ่งยากในการเปิดเว็ปไซด์เองในจีน จึงมีบริการทางเลือกให้เช่น เว็ปไซด์ Taobao มีพื้นที่เฉพาะสำหรับแบรนด์หรือร้านค้าต้นแบบ ของแบรนด์ต่างๆ และมีหลายแบรนด์ได้ใช้บริการนี้ เช่น UNIQLO, Levi's , Belle แต่แบรนด์เหล่านี้ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างอิสระทั้งหมด เพราะเจ้าของเว็ปไซด์มักจะมีการกำหนดระบบและเงื่อนไขเฉพาะในการซื้อระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ เช่น ผู้ขายใน Taobao จะต้องมีเงื่อนไข การคืน/เปลี่ยนสินค้าได้ภายใน 7 วัน เป็นต้น

4.2 การจดทะเบียนและบริหารจัดการ

การจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการที่ค้าขายออนไลน์ในจีน สำหรับผู้ประกอบการที่ประสงค์จะตั้งร้านค้าออนไลน์บนเว็ปไซด์ที่มีแล้วค่อนข้างง่ายหลักฐานที่ใช้ ได้แก่ ทะเบียนการค้าและหลักฐานการเสียภาษี หากเป็นเจ้าของแบรนด์หรือเจ้าของสินค้าจะต้องมีใบรับรองเครื่องหมายการค้า (China Trademark Registration Certificate) หากใช้ผู้แทนจำหน่ายต้องมีหนังสือรับรองการมอบสิทธิ์ (a letter of brand dealer authorization) ในการเป็นผู้แทนจำหน่ายแบรนด์

แต่สำหรับผู้ประกอบการประสงค์จะเปิดเว็ปไซด์ค้าออนไลน์เอง จะต้องขออนุญาตต่อหน่วยงานราชการด้านโทรคมนาคม/ข้อมูลข่าวสารด้านอุตสาหกรรมของจีน ก่อน(State telecommunications authorities or the information industry department) รวมทั้งต้องมีระบบบริหารจัดการดูแลรักษาในแต่ละวัน มีช่องทางการชำระเงิน ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบดูแลสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ที่ถูกต้อง ซึ่งต้องมีทีมงานและเงินทุนในการดำเนินการอาจจะไม่เหมาะกับผู้ประกอบการ ที่เป็น SMEs

เว็ปไซด์การค้าออนไลน์ ส่วนใหญ่จะจ้างบริษัทอื่นเป็นผู้ดูแลระบบชำระเงินทางอิเลคทรอนิกส์ โดยร้านค้าออนไลน์แต่ละร้านจะต้องเปิดบัญชีและมีเงินค่ามัดจำไว้กับบริษัทเหล่านั้น ตัวอย่าง เช่น เว็ปไซด์ Taobao จ้างบริษัท Alipay ดำเนินการด้านการชำระเงินของลูกค้า ซึ่งมีเงื่อนไขให้ผู้ซื้อสินค้าในเว็ปไซด์ของ Taobao ต้องมีเงินมัดจำเป็นเงิน 10,000 หยวน กับ Alipay เพื่อจะดำเนินการชำระค่าซื้อสินค้าออนไลน์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายต่อไป

5. ระบบการรักษาความปลอดภัยของการชำระเงิน

เนื่องจากในระบบการซื้อขายออนไลน์ ลูกค้าไม่สามารถชำระเงินโดยตรงกับผู้ขาย (ยกเว้น การชำระค่ามัดจำเข้าบัญชีผู้ขาย) ดังนั้น ระบบการชำระเงินที่ปลอดภัย ที่สร้างการยอมรับและความมั่นใจให้ผู้ซื้อผ่านช่องทางนี้เป็นสิ่งจำเป็นมากในการพัฒนาและขยายธุรกิจการซื้อขายออนไลน์ ปัจจุบันกว่าร้อยละ 70 ของผู้ซื้อออนไลน์ชาวจีนเลือกที่จะชำระเงินโดยระบบอิเลคทรอนิกส์

