การประชุมสองสภาจีนประจำปี 2010 แนวนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาจีนในอนาคตตั้งเป้าจีดีพี โตร้อยละ 8

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 11, 2010 15:23 —กรมส่งเสริมการส่งออก

"เปลี่ยนวิกฤติ ให้เป็นโอกาส" เป็นวลีที่ได้ยินคุ้นหูจากการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวของผู้นำในประเทศจีนช่วงที่เผชิญภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2009 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าต่างประเทศของจีนอย่างหนักตามบทบาทบนเวทีการค้าโลกของจีนที่ผสานเข้ากับโลกอย่างแนบแน่น จนนักวิชาการหลายสำนัก คาดว่าจีนต้องประสบภาวะฟองสบู่เศรษฐกิจอย่างแน่นอน แต่จีนก็ยังคงรักษาสถานะทางเศรษฐกิจไว้ได้ในระดับที่น่าพอใจ โดยล่าสุดตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2553 เป็นต้นมา ประเทศจีนได้จัดการประชุมสำคัญ 2 การประชุม คือการประชุมสมัชชาประชาชน และการประชุมคณะที่ปรึกษาการเมือง เพื่อระดมสมองวางแนวนโยบาย และกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในอนาคต

การประชุมสมัชชาประชาชนครั้งที่ 11 ประจำปี 2010

วันที่ 5 มีนาคม 2553 ประธานาธิบดีนายหู จินเทา นายกรัฐมนตรีนายเวิน เจียเป่า และรัฐมนตรีฝ่ายต่างๆของจีนเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาประชาชนครั้งที่ 11 ณ หอประชุมศาลาประชาคม กรุงปักกิ่ง โดยนายกรัฐมนตรี นายเวิน เจียเป่า รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2009 ที่ผ่านมา และกล่าวขอบคุณรวมถึงให้กำลังใจกับความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่ายในประเทศที่ร่วมกันฟันฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจมาได้ด้วยดี สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2010 คาดว่าจะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ GDP เติบโตร้อยละ 8 ตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 9 ล้านตำแหน่ง อัตราการว่างงานควบคุมให้น้อยกว่าร้อยละ 4.6 ดัชนีราคาผู้บริโภค

CPI อยู่ที่ระดับร้อยละ 3 ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมเผชิญกับภาวะความไม่แน่นอนต่างๆ ที่สำคัญต้องพัฒนาระบบจัดสรรรายได้ให้มีระเบียบแบบแผนมากขึ้น โดยกำจัดรายได้ที่มาโดยไม่ชอบทางกฎหมาย จัดระเบียบเงินรายได้สีเทา ให้มีความชัดเจน โปร่งใส เป็นธรรม และถูกหลักการ ซึ่งจะสามารถช่วยลดความแตกต่างทางรายได้ในสังคม สิ่งที่รัฐบาลทำทั้งหมดเพื่อศักดิ์ศรีและความผาสุกของประชาชน ซึ่งจะช่วยพัฒนาให้สังคมมีความเสมอภาค และปรองดองยิ่งขึ้น นายเวิน เจียเป่ายังกล่าวอีกว่าภารกิจสำคัญของรัฐบาลในปีนี้มี 8 ด้านคือ 1.ยกระดับมาตรฐานการควบคุมเศรษฐกิจระดับมหภาค เพื่อรักษาการพัฒนาเศรษฐกิจที่รวดเร็วมั่นคง 2. เร่งรัดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่โดดเด่น 3. สนับสนุนแผนการพัฒนาสังคมเมืองและชนบทอย่างบูรณาการ โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเกษตรและชนบท 4.ดำเนินยุทธศาสตร์ใช้วิทยาศาสตร์พัฒนาประเทศ และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สร้างประเทศเข้มแข็ง 5. พัฒนาและฟื้นฟูวัฒนธรรม 6. พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน เพื่อสร้างสังคมสงบสุขสันติ 7. พัฒนาการปฎิรูป โดยเพิ่มระดับการเปิดเสรี 8.มุ่งมั่นสร้างสรรรัฐบาลที่มีลักษณะการให้บริการที่ประชาชนพอใจ

การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจะสำเร็จ ต้องควบคู่กับการเปิดเสรีการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาด

ตัวแทนคณะที่ปรึกษาการเมืองจากภาคเอกชน เช่นนาย ถังซวงหนิง ประธานคณะกรรมการผู้จัดการบริษัท Guangda Grop และอดีตรองประธานคณะกรรมการตรวจเงินตราแห่งชาติได้ให้สัมภาษณ์โดยให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจของจีนในอนาคต 10 ปีข้างหน้า ควรเติบโตที่ระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8 และไม่ควรเกินร้อยละ 9 เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ขึ้นและลงอย่างกะทันหัน และควรพัฒนาให้สมดุลย์ในทุกเขตภาคเช่นเขตกำลังพัฒนาต้องพัฒนาให้เร็วขึ้น เขตพัฒนาแล้วก็ควรพัฒนาให้ช้าลงหน่อย อุตสาหกรรมตติยภูมิต้องพัฒนาให้เร็วขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมปฐมภูมิและทุติยภูมิก็ควรพัฒนาให้ช้าลงหน่อย หลักการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มั่นคง และแข็งแรง ต้องมีพื้นฐานมาจากความสมดุลย์ในด้านความเร็วของการเติบโต โครงสร้าง ความปลอดภัยทางเศรษฐกิจ คณบดีคณะบริหารและการจัดการ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง นายลี้ หยี่หนิง ลักษณะการลงทุนอย่างวู่วาม และแนวโน้มภาวะฟองสบู่ในธุรกิจอสังหารัมทรัพย์ในจีนมีต้นตอมาจากปัญหาของตัวระบบเศรษฐกิจเอง ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมาภาวะฟองสบู่และการผลิตที่ล้นเหลือทำให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายควบคุมต่างๆ เสมือนประตูน้ำด้านการคลัง และระบบปล่อยกู้ถูกปิด ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงานมากขึ้น รายได้รัฐลดลง รัฐจึงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ และสุดท้ายเกิดปรากฎการณ์การลงทุนอย่างวู่วาม เป็นวงเวียนปัญหา การแก้ปัญหาเชิงระบบต้องทำควบคู่ไปกับการปฎิรูปเศรษฐกิจ คือเปลี่ยนจากการลงทุนในรูปแบบผ่านการชี้นำจากรัฐเป็นตัวกำหนดเป็นการตลาดกำหนดแทน ซึ่งรูปแบบนี้ก็ไม่ได้ทำให้อำนาจของรัฐลดน้อยลงไปแต่อย่างใด เพราะการลงทุนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ หรือความปลอดภัยในความเป็นอยู่ของประชาชน ก็สามารถให้รัฐเป็นผู้กำหนดต่อไปได้ แต่สำหรับการลงทุนในกิจการที่ต้องอาศัยการแข่งขัน ควรจะปล่อยให้แป็นไปตามกลไกการตลาด

บทสรุปและข้อคิดเห็น

การแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจปี 2009 รัฐบาลจีนได้ออกนโยบายกระตุ้นการบริโภคภายใน และลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ โดยมีมาตรการสำคัญในการดำเนินการรองรับเช่น การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การสาธารณสุข การศึกษา เครือข่ายอินเตอร์เนต การประกันสังคม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ยุทธศาสตร์จีนในปี 2010 รัฐบาลจีนมีแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเตรียมเข้าสู่สังคมยุคหลังอุตสาหกรรม ที่มีลักษณะการพึ่งพาอุตสาหกรรมตติยภูมิในสัดส่วนมากขึ้น มาใช้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจชาติ โดยมีมาตรการดำเนินการรองรับต่างๆเช่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มาตรการควบคุมโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานและเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมของจีนเอง และการสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกต่างๆ ฯลฯ ที่สอดคล้องกับทิศทางและกระแสโลก

ด้วยความได้เปรียบในเรื่องขนาดโครงสร้างเศรษฐกิจ และระบบการปกครองของประเทศไทย เราจึงสามารถปรับและไหวตัวให้เข้ากับกระแสโลกได้ทันก่อนประเทศจีน โดยรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจความคิดสร้างสรรค์ หรือนโยบายศูนย์ผลิตสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมอาเซียน ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยต้องรีบช่วงชิงการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทานของจีน ในสินค้าประเภทอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างจีน-ไทยให้มากยิ่งขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