มุมมองของสื่อญี่ปุ่นต่อนโยบาย China Plus One สินค้าสิ่งทอ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 3, 2010 11:32 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ในปัจจุบัน หลายประเทศเริ่มจะใช้นโยบาย China Plus One จากเดิมที่ใช้ประเทศจีนเป็นฐานการผลิตสินค้าเพียงที่เดียว เริ่มมีการที่จะมองหาแหล่งผลิตอื่นๆ เช่นประเทศในเอเชีย หรืออาเซี่ยน ประเทศญี่ปุ่น ก็เช่นเดียวกัน หลายบริษัทได้ใช้นโยบาย China Plus One โดยผลิตสินค้าใน ประเทศอื่นๆที่นอกจากประเทศจีนด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโอซากาได้เข้าร่วมการสัมมนาในหัวข้อ “ China Plus One : Current Situation and issues” ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 โดยการสัมมนาในเรื่องดังกล่าวมีข้อคิดเห็นและมุมมองของสื่อญี่ปุ่นเกี่ยวกับเรื่องสินค้าสิ่งทอ สรุปได้ดังนี้

1. ในหัวข้อ “ทำไมในปัจจุบันญี่ปุ่นต้องให้ความสนใจประเทศในเอเชีย และอาเซี่ยน” Mr. Shuichi Fujiura ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ Senken Shimbun ให้ความเห็นว่า ประเทศญี่ปุ่นเคยเป็นผู้ส่งออกสินค้าในกลุ่มสิ่งทอจนกระทั่งถึงต้นทศวรรษ 1980 โดยเริ่มตั้งแต่ทศวรรษ 1960 บริษัทสิ่งทอญี่ปุ่นได้ไปตั้งบริษัทในประเทศในเอเชีย แต่หลังจากมีการปรับอัตราแลกเปลี่ยนต่อเงินดอลลาร์ในปี 1985 ญี่ปุ่นได้กลายเป็นผู้นำเข้าสินค้าสิ่งทอ ในปี 2005 โควต้าการนำเข้าถูกยกเลิกทำให้สินค้าจีนแพร่กระจายไปยังสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น และภายหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ในปี 2008 ความต้องการบริโภคในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปลดต่ำลงอย่างมาก ส่งผลให้ญี่ปุ่นเป็นตลาดนำเข้าที่สำคัญ โดยประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการทำ FTA ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศไทย

2. ส่วนสถานการณ์การผลิตสินค้าสิ่งทอในปัจจุบัน Mr.Takushi Inada ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์ Senken Shimbun เช่นกัน ให้ความเห็นเกี่ยวกับ ประเทศที่มีบทบาทในวงการสิ่งทอ ในขณะนี้มี 4 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ อินเดีย กัมพูชา และเวียดนาม ดังนี้

2.1 ประเทศบังคลาเทศส่งออกสินค้าเสื้อผ้าถักมูลค่า 64 พันล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกผ้าผืนมูลค่า 59 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกเสื้อผ้าคิดเป็นร้อยละ 80 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ จุดเด่นของบังคลาเทศคือสามารถป้อนวัตถุดิบที่มีจำนวนมาก จุดด้อยคือ ปัญหาการขาดแคลนสาธารณูปโภค เช่นปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า การจราจรติดขัด และมีท่าเรือขนาดเล็ก

2.2 ประเทศอินเดีย ส่งออกสินค้าสิ่งทอมูลค่า 100 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเสื้อผ้าร้อยละ 90 ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป โดยรวมแล้วราคาสินค้าของอินเดียจะสูงกว่าจีน และบังคลาเทศ ดังนั้นสินค้าที่มีราคาสูงทำจากผ้าฝ้ายออร์เกนิกส์ ผ้าไหม จะส่งออกมายังญี่ปุ่นจุดเด่นของอินเดียคือมีผ้าที่หลากหลาย และหากการทำความตกลงทางเศรษฐกิจกับญี่ปุ่นประสบความสำเร็จจะยิ่งส่งผลให้อินเดียส่งออกมากยิ่งขึ้น

2.3 ประเทศกัมพูชาในปัจจุบันมีโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าจำนวน 300 โรงโดยร้อยละ 90 เป็นการลงทุนจากต่างชาติ จุดเด่นของกัมพูชาคือมีโรงงานขนาดใหญ่และทันสมัย จุดด้อยคือค่าแรงที่แพงกว่าบังคลาเทศ และวัตถุดิบส่วนใหญ่นำเข้า ซึ่งประเทศญี่ปุ่นสามารถจะใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญุ่น (AJCEP)ในการทำการค้ากับกัมพูชาได้

2.4 ประเทศเวียดนามส่งออกสินค้าสิ่งทอมูลค่า 90 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 1 ของประเทศ ร้อยละ 50 ส่งไปยังสหรัฐอเมริกา รัฐบาลเวียดนามมีความตั้งใจที่จะเพิ่มยอดการส่งออกเป็น 180 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2015 และเวียดนามจะเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าที่สำคัญในอนาคตของญี่ปุ่น

สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ นครโอซากา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