5.1 ใช้บริษัทเชี่ยวชาญด้านนี้ในการดำเนินการ

เพื่อความปลอดภัยในการดำเนินการเว็ปไซด์ค้าออนไลน์ส่วนใหญ่จะจ้างบริษัทเชี่ยวชาญเฉพาะในการดำเนินการด้านการชำระเงิน เช่น เว็ปไซด์ Taobao และ Eachnet ใช้ Alipay และ Anfutong โดยลูกค้าที่จะสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ จะต้องมีเงินสดมัดจำในบัญชีของบริษัท Alipay หรือ Anfutong เพื่อบริษัทดังกล่าวจะได้แจ้งให้ผู้ขายจัดส่งสินค้า และเมื่อลูกค้าได้รับสินค้าและตรวจสอบสินค้าแล้วก็จะแจ้งให้จ่ายเงินให้ผู้ขายต่อไป ปัญหาของการชำระเงินวิธีนี้ คือจะต้องมีเงินสดรอชำระอยู่ในระบบ

5.2 ระบบป้องกันการโกง

ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่ใช้เครดิตคาร์ดหรือเดบิตคาร์ดที่ออกโดยธนาคารสำหรับการชำระเงินค่าสินค้าออนไลน์ และในการติดต่อซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ตใช้เวลาน้อยมาก ซึ่งเป็นการยากสำหรับธนาคารที่จะตรวจสอบบัตรเครดิตหรือเดบิตที่มีปัญหา เช่น ถูกขโมย บัตรหาย หรือบัตรปลอม เป็นผลให้เกิดการสูญเสียเป็นจำนวนมากทำให้มีบางบริษัทมีระบบป้องกันการโกงให้กับผู้ขายและธนาคาร โดยก่อนที่จะมีการติดต่อกับธนาคารเว็ปไซด์จะมีระบบตรวจสอบข้อมูลบัตรเครดิตจากฐานข้อมูลลูกค้าธนาคารก่อน และประเมินความเสี่ยงก่อนจะยืนยันการติดต่อ ตัวอย่างเช่น ถ้าหมายเลข บัตรเดียวกันถูกใช้ในการชำระเงินออนไลน์ในเมืองหรือในเว็ปไซด์อื่นๆ ในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน อาจเป็นไปได้มากที่จะเป็นการใช้บัตรปลอม ซึ่งถ้ามีความเสี่ยงสูงเว็ปไซด์ค้าออนไลน์ดังกล่าว ก็จะระงับการติตต่อก่อน เพื่อป้องกันความเสียหายของผู้ขายและธนาคาร

5.3 การให้บริการของ Gopay.com.cn

เพื่อสนองตอบความต้องการและส่งเสริมการซื้อขายในระบบ E-commerce ศูนย์ E-Commerce แห่งชาติของจีน (China International E- Commerce Center) ภายใต้กระทรวงพาณิชย์จีน (MOFCOM) ได้ร่วมมือกับบริษัท Cofortune เปิดเว็ปไซด์ Gopay.com.cn ให้บริการด้านการชำระเงินทางอิเลคทรอนิกส์เมื่อปี 2007 โดยการชำระเงินจะเป็นทั้งในลักษณะ B2B ( อาทิ Chinaapparel.net และ Chinamet.com) และ B2C (เช่น Cityteem.com และ Amazon.cn ) รวมทั้ง G2C สำหรับการชำระเงินของภาครัฐและค่า utilities ต่างๆ gopay.com.cn ถือเป็นเว็ปไซด์ชำระเงินเดียวที่รัฐเป็นเจ้าของมีระบบรับรองความปลอดภัยที่ป้องกันและรักษาความปลอดภัยในการชำระเงินให้กับผู้ซื้อและผู้ขายเป็นอย่างดี

