สถานการณ์นำเข้าข้าวในอิหร่านปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 24, 2010 10:59 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลอิหร่านมอบหมายให้หน่วยงานของอิหร่าน คือ Government Trading Corporation (GTC) เป็นผู้ผูกขาดการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศแต่เพียงผู้เดียว โดย GTC นำเข้าข้าวสารผ่านระบบประมูลทั้งแบบ G2G และ G2B โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแทรกแซงราคาข้าว ป้องกันปัญหาขาดแคลนข้าวภายในประเทศ ตลอดจนอุดหนุนราคาข้าวแก่ผู้ยากจนในอิหร่าน

ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยขายข้าวให้ GTC แบบ G2G และส่งออกข้าวขาว 100% ชั้น 2 ให้อิหร่านเป็นจำนวนหลายแสนตันต่อปี อย่างไรก็ดี แต่ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา รัฐบาลอิหร่านเปลี่ยนนโยบายจากเดิมให้ GTC ผูกขาดการนำเข้าเป็นสนับสนุนให้ผู้นำเข้าข้าวเอกชนชาวอิหร่านนำเข้าข้าวจากต่างประเทศแทน ส่งผลให้การนำเข้าข้าวจากไทยแบบ G2G หมดไป และผู้นำเข้าอิหร่านเริ่มนำเข้าข้าวบาสมาติกจากอินเดียและปากีสถานเข้าสู่ตลาดอิหร่านมากขึ้น

อิหร่านนำเข้าข้าวเพื่อบริโภคภายในประเทศเฉลี่ยปีละ 1 ล้านตันทุกปี โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปี 2551 หน่วยงาน GTC เป็นผู้ดำเนินการนำเข้าข้าวเองทั้งหมด และในปี 2551 หน่วยงาน GTC เริ่มลดปริมาณการนำเข้าลง ซึ่งในปี 2552 GTC ยกเลิกการนำเข้าโดยสิ้นเชิง และให้ภาคเอกชนอิหร่านเป็นผู้นำเข้าข้าวเองทั้งหมดเป็นปริมาณถึง 1.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 8.13 รายละเอียดดังตาราง 1

ตาราง 1 ปริมาณนำเข้าข้าวพิกัด 10063000 จากทุกประเทศสู่ตลาดอิหร่าน ระหว่างปี 2549-2552
            ปี       กิโลกรัม           เหรียญสหรัฐฯ   อัตราการเปลี่ยนแปลง
          2549   1,073,291,696      357,128,491           -
          2550   1,008,525,638      391,573,551        -6.03%
          2551   1,198,367,519      545,216,291        18.82%
          2552   1,295,769,236    1,080,044,343         8.13%
          แหล่งข้อมูล: กรมศุลกากรอิหร่าน

จากข้อมูลสถิติของกรมศุลกากรอิหร่าน หลังจากที่ GTC ยกเลิกการนำเข้าข้าวแบบ G2G อิหร่านก็นำเข้าข้าวจากไทยลดลงตามลำดับ โดยในปี 2552 อิหร่านนำเข้าข้าวจากไทยเพียง 2,711,125 กิโลกรัม เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,234,995 เหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น ดังแสดงในตาราง 2

ในปี 2552 อิหร่านนำเข้าข้าวสารจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นปริมาณสูงที่สุดคือ 567,792,173 กิโลกรัม รองลงมาได้แก่ประเทศปากีสถานเป็นปริมาณ 363,385,493 กิโลกรัม และอินเดีย เป็นปริมาณ 265,728,593 กิโลกรัม โดยแต่ละประเทศมีส่วนแบ่งตลาดนำเข้าข้าวในอิหร่านร้อยละ 44 ร้อยละ 28 และร้อยละ 20 ตามลำดับ ดังแสดงในตารางที่ 3

