ประเทศไทย..โอกาสการศึกษาต่อต่างประเทศของนักศึกษาจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 3, 2010 11:23 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ความร่วมมือระหว่างประเทศในยุคโลกาภิวัฒน์ โลกแห่งสารสนเทศ ซึ่งสู้กันด้วยข้อมูล รับมือกันด้วยเครือข่าย ขับเคลื่อนด้วยภูมิปัญญา ความร่วมมือระหว่างกันเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่างๆ ให้เข้าใจ ยอมรับ ร่วมมือ และอยู่ด้วยกันได้อย่างสุข สงบ หนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญในการเชื่อมประสานความเข้าใจระหว่างกันให้เกิดความร่วมมือขึ้น คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เข้าใจ ยอมรับ และอยู่ด้วยกันได้ในสังคมพหุวัฒนธรรม

สภาพบรรยากาศของตลาดแรงงานที่ส่งผลต่อการศึกษาต่อต่างประเทศ

กระทรวงประกันสังคมและทรัพยากรมนุษย์จีน เปิดเผยว่านักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี 2009 มีจำนวนทั้งสิ้น 6.1 ล้านคน มากขึ้นจากปี 2008 ซึ่งมีจำนวน 5.59 ล้านคน ถึง 5.1แสนคน ประกอบภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาทำให้เกิดปัญหาการว่างงานในอัตราที่สูง ซึ่งทางรัฐบาลให้ความสำคัญกับสถานการณ์นี้มาโดยตลอด โดยออกนโยบายต่างๆมาช่วยเหลือนักศึกษา เช่นการตั้งกองทุนSMEsเพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาเริ่มกิจการเอง หรือการเพิ่มตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านให้นักศึกษาเป็นต้น ด้านนักศึกษาและผู้ปกครองเองก็หาทางออกให้ตนเองโดยการหาโอกาสเรียนในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน ทางเลือกหนึ่งคือการศึกษาต่อในต่างประเทศ จากสถิติของกระทรวงศึกษาธิการจีนเผยว่าจำนวนนักศึกษาจีนที่ศึกษาต่อต่างประเทศตัวเลขคาดการณ์ในปี 2010 มีจำนวนถึง 2.2 แสนคน เพิ่มจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 54 และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยประเทศที่ไปศึกษาต่อมากที่สุดคือ อเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ ยุโรป แคนาดา และในเอเชีย ตามลำดับ ส่วนแนวโน้มนักศึกษาจีนที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศมีลักษณะพิเศษ 3 ข้อคือ มีอายุน้อยลง มาจากครอบครัวประชาชนทั่วไป และสนใจไปศึกษาต่อยังประเทศต่างๆที่หลากหลายมากขึ้น

ปัจจัยสนับสนุนให้ผู้ปกครองและนักศึกษาตัดสินใจเรียนต่างประเทศ

แนวโน้มการเลือกเรียนในประเทศต่างๆเพิ่มขึ้นจากอเมริกา และยุโรป เนื่องมาจากบทบาททางเศรษฐกิจของจีนเองที่ทวีความสำคัญมากขึ้นบนเวทีโลก ทำให้แต่ละประเทศสนใจและทำการค้ากับจีนมากขึ้น รัฐบาลแต่ละประเทศต่างกระตือรือร้นออกนโยบายสนับสนุนความร่วมมือด้านการศึกษากับจีน เช่นล่าสุดประธานาธิบดีอเมริกานาย บารัค โอบามา ได้เซ็นสัญญาความร่วมมือจีนอเมริกาเรื่องการสนับสนุนความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างกันให้มากขึ้นในครั้งที่เดินทางเยือนจีนเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2009 ที่ผ่านมา ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนการไปศึกษาต่อยังอเมริกาของนักศึกษาจีนเพิ่มขึ้นจากปี 2009 จำนวน 8 หมื่นคนเป็น 1 แสนคนในปี 2010