6. วิธีการส่งสินค้า

ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของการส่งสินค้าที่ซื้อออนไลน์ คือ ลูกค้าออนไลน์มักจะอยู่อาศัยกระจายและห่างกันมาก ทำให้ต้นทุนในการขนส่งจ้างทีมงาน pack ฯลฯ จะสูงตามไปด้วย ขณะที่ต้องใช้เวลาในการขนส่งให้เร็วที่สุด เพราะลูกค้าจะคุ้นเคยกับการซื้อที่ “ได้สินค้าเมื่อสั่ง” ปัจจุบันมีวิธีการส่ง 3 วิธี ดังนี้

6.1 ใช้บริการไปรษณีย์ของรัฐ

ผู้ขายสามารถใช้บริการไปรษณีย์ของรัฐฯ จีนทีมีสาขาทั่วไปในการส่งสินค้าตามที่อยู่ของลูกค้า และถ้าการส่งปกติอาจใช้เวลานาน ถ้าการส่งแบบด่วนก็ได้แต่ค่าใช้จ่ายก็จะสูงตามไปด้วย ในสภาพเป็นจริงปัจจุบันมาตรฐานการดำเนินการส่งสินค้าขึ้นอยู่กับแต่ละมณทลแต่ละเมือง ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงสูงที่ลูกค้าจะไม่ได้รับสินค้าตามเวลาที่กำหนด หรือมีความเสียหายต่อสินค้าหรือหีบห่อ ซึ่งจะกระทบต่อชื่อเสียงของผู้ขายได้

6.2 บริการขนส่งของเว็ปไซด์

เว็ปไซด์ใหญ่ๆ ที่ทำธุรกิจ B2C เช่น dangdang.com, amazon.cn หรือ 360buy.com จะมีระบบโลจิสติกส์และขนส่งสินค้าเป็นของตนเอง โดยมีคลังเก็บสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าอยู่ในที่ที่มีชาวเน็ตอาศัยอยู่กันมาก สินค้าจะแพ็คและส่งไปยังลูกค้าตามรายการสั่งซื้อ การส่งสินค้าแบบนี้จะทำให้สินค้าจัดส่งไปยังลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว แต่ต้นทุนจะสูงขึ้นซึ่งจะกระทบต่อกำไรของผู้ขาย นอกจากนั้นมันค่อนข้างยากที่จะกำหนดที่ตั้งของศูนย์กระจายสินค้า จำนวนทีมงาน สินค้า คงคลัง มีบางเว็ปไซด์กำหนดศูนย์ส่งสินค้าให้เป็นที่ซึ่งลูกค้าสามารถไปรับสินค้าได้ด้วยตนเอง เช่น 360buy.com ให้ลูกค้าซึ่งสั่งซื้อสินค้าออนไลน์สามารถเดินทางไปที่คลังสินค้าเพื่อชำระค่าสินค้า ทั้งโดยเงินสด เช็ค หรือ POS และรับสินค้าได้เลย

6.3 บริการของบริษัทรับจ้างขนส่งเอกชน

โดยทั่วไปสินค้าที่สั่งซื้อผ่านเว็ปไซด์ B2C ส่วนใหญ่จะมีขนาดและน้ำหนักไม่มาก ผู้ขายจึงยินดีที่จะใช้บริการขนส่งเอกชนที่มีอยู่ แม้จะมีราคาแพง (อาจทำให้กำไรลดลง ร้อยละ 20) แต่จะรวดเร็วกว่า เช่น ภายใน 24 ชม. ถ้าอยู่ในเมืองเดียวกัน แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่สินค้าอาจหาย หรือชำรุด หรือข้อมูลลูกค้ารั่วไหลได้ สำหรับสินค้าที่หายบริษัทรับขนส่งจะชดเชยให้ประมาณ 3- 5 เท่าของค่าขนส่ง

โดยสรุป ระบบขนส่งสินค้าในจีนยังล้าหลัง ไม่ทันกับการพัฒนาของธุรกิจ B2C ทำให้ค่าขนส่งสินค้า มีสัดส่วนที่สูงสำหรับต้นทุนค่าดำเนินการของธุรกิจการค้าออนไลน์ของจีน

