การค้าระหว่างประเทศของฟิลิปปินส์ เดือนธันวาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 7, 2010 14:25 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. การค้าระหว่างประเทศในเดือนมกราคม — ธันวาคม 2552 เปรียบเทียบกับปี 2551

                                       มูลค่า : พันล้านเหรียญสหรัฐ
                  ม.ค.-ธ.ค. 52    ม.ค. —ธ.ค. 51     % Change
   การค้ารวม          81.329          105.823         -23.15
   การส่งออก          38.326           49.077         -21.91
   การนำเข้า          43.003           56.746         -24.22
   ดุลการค้า           -4.677           -7.669         -39.01

1.1 ปริมาณการค้า ปริมาณการค้ารวมเดือน มกราคม - ธันวาคม 2552 มีมูลค่า 81.329 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 23.15 จาก 105.823 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปี 2551 โดยเป็นการส่งออก 38.326 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ นำเข้า 43.003 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับเดือนธันวาคม 2552 มีปริมาณการค้ารวม 7.195 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.44 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2551 ส่วนมูลค่าส่งออกและนำเข้าเดือนธันวาคม 2552 เท่ากับ 3.304 และ 3.891 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

1.2 การส่งออก ในช่วงเดือนมกราคม — ธันวาคม 2552 ฟิลิปปินส์ส่งออกมูลค่า 38.326 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 21.91 จาก 49.077 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปี 2551

สินค้าส่งออกที่สำคัญของฟิลิปปินส์ยังคงเป็นสินค้าอีเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการส่งออกรวม 22.173 พันล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57.85 ของมูลค่าส่งออกรวม) ลดลงจาก 28.500 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่งออกได้ในระยะเดียวกันของปี 2551 คิดเป็นร้อยละ 22.20 สำหรับการส่งออกในเดือนธันวาคมนี้มีมูลค่าการส่งออก 3.304 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาร้อยละ 10.97 โดยที่สินค้าอีเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักลดลงจากเดือนที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 12.41 ส่วนเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งมีมูลค่าส่งออกมากเป็นลำดับสอง ส่งออกลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.20 แต่สินค้าในกลุ่มสินค้าเกษตรเดือนนี้ส่งออกได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.82 เช่น ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 90.83 ผักและผลไม้ส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.18 ตั้งแต่มกราคม - ธันวาคม 2552 ตลาดส่งออกสำคัญของฟิลิปปินส์ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์ โดยมีสัดส่วนร้อยละ 17.69, 16.17, 9.76 และ 6.46 ตามลำดับ

1.3 การนำเข้า ในช่วงเดือนมกราคม — ธันวาคม 2552 การนำเข้าของฟิลิปปินส์มีมูลค่า 43.003 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 24.22 จาก 56.746 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา

สินค้านำเข้าอันดับหนึ่งคือ สินค้าอีเล็กทรอนิกส์ นำเข้ามูลค่า 15.229 พันล้านเหรียญสหรัฐ (มีสัดส่วนร้อยละ 35.41 ของการนำเข้ารวม) นำเข้าลดลงร้อยละ 23.95 จากปีที่ผ่านมาซึ่งนำเข้า 20.026 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลำดับที่สองได้แก่น้ำมันเชื้อเพลิง นำเข้ามูลค่า 7.334 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 40.82 จาก 12.394 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนธันวาคมนี้มีการนำเข้า 3.891 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 7.31 โดยนำเข้าสินค้าธัญพืชเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 100.54 เนื่องจากรัฐบาลมีการนำเข้าข้าวเพื่อการบริโภคสำหรับปีหน้า และสินค้าอีเล็กทรอนิกส์นำเข้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในอัตราร้อยละ 0.98 ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงนำเข้าลดลงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 1.18

1.4 ดุลการค้า

ตั้งแต่มกราคม — ธันวาคม 2552 ฟิลิปปินส์มีการนำเข้ามากกว่าการส่งออกทำให้มีการขาดดุล 4.677 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ยังต่ำกว่าปีที่ผ่านมาที่ขาดดุล 7.669 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 39.01

