ตลาดสินค้ายานยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบในสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 11, 2010 12:34 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ขนาดของตลาด

ตลาดยานยนต์

สหรัฐฯ ผลิตยานยนต์รถทุกชนิดรวมกันมีจำนวน 8.5 ล้านคันในปี 2551 ลดลงร้อยละ -19.2 และมียอดจำหน่ายยานยนต์ทุกชนิดรวมกันในปี 2551 มีมูลค่า 13.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงไปจากปีที่ผ่านมาร้อยละ -18 และมีผู้ประกอบการยานยนต์ทุกประเภทจำนวน 12 ราย

ตลาดอุปกรณ์และส่วนประกอบ

ตลาดอุปกรณ์และส่วนประกอบมียอดจำหน่ายประมาณ 210 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2551 หรือต่ำกว่าปี 2550 ร้อยละ 13.8 โดยแยกเป็นชิ้นส่วนที่ใช้ประกอบในรถที่ผลิตออกมาจากโรงงาน (Original Equipment Manufacturing : OEM) 70 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และชิ้นส่วนอะไหล่และส่วนประกอบทดแทน (Replacement Equipment Manufacturing :REM) 139 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

อุตสาหกรรมอุปกรณ์และส่วนประกอบมีการจ้างงานประมาณ 625,430 คนในปี 2549 ลดลงร้อยละ -5.0 และมีผู้ประกอบการจำนวน 20,000 ราย

2. ช่องทางการจัดจำหน่าย

ยานยนต์จะถูกจัดส่งจากโรงงานประกอบรถยนต์ไปยัง Car Dealer หรือตัวแทนเพื่อจำหน่ายให้ผู้บริโภคต่อไป

การจำหน่ายส่วนประกอบยานยนต์มีความแตกต่างกันระหว่างชิ้นส่วน OEM และชิ้นส่วน Replacement

OEM Parts จะถูกสั่งซื้อจากโรงงานประกอบรถยนต์ไปยังกลุ่มผู้ผลิต Parts กลุ่ม Tier1 ซึ่งผู้ผลิต Tier 1 จะผลิตเองหรือนำไปจ้างผู้ผลิตกลุ่ม Tier 2 หรือ Tier 3 ในประเทศหรือในต่างประเทศผลิต ต่อไป

ชิ้นส่วนอะไหล่และส่วนประกอบทดแทน (Replacement Equipment Manufacturing :REM) มีตัวจักรในการกระจายสินค้า 2 องค์กร คือ ตัวแทนการขาย (Sales Rep. หรือ Manufacturer Rep.) จะติดต่อกับกลุ่ม Warehouse Distributor (WD) และ กลุ่ม Jobber (Small Wholesale) ซึ่งจะ จำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มผู้ให้บริการ เช่น Gas Station, Body Shop และ Repair Shop Buying Group ส่วนอีกองค์กรหนึ่งคือ Buying Group ให้บริการสมาชิกซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านค้าปลีกขายชิ้นส่วน และ ห้าง Chain Store เช่น Wal-Mart, Target, Home Depot, Pepboys, Sears Auto, O’Reilly และสินค้าที่จำหน่ายเป็นสินค้า Brand Name ของผู้ผลิต

3. พฤติกรรมการบริโภค

ราคาน้ำมันดิบที่ถีบตัวขึ้นในอัตราสูงมากใน 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการผลิตและบริโภคอุตสาหกรรมยานยนต์ อปกรณ์และส่วนประกอบของสหรัฐฯ ก่อให้เกิดการปรับตัว คือ

3.1 ผู้บริโภคต้องการยานยนต์ที่ประหยัดน้ำมัน และยานยนต์ขนาดเล็กซึ่งไม่กินน้ำมัน

3.2 ผู้บริโภคต้องการยานยนต์ที่ช่วยมลภาวะ Green House Gas และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly Car)

3.3 ผู้บริโภคต้องการใช้ยานยนต์ที่ใช้พลังงานรูปแบบอื่นที่ทดแทนหรือลดการพึ่งพาน้ำมันเบนซิน เช่น Electricity Bio Diesel และ Hydrogen เข้ามาขับเคลื่อนเครื่องยนต์