7. การส่งเสริมการขายและคู่แข่ง

7.1 สร้างชื่อเสียงที่ดีให้เป็นที่รู้จักปากต่อปาก

เนื่องจากกระบวนการเข้าสู่ธุรกิจค้าออนไลน์มีไม่มาก ทำให้การแข่งขันในช่องทางนี้สูง ร้านค้าออนไลน์บางร้านภายในเดือนเดียวก็ต้องพับไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่จะดึงดูดนักช๊อปจากจีนจากผลการสำรวจ Survey Report on Online Shopping in China 2009 พบว่านักซื้อออนไลน์ชาวจีนจะให้ความสำคัญกับ “การบอกปากต่อปาก” ค่อนข้างมากโดยจะเห็นว่าประมาณ ร้อยละ 48.7 จะสอบถามจากเพื่อนหรือญาติสนิทอีกร้อยละ 32.8 ค้นหาจากอินเตอร์เน็ต ร้อยละ 5.8 จากทีวี ร้อยละ 4.4 จากนิตยสาร ร้อยละ 2.9 จากหนังสือพิมพ์ ดังนั้น ช่องทางการบอกต่อจะเป็นช่องทางที่ประหยัดและทรงประสิทธิภาพมากในการสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักในเว็ปไซด์ช็อปปิ้งออนไลน์จะมีพื้นที่สำหรับผู้ซื้อที่จะโพสความเห็น (Comment) เกี่ยวกับประสบการณ์ในการซื้อสินค้า คุณภาพของสินค้าและผู้ขาย ตัวอย่างเช่น Eachnet จะกำหนดระบบการให้คะแนนการให้บริการ คือเมื่อซื้อสินค้าแล้วผู้ซื้อสามารถให้คะแนนผู้ขายใน 3 ด้านได้แก่

  • ความแตกต่างระหว่างสินค้านำเสนอกับสินค้าจริง
  • ประสิทธิภาพในการติดต่อและตอบสนอง
  • ระยะเวลาในการส่งสินค้าเหมาะสมหรือยัง
  • ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและขนส่งเหมาะสมไหม ซึ่งระบบนี้จะช่วยให้ผู้ซื้อมีข้อมูลที่มากขึ้นในการเลือกซื้อสินค้า

7.2 การลงโฆษณา ในเว็ปไซด์

เพื่อให้ชื่อสินค้าหรือร้านค้าออนไลน์อยู่ในตำแหน่งที่สะดุดตาและเป็นที่จดจำ ซึ่งอัตราค่าเช่าจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งและเว็ปไชด์ ผู้ขายจะต้องเลือกวิธีโฆษณาให้เป็นที่น่าสนใจ เพื่อดึงดูดให้มีการแวะไปร้านค้าออนไลน์ของตน เพื่อพบและสั่งซื้อสินค้าอื่นๆ ต่อไป

สินค้าที่มีมาตรฐานกำหนด และเป็นที่ทราบทั่วไป เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ วิตามิน จะไม่ค่อยได้ประโยชน์จากลงโฆษณาแบบนี้ เพราะไม่มีอะไรที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากผู้ขายรายอื่น ราคาและบริการหลังการขายจะเป็นสิ่งดึงดูดผู้ซื้อมากกว่า ในขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เครื่องประดับ นาฬิกา ซึ่งมีการออกแบบ เอกลักษณ์ ตลอดทั้งวัสดุที่ใช้หลากหลายและแตกต่าง จะเหมาะกับการลงโฆษณาประเภทนี้มากกว่า

7.3 การส่งเสริมการขายผ่าน search engines

ร้านค้าออนไลน์สามารถลงทะเบียนเว็ปไซด์ของตน ใน Search Engine ใหญ่ๆ เช่น Google.cn, Yahoo.cn และ Baidu.com และเพื่อให้ลูกค้าค้นหาได้ง่าย ซึ่งอาจต้องจ่ายค่า keyword Advertising, Friendly link, promotional link เพื่อให้อยู่ในตำแหน่งต้นๆ ของ list การค้นของ Search Engines นั้นๆ