1.5. ประเทศคู่ค้าสำคัญของฟิลิปปินส์

คู่ค้าที่สำคัญของฟิลิปปินส์ 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดในอัตราส่วนร้อยละ 14.63, 14.20, 8.29, 7.63 และ5.94 ตามลำดับ สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 โดยมีอัตราส่วนร้อยละ 4.54

2. การค้าระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์เปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา

                                                       มูลค่า : ล้านเหรียญสหรัฐ
                                     ม.ค.—ธ.ค.52     ม.ค.-ธ.ค.51  % Change
การค้ารวม                             4,805.20          5,789.50    -17.00
ไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์                     3,022.00          3,512.50    -13.96
ไทยนำเข้าจากฟิลิปปินส์                    1,783.20          2,277.00    -21.69
ดุลการค้า                              1,238.80          1,235.50      0.27

2.1 ปริมาณการค้า

ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ในช่วงเดือนมกราคม - ธันวาคม 2552 มีมูลค่า 4,805.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 17.00 จาก 5,789.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเดียวกันของปี 2551 โดยเป็นการส่งออก 3,022.0 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 1,783.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในเดือนธันวาคม 2552 มีปริมาณการค้ารวม 434.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.33 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2551 ส่วนการส่งออกและนำเข้าเดือนนี้มีมูลค่า 241.9 และ 192.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

2.2 การส่งออก

ในช่วงเดือนมกราคม — ธันวาคม 2552 ไทยส่งสินค้าออกไปฟิลิปปินส์เป็นมูลค่า 3,022.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 13.96 จาก 3,512.5 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2551 เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าสินค้าไทยส่งไปฟิลิปปินส์กับมูลค่าที่ฟิลิปปินส์นำเข้าจากทุกประเทศ คิดเป็นร้อยละ 7.03

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์อันดับแรกได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีมูลค่า 658.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 21.77 ของมูลค่าการส่งออกรวมจากไทยไปฟิลิปปินส์) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.66 ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ลำดับที่สองคือ แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 297.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 9.85 ของมูลค่าการส่งออกรวม) ลดลงจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 8.30 สำหรับสินค้าเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิวยังคงส่งออกได้ในอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาในอัตราร้อยละ 14.92

2.3 การนำเข้า

ในช่วงเดือนมกราคม — ธันวาคม 2552 ไทยนำเข้าจากฟิลิปปินส์มูลค่า 1,783.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งนำเข้ามูลค่า 2,277.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 21.69 มูลค่าที่ฟิลิปปินส์ส่งสินค้ามายังไทยคิดเป็นร้อยละ 4.65 ของมูลค่าส่งออกรวมของฟิลิปปินส์

สินค้านำเข้าจากฟิลิปปินส์ที่สำคัญอันดับแรกคือ แผงวงจรไฟฟ้ามีมูลค่า 325.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 18.24 ของมูลค่านำเข้ารวม) ลดลงจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งนำเข้ามูลค่า 405.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 19.84 ลำดับที่สองได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ นำเข้าเป็นมูลค่า 217.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 12.20 ของมูลค่านำเข้ารวม) ลดลงจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งนำเข้ามูลค่า 291.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 25.28

2.4 ดุลการค้า

เนื่องจากไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์มากกว่านำเข้าสินค้าจากฟิลิปปินส์ ในช่วงเดือนมกราคม — ธันวาคม 2552 ฟิลิปปินส์ขาดดุลการค้ากับไทยเป็นมูลค่า 1,238.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งขาดดุลสูงกว่าระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ขาดดุล 1,235.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.27

3. การคาดการณ์ภาวะการค้า

แม้ว่าฟิลิปปินส์จะประสพภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ทำให้ผลิตผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายมีมูลค่าประมาณ 184.7 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังคงยืนยันอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2553 ตามที่ได้ประมาณการไว้เมื่อต้นปีในอัตราร้อยละ 2.6 - 3.6 โดยคาดว่าการส่งออก และเงินโอนจากแรงงานในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจะสามารถชดเชยความเสียหายจากภัยแล้งดังกล่าวได้ และได้ประมาณการการนำเข้าของปี 2553 ว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 13 -15 สำหรับสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปฟิลิปปินส์ได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และสิ่งปรุงรสอาหาร

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