สถาบันวิจัยการศึกษาระหว่างประเทศปักกิ่งได้จัดทำ "รายงานแนวโน้มและทิศทางการศึกษาต่อต่างประเทศนักศึกษาจีน ประจำปี 2010" โดยทำการสุ่มสำรวจสอบถามผู้ปกครองและนักศึกษาจำนวน 6,000 รายทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือน ตุลาคม-พฤศจิกายน 2009 ผลการสำรวจสรุปว่านักศึกษาเกินกว่าครึ่งเตรียมตัวศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นร้อยละ 37.56 เตรียมตัวเรียนต่อภายใน1ปี ร้อยละ24.67 วางแผนเรียนต่อภายใน 2 ปี และร้อยละ 12.29 เตรียมตัวเดินทางเรียนต่อใน 6 เดือนข้างหน้า แสดงให้เห็นถึงกระแสการเรียนต่อต่างประเทศของจีนที่มาแรงในปี 2010 นี้อย่างแน่นอน นอกจากนี้คำถามในเรื่องปัจจัยในการเลือกเรียนต่อต่างประเทศ ร้อยละ 26.8 ตอบว่า คุณภาพการศึกษา รองลงมาคือ สิ่งแวดล้อม และ ค่าธรรมเนียมการศึกษา ปัจจัยที่สำคัญอื่นๆเช่น ภาษา ความปลอดภัย การได้งานทำ โอนสัญชาติได้หรือไม่ เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากผู้ปกครองไม่แพ้กัน นายหลี่ กวนจวิน หัวหน้าคณะสำรวจกล่าวว่า "ผลการสำรวจทำให้เห็นว่านักศึกษาและผู้ปกครองจีน มีการตัดสินใจที่เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น เห็นได้จากการให้ความสำคัญกับการวางแผนการเรียนให้สอดคล้องกับการทำงานในอนาคตมาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจ"

สภาพทั่วไปตลาดการศึกษา

สาขาพาณิชย์และการค้ายังคงเป็นสาขาวิชายอดนิยม นักศึกษาจีนร้อยละ 30 เลือกเรียนด้านการเงิน บัญชี การตลาด และการบริการจัดการธุรกิจ นายหลี่ ก้วนจวินเผยว่า "เนื่องจากเงื่อนไขการรับสมัครเข้าศึกษาต่อของนักศึกษาปริญญาโทสาขาวิชาการค้าระหว่างประเทศไม่สูงมาก เป็นปัจจัยสำคัญทำให้นักศึกษาเลือกเรียน เช่นสาขาวิชาการบัญชี ในประเทศออสเตรเลีย เป็นสาขาวิชาที่เปิดให้สำหรับผู้โอนสัญชาติ จึงเป็นที่หมายปองของนักศึกษาที่เตรียมโอนสัญชาติ" ผู้ที่ศึกษาต่อร้อยละ 60 เป็นนักศึกษาปริญญาตรี ร้อยละ 22.6 เป็นนักเรียนมัธยมปลาย และนักศึกษาปริญญาโทร้อยละ 10 ระดับชั้นที่ศึกษาต่อ มากกว่าร้อยละ 50 ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท รองลงมาคือศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี และระดับมัธยมปลายซึ่งตัวเลขเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี

ด้วยภาวะเศรษฐกิจในที่กำลังฟื้นตัวปรับดีขึ้น ครอบครัวคนทำงานรับเงินเดือนทั่วไปก็เริ่มส่งลูกออกไปเรียนต่างประเทศมากขึ้น แนวโน้มการเลือกเรียนมุ่งไปยังประเทศที่ค่าเรียนไม่แพงมาก มีคุณภาพการศึกษาดี เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮอลแลนด์ และฝรั่งเศส จากตัวเลขทางสถิตในปี2009 นักศึกษาจีนในสิงคโปร์ และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 30 และ 25 ตามลำดับ จากการสำรวจนักศึกษาที่เรียนจบกลับประเทศในปี 2009 ร้อยละ 2 มาจากครอบครัวคนทำงานรับเงินเดือนทั่วไป คาดว่าในปี2010 นักศึกษาที่ไปศึกษาต่างประเทศที่มาจากครอบครัวทำงานรับเงินเดือนจะคิดเป็นร้อยละ 34 ของนักศึกษาที่ไปเรียนต่อต่างประเทศทั้งหมด

