1.1 สาขาการลงทุนของไทยในปัจจุบัน และมูลค่าการลงทุนในแต่ละสาขา
1.1.1 ในภาพรวม ประเทศที่มีการลงทุนโดยตรงในสหราชอาณาจักรสูงสุด ในปี 2008* (*สถิติทางการล่าสุดของ Office for National Statistics เป็นตัวเลขปี 2008) คือ สหรัฐฯ (ร้อยละ 41) ตามด้วยเนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 35) เยอรมัน (ร้อยละ 11) อินเดีย (ร้อยละ 5) รัสเซีย (ร้อยละ 4) โดยในส่วนของเอเชียนั้น เป็นการลงทุนโดยตรงจากอินเดียเกือบทั้งหมด
สาขาที่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูงสุด คือ
1) Retail/Wholesale, trade & repair services (33%)
2) Financial Services (25%)
3) Chemical, plastic & fuel products (20%)
4) Electricity, gas & water (6%)
5) Transport and communication services (5%)
อนึ่งในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศเอเชียที่มีการลงทุนสูงสุดในสหราชอาณาจักร คือ อินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ นอกเหนือจากประเทศดังกล่าวแล้ว Office for National Statistics ไม่ได้แสดงสถิติการลงทุนโดยตรงจากประเทศอื่นในเอเชีย รวมทั้งจากประเทศไทย
1.1.2 ในปัจจุบัน การลงทุนโดยตรงจากไทยในสหราชอาณาจักร โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม ร้านอาหารไทย และธุรกิจนำเข้า/จัดจำหน่ายสินค้าอาหารไทย/ซุปเปอร์มาร์เก็ตไทย นอกจากนี้ ก็มีธุรกิจนำเข้า/จัดจำหน่ายของใช้/ของประดับตกแต่งบ้าน เครื่องประดับ สปา และโรงแรม
1.1.3 ประเภทธุรกิจที่ไทยมีมูลค่าการลงทุนสูงสุด คือ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจโรงแรม ทั้งนี้ สำหรับธุรกิจร้านอาหารไทย ธุรกิจนำเข้า/จัดจำหน่ายอาหารสินค้าไทย/ซุปเปอร์มาร์เก็ตไทย ธุรกิจนำเข้า/จัดจำหน่ายของใช้/ของประดับ/ตกแต่งบ้าน ธุรกิจนำเข้า/จัดจำหน่ายเครื่องประดับ ธุรกิจสปา นั้น เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก
1.1.3.1 ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม : บริษัทเอกชนรายใหญ่ของไทยที่ลงทุนในสาขานี้ มี ดังนี้
- CPF UK (Limited) : ในปี 2545 บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมลงทุนใน CP FOODS (UK) Limited กับนักธุรกิจชาวอังกฤษ เพื่อดำเนินธุรกิจการนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าประเภทเนื้อสัตว์แปรรูปและผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปในสหราชอาณาจักร โดยซีพีเอฟถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วนร้อยละ 52.00 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000,000 ปอนด์สเตอร์ลิง หรือ ประมาณ76 ล้านบาท มีโรงงานผลิตตั้งอยู่ที่ Newmarket, Suffolk มีคนงานประมาณ 100 คน โดยนำเข้าผลิตภัณฑ์ CPF สำเร็จรูป (ready prepared) จากไทยเข้ามา process และบรรจุใหม่ ได้แก่ ไก่ กุ้ง เป็ด และติ่มซำ บริษัท CPF UK ดำเนินธุรกิจด้านการ supply สินค้าอาหารให้แก่ทั้งผู้ค้าปลีกรายใหญ่ (อาทิ Tesco; Sainsbury) และผู้ค้าปลีกรายย่อย รวมถึงร้านอาหาร และผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ โดยเป็นผู้นำเข้าไก่แปรรูปอันดับหนึ่งของไทยในสหราชอาณาจักร มีปริมาณนำเข้าสินค้าสูงถึง 3,000 — 3,500 ตันต่อเดือน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดรวมแล้วถึงร้อยละ 50 ในสหราชอาณาจักร
