ตลาดไก่สดและไก่แปรรูปในประเทศญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 23, 2010 17:09 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ภาพรวมตลาด

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าญี่ปุ่นผลิตอาหารไม่เพียงพอต่อการบริโภค และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องพึ่งพาสินค้าอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ แม้ว่ารัฐบาลจะตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงในการพึ่งพาตนเองได้ด้านอาหารและดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อเพิ่มการผลิตภายในประเทศ แต่กระนั้นก็ม่ใช่เรื่องง่ายญี่ปุ่นจึงยังต้องนำเข้าสินค้าอาหารเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ของจำนวนแคลอรี่ที่ต้องการทั้งหมด จนกล่าวได้ว่าอาหารที่ชาวญี่ปุ่นบริโภคประจำวัน ไม่มีมื้อใดที่ไม่มีอาหารนำเข้า เช่น ผัก พึ่งพาตนเองได้ 81 % ผลไม้ผลิตได้เพียง 41 % เนื้อสัตว์ทุกชนิด ผลิตได้เพียง 56% ของปริมาณที่บริโภค แม้แต่อาหารทะเลซึ่งเป็นอาหารหลักของชาวญี่ปุ่น ก็ผลิตได้เพียง 53 % ของจำนวนแคลอรี่ที่บริโภคในแต่ละปี

ในกลุ่มอาหารโปรตีน เนื้อไก่ เป็นอาหารที่ได้รับความนิยม เพราะบริโภคง่าย ปรุงเป็นอาหารได้หลายชนิด ที่สำคัญมีราคาถูกกว่าโปรตีนชนิดอื่นๆ ญี่ปุ่นผลิตเนื้อไก่ ปีละประมาณ 1.37 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 69 ของปริมาณที่ต้องการบริโภคทั้งหมด และนำเข้าส่วนที่ขาด ทั้งในรูปไก่สด แช่แข็ง และแปรรูป ปีละประมาณ 650,000 — 740,000 ตัน โดยก่อนปี 2547 หรือก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดนกในเอเชีย การนำเข้าส่วนใหญ่ หรือประมาณร้อยละ 60 อยู่ในรูปไก่สดและไก่สดแช่แข็ง แต่เมื่อต้นปี 2547 ญี่ปุ่นประกาศห้ามนำเข้าไก่สดจากประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ เช่น ไทย จีน และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย แต่ยังยินยอมให้นำเข้าไก่แปรรูปที่ปรุงสุกแล้วเป็นผลให้มีการเปลี่ยนจากการนำเข้าไก่สด ไปสู่การนำเข้าไก่แปรรูปมากขึ้น สัดส่วนของไก่สด ต่อไก่แปรรูปได้ลดลงจากเดิม ร้อยละ 60 ต่อ 40 เป็นประมาณ ร้อยละ 50 ต่อ 50 ในปัจจุบัน

การนำเข้า

ในปี 2552 ญี่ปุ่นนำเข้าไก่สดและแปรรูปจำนวน 645,118 ตัน มูลค่า 2,206.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯปริมาณลดลง 12.4 % มูลค่าลดลง 16.2% เทียบกับการนำเข้าปี 2551 ประกอบด้วย ไก่สดแช่เย็น/แช่แข็งจำนวน 331,095.6 ตัน ลดลง 22.3% มูลค่า 825.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 36.8 % และไก่แปรรูป จำนวน 314,022.5ตัน เพิ่มขึ้น 1.05 % มูลค่า 1,381.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.2 % โดยมีแหล่งนำเข้า ดังนี้

1. ไก่สดทั้งตัวแช่เย็น จำนวน 4.16 ตัน มูลค่า 61,379 เหรียญสหรัฐฯ โดยนำเข้าจากฝรั่งเศสเท่านั้น

2. ไก่สดทั้งตัวแช่เย็น จำนวน 4,973.8 ตัน มูลค่า 10.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ร้อยละ 85.5 ของมูลค่าที่นำเข้ามาจากประเทศบราซิล ที่เหลือมาจา สหรัฐฯ (6.8 % ของมูลค่า) ฝรั่งเศส (2.8%) ฟิลิปปินส์ (2.4 %) และไต้หวัน(1.9%) โดยไม่มีนำเข้าจากไทย เนื่องจากยังอยู่ในบัญชีแหล่งแพร่ระบาดของไข้หวัดนก

3. ส่วนต่างๆของไก่ สด/แช่เย็น นำเข้าเพียง 5.3 ตัน มูลค่า 2,557 เหรียญสหรัฐฯ แหล่งส่งออกจากสหรัฐฯและฝรั่งเศส

