สถานการณ์เศรษฐกิจการค้าในแคนาดา 1-5 มีนาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 9, 2010 14:44 —กรมส่งเสริมการส่งออก

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแคนาดา (Infrastructure Stimulus Plan: ISF)

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลแคนาดาประกาศไว้เมื่อปี 2552 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 2 ปีประสบปัญหาล่าช้า มาตรการนี้รัฐบาลกลางตั้งงบประมาณไว้จำนวน 13,000 ล้านเหรียญแคนาดา รวมกับงบประมาณสมทบจากรัฐบาลท้องถิ่นเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 25,800 ล้านเหรียญแคนาดา เพื่อก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 6,700 โครงการ

จากข้อมูลการเบิกจ่ายเงินตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจพบว่าในเดือนธันวาคม 2552 มีการเบิกจ่ายเงินเพียง 9,000 ล้านเหรียญแคนาดาและอีกเกือบครึ่งหนึ่งของโครงการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเริ่มดำเนินการในปี 2553 แสดงให้เห็นถึง อาจมีความล่าช้าของการดำเนินงานไปจนถึงปี 2554 ซึ่งไม่ทันต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว อาทิ การก่อสร้างอาคารของหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน (The Emergency Medical Services) มูลค่า 4 พันล้านเหรียญแคนาดา โครงการซ่อมแซมถนนหนทาง และสะพานอาคารสถานที่ ที่จะเริ่มในปี 2553 และโครงการ Toronto EMS Station 19 มูลค่า 2.1 ล้านเหรียญแคนาดา

Construction Sector Council ประเมินว่า ปี 2552 มีการใช้งบประมาณเพียงร้อยละ 20 และคาดว่าในปี 2553 จะมีการใช้งบประมาณร้อยละ 50 และในปี 2554 จะใช้งบประมาณส่วนเหลือร้อยละ 30 อย่างไรก็ตาม สหพันธ์เทศบาลแคนาดา ซึ่งเป็นตัวแทนภาครัฐในการควบคุมงานโครงการทั้งหมดไม่ได้โต้แย้งในประเด็นที่งบประมาณส่วนใหญ่จะถูกเบิกออกมาใช้ในปี 2553 แต่เห็นว่า การตรวจสอบการเบิกจ่ายงบประมาณโดยรัฐบาลกลาง ไม่สะท้อนภาพการดำเนินงานที่แท้จริง เนื่องจากเทศบาลได้จ่ายเงินสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ล่วงหน้าไปก่อนแล้วจึงมาเบิกจากรัฐบาลกลางในภายหลัง จึงทำให้ดูเสมือนว่ามีการดำเนินโครงการต่าง ๆไปเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ รัฐบาลแคนาดาได้ออกมายืนยันว่า โครงการต่าง ๆ จะเสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม ปี 2554

นาย ดอน ดรัมมอนด์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่ง ธนาคารโตรอนโต โดมิเนี่ยน (TD Bank) ให้ความเห็นว่า แม้จะไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับมูลค่าเงินที่ใช้จ่ายไปในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่พบว่า การดำเนินโครงการเหล่านี้สายเกินไปสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจของแคนาดา ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย

นาย ไมเคิล แอตกินสัน นายกสมาคมก่อสร้างแคนาดา ให้ความเห็นว่า โครงการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อให้เกิดรายได้ต่อผู้ประกอบการซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคม ซึ่งหากปราศจากโครงการเหล่านี้แล้ว สมาชิกของสมาคมบางรายอาจแทบไม่มีงานเข้ามาเลยในปีที่ผ่านมา

จากการที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ ส่งผลทำให้เม็ดเงินจากภาครัฐที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อรองรับผลกระทบจากวิกฤตและทำให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่ได้ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจแคนาดาปรับตัวอย่างช้า ๆ และเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นนับตั้งแต่ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ซึ่งโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ จะมีผลดีต่อกลุ่มสินค้าวัสดุ ที่ไทยได้มีการส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวมายังแคนาดา มีมูลค่ารวม 58.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ครองส่วนแบ่งตลาด 0.64% อันดับที่ 17 สินค้าที่ส่งออก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็ก ท่อเหล็ก (12.69 ล้านเหรียญฯ) สลักภัณฑ์ (8.20 ล้านเหรียญฯ) อุปกรณ์เครื่องมือก่อสร้าง (7.48 ล้านเหรียญฯ) ปูนซีเมนต์ (6.33 ล้านเหรียญฯ) ลวดโลหะ (5.03 ล้านเหรียญฯ)

รัฐบาลแคนาดาประกาศปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับธุรกิจโทรคมนาคม

รัฐบาลแคนาดา( 4 มีค.2553) ได้ประกาศปรับปรุงระเบียบเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของของต่างชาติในธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อรองรับกระแส Mergers & Acquisitions ของต่างชาติ โดยจะผ่อนคลายกฎระเบียบเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของของต่างชาติ ซึ่งคาดว่าจะ ดึงดูดการลงทุนจากบริษัทของสหรัฐอเมริกา อาทิ VeriZon Communication บริษัท AT&T Inc.