- Beer Singh : ที่ผ่านมา เบียร์สิงห์มีการนำเข้ามาจำหน่ายในสหราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่องมา 30 กว่าปีแล้ว โดยผ่านบริษัทผู้นำเข้า/จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว (exclusive distributor) ชื่อ Entbe Ltd ทั้งนี้ ในปี 2009 เบียร์สิงห์ได้เปลี่ยน exclusive distributor เป็น Molson Coors แทน โดยมีการลงนามในสัญญา 5 ปี ปัจจุบัน เบียร์สิงห์มีขายในร้านอาหารไทย รวมทั้งซุปเปอร์มาเก็ต mainstream ได้แก่ Tesco; Waitrose นอกจากนี้ บริษัทได้เปิด representative office ทำหน้าที่ด้านการตลาด ด้วย
- บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยเบฟ : ได้มีการเปิดตัวเบียร์ช้างอย่างเป็นทางการในสหราชอาณาจักรในปี 2550 และสืบเนื่องจากความสำเร็จของการเป็น main sponsor ใน Premiership club Everton FC ที่ทำให้เบียร์ช้างเป็นที่รู้จักในสหราชอาณาจักรเพียงในเวลาไม่กี่ปี ปัจจุบัน บริษัท International Beverage Holdings (UK) Limited ซึ่งเป็นบริษัทลูกของไทยเบฟ จึงได้เปิด website จำหน่ายเบียร์ช้างทาง on-line ที่ http://www.changbeerstore.com/ โดยมีบริษัท RHA Merchandising เป็น official distributor ของ Chang Beer และ Chang Beer branded merchandise ทาง online นอกจากนี้ International Beverage Holdings (UK) Limited ยังลงทุนในการเข้าถือหุ้นใน Inver House Distillers Limited ซึ่งจำหน่ายสุราวิสกี้ และสุราพรีเมี่ยมต่างๆ ที่ผลิตในประเทศสก็อตแลนด์อีกด้วย
- Siam Winery Trading Plus Co. Ltd บริษัทในเครือกระทิงแดง ขายไวน์ไทย ยี่ห้อ Monsoon Valley ; Spy Winecooler; Sabai นำเข้าโดย Red Bull UK ปัจจุบันมีขายในร้านอาหารไทย และร้านประเภท off-licences และซุปเปอร์มาเก็ตไทยหลายแห่ง
1.1.3.2 ธุรกิจโรงแรม บริษัทเอกชนไทยรายใหญ่ที่ลงทุนในสาขานี้ ได้แก่
- Landmark Group : ได้เข้าซื้อกิจการโรงแรม 4 แห่งในสหราชอาณาจักร คือ Royal Lancaster (ปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อเป็น Lancaster London — 4 ดาว) ; The Landmark London Hotel ( 5 ดาว) ; K West Hotels & Spa ; Basil Street Apartments ทั้งหมดตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน
1.1.3.3 ธุรกิจร้านอาหารไทย ซึ่ง จากการสำรวจของสำนักงานฯ ในปี 2551 มีร้านอาหารไทยใน สหราชอาณาจักรจำนวน 1,650 แห่ง โดยรวมถึงร้านอาหารไทยที่มีคนไทยเป็นเจ้าของกิจการ และร้านอาหารไทยที่มีต่างชาติเป็นเจ้าของ โดยเป็นการลงทุนในธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ทั้งนี้ สำหรับร้านอาหารไทยที่มีคนไทยเป็นเจ้าของกิจการ ที่มีการลงทุนอย่างจริงจัง คือ ร้าน Patara Fine Thai Cuisine (เจ้าของเดียวกันกับ S&P) มีสาขารวมทั้งสิ้น 4 สาขาในกรุงลอนดอน ในส่วนของร้านอาหารไทยที่มีต่างชาติเป็นเจ้าของ ร้านที่มีสาขามากที่สุด คือ Thai Square โดยมีเจ้าของเป็นชาวยิว มีสาขาทั้งสิ้น 18 สาขา ในลอนดอน และปริมณฑล เป็นต้น
1.1.3.4 ธุรกิจนำเข้า/จัดจำหน่ายสินค้าไทย และซุปเปอร์มาร์เก็ตไทย โดยส่วนใหญ่ที่มีคนไทยเป็นเจ้าของกิจการจะเป็นร้านขนาดกลาง-เล็ก ทั้งนี้ ธุรกิจนำเข้า/จัดจำหน่ายสินค้าอาหารเอเชียรวมถึงอาหารไทยที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่มักเป็นของชาวจีน เกาหลี และญี่ปุ่น เนื่องจากมีเงินทุนมากกว่า
1.1.3.5 ธุรกิจสปา : การลงทุนของไทยในธุรกิจสปา ส่วนใหญ่เป็นการเปิดร้านให้บริการนวดแผนไทย/สปาไทย ซึ่งมีจำนวนปานกลาง แต่ที่มีคุณภาพมีเพียงไม่กี่ราย บางแห่งจะใช้ผลิตภัณฑ์ สปาไทยที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ร้าน Sabai Leela ใช้ผลิตภัณฑ์สปาไทย ยี่ห้อ Thann นอกจากนี้ บางผลิตภัณฑ์สปาไทยที่มีชื่อเสียง เช่น Erb มีการนำเข้าและจัดจำหน่ายโดย exclusive distributor ใน สหราชอาณาจักร และประสบความสำเร็จค่อนข้างสูงโดยมีจำหน่ายในร้านลักษณะ beauty salon/retreat ระดับหรูทั่วสหราชอาณาจักร แต่ปัจจุบัน Erb ยังไม่มีการลงทุนเปิดกิจการอย่างจริงจังในสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ ข้อจำกัดของการขยายตัวของธุรกิจให้บริการนวดแผนไทย/สปาไทย คือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้/ความเชี่ยวชาญด้านการนวดแผนไทย