หรืออีกทางเลือกหนึ่ง คือให้มีชื่ออยู่ต้นๆ ของ list รายชื่อผลการค้นของ Search Engine Optimization (SEO) ซึ่งมีหน้าที่ช่วยประเมินผลการค้นหา และจัดลำดับ Website ที่มีการค้นหามากที่สุด ในกระบวนการค้นหา หลังจากที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตได้พิมพ์คำที่จะค้นใน Search engine แล้ว ระบบก็จะทำการค้นจาก Website ที่เกี่ยวข้องและเปรียบเทียบเนื้อหา และรายงานผลเป็น list รายชื่อเว็ปไซด์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง Search Engine Optimization Website จะช่วย Search engine ให้หาให้ง่ายและเร็วขึ้น

7.4 สินค้า ต้องแข่งขันได้

จากสถิติพบว่าเสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นสินค้าที่มีการค้นหามากที่สุดสำหรับนักช็อปออนไลน์ชาวจีน ซึ่งผู้ขายจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพ การออกแบบและราคา มีกรณีบริษัทฮ่องกงที่ทำธุรกิจนำเข้าส่งออกบริษัทหนึ่งเปิดบริการซื้อขายออนไลน์กับชาวจีน โดยผ่านเว็ปไซด์ซื้อขายออนไลน์ที่มีอยู่แล้วเป็นการขายเสื้อผ้าแฟชั่นเกาหลีร่วมสมัย มีกลุ่มเป้าหมายได้แก่ผู้หญิงทำงานในเซี้ยงไฮ้ และเนื่องจากมีร้านค้าออนไลน์สินค้าเสื้อผ้าอยู่ในตลาดนี้แล้วค่อนข้างมาก ประกอบกับสินค้าจากเกาหลีมีราคาสูง และแนวโน้มแฟชั่นเสื้อผ้ามีการเปลี่ยนแปลงเร็ว รวมทั้งต้องใช้เงินลงทุนสูงในการสต็อกสินค้าที่ต้องมีหลากหลายทั้งขนาด และสี ทำให้ร้านค้าออนไลน์นี้ต้องปิดหลังจากเปิดได้แค่ปีเดียว ดังนั้น ก่อนที่จะเข้ามาลงทุนธุรกิจออนไลน์ในจีน จำเป็นต้องศึกษาอย่างดีเกี่ยวกับตลาดออนไลน์และตัวสินค้า

8. กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของภาครัฐ ในการซื้อขายออนไลน์

เนื่องจากการซื้อขายออนไลน์เป็นช่องทางการค้าใหม่ในจีน จึงยังไม่มีกฎระเบียบที่แน่ชัดออกมาบังคับในขณะนี้ ในปี 2008 กระทรวงพาณิชย์จีน (MOFCOM) มีการสอบถามความคิดเกี่ยวกับแนวทางเงื่อนไขการทำธุรกิจนี้ Specifications for E-Business Model (Draft for comment) และ Specifications for Online Shopping Services (Draft for comment) เพื่อจัดทำระเบียบข้อปฎิบัติของช่องทางการทำธุรกิจประเภทนี้ โดยในชั้นนี้ กระทรวงพาณิชย์จีน เห็นว่าการซื้อขายออนไลน์เป็นการช่องทางการค้าที่เพิ่มขึ้นจากช่องทางเดิม ดังนั้นจึงควรใช้กฎหมายกำกับดังนี้ General Principles of the Civil Law, Company Law, Electronic Authentication Law รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ แต่ในสภาพความเป็นจริงรัฐบาลแต่ละมณฑลได้มีกฎระเบียบในการทำธุรกิจ E-Commerce ของตนเองแล้วเช่นกัน เช่น ในปักกิ่ง และเซี้ยงไฮ้ เป็นต้น