โอกาสของประเทศไทยในตลาดการศึกษาจีน

ไทยจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ความร่วมมือด้านต่างๆได้เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะการศึกษาหนึ่งในกลไกการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศตลอดระยะเวลา 35 ปีที่ผ่านมาความร่วมมือของสถาบันการศึกษาไทย-จีนนับได้ว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีมากที่สุดแห่งหนึ่งโดยสังเกตได้จากสถาบันขงจื๊อ สถาบันภาษาและวัฒนธรรมจีนที่เปิดในสถานศึกษาไทยมีมาก ถึง 12 แห่ง ซึ่งถือว่ามากที่สุดในโลกในขณะนี้ โดยได้เปิดที่ 1.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 3.มหาวิทยาลัยขอนแก่น 4. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 5. มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต 6. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 7. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 8. มหาวิทยาลัยบูรพา 9. มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา 10.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสงขลา 11.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และ 12. เทศบาลเบตง เป็นผลของความร่วมมือที่เกิดเป็นรูปธรรมจากความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองฝ่าย

จากข้อมูลรายงานของสถานกงสุลใหญ่ไทยในนครเฉิงตูซึ่งนักศึกษาไทยได้เข้ามารายงานตัวในช่วงปี 2009 จำนวนนักศึกษาไทยที่มาศึกษาต่อในพื้นที่ดูแลมีจำนวนรวม 200 คนแบ่งเป็นในมหานครฉงชิ่ง 150 คน และนครเฉิงตู 50 คน ส่วนนักศึกษาจีนในพื้นที่ดังกล่าวไปศึกษาต่อยังเมืองไทยจำนวน 75 คน จากตัวเลขข้างต้นจะเห็นว่าหากวัดกันในเรื่องการศึกษาต่อต่างประเทศทางด้านภาษาแล้ว ภาษาจีนก็ยังเป็นภาษาที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจมากเป็นพิเศษตามความสำคัญทางเศรษฐกิจ โอกาสของประเทศไทยจึงควรกำหนดตำแหน่ง เพื่อขยายตลาดการศึกษากับจีนดังนี้

1. พัฒนาหลักสูตรให้ทันกับความต้องการของสังคม

เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (หลักสูตรนานาชาติ) ซึ่งที่ผ่านมาทางสคร.เฉิงตูได้ประสานรับสมัครนักศึกษามัธยมปลายจากหนิงเซียะเดินทางไปศึกษาต่อจำนวน 2 คน ซึ่งคาดว่าจะมากขึ้นทุกปีเนื่องจากตลาดยังสามารถพัฒนาได้อีก จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ พบว่าในปีที่ผ่านมามีนักศึกษาจากประเทศจีนสนใจเข้ามาศึกษาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ในปี 2552 มีนักศึกษาชาวจีนศึกษาในไทยรวมกว่า 20,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มียอดรวมกว่า 10,000 คน โดยหลักสูตรที่นักศึกษาจีนนิยมเลือกเรียนได้แก่ หลักสูตรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ด้านการท่องเที่ยว และด้านการบริหารจัดการ โดย มหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาต่างชาติเรียนมากที่สุด 10 อันดับแรกได้แก่ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเว็บสเตอร์ (ประเทศไทย) มหาวิทยาลัยชิลเลอร์-สแตมฟอร์ด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิชชั่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

2. พัฒนาหลักสูตรโดยการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างชาติ

นายภราดาบัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2009 ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีนักศึกษาต่างชาติรวมกว่า 2,500 คน นักศึกษาจากประเทศจีนมีสัดส่วนมากที่สุด คือกว่า 1,000 คน ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีหลักสูตรภาษาจีนธุรกิจรองรับ ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง และเปิดหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการสอนภาษาจีนเป็นภาษาต่างประเทศ (Master of Arts in Teaching Chinese as a Foreign Language) และหลักสูตรศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาจีนเพื่อเศรษฐกิจและการค้า (Bachelor of Arts - Chinese for Economy and Trade)

จากการสอบถามเหตุผลของผู้ปกครองและนักศึกษาที่ตัดสินใจเลือกเรียนต่อประเทศไทย คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่คือ หลักสูตรที่โดดเด่น และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต เช่นหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (หลักสูตรนานาชาติ) ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งมีความร่วมมือกับต่างประเทศ ประกอบกับค่าครองชีพ และค่าธรรมเนียมการศึกษาที่ไม่สูงเกินไปนัก เป็นทางเลือกให้กับครอบครัวทั่วไปของจีนที่มีแนวโน้มส่งลูกหลานศึกษาต่างประเทศมากขึ้น

3. ประชาสัมพันธ์การศึกษาต่อยังประเทศไทย โอกาสยังสูงและขยายตัวได้อีกมาก

3.1 การแนะนำเชิญชวนโดยตรง โดยการจัดการบรรยายตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทย แหล่งท่องเที่ยวไทย ตลอดจน สถานที่ศึกษาและหลักสูตรที่น่าสนใจของไทยให้นักเรียนนักศึกษาชาวจีน และผู้ปกครองรับทราบ

3.2 งานแสดงนิทรรศการศึกษาต่อ เช่น การจัดงานนิทรรศการการศึกษาต่อต่างประเทศ (Education Expo) โดยเชิญชวนให้มหาวิทยาลัย โรงเรียนตลอดจนสถาบันการศึกษาต่างๆมาร่วมออกงาน เพื่อแนะนำหลักสูตรโดยตรงและเชิญชวนให้นักเรียนนักศึกษาจีนมาศึกษาต่อในเมืองไทย

3.3 จัดคณะผู้แทนการศึกษาแลกเปลี่ยนการเยือน (In-Coming / Out- Going)

  • In - Coming Trade Mission โดยจัดคณะแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศตลอดจนครูใหญ่โรงเรียนมัธยม เยือนประเทศไทยเพื่อเยี่ยมชมงาน Education Expo และมหาวิทยาลัยต่างๆของไทย พร้อมรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับระบบการศึกษาของไทยหลักสูตรที่น่าสนใจเพื่อกระตุ้นให้เกิดการร่วมมือทางด้านการศึกษาต่อไป
  • Out - Going Trade Mission นำคณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาจัดการบรรยาย เผยแพร่การศึกษาไทยให้นักเรียนนักศึกษาชาวจีนทราบ พร้อมทั้งพบปะหน่วยงานที่มีอิทธิพลต่อการแนะแนวการศึกษาให้กับนักเรียนและนักศึกษาจีน เช่น กองวิเทศน์กรมการศึกษาของแต่ละมณฑล เพื่อสร้างความเข้าใจ และร่วมกันผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและการส่งนักศึกษาจีนไปศึกษาต่อที่ประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น

ในขณะที่การค้า การลงทุน มีขึ้นลงตามสถานการณ์โลกที่บางครั้งมาจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ การที่กรมส่งเสริมการส่งออกให้ความสำคัญในธุรกิจบริการ โดยเฉพาะการศึกษาต่อในไทยที่สามารถสร้างรายได้ในระยะยาว จึงเป็นจุดยืนที่ยังคงต้องรักษาไว้ และพัฒนาให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพราะไม่ว่าชาติไหนๆในโลก การศึกษายังเป็นหัวใจของการพัฒนาในทุกๆด้าน

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