ตาราง 2 ปริมาณนำเข้าข้าวพิกัด 10063000 จากไทยเข้าสู่ตลาดอิหร่าน ระหว่างปี 2549-2552
           ปี           ปริมาณ (กิโลกรัม)     มูลค่า (เหรียญสหรัฐฯ)
          2549          494,825,600          165,723,713
          2550          586,300,000          240,852,849
          2551          158,724,301           86,338,759
          2552            2,711,125            1,234,995
          แหล่งข้อมูล: กรมศุลกากรอิหร่าน
ตาราง 3 ปริมาณนำเข้าข้าวพิกัด 10063000 จากทุกประเทศสู่ตลาดอิหร่าน ในปี 2552
 ลำดับที่   ประเทศ            ปริมาณนำเข้า (กิโลกรัม)       มูลค่า (เหรียญสหรัฐฯ)       ส่วนแบ่งตลาด
   1     UAE                    567,792,173            487,119,409             43.819%
   2     Pakistan               363,385,493            282,561,849             28.044%
   3     India                  265,728,593            233,451,969             20.507%
   4     Austria                 32,004,000             23,204,031              2.470%
   5     Switzerland             31,473,550             28,603,095              2.429%
   6     Viet Nam                30,860,000             22,361,159              2.382%
   7     Thailand                 2,711,125              1,234,995              0.209%
   8     Bahrain                    874,000                819,872              0.067%
   9     USA                        243,194                171,612              0.019%
  10     Ozbekistan                 153,252                135,535              0.012%
  11     Andorra                    137,800                119,059              0.011%
  12     Hondoros                   124,257                106,772              0.010%
  13     Argentina                  100,000                 60,059              0.008%
  14     Turkey                      74,200                 30,750              0.006%
  15     Qatar                       47,600                 40,460              0.004%
  16     Singapore                   25,000                  5,794              0.002%
  17     Chabahar FTZ                14,000                  4,703              0.001%
  18     Iraq                        11,000                  5,181              0.001%
  19     Afghanistan                 10,000                  8,040              0.001%
          Total               1,295,769,236          1,080,044,343
แหล่งข้อมูล: กรมศุลกากรอิหร่าน
อุปสรรคการเปิดตลาดข้าวไทยในอิหร่าน

1. ผู้บริโภคอิหร่านยังไม่นิยมบริโภคข้าวหอมมะลิไทย แม้ว่าชาวอิหร่านมีพฤติกรรมบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักเช่นเดียวกับคนไทย แต่อย่างไรก็ดี ข้าวหอมที่ชาวอิหร่านนิยมบริโภค เป็นข้าวชนิดที่หุงแล้วแห้งร่วน ไม่เกาะกันเป็นก้อน ซึ่งมีเฉพาะในข้าวหอมอิหร่าน และข้าวบาสมาติกของอินเดีย ทำให้ข้าวไทยไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ดังนั้น การที่จะขยายตลาดข้าวหอมมะลิในอิหร่านได้ จำเป็นต้องค้นคิดและเผยแพร่วิธีการหุงข้าวหอมมะลิให้ร่วนและไม่เกาะกันเป็นก้อนตามความนิยมของชาวอิหร่าน และต้องปรับพฤติกรรมผู้บริโภคอิหร่านให้หันมาบริโภคข้าวหอมมะลิไทย โดยการโฆษณาเผยแพร่ความรู้ เรื่องคุณภาพของข้าวหอมมะลิไทย และค้นคิดวิธีการหุงข้าวหอมมะลิไทยให้ถูกปากประชาชนอิหร่าน จะช่วยให้ ชาวอิหร่านปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อข้าวหอมมะลิไทยและหันมาบริโภคข้าวหอมมะลิไทย เพื่อผลักดันให้ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปตลาดอิหร่านมากขึ้น

2. ปัญหาการโอนเงินระหว่างประเทศ สืบเนื่องจากสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการคว่ำบาตรฝ่ายเดียว (Unilateral sanction) ต่ออิหร่าน โดยใช้มาตรการให้ธนาคาร/สถาบันการเงินทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ให้ยุติการทำธุรกรรมทางการเงินกับอิหร่าน ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยปฏิเสธรับ L/C และระงับการทำธุรกรรมกับอิหร่านโดยสิ้นเชิง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าข้อมติต่างๆ ของ UNSC เนื่องจากการส่งออกสินค้าของไทยมิได้เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด ทั้งนี้ธนาคารไทยเข้าใจว่าหากดำเนินธุรกรรมกับอิหร่านแล้ว จะถูกรัฐบาลสหรัฐฯ เพ่งเล็งและสั่งมิให้ดำเนินธุรกรรมกับธนาคารของสหรัฐฯ ทำให้ผู้ส่งออกไทยไม่สามารถรับเงินค่าชำระสินค้าจากผู้นำเข้าอิหร่านได้ ส่งผลให้การส่งออกข้าวไทยไปตลาดอิหร่านชะงักงัน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย ปากีสถาน และ สหรัฐอาหรับเอ-มิเรตส์ สามารถสร้างช่องทางธนาคารเพื่อดำเนินธุรกรรมได้ จึงสามารถขยายตลาดได้อย่างรวดเร็ว

สคร ณ กรุงเตหะราน

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