8.1 การจดทะเบียนธุรกิจ

กระทรวงพาณิชย์จีน เห็นว่าการเปิดธุรกิจซื้อขายออนไลน์ ก็เหมือนการเปิดร้านค้าทั่วไป ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องจดทะเบียนการค้ากับ State Administration for Industry and Commerce โดยหากเป็นร้านค้าทั่วไปอยู่แล้ว และสนใจจะเปิดธุรกิจออนไลน์เพิ่ม ก็ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนเพิ่มอีก หากทำสินค้าที่ขายเป็นประเภทเดียวกัน แต่ถ้าไม่มีร้านค้าทั่วไป จะต้องยื่นขอจดทะเบียนธุรกิจกับ Provincial Commerce Department ที่ธุรกิจนั้นๆ ตั้งอยู่

  • ถ้าเป็นการเปิดร้านค้าออนไลน์บนเว็ปไซด์ที่มีอยู่แล้ว หรือใช้ผู้แทนจำหน่ายทางเว็ปไซด์ ก็เพียงแต่จดทะเบียนขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ (Business Licence) เท่านั้น
  • แต่ถ้าจะเปิดเว็ปไซด์เอง จะต้องขออนุญาตจาก Telecommunications Authorities ณ เมืองหรือมณทลที่ธุรกิจที่ตั้งอยู่ หรือ Information Industry Department โดยหมายเลขใบอนุญาตจะต้องแสดงใน homepage ด้วย นอกจากนั้น IP Address ของ Website (ทั้งที่มีและไม่มี Domain name) จะต้องแจ้งต่อ Ministry of Industry and Information Technology เพื่อเป็นข้อมูลหลักฐาน และถ้าเป็นเว็ปไซด์ที่เกี่ยวข้องกับข่าว สิ่งพิมพ์ การศึกษา การดูแลสุขภาพ ยารักษาโรคและเครื่องมือแพทย์ บริการด้าน วัฒนธรรม การออกอากาศ ภาพยนตร์และโทรทัศน์ จะต้องได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน

8.2 ภาษี

ตามกฎหมายจีน (The Implementing Rules for the Tax Collection Law 2002) โรงงานผลิตสินค้าหรือผู้ประกอบการจะต้องลงทะเบียนเป็นผู้เสียภาษีกับสำนักงานเก็บภาษีที่ธุรกิจตั้งอยู่ ภายใน 30 วันหลังจากได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ

ภาษีที่นักลงทุนต่างชาติ ประกอบธุรกิจซื้อขายในจีน จะต้องชำระ ได้แก่

  • Enterprise income tax, value added tax, consumption tax และ business tax สำหรับผู้เป็น sale agents
  • enterprise income tax, value added tax, business tax ถ้าเป็นผู้ผลิต

แต่อย่างไรก็ตาม มีสินค้าที่ขายออนไลน์ หลายรายการ เช่น หนังสือ แมกกาซีน ผลิตภัณฑ์ AV หรือ Computer Software มีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ซึ่งเป็นการยากมากในการเรียกเก็บภาษีได้ทั้งหมด

บทสรุป:

การซื้อขายออนไลน์เป็นช่องทางการขับเคลื่อนตลาดการซื้อขายของผู้บริโภคชาวจีนที่สำคัญ และเป็นช่องทางใหม่สำหรับผู้ประกอบการต่างชาติในการขยายเข้าสู่ตลาดค้าปลีกในจีน ร้านค้าออนไลน์ไม่มีข้อจำกัดด้านทำเลที่ตั้งและขนาดของร้านสามารถขายสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงกับลูกค้าทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีบริษัทให้บริการด้านเทคนิคการออนไลน์ให้เลือกใช้มากมาย ทำให้การเข้าตลาดไม่

เมื่อมีโอกาสทางการตลาดมาก คู่แข่งก็ย่อมสูงตามด้วย ดังนั้น บริษัทที่สนใจควรศึกษาการเข้าตลาดนี้อย่างละเอียด หาช่องว่างทางการตลาด และใช้ประโยชน์จากบริการด้านเทคนิคออนไลน์ที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้สินค้าโดดเด่นและดึดดูดผู้ซื้อชาวจีน ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ชาวจีน มีข้อสังเกตุพอสรุปได้ ดังนี้