4. การค้าในประเทศและการขายปลีก

ยอดจำหน่ายรถยนต์ (Passenger Car) ของสหรัฐฯ (เฉพาะในประเทศ) ในปี 2552 มีจำนวน 10,431,509 คัน หรือลดต่ำกว่าปี 2551 ที่ผ่านมาจำนวน 2,823,266 คัน หรือคิดเป็นลดลงร้อยละ -20.31 รถ Toyota มีจำนวนรถยนต์ขายมากที่สุดของสหรัฐฯ (ไม่รวมรถ Lexus) 1,554,174 คัน แต่มี ยอดขายลงลงร้อยละ -25.96 รถ Ford ขายได้จำนวน 1,445,742 คัน หรือมียอดขายลดลงร้อยละ -16.74 รถ Chevrolet มียอดขายจำนวน 1,344,629 คัน หรือยอดขายลดลงร้อยละ -25.34 และ รถ Honda มียอดขาย 1,045,061 คัน หรือยอดขายลดลงร้อยละ -22.89

รถยนต์เกือบทุกแบรนด์ที่จำหน่ายในสหรัฐฯ มียอดการขายรถยนต์ลดลง ยกเว้นรถยนต์ต่างประเทศ 3 แบรนต์ เท่านั้นที่มีจำนวนรถยนต์ขายเพิ่มขึ้น คือ รถ Hyundai ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.66 รถ Kia ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.89 และ รถ Subaru ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.36

ปัญหาเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ผนวกกับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เป็นผลผู้บริโภคเลี่ยงการซื้อรถยนต์ขนาดใหญ่และมีอัตราการประหยัดน้ำมันต่ำ โดยหันไปซื้อรถยนต์ขนาดเล็กที่มีอัตราการประหยัดน้ำมันสูงแทน นอกจากนั้นแล้ว ผู้บริโภคยังถูกจำกัดวงเงินกู้จากสถาบันการเงิน จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการลดลงของยอดจำหน่ายรถยนต์ในสหรัฐฯ

การจำหน่ายรถยนต์ของสหรัฐฯ ในปี 2552

          แบรนด์รถยนต์           จำนวนคันปี 2551      จำนวนคันปี 2552      เพิ่ม/ลด (%)
          1. Toyota             1,957,575          1,554,174          -25.96
          2. Ford               1,687,731          1,445,742          -16.74
          3. Chevyrolet         1,801,131          1,344,742          -25.34
          4. Honda              1,284,261          1,045,061          -22.89
          5. Nissan               838,361            689,014          -21.68
          6. Dodge                522,686            784,113          -33.34
          7. Hyundai              401,742            435,064            7.66
          8. Kia                  273,397            300,063            8.89
          9. GMC                  376,996            259,779          -45.12
          10. Jeep                333,901            231,071          -44.50
          11. Subaru              187,699            216,652           13.36
          12. Lexus               260,087            215,975          -20.42
          13. Volkswagen          223,128            213,454           -4.53
          14. Mazda               263,949            207,767          -27.04
          15. BMW                 249,113            196,502          -26.77
          16. Mercedes-Benz       225,128            190,604          -18.11
          17. Pontiac             267,348            178,300          -49.94
          18. Chrysler            335,108            177,015          -89.31
          19. Cadilac             161,159            109,092          -47.73
          20. Acura               144,504            105,723          -36.68
              อื่นๆ*              1,459,771            430,602          -70.50
                รวมทั้งสิ้น        13,254,775         10,431,509          -21.30
          * ได้แก่ Audi, Buick, Infiniti, Jaguar, Lincoln, Mercury, Mitsubishi,
            Land Rover, Porsche, Volvo

5. ระดับราคาขายปลีกรถยนต์
          สมาคม American International Automobile Dealers Association ของสหรัฐฯ คาดว่าราคาจำหน่ายรถยนต์ (Sticker Price) รุ่น 2010 ที่ผลิตในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8 -12 ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของรถยนต์ ในขณะที่รถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10-15 ด้วยเหตุผลจาก อุตสาหกรรมได้แนะนำรถรุ่นใหม่ การใช้เทคโนโลยี่เพิ่มความปลอดภัย การประหยัดน้ำมัน และ การเพิ่มอุปกรณ์ให้ความสะดวกสบายต่างๆ

