จากการที่ผลไม้ไทย อาหารไทย เป็นที่นิยม และยอมรับในคุณภาพมากขึ้น ได้สร้างความสนใจแก่ Lupicia Fresh Tea ผู้นำเข้า และจำหน่ายใบชารายใหญ่ และมีชื่อเสียงของญี่ปุ่น นำผลไม้แห้งจากไทยผสมกับใบชาเป็นรสใหม่ๆ โดยเริ่มนำเข้าชารสทุเรียน รวมทั้งชาธรรมดาจากไทย lot แรกในดือนเมษายนนี้ปริมาณ 3.5 ตัน เพื่อเริ่มเปิดตัวชารสทุเรียนเป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2553 นอกจากนี้ ยังมีชาผลไม้ไทยชนิดอื่น คือ ชารสเงาะ และชารสมังคุด ที่ได้ผ่านการทดลองจากผู้เชี่ยวชาญของบริษัท รอออกวางตลาดในลำดับต่อไปด้วย
บริษัท Lupicia ซึ่งจำหน่ายชาหลากหลายมากกว่า 400 ชนิดจากทั่วโลก มีร้านจำหน่ายใบชาของ บริษัทกระจายอยู่ตามย่านศูนย์กลางธุรกิจ กว่า 50 แห่ง และร้าน franchise อีก 25 ร้าน ดังนั้น ในช่วงเริ่มต้นการจำหน่ายชารสผลไม้ของบริษัทฯ สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ กรุงโตเกียว เห็นว่าเป็นโอกาสในการขยายตลาดชาไทยและขนมไทย จึงมีแผนที่จะร่วมมือกับ Lupicia นำเสนอชาไทยควบคู่กับขนมไทย เช่น ทำการทดลองตลาดในงาน เทศกาลไทย ณ สวนโยโยหงิ กลางเดือนพฤษภาคม 2553 จัดแถลงข่าวแนะนำขนมไทยควบคู่กับชารสผลไม้ไทย เป็นต้น
ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นที่ผลิตชาได้ปริมาณ 94,000 ตัน ต่อปี(ปี 2550) ไม่เพียงพอกับการบริโภคในประเทศ ต้องนำเข้า ซึ่งแม้ปริมาณนำเข้ารวมโน้มลดลงมาตั้งแต่ปี 2547 แต่ในปี 2552 ยังมีปริมาณ กว่า 40,000 ตัน แหล่งนำเข้าชารายสำคัญ ได้แก่ จีน ศรีลังกา อินเดีย อินโดนีเซีย และเคนยา ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยน้อยมาก ไม่เกิน 1.3 ตันต่อปี บางปีไม่มีการนำเข้าจากไทย สำหรับการส่งออกชาของญี่ปุ่นมีจำนวนน้อยปีละไม่เกิน 2,000 ตัน
การที่บริษัทชาที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น ได้เริ่มนำเข้าจากไทย นอกจากเป็นการขยายตลาดชาจากไทยได้โดยตรงแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างให้ผลไม้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้งยังเป็นโอกาสในการแนะนำขนมไทยต่อผู้บริโภคญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันนิยมอาหารไทยประเภทอาหารคาวจำกัดอยู่บางเมนูเท่านั้น
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว
ที่มา: http://www.depthai.go.th