1. ก่อนจะตัดสินใจซื้อสินค้าโดยเฉพาะสินค้า เสื้อผ้า หรือเครื่องใช้ ตกแต่งบ้าน ผู้ซื้อ

มักจะไปดู หรือสัมผัส ขนาด หรือคุณภาพของสินค้าก่อน ดังนั้นการมีหน้าร้านควบคู่ไปกับร้านค้าออนไลน์ จะเป็นส่วนผสมที่ลงตัวในการได้สัมผัสสินค้า และสั่งซื้อที่รวดเร็วในราคาที่ถูกด้วย

2. ชาวเน็ตจีน จะเยี่ยมชมหลายเว็ปไซด์ก่อนตัดสินใจซื้อ และใช้ Search Engine ในเว็ปไซด์แนะนำช็อปปิ้ง ในการค้นหาสินค้าที่ต้องการ ดังนั้นเพื่อเพิ่มอัตรา การคลิ๊กเข้าไปดูและเพิ่มโอกาสในการซื้อขายสินค้า ผู้ประกอบการควรคิดคำ “โดนๆ” ที่อธิบายลักษณะสินค้าได้ชัดเจนพร้อมรูปภาพ และเป็นคำที่ ชาวเน็ตนิยมใช้เวลา ค้นหา

3. ผู้บริโภคชาวจีนยังเป็นผู้ตามแฟชั่นอยู่ หากผู้ประกอบการต่างชาติซึ่งมีประสบการณ์ ในการค้าต่างประเทศมายาวนาน มีสินค้าที่มีคุณภาพและการออกแบบที่ดีมีเอกลักษณ์ เฉพาะตัว ก็จะได้รับการยอมรับจากตลาดจีน เพียงแต่อาจจำเป็นต้องมีการดังแปลงสินค้าบ้างเพื่อให้เหมาะสมกับรสนิยมความต้องการของตลาดจีน นอกจากนั้น ผู้บริโภคชาวจีนจะให้ความสำคัญกับเรื่องราคาเป็นอย่างมาก ดังนั้นผู้ประกอบการควรกระตุ้นตลาดของสินค้าตนเองโดยนำเสนอสินค้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องและมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย ตามแบบ ขนาดและสี และมีราคาที่แข่งขันได้

4. ชาวเน็ตมักจะให้ความเห็น “คอมเม้นท์” และประเมินผลการซื้อ โดยโพสลงในเว็ป ไซด์ต่างๆ ซึ่งจะเป็นข้อมูลอ้างอิงของลูกค้าอื่นๆ ต่อไป ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความประทับใจที่ดีต่อนักช๊อปออนไลน์เหล่านั้น ทั้งในด้านตัวสินค้า และกระบวนการขายและบริการหลังการขาย ควรมีการสื่อสารกับลูกค้า การตอบสนองลูกค้าควร เป็นไปอย่างรวดเร็วและทันที หรือไม่ ก็ต้องไม่เกินภายใน 24 ชั่วโมง

5. การส่งสินค้าจะต้องทำให้ได้ภายในเวลาที่กำหนดไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะด้วยปัญหาใดๆ ทั้งของขาด stock หรือไปรษณีย์ส่งช้าผู้ซื้อออนไลน์มีข้อจำกัดอยู่แล้วคือไม่ สามารถได้สินค้าทันทีที่ซื้อ ดังนั้นการส่งที่ช้าจะทำให้ลูกค้ารู้สึกไม่ดีกับบริษัทและอาจไม่กลับมาซื้ออีก

6. ต้องหลีกเลี่ยงการโต้แย้งในทุกกรณี ดังนั้น ผู้ขายต้องระบุรายละเอียดข้อมูลให้ ชัดเจนทั้งที่เกี่ยวข้องกับสินค้า การบริการหลังการขาย เงื่อนไขการคืน/เปลี่ยนสินค้า รวมทั้งผู้รับภาระค่าส่งสินค้า

สคร. ฮ่องกง

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