              ราคาขายปลีกรถยนต์ รุ่นปี 2010 ที่ได้รับความนิยมในตลาด 10 อันดับ
                               หน่วย: เหรียญสหรัฐฯ
แบรนด์รถยนต์           ราคาขายปลีก*            แบรนด์รถยนต์            ราคาขายปลีก*
 1. Ford F-150       21,380-39,010     6. Honda CR-V             21,545-27,745
 2. Toyota Camry     19,395-29,245     7. Nissan Altima          19,190-29,380
 3. Honda Accord     21,055-29,305     8. Chevy Impala           23,890-29,630
 4. Toyota Colora    15,350-18,860     5. Toyota Prius           21,000-27,270
 5. Honda Civic      15,500-22,055     9. Ford Fusion            19,620-28,030
* ราคาขายปลีกยังไม่ร่วมค่าขนส่งและภาษีการค้า


6. สถานการณ์การแข่งขันในตลาด
          สมาคม American International Automobile Dealers Association ของสหรัฐฯ รายงานว่า ในปี 2552 รถยนต์ต่างประเทศครองตลาดสหรัฐฯ มีสัดส่วนตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 55.80 ในขณะที่รถของ BIG 3 ลดลงเหลือ ร้อยละ 44.20 รถญี่ปุ่นมีสัดส่วนตลาดมากที่สุดร้อยละ 40.0 ในขณะที่ GM มีสัดสัดตลาดมากที่สุดในส่วนกลุ่ม BIG 3 หรือร้อยละ 20
          สถานการณ์ปัจจุบัน บริษัทToyota เรียกรถกลับคืน (Recall) จำนวน 8 รุ่น (2009-2010 RAV4, 2009-2010 Corolla, 2009-2010 Matrix, 2005-2010 Avalon, 2007-2010 Camry, 2010 Highlander, 2007-2010 Tundra, และ 2008-2010 Sequoia) รวมว่า 2.3 ล้านคัน เพื่อมาซ่อมคันเร่ง (Gas Pedal) พร้อมกับประกาศหยุดขายรถ 8 รุ่นดังกล่าวชั่วคราว
          นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐฯ เชื่อว่า สถานการณ์ Recall นี้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อบริษัท Toyota ยอดขายของบริษัทฯ จะต้องลงลงในปี 2553 และจะเป็นผลให้สูญเสียความเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ในสหรัฐฯ รถยนต์สหรัฐฯ เช่น Chevrolet, Ford, Buick จะมียอดขายเพิ่มขึ้นและจะเรียกคืนสัดส่วนตลาดที่สูญเสียไปกลับมา นอกจากนั้นแล้ว รถต่างประเทศจากเอเซีย เช่น Honda, Hyundai และ Kia จะมียอดขายและสัดส่วนตลาดเพิ่มขึ้นเช่นกัน ในขณะที่ รถยนต์จากยุโรป เช่น Audi, BMW และ Mercedes Benz จะมียอดขายทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2552

7. มาตรการด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี
          มาตรการภาษี: สหรัฐฯ เก็บภาษีศุลกากรรถยนต์นำเข้าและส่วนประกอบในอัตราต่ำโดยเก็บภาษีรถยนต์นำเข้าประมาณร้อยละ 0.00-25.00 และชิ้นส่วนประกอบประมาณร้อยละ 0.00-5.00 และให้สิทธิพิเศษ GSP
          มาตรการไม่ใช่ภาษี เป็นเรื่องเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าเพื่อความปลอดภัย
          1. มาตรฐาน SAE สำหรับอุปกรณ์และส่วนประกอบ OEM
          2. มาตรฐาน DOT : US Department of Transportation เน้นในด้านความปลอดภัย
          3. มาตรฐาน UL : Universal Laboratories สำหรับส่วนประกอบที่ใช้กับไฟฟ้า
          4. มาตรฐาน EPA : กำหนดโดย US Environment Protection Agency : EPA
          ควบคุมในเรื่องมาตรฐาน Greenhouse Gas Emissions และ Fuel Economy
          5. มาตรฐานกลุ่มประกันภัยรถยนต์สำหรับชิ้นส่วน Collision Parts
          6. การเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti Dumping Duty)

