1.1 การผลิต - ปี 2553 นี้จะเป็นปีแรกที่กัมพูชาสามารถส่งออกน้ำตาลทรายดิบไปยังสหภาพยุโรป โดยการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลเกาะกง (บริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท วีวอง จากประเทศไต้หวัน ได้รับสัมปทานพื้นที่ 19,100 เฮกตาร์ ระยะเวลา 90 ปี) ซึ่งได้ปลูกอ้อยจำนวน 21,378 ไร่ (ปลูกได้ร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ 80,000 ไร่ ในปี 2552) โรงงาน ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 เริ่มหีบอ้อยในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 หลังจากที่ขยายกำลังการผลิตน้ำตาลได้เต็มที่ภายใน 2-3 ปีแล้ว วางแผนลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 500-600 ล้านบาทในการซื้อเครื่องจักรรีไฟน์น้ำตาลทรายขาวและสร้างโรงงานเอทานอล
เหตุผลที่บริษัทน้ำตาลขอนแก่น ไปลงทุนตั้งโรงงานน้ำตาลอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากผลผลิตอ้อยในประเทศมีจำนวนจำกัดไม่เพียงพอต่อความต้องการประกอบกับรัฐบาลไทยส่งเสริมให้มีการปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน มากกว่าอ้อย ทางกลุ่มจึงตัดสินใจไปลงทุนส่งเสริม การปลูกอ้อยและตั้งโรงงานน้ำตาลในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีค่าแรงถูกกว่าแรงงานไทยมาก ที่สำคัญน้ำตาลทรายดิบที่ผลิตได้สามารถส่งออกไปยังสหภาพยุโรปภายใต้สิทธิพิเศษทางการค้า เนื่องจาก สปป.ลาว/กัมพูชา จัดเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อย ส่วนน้ำตาลทรายขาว ที่เหลือจากการส่งออก จะจัดหน่ายภายในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำตาล นอกจากนี้ กลุ่มบริษัท น้ำตาลมิตรผล ได้ สัมปทานเช่าพื้นที่ 123,350 ไร่ จากรัฐบาลกัมพูชา ระยะเวลา 90 ปี ในพื้นที่ 3 แปลง ในเขตจังหวัดอุดรเมียนจัย ซึ่งห่างจากชายแดนไทยทางด่านโอสะเม็ด-ช่องจอม จ.สุรินทร์ ประมาณ 20 กม. เพื่อปลูกอ้อยและสร้างโรงงานน้ำตาล เริ่มปลูกอ้อยในปี 2552 โดยผลผลิตประมาณ 3 ล้านตันอ้อย/ปี จะออกสู่ตลาดได้ในปลายปี 2553 เป้าหมายส่งจำหน่ายในประเทศกัมพูชา และส่งออกไปเวียดนาม จีน และ สหภาพยุโรป เป็นต้น
1.2 การจำหน่าย โรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลเกาะกง มีกำลังการผลิตน้ำตาลทรายปีละประมาณ 70,000-80,000 ตัน หรือประมาณ 700,000-800,000 ตันอ้อย โดยในฤดูการผลิต 2552/2553 หีบอ้อยได้ประมาณ 240,000 ตัน คิดเป็นปริมาณน้ำตาล 24,000 ตัน ตั้งเป้าหมายส่งออก ไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป
กัมพูชาไม่สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศ ซึ่งได้แก่ไทยและเวียดนาม แต่หากปีใดเวียดนามเกิดการขาดแคลน กัมพูชาก็นำเข้าน้ำตาลจากไทยส่งต่อไปเวียดนาม
ด้านราคารัฐบาลจะไม่มีการควบคุม ปล่อยให้ราคาเสรีเป็นไปตามกลไกของตลาด ไม่มีการกำหนดราคาขายส่ง/ขายปลีก หรือการให้เงินอุดหนุนค่าอ้อยขั้นต่ำ ฯลฯ
รัฐบาลกัมพูชาหาทางส่งเสริมการลงทุนเพาะปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลโดยตรงของนักลงทุนท้องถิ่น หรือการลงทุนโดยนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยอาศัยศักยภาพด้านการมีพื้นที่และแรงงานราคาถูกที่ใช้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวอ้อยเป็นจำนวนมาก จนอาจทำให้กัมพูชามีน้ำตาลเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศในอนาคต รวมทั้งมีส่วนเหลือเพื่อการส่งออกจนแข่งขันกับน้ำตาลของไทยตลาดอาเซียนและตลาดอื่นๆได้