การประกาศปรับปรุงระเบียบนี้ เป็นผลมาจากที่เมื่อปี 2552 คณะรัฐมนตรีได้มีมติว่าบริษัท Globalive Wireless Management Corp. ไม่ได้เป็นบริษัทของแคนาดา เนื่องจากได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทของอียิปต์ซึ่งทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของแคนาดา เช่น Rogers Communication Inc. บริษัท BCE Inc. และบริษัท Telus Corp. ต่างพากันออกมากล่าวว่า มติดังกล่าวทำให้เกิดความไม่แน่นอนต่อธุรกิจโทรคมนาคม

Tony Clement รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จะมีการเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอเพิ่ม new sector ในพรบ.ว่าด้วยการลงทุน (Canada Investment Act) ที่จะรวมถึงธุรกิจดาวเทียม โทรคมนาคมและเหมืองแร่ยูเรเนียม ซึ่งจะอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาครอบครอง (take over) กิจการในกรณีที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อแคนาดา เช่น ก่อให้เกิดการจ้างงาน มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี่และนวัตกรรมใหม่ๆ หรือส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของแคนาดา โดยข้อเสนอเพื่อปรับปรุงนี้จะไม่ทำให้ธุรกิจดั้งเดิมของแคนาดาตกอยู่ในภาวะเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม พรรค New Democratic Party ได้ออกมาคัดค้านข้อเสนอนี้ โดยให้ความเห็นว่า จะก่อให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อธุรกิจดั้งเดิมของแคนาดา เนื่องจาก มีความทับซ้อนระหว่างธุรกิจโทรคมนาคมกับธุรกิจกระจายเสียงและโทรทัศน์ (broadcasting) และได้มีบริษัทธุรกิจออกมาคัดค้านโดยชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลจะต้องคงไว้ซึ่งธุรกิจที่เป็นของแคนาดา (Canada Content) และมรดกของแคนาดา (Canada Heritage) และรัฐบาลจะต้องคำนึงถึงการดำเนินการบนพื้นฐานของ Fair and equitable basis ด้วย ข้อเสนอของรัฐบาลจะทำให้บริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ได้เปรียบในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการสร้างโครงข่ายสื่อสาร เกิดการแข่งขันครั้งใหญ่และจะนำไปสู่การรวมตัวของธุรกิจ ดังเช่นกรณีการรวมธุรกิจของ BCE’s Bell Canada กับTelus กลายเป็น Belus

หากข้อเสนอของรัฐบาลแคนาดา ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา จะทำให้ลดข้อจำกัดในเรื่องของสัดส่วนความเป็นเจ้าของ (Foreign Ownership) สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในหลายธุรกิจ อาทิโทรคมนาคม เหมืองแร่ยูเรเนียม และอื่นๆ ซึ่งสามารถค้นหาข้อมูลสิทธิประโยชน์ การส่งเสริมการลงทุนในแคนาดาได้ที่ หน่วยงาน Invest In Canada (http://investincanada.gc.ca/eng/default.aspx)

ค่าโดยสารเครื่องบินในแคนาดาจะปรับเพิ่มสูงขึ้น

The International Air Transport Association (IATA) ของแคนาดาได้ออกมาประกาศว่าจะขึ้นราคาค่าโดยสารเครื่องบิน โดยค่าโดยสารสำหรับชั้นประหยัดจะขึ้นประมาณร้อยละ 10 ทั้งๆ ที่ต้นทุนของสายการบินเพิ่มสูงขึ้น โดยสายการบิน WestJet Airlines Ltd., (สำนักงานอยู่ที่เมือง Calgary และไม่ได้เป็นสมาชิก IATA ) ซึ่งบินระหว่างแคนาดา-สหรัฐอเมริกา-ฮาวาย-หมู่เกาะคาริบเบียน แจ้งว่า Loading factor ในช่วงมค.-กพ. 2553 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เป็นร้อยละ 79.5 แม้ว่าผู้โดยสารจะเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 9 และ Air Canada ที่มีค่า Loading factor ลดลงเป็นร้อยละ 77.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เป็นร้อยละ 78.8 โดยมีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 5

IATA ยังกล่าวว่าในปีที่ผ่านมาธุรกิจสายการบินของแคนาดาขาดทุนถึง 11 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้มีการยกเลิกการเดินทาง และสายการบินต้องลดเที่ยวบินเพื่อความอยู่รอดอย่างไรก็ตาม บริษัท WestJet ได้ประกาศว่าผลประกอบการมีกำไรในปี 2552 ถึง 98.2 ล้านเหรียญแคนาดาในขณะที่ Air Canada ประสบภาวะขาดทุน 24 ล้านเหรียญแคนาดา จึงทำให้มีผู้ออกมากล่าวว่า การประกาศผลขาดทุนของสายการบินของ IATA ไม่ได้รวมถึงสายการบินที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของ IATA เช่น WestJet หรือสายการบินอื่นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของ IATA

ถึงแม้ว่าการประกาศการเพิ่มราคาค่าโดยสารเครื่องบินในแคนาดา ไม่ได้รวมถึงค่าขนส่งทางอากาศ (Air Cargo) แต่เป็นส่งสัญญาณว่าค่าขนส่งทางอากาศอาจมีปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นผลให้การขนส่งสินค้าทางอากาศจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ได้แก่สินค้า ผัก ผลไม้สด ดอกไม้ (Cut Flower) และสินค้าเน่าเสียได้ (Perishable Product) สำหรับในปี 2552 ไทยส่งออกสินค้าผลไม้สดมายังแคนาดา มีมูลค่า 5.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (สินค้าผลไม้ได้แก่ มังคุด ทุเรียน ชมพู่ เงาะ ลิ้นจี่) ซึ่งผู้ส่งออกไทยควรติดตามเฝ้าดูสถานการณ์ทิศทางของค่าขนส่งสินค้าที่อาจะปรับสูงขึ้น

สคร. นครโตรอนโต

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