ข้อมูลมณฑลกวางตุ้ง (Guangdong)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 7, 2010 14:31 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. ข้อมูลพื้นฐาน

มณฑลกวางตุ้ง ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน มีพื้นที่ 180,000 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอำดับที่ 15 ของประเทศจีนมีชายฝั่งทะเลยาว 3,368 กิโลเมตร แบ่งเขตการปกครองเป็น 44 เมือง 41 อำเภอ และ 3 อำเภอปกครองตนเอง เมืองสำคัญๆ ในมณฑลกวางตุ้งมี เมืองกวางโจว เมืองเซินเจิ้น เมืองจูไห่ เมืองตงก่วน เมืองจงซาน เมืองซัวเถา เป็นต้น

2. ประชากร

ในปี 2551 มณฑลกวางตุ้งมีประชากร 95.44 ล้านคน (นับรวมทั้งที่รายงานตัวและไม่ได้รายงานตัวกับทางราชการ) เป็นมณฑลที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศจีน รองจากมณฑลเหอหนานและซานตง หรือคิดเป็น 7.2% ของประชากรรวมทั้งประเทศ โดยมีสัดส่วนของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง คิดเป็นชาย 51.2% หญิง 48.8% มีความหนานแน่นประชากร 531 คน ต่อตร.กม. มีอัตราการเกิด 11.8% และอัตราการตาย 4.55% นครกวางโจวมีประชากรประมาณ 10.18 ล้านคน เป็นมณฑลที่มีชนชาติครบทั้ง 56 ชนชาติ เป็นชนชาติฮั่น 98.16%

3. ศักยภาพของมณฑลกวางตุ้ง
  • เป็นมณฑลที่มีมูลค่า GDP มากที่สุดของประเทศจีน
  • มูลค่าผลผลิตรวมทางอุตสาหกรรม มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ มูลค่าการนำเข้า มูลค่าการส่งออก มูลค่าการค้าปลีกสินค้าบริโภค และรายรับจากการท่องเที่ยว มากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศจีน
  • มีเขตเศรษฐกิจพิเศษถึง 3 แห่ง คือ เมืองเซินเจิ้น เมืองจูไห่ และเมืองซัวเถา
  • เป็นมณฑลที่มีบทบาทอย่างมากในกรอบความร่วมมือเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง (PRD) และเขตสหพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง (PPRD)
  • มีท่าเรือและสนามบินที่มีศักยภาพในการรองรับการค้าและขนส่งระหว่างประเทศ
  • บริษัท FedEx ได้ทำการลงทุนก่อสร้างศูนย์กลางการกระจายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เมืองกวางโจว ซึ่งได้ดำเนินการในบริเวณเขตสนามบินนานาชาติไป๋หยุนนครกวางโจวตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2551
  • ผักและผลไม้จากประเทศไทยประมาณ 70% นำเข้าโดยตลาดค้าส่งผักและผลไม้เจียงหนาน นครกวางโจว
  • มีเมืองมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการศึกษาและการวิจัยของจีนตอนใต้
  • นครกวางโจวได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 16 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 12-27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
  • เมืองเซินเจิ้นได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมงานกีฬามหาวิทยาลัยโลก พ.ศ. 2554
  • มีตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นซึ่งเป็น 1 ใน 2 ของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศจีน
  • มีงานจัดแสดงสินค้าขนาดใหญ่เป็นประจำทุกปี (Canton Fair) ปีละ 2 ครั้ง ในระหว่างวันที่ 15 - 30 เดือนเมษายน และ วันที่ 15 - 30 เดือนตุลาคม ของทุกปี ทั้งนี้ภายหลังจากงานแคนตันแฟร์ครั้งที่ 103 เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2551 ทางคณะจัดงานก็ได้กำหนดช่วงเวลาจัดงานใหม่เป็นในระหว่างวันที่ 15 เดือนเมษายน - 7 เดือนพฤษภาคม และวันที่ 15 เดือนตุลาคม - 6 เดือนพฤศจิกายน โดยในแต่ละครั้งจะแบ่งเป็น 3 เฟส จากเดิมมีเพียง 2 เฟส
  • เป็นศูนย์กลางของงานแสดงสินค้า โดยในนครกวางโจวแห่งเดียวมีงานแสดงสินค้าปีละไม่น้อยกว่า 60 งาน
4. GDP ของมณฑลกวางตุ้ง ปี 2549-2552
ปี                     มูลค่า GDP      อัตราขยายตัว(%)
2549         2,596,855 ล้านหยวน        เพิ่มขึ้น 14.1%
2550         3,067,371 ล้านหยวน        เพิ่มขึ้น 14.5%
2551         3,569,600 ล้านหยวน        เพิ่มขึ้น 10.1%
2552         3,679,671 ล้านหยวน         เพิ่มขึ้น 9.5%
5. ภาคอุตสาหกรรม

