สรุปข้อมูลนโยบายการส่งเสริมการลงทุน และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของตุรกี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 7, 2010 17:34 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. นโยบายของรัฐบาลในเรื่องการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ

ตุรกีเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(Foreign Direct Investment: FDI) มาก โดยได้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของคนต่างชาติ การร่วมลงทุน และได้พัฒนามาตรการส่งเสริมการลงทุนมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 1954 จนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันมีบริษัทที่ร่วมลงทุนระหว่างชาวตุรกีกับต่างชาติ(Foreign Partnership) ประมาณ 5,000 บริษัท โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนตุรกีสูงสุดพิจารณาจากการเคลื่อนย้ายทุนสะสม (Cumulative Capital Inflow) ตั้งแต่ปี 1995 คือ กลุ่มสหภาพยุโรป (เยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และอิตาลี) สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ซาอุดิอาระเบีย และเกาหลีใต้

2. โครงการต่าง ๆ ที่รัฐเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนและสัดส่วนการลงทุน

รัฐบาลตุรกีเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนเกือบทุกสาขาภายใต้เงื่อนไขการกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นที่แตกต่างกันไป ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

2.1 ธุรกิจการสื่อสารประเภทการกระจายเสียง หรือแพร่ภาพทาง วิทยุโทรทัศน์ ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 20

2.2 ธุรกิจการขนส่งทางอากาศ ทางทะเล และการสื่อสารโทรคมนาคม ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 49

2.3 การลงทุนในธุรกิจบริการทางเงิน เช่น ธนาคาร ประกันภัย บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ ฯลฯ ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลตุรกี

2.4 การลงทุนในธุรกิจปิโตรเลียม ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลตุรกี

2.5 การลงทุนในธุรกิจที่เป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization of State-owned Enterprises) รัฐบาลตุรกีจะกำหนดเงื่อนไขพิเศษเป็นการเฉพาะกรณีและจะมีการประกาศให้ทราบเป็นครั้ง ๆ ไป

3. สิทธิประโยชน์ที่ผู้ลงทุนได้รับตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุนของตุรกี

3.1 สามารถถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งในประเทศตุรกีได้ 100 เปอร์เซ็นต์

3.2 สิทธิในการโอนผลกำไรกลับประเทศ

3.3 สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีและค่าธรรมเนียม ได้แก่ ภาษีนำเข้าเครื่องจักร ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการซื้อเครื่องจักรในประเทศ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ค่าธรรมเนียมการจัดตั้งบริษัท และค่าธรรมเนียมการเพิ่มทุน เป็นต้น

ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ที่ผู้ลงทุนได้รับตามข้อ 3.3 จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเขตส่งเสริมการส่งทุน และสาขาอุตสาหกรรมที่ลงทุน

4. สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน

นับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา รัฐบาลตุรกี ได้ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนให้มีความเป็นสากลและสอดคล้องกับกฎหมายของสหภาพยุโรป สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

4.1 แก้ไขปัญหาความล่าช้าของการอนุมัติ อนุญาตของหน่วยงานราชการโดยการกำหนดกรอบระยะเวลาการปฏิบัติงาน และจำนวนเอกสารที่ต้องรายงาน เช่น

  • กำหนดให้สามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใน 1 วัน (Company Establishment in 1 day)
  • กำหนดให้การพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้เสร็จภายใน 33 วัน
  • กำหนดให้ใช้เอกสารเพียง 3 ประเภท สำหรับเป็นหลักฐานแสดงสถานที่ประกอบธุรกิจ ในการจัดตั้งบริษัท

4.2 ปรับปรุงคุณภาพสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา สนามบิน ท่าเรือ ระบบโทรคมนาคม ฯลฯ

4.3 ดำเนินการให้มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเคร่งครัด

4.4 ปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการนำเข้า ส่งออกของเจ้าหน้าที่ศุลกากร

4.5 พัฒนาฝีมือแรงงาน โดยการสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาเร่งผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ และสนับสนุนให้บุคลากรที่มีคุณภาพทางการศึกษาสูงออกไปทำงานในต่างเมือง(ที่ไม่ใช่อิสตันบูลและอังการ่า) ให้มากขึ้น

5. นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ

การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการหรือรัฐบาลตุรกี แต่ละหน่วยงานสามารถดำเนินการได้โดยอิสระ แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย Public Procurement Law โดยมีหน่วยงานที่ควบคุม ดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย คือ Public Procurement Authority

อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อจัดจ้างบางกรณีที่ต้องการวัสดุ ครุภัณฑ์ หรือผลการจ้างที่มีคุณสมบัติ ลักษณะเหมือนกันทั้งประเทศ รัฐบาลจะมอบหมายให้ The State Supply Office ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง

การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลตุรกีแบ่งออกได้เป็น 4 แบบ ดังนี้

5.1 Open Procedure เปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถประกวดราคาได้โดยไม่จำกัดจำนวน

5.2 Restricted Procedure มีการกำหนดคุณสมบัติบางประการเป็นการเฉพาะสำหรับผู้สนใจประกวดราคา

5.3 Negotiated Procedure ดำเนินการในกรณีไม่มีผู้ยื่นซองประกวดราคา หรือรัฐบาลต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเป็นกรณีเร่งด่วนจากเหตุภัยธรรมชาติ โรคระบาด ภยันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หรืองานมีความยุ่งยากซับซ้อนมาก เป็นต้น

5.4 Direct Procedure เป็นการดำเนินการโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีประกาศเชิญชวน ซึ่งจะต้องเป็นในกรณีที่การจัดซื้อจัดจ้างที่สามารถหาได้จากแหล่งหรือผู้ขาย/ผู้รับจ้างรายเดียวเท่านั้น เช่น ข้อกำหนดตามสัญญาที่ตกลงไว้แล้วแต่เดิมในการจัดหาอะไหล่สำหรับวัสดุ/ครุภัณฑ์คที่ได้จัดซื้อไปแล้วเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานและประสิทธิภาพการใช้งาน หรือผู้ขาย/ผู้รับจ้างเป็นเจ้าของเทคโนโลยี หรือทรัพย์สินทางปัญญาแต่เพียงผู้เดียว เป็นต้น

ในการยื่นประกวดราคา อาจต้องมีการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือใช้หนังสือรับรองการค้ำประกันจากธนาคาร แล้วแต่กรณี โดยมีมูลค่าประมาณ 2-4% ของมูลค่าที่จะจัดซื้อจัดจ้าง

การประกาศให้ยื่นซองประกวดราคา จะดำเนินการผ่านทางหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น หนังสือพิมพ์ที่จำหน่ายทั่วประเทศ หรือราชกิจจานุเบกษา ขึ้นอยู่กับประเภทและมูลค่าของการจัดซื้อจัดจ้าง

ในการพิจารณาประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่าสูง การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐแบบเบ็ดเสร็จ(Turnkey) หรือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลตุรกีอาจนำนโยบายการค้าต่างตอบแทน (Counter Trade) มาใช้

6. ความเสี่ยงและอุปสรรคในการเข้ามาลงทุน

แม้ว่ารัฐบาลตุรกีได้ปรับปรุงกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติแล้ว ยังมองว่าประเทศตุรกียังคงมีความเสี่ยงและอุปสรรคบางประการ ได้แก่

6.1 ปัญหาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยยังคงมีความขัดแย้งภายในระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ด ซึ่งกลุ่มดังกล่าวนี้เลือกใช้วิธีการวางระเบิดก่อกวนเป็นระยะ ๆ ในเมืองใหญ่ ๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจหรือโต้ตอบรัฐบาล

นอกจากนี้ตุรกี ยังเป็นประเทศเป้าหมายที่กลุ่มก่อการร้าย Terrorism เลือกใช้เป็นสถานที่ทำลายชีวิตและทรัพย์สินของชาติตะวันตก

6.2 ปัญหาการทุจริตของนักการเมืองและข้าราชการ โดยมีการเรียกรับสินบนตลอดกระบวนการอนุมัติ อนุญาตดำเนินธุรกิจ แม้กระทั่งการขอใบอนุญาตทำงานหรือใบถิ่นที่อยู่

6.3 ปัญหาการสื่อสารภาษาต่างประเทศ ประชาชนในวัยทำงานที่มิได้อยู่ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น นครอิสตันบูล หรือกรุงอังการา พูดภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่น ๆ ได้น้อยมาก

7. แหล่งข้อมูลข่าวสาร

7.1 ข้อมูลด้านการลงทุน www.treasury.gov.tr

7.2 ข้อมูลด้านการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ www.kik.gov.tr

7.3 ข้อมูลด้านการค้าระหว่างประเทศ www.dtm.gov.tr, www.igeme.gov.tr

7.4 ข้อมูลด้านนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน www.tcmb.gov.tr

7.5 ข้อมูลสถิติทั่วไปของประเทศ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและตัวเลขดัชนีต่าง ๆ www.die.gov.tr

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครอิสตันบูล

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