4. ส่วนต่างๆของไก่ แช่แข็ง นำเข้าจำนวน 326,117.5 ตัน มูลค่า 814.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แหล่งนำเข้าหลัก มาจากบราซิล ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดสุงถึง 93.7 % ของมูลค่าที่นำเข้า รองมา ได้แก่ สหรัฐฯ (มีส่วนแบ่ง 3.9 % ของมูลค่า) ฟิลิปปินส์ (1.9%) ทั้งนี้ส่วนแบ่งตลาดไก่จากบราซิล ได้ครองสัดส่วนสูงขึ้น นับแต่ปี 2547 แทนที่ไก่สดจากไทยและจีน ซึ่งญี่ปุ่นห้ามนำเข้าในรูปไก่สด

5. ไก่แปรรูป นำเข้า 314,022.5 ตัน มูลค่า 1,381.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ครองส่วนแบ่ง 58.4 % ของมูลค่านำเข้า คู่แข่ง ได้แก่ จีน (มีส่วนแบ่ง 40.8 %)

การนำเข้าจากไทย

นับตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งญี่ปุ่นเริ่มห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย เป็นผลให้ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ปรับการผลิตจากการส่งออกเนื้อไก่สด มาสู่การแปรรูป การส่งออกมายังตลาดญี่ปุ่นจึงได้เปลี่ยนจากไก่สดแช่แข็ง มาเป็นไก่แปรรูปทั้งหมด โดยในปี 2552 ญี่ปุ่นนำเข้าไก่แปรรูปจากไทย จำนวน 175,502.2 ตัน มูลค่า 807.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณนำเข้าลดลง 2.3 % แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 2.4 % เทียบกับปี 2551 คู่แข่งของไทย คือ จีน ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 40.8 % ของมูลค่า นับเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดนี้

แนวโน้มตลาดและการบริโภค

ตลาดไก่ในญี่ปุ่น แยกออกได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) ไก่สดแช่เย็น-แช่แข็ง ผู้ซื้อได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขายไก่สดแก่ครัวเรือน และกลุ่มภัตตาคารที่จำหน่ายอาหารปรุงสด ไก่ส่วนนี้มาจากไก่ที่ผลิตภายในประเทศ และบางส่วนมาจากการนำเข้า 2) ไก่แปรรูป ซึ่งจำหน่ายให้อุตสาหกรรมภัตตาคาร ธุรกิจ Catering ร้านค้าสำหรับอาหาร o-bento รวมทั้งการจำหน่ายเป็นอาหารแช่แข็งแก่ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้า ตลาดไก่ทั้งสองส่วนทดแทนกันได้ระดับหนึ่ง เพราะความสะดวกสบาย ไก่แปรรูปจึงเข้าไปทดแทนตลาดเนื้อไก่สดมาขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถใช้ทดแทนกันได้ทั้งหมด เพราะต่างก็มีตลาดของตนเองที่ต้องการเนื้อไก่เฉพาะอย่าง

การห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย และจีน ทำให้บราซิลกลายเป็นผู้ส่งอกรายใหญ่รายเดียวที่ครองส่วนแบ่งตลาดไก่สดแช่แข็งในญี่ปุ่นสูงกว่า ร้อยละ 90 ทำให้สร้างความรู้สึกแก่บริษัทนำเข้าว่าไม่มีทางเลือกและอยู่ในภาวะเสียเปรียบ จึงต้องการให้ประเทศผู้ส่งออกเร่งรัดรายใหญ่ เช่น ไทย เจรจาให้รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดตลาดโดยเร็วประเทศไทยปลอดจากการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกมาระยะเวลาพอสมควร ยาวนานเกินกว่ามาตรฐานระหว่างประเทศจนถือได้ว่าปลอดจากโรคระบาดแล้ว อย่างไรก็ตาม การเจรจาขอให้เปิดตลาดอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคในสัตว์เป็นเรื่องทางเทคนิก ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรของไทย ซึ่งต้องจัดทำผลวิเคราะห์และเอกสารสนับสนุนยื่นต่อสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรญี่ปุ่นพิจารณา อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้มีความเคลื่อนไหวจากฝ่ายไทยในการขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นจัดส่งเจ้าหน้าที่เทคนิกเดินทางมาตรวจสอบให้แน่ใจอีกครั้ง

ผู้นำเข้าญี่ปุ่นมีความมั่นใจในระบบการควบคุมและมาตรฐานการผลิตและแปรรูปอาหารแช่แข็ง และอาหารแปรรูปของไทย หากรัฐบาลญี่ปุ่นยินยอมเปิดตลาดไก่สดแช่แข็งจากไทยอีกครั้ง ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญ และเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยในญี่ปุ่น สิ่งสำคัญที่ผู้ผลิตไทยต้องคำนึงถึงและระมัดระวัง คือการรักษามาตรฐานและคุณภาพ ควบคู่กับการพัฒนาอาหารแปรรูปชนิดใหม่ๆ เพื่อเข้าส่วนแบ่งตลาดเฉพาะ เช่น อาหารเด็ก อาหารผู้สูงอายุ และเมนูอาหารสุขภาพ เป็นต้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