8. SWOT สินค้ายานยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบไทย
          จุดแข็ง
          1. แรงงานในภาคอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและยานยนต์มีการเรียนรู้และสั่งสมทักษะ ความชำนาญด้านการผลิตมาอย่างยาวนานจากการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ประกอบการต่างชาติ โดยเฉพาะผู้ประกอบการญี่ปุ่น
          2. ผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่และยานยนต์ในไทยมีการกระจุกตัวและการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม(Cluster) อันเป็นผลดีในแง่ของการลดต้นทุน การวางแผนกลยุทธ์ร่วมกัน รวมถึงลดต้นทุนการขนส่งระหว่างกัน
          3. ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะในกลุ่มที่ผลิตชิ้นส่วนเพื่อป้อนโรงงานโดยตรง (Tier 1) มีการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างค่อนข้างใกล้ชิด และได้รับการยอมรับโดยทั่วกันว่าสินค้าไทยมีคุณภาพ
          4. ภาครัฐมีนโยบายผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาค จึงมีการเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทย

          จุดอ่อน
          1. แรงงานและทรัพยากรบุคคลขาดทักษะด้านภาษาต่างประเทศซึ่งทำให้เป็นอุปสรรคต่อการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติ และขาดความรู้และทักษะด้านการออกแบบ
          2. ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนไทยมีข้อจำกัดในการติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศ ขาดการวางแผนทางธุรกิจ รวมถึงการนำระบบการบริหารที่รวดเร็วทันต่อการเปลี่ยนแปลง และการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ปรับปรุง และพัฒนาปัจจัยในด้านต่างๆ ขององค์กร เพื่อยกระดับให้เป็นที่ยอมรับจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในต่างประเทศ
          3. ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมจึงไม่มีศักยภาพในการเพิ่มหรือลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา
          4. เครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิต ยังต้องพึ่งพาต่างประเทศ การทำวิจัย พัฒนา และการทำนวัตกรรมมีน้อย
          5. ขาดการผลักดันและส่งเสริมการใช้ Brand Name ของตนเองในการขยายตลาด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ทดแทน (แบบ Replacement) จึงมีการใช้ชื่อตราสินค้า(Brand) ของตนเองน้อยมาก
          6. ขาดหน่วยงาน อุปกรณ์ เครื่องมือ ด้านการให้บริการตรวจสอบ ทดสอบ และอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีอยู่น้อย ไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนด เก่า และ ล้าสมัย
          7. สหรัฐฯ เป็นตลาดที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นข้อจำกัดของสินค้าลอกเลียนแบบสินค้าชิ้นส่วน อะไหล่ยานยนต์ไทย บางส่วนจะมีโอกาสในตลาดที่ไม่มีความเข้มแข็งในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

          โอกาส
          1. ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ตลาดรถยนต์ที่ชะลอตัวส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนของไทย โดยภาพรวมผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น และมีแนวโน้มไม่นิยมซื้อรถใหม่แต่จะใช้รถคันเดิมหรือซื้อรถยนต์มือสอง ซึ่งมีราคาต่ำกว่าแม้จะมีปัญหาจุกจิกจากการซ่อมบำรุง ดังนั้นความต้องการอะไหล่รถยนต์จึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น เป็นนโอกาสและส่งผลดีต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ทดแทน (Replacement Equipment Manufacturing ) ของไทย
          2. สินค้าชิ้นส่วนอะไหล่ที่มีพื้นฐานจากยางธรรมชาติเป็นสินค้าที่มีศักยภาพและมีความต้องการในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติรายใหญ่ของโลก
          3. การผลักนโยบายการค้าเสรี ( Free Trade Area : FTA) ของรัฐบาลกับประเทศต่างๆ รวมทั้งสหรัฐฯ เพื่อการชักจูงให้มีการย้ายฐานการผลิตมาในประเทศไทยมากขึ้น

          อุปสรรค
          1. การประกอบธุรกิจการค้ายานยนต์ทั้งวงจร ตั้งแต่การผลิต การขาย และบริการอยู่ในการครอบครองและควบคุมของบริษัทต่างชาติ
          2. คนไทยมีค่านิยมที่จะใช้สินค้าต่างประเทศ ไม่สนันสนุน Brand Name ของไทย
          3. การแข่งขันมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะจีนซึ่งสามารถพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีของตนขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และก้าวหน้ากว่าประเทศไทย และ เวียดนามเป็นแหล่งผลิตที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำ
          4. ค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้ราคาชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ที่ส่งออกมายังตลาดสหรัฐฯมีราคาสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการสูญเสียตลาดในสหรัฐฯ
          5. ราคาน้ำมันดินสูงขึ้น ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น ราคาเม็ดพลาสติก และ โลหะเหล็กสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น และ การส่งออกลดลง



          สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก

          ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