2.1 อัตราภาษีนำเข้า จากการที่กัมพูชาจัดอยู่ในสมาชิกอาเซียนที่เข้าใหม่ จึงไม่ต้องปรับภาษีนำเข้าสินค้าต่างๆรวมทั้งน้ำตาลลงเหลือร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 เหมือนประเทศในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม ภาษีนำเข้าน้ำตาลทราย อัตราร้อยละ 7 ของราคาเอฟ.โอ.บี. บวกภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 10 เป็นภาระภาษีนำเข้ารวม ประมาณ 17.7%
- น้ำตาลทรายดิบ (พิกัด 1701.11) ร้อยละ 7 บวก ภาษี VAT ร้อยละ 10
- น้ำตาลทรายขาว (พิกัด 1701.99) ร้อยละ 7 บวก ภาษี VAT ร้อยละ 10
2.2 มาตรการ ด้านอื่นๆ ที่มิใช่ภาษี — กัมพูชาไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมหรือการเก็บ Surcharge การนำเข้าน้ำตาลทรายแต่อย่างใด และไม่มีการกำหนดโควต้าภาษี (tariff quota) ในการนำเข้าหรือกำหนดให้มีใบอนุญาตนำเข้า Automatic Import Licensing หรือต้องมีเอกสารอื่นๆ ที่ทางราชการออกให้เพื่อใช้ประกอบการนำเข้า
- นำเข้าเพื่อใช้บริโภคภายในประเทศ ประมาณการว่าจากจำนวนประชากรของกัมพูชาประมาณ 14 ล้านคน มีความต้องการบริโภคน้ำตาลประมาณเดือนละ 7,000 ตัน หรือปีละประมาณ 80,000 ตัน
- ส่งออกต่อไปเวียดนาม หากปีใดที่เวียดนามผลิตน้ำตาลได้เพียงพอ สถิติการนำเข้าน้ำตาลของกัมพูชาจากไทยก็จะลดลง ด้วยเหตุผลบางประการทำให้น้ำตาลทรายซึ่งเวียดนามนำเข้าจากกัมพูชาจะเสียภาษีตันละประมาณ 30-40 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในบางครั้งการนำเข้าน้ำตาลทรายโดยตรงจากประเทศต้นทางหรือประเทศผู้ผู้ผลิตอื่นๆ รัฐบาลเวียดนามจะไม่อนุญาตให้มีการนำเข้า หรือระงับการนำเข้าเป็นการชั่วคราวหรือถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูง เช่น กำหนดอัตราภาษีนำเข้าภายใต้ WTO น้ำตาลทรายขาวที่ 60% น้ำตาลทรายดิบที่ 25% ส่วนอัตราภาษีนำเข้าภายใต้อาฟตา อยู่ที่ 20% เป็นต้น
จากสถิติของกรมศุลกากรไทยในปี 2552 (มค.-ธ.ค.) ไทยส่งออกน้ำตาลมากัมพูชามูลค่า 174.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มจากระยะเดียวกันของปี 2551 ซึ่งส่งออก 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐร้อยละ 74.91
จากการสอบถามผู้นำเข้ารายใหญ่ของกัมพูชา จำนวน 5 ราย พบว่าปริมาณการนำเข้าปี 2552 ประมาณ 720,000 ตัน หรือเดือนละ 20,000 ตัน ซึ่งมากกว่าสถิติที่ปรากฏของทางราชการปีละ 600,000 ตัน ทั้งนี้เพราะมีการหลีกเลี่ยงในกระบวนการชำระภาษี ผู้นำเข้าส่วนหนึ่งแจ้งว่าไม่สามารถหาซื้อน้ำตาลทรายโควต้า ค. จากไทยได้ตามความต้องการ จึงได้ซื้อจากผู้ค้าส่งของไทยตามจังหวัดต่างๆ (ในโควต้า ก.) ส่วนหนึ่งเพื่อนำเข้าขณะที่ผู้นำเข้าอีกรายแจ้งว่าโรงงานน้ำตาลขอซื้อน้ำตาลในโควต้า ค. ของตน ที่ตนซื้อไว้จึงไม่ได้นำเข้าน้ำตาลจำนวนดังกล่าว
ราคาขายส่ง-ขายปลีกน้ำตาลทรายขาวในกรุงพนมเปญ ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นดังนี้
- ขายส่งตันละ 810 ดอลลาร์สหรัฐ(ราคาในปี 2552 ประมาณตันละ 570-600 ดอลลาร์สหรัฐ)
(ประมาณตันละ 27,540 บาท หรือกระสอบ (50 กก.) ละ 1,377 บาท)
(อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34 .00 บาท)
- ขายปลีก กก. ละ 90 เซนต์ถึง 1 ดอลลาร์สหรัฐ)
(หรือประมาณ กก. ละ 30.00-34.00 บาท)
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศฯ ณ กรุงพนมเปญ
ที่มา: http://www.depthai.go.th