กวางตุ้งเป็นฐานอุตสาหกรรมเบาที่ใหญ่ที่สุดในจีน ในปี 2552 มูลค่าผลผลิตรวมทางอุตสาหกรรมมากเป็นอันดับ 1 ของจีน คือ 1.94 ล้านล้านหยวน โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในนครกวางโจว ตงกว่าน ซุ่นเต๋อ เจียงเหมิน จูไห่ และซัวเถา

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กวางตุ้งได้เคลื่อนไปสู่อุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมใหม่ด้านเทคโนโลยี่ชั้นสูง โดยเฉพาะที่เมืองเซินเจิ้น มีผลิตผลอุตสาหกกรมใหม่ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยี่ชั้นสูง คิดเป็น 59.8% ของผลผลิตรวมด้านอุตสาหกรรมทั้งเมือง และมียอดการใช้จ่ายด้าน R&D มากที่สุดในกวางตุ้ง

อุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่

1. อีเล็คทรอนิคส์และไอที เมืองตงกว่าน เป็นเขตอุตสาหกรรมสินค้าประเภทเมนบอร์ด คีย์บอร์ด ไดรฟ์เวอร์ จอคอมพิวเตอร์ สแกนเนอร์ กว่า 75% ในตลาดทั่วโลกมาจากเมืองตงก่วน

2. เครื่องแต่งกาย มีความหลากหลายและมีกระบวนการแบ่งงานผลิตภายในมณฑลที่เข้มแข็งโดยมีเมืองซินเจิ้นและตงกว่านเป็นฐานการผลิตเสื้อผ้าสตรี ขณะที่เมืองจงซานจะเน้นการผลิตชุดลำลอง ส่วนเมืองฝอซานจะเน้าการผลิตชุดสำหรับเด็กและมีนครกวางโจวเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าเครื่องแต่งกายที่ใหญ่ที่สุดในจีน

3. รถยนต์ มีบริษัทผลิตรถยนต์ชั้นนำเกือบทุกยี่ห้อ (ฮอนด้า โตโยต้า นิสสัน ฮุนได อีซูซุ) ได้เข้ามาลงทุนและตั้งโรงงานที่กวางโจวและเมืองอื่น ๆ เช่น เมืองเจียงเหมิน มีโรงงานผลิตรถมอเตอร์ไซด์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน นอกจากนี้กวางตุ้งยังเป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และรถมอเตอร์ไซด์ทุกประเภท

ในแต่ละปี ปริมาณการผลิตรถยนต์ 1.8 แสนคัน/ปี โดยคาดว่าจะเพิ่มการผลิตถึงปีละ 5 แสนคัน เทียบชั้นกับฉางชุมและเซี่ยงไฮ้ที่เป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ที่สำคัญของจีนในขณะนี้

4. เฟอร์นิเจอร์ ตลาดการค้าที่ใหญ่ที่สุด คือ ตลาดค้าส่งเฟอร์นิเจอร์เล่อฉง อยู่ที่เขตซุ่นเต๋อ เมืองฝอซาน มีพื้นที่รวม 2 ล้านตารางเมตร ผู้ประกอบการมากกว่า 3,000 ราย ทั้งในและต่างประเทศ ขายปลีกและขายส่ง ในปริมาณมาก และมีการจัดโซนที่ขายเฟอร์นิเจอร์นานาชาติจากผู้ผลิตต่าง ๆ จากทั่วโลก เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน ไทย มาเลเซีย มาจำหน่ายอีกด้วย

5. อัญมณีและเครื่องประดับ เติบโตเร็วมากในไม่กี่ปีที่ผ่านมา แหล่งผลิตอัญมณีและเครื่องประดับในจีน กระจุกตัวอยู่ใน 3 มณฑล คือ กวางตุ้ง ซานตง กวางสี และนครเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง โดยกวางตุ้งจัดเป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับที่สำคัญ เช่น เมืองเซินเจิ้น (ผลิตเพื่อขายในประเทศ) นครกวางโจว ได้แก่ เขตพานหวี (ผลิตเพื่อการส่งออก) และเขตฮัวตู (เขตการผลิตใหม่ เริ่มในปี 2005) ซึ่งจะเป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับคุณภาพสูง และมีเมืองซุนเต๋อ ตงกว่าน และจงซาน ผลิตเครื่องประดับระดับกลางและระดับล่าง

อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มณฑลกวางตุ้งเน้นการพัฒนาในระยะต่อไป ได้แก่

New Energy Area

1. Solar photovoltaic (เมืองฝอซาน เมืองกวางโจว เมืองเซินเจิ้น และเมืองฮุ่ยโจว)

2. New energy car

Electronic Information Industry Area

3. Organic Light Emitting Diode (OLED)

4. New generation broadband wireless mobile communication technology

Biomedical Engineering Area

5. Biological Drugs manufacture (เมืองกวางโจว)

6. Internal Core of advanced medical apparatus and instruments

New type Material Area

7. Advanced composite material

8. Advanced energy storage materials

9. New type rare earth material

6. โอกาสการลงทุนของธุรกิจไทยในมณฑลกวางตุ้ง

1. ธุรกิจด้านเสริมความงาม

ปัจจุบันธุรกิจเสริมความงานในประเทศจีนได้รับความนิยมมาก และมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ลดน้ำหนัก ศูนย์ศัลยกรรมเสริมความงาม การนวดแผนโบราณ และสปา ซึ่งเมืองไทยมีชื่อเสียงในด้านนี้เป็นอย่างมาก โดยในปัจจุบันนครกวางโจวมีธุรกิจการนวดแผนโบราณแบบไทยเพียง 1 แห่งเท่านั้น ซึ่งมีคนไทยดูแล แต่ไม่ใช่ธุรกิจของไทยทั้งหมด และในปัจจุบันกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ก็ได้เร่งพลักดันในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีในการลงทุนในมณฑลกวางตุ้งอีกทางหนึ่งด้วย

2. ธุรกิจด้านร้านอาหารไทย

ธุรกิจร้านอาหารไทยในมณฑลกวางตุ้งส่วนมากเจ้าของเป็นคนจีน และคนจีนฮ่องกง ซึ่งจัดจ้างพ่อครัวคนไทยมาทำอาหาร แต่ยังไม่มีคนไทยเองเปิดร้านอาหารไทยในมณฑลกวางตุ้งเลย ในปัจจุบันอาหารไทยในมณฑลกวางตุ้งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะต้มยำกุ้ง ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการประชาสัมพันธ์อาหารไทยให้คนจีนรู้จักเพิ่มขึ้น และการที่คนไทยมาลงทุนร้านอาหารไทยเองนั้น ยังเป็นสิ่งที่ดีในการควบคุมดูแลคุณภาพอาหาร ตลอดจนการให้บริการแบบไทย ซึ่งเป็นจุดเด่นในด้านการบริการในจีน

3. ธุรกิจผลไม้ไทย

ผลไม้จีนที่ได้รับความนิยมของคนในมณฑลกวางตุ้ง ได้แก่ ทุเรียน ลำไย มังคุด เงาะ มะม่วง ชมพู่ ฯลฯ ซึ่งมียอดการนำเข้าสูงมาก โดย 80% ของผลไม้ไทยเข้าที่ตลาดขายส่งผัก-ผลไม้เจียงหนานในนครกวางโจว ก่อนจะกระจายไปยังเมืองต่างๆ ทั่วประเทศจีนต่อไป ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบในด้านตลาดของนครกวางโจว

4. ธุรกิจด้านอัญมณี

ธุรกิจอัญมณีในมณฑลกวางตุ้งถือเป็นธุรกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของมณฑลกวางตุ้ง โดยฝีมือการเจียระไนอัญมณีของมณฑลกวางตุ้งถือว่ามีชื่อเสียงระดับประเทศเลยทีเดียว และได้รับการสนับสนุนมากจากรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งในปัจจุบันมีคนไทยมาลงทุนในธุรกิจอัญมณีอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก ถือเป็นธุรกิจที่คนไทยมีโอกาสเข้ามาลงทุน เพราะฝีมือในการเจียระไนของไทยก็มีชื่อเสียงระดับโลก โดยในทุกๆ ปี นครเซินเจิ้นจะมีการจัดงานจิวเวอร์รีแฟร์ ซึ่งถือเป็นงานใหญ่งานหนึ่งของเซินเจิ้น อีกด้วย

สคร. กวางโจว

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