2. เหตุผลหรือปัจจัยที่ส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนของไทยในสาขาดังกล่าว
ปัจจัยที่ส่งเสริมการลงทุนของไทยในสาขาธุรกิจอาหารในสหราชอาณาจักร คือ การขยายตัวของดีมานด์ โดยเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรมีอัตราการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องมาหลายปี ก่อนที่จะประสบวิกฤตการเงินและการหดตัวของเศรษฐกิจในปลายปี 2551 ทำให้ ในช่วงนั้น ชาวอังกฤษนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย และจากประสบการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทยและการได้รู้จักและชื่นชอบในอาหารไทย เมื่อกลับมาประเทศตนแล้ว ก็มีความต้องการที่จะรับประทานอาหารไทยที่เป็น authentic Thai cuisine ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารไทยมีการขยายตัวสูงมากเพื่อตอบสนองความต้องการนั้น และธุรกิจนำเข้าวัตถุดิบในการทำ/ปรุงอาหารไทย ได้แก่ ข้าว ผัก เครื่องปรุงรสต่างๆ เป็นต้น มีอัตราการขยายตัวตาม
นอกจากนี้ เนื่องจากสหราชอาณาจักรมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมากในแต่ละปี ทำให้มีความต้องการสูงในการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม
3. และ 4. มูลค่าและอัตราการเติบโตของการลงทุนรวม/ไทยในสาขาดังกล่าว (ย้อนหลัง 5 ปี)
สำหรับการลงทุนรวมในสาขาธุรกิจร้านอาหาร และการลงทุนของไทยในธุรกิจร้านอาหารนั้น ประสบปัญหาตั้งแต่วิกฤตการเงินและการหดตัวของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปลายปี 2551 ต่อเนื่องเป็นเวลา 18 เดือน มาจนถึงปลายปี 2552 ที่ทำให้ร้านอาหารหลายแห่งรวมถึงร้านอาหารไทยต้องปิดกิจการลง ปัจจุบันมีร้านอาหารไทยในสหราชอาณาจักรประมาณ 1,500 กว่าแห่ง ลดลงร้อยละ 5.8 จากปี 2008
5. บริษัทต่างชาติที่ปัจจุบันไทยเป็นพันธมิตรร่วมลงทุนในสาขาดังกล่าว
สำหรับการลงทุนของไทยในสาขาธุรกิจร้านอาหาร โดยส่วนใหญ่มีคนไทยเป็นจ้าของกิจการมีเพียงส่วนน้อยที่เป็นการร่วมลงทุนกับต่างชาติ ได้แก่ มาเลเซีย อังกฤษ เป็นต้น
6. ประเทศคู่แข่งของไทยในการลงทุนในสาขาดังกล่าว
สำหรับธุรกิจร้านอาหารในสหราชอาณาจักร ไทยไม่มีคู่แข่งโดยตรง เนื่องจากอาหารแต่ละชาติมีความเป็นเอกลักษณ์ ขึ้นกับกระแสความนิยมของผู้บริโภค ซึ่งในปัจจุบัน ชาวอังกฤษชมชอบอาหาร ethnic food อาหาร healthy food และ fast meal ร้านอาหารเอเชียในสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารอินเดีย จีน ไทย และญี่ปุ่น
7. การพัฒนาและการปรับตัวของนักลงทุนไทยในการเพิ่มขีดความสามารถในการลงทุนในสาขาดังกล่าว
ผู้ประกอบการไทย มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านการตลาด ก่อนการลงทุนมากขึ้น โดยสังเกตได้จากการขอนัดเข้ามาพบสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน เพื่อขอข้อมูลด้านการตลาดและขอคำปรึกษาในการเปิดธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่จะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสำนักงานฯจะแนะนำให้เริ่มต้นด้วยการไปใช้บริการของ Think London ซึ่งเป็น official FDI agency ของกรุงลอนดอน ที่ให้บริการ office space และ business advice ฟรีแก่บริษัทต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุนเปิดกิจการในลอนดอน ทั้งนี้ ในส่วนของ business advice นั้น ครอบคลุม ตั้งแต่การช่วยเปิดบัญชีธนาคาร การช่วยเหลือในการดำเนินการตามกฎหมาย/กฎระเบียบต่างๆ การหาลูกจ้าง การหาสถานที่เพื่อเปิดกิจการ เป็นต้น และจากตรงจุดนี้ จะได้ connections ต่างๆในการเปิดธุรกิจ และหากเห็นว่า ตลาดสหราชอาณาจักรมีศักยภาพ ก็สามารถขยับขยายให้เป็น representative office หาพันธมิตรร่วมลงทุน หรือเปิดกิจการในลักษณะอื่นๆต่อไป
8. อุปสรรคและข้อจำกัดทางกฎหมายในการลงทุนสาขาดังกล่าว
สาขาอาหารและเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในสาขาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน โดยหน่วยงานด้านการลงทุนของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวกันกับด้านการค้า คือ UKTI (UK Trade and Investment) เนื่องจากเป็นสาขาที่จ้างงานกว่า 5 แสนคน และมียอดขายกว่า 70 พันล้านปอนด์
อย่างไรก็ดี กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารในสหราชอาณาจักรมี ดังนี้
8.1 Food Premises Regulations 1991
กำหนดให้ผู้ประสงค์จัดตั้งร้านอาหารจะต้องยื่นขออนุญาตต่อหน่วยงานท้องถิ่น(Local Authority) หรือเทียบเท่าสำนักงานเขต หรือเทศบาลของเขตพื้นที่นั้นๆ
8.2 Food Safety Act 1990, Food Safety (General Food Hygiene) Regulations 1995, Food Safety (Temperature Control) Regulations 1995
กำหนดกฎระเบียบด้านมาตรฐานสุขอนามัยและความปลอดภัยของสินค้าอาหารและร้านจำหน่ายสินค้าอาหาร โดยยังมีกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับสินค้าอาหารบางประเภทด้วย เช่น Dairy Products (Hygiene) Regulations 1995 และ Fresh Meat (Hygiene & Inspection) Regulations 1995 เป็นต้น
8.3 Finance Act 1984
กำหนดให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องยื่นจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบกิจการที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ในอัตราร้อยละ 17.5
8.4 Licensing Act 1988
ผู้ประกอบกิจการร้านอาหารที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล จะต้องยื่นขอใบอนุญาตจากหน่วยงานท้องถิ่น
8.5 Offices, Shops and Railways Act 1963
ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะเปิดกิจการร้านอาหารในตึกอาคารที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์เป็นร้านจำหน่ายอาหาร จะต้องยื่นขอใบอนุญาตเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้ตึกอาคารสำหรับใช้เป็นร้านอาหารด้วย
8.6 Health and Safety at Work Act 1974 (และฉบับแก้ไขปรับปรุงปี 1992) Sanitary Conveniences Regulations 1964; Fire Protections Act 1971
เป็นกฎหมายกำหนดเกี่ยวกับมาตรการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน ความสะอาด และการป้องกันอัคคีภัย โดยกฎหมายยังกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการจะต้องมีการประกันภัยอุบัติเหตุและเพื่อความปลอดภัยแก่พนักงานและลูกค้าผู้ใช้บริการที่เรียกว่า Public Liability Insurance ด้วย
8.7 Consumer Protection Act 1987
กำหนดข้อบังคับเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภค เช่น ในการจัดเก็บค่าบริการ(Service charges) การแจ้งราคาอาหารที่ต้องปิดประกาศไว้ชัดเจนบริเวณทางเข้าร้านอาหาร การระบุรายการอาหารอย่างครบถ้วนในเอกสารเมนูของร้าน และอื่นๆ
9. กลยุทย์และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในการส่งเสริมการลงทุนไทยในสาขาดังกล่าว
การลงทุนในสาขาธุรกิจร้านอาหาร ควรให้ความสำคัญกับแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในตลาด ทั้งนี้ สำหรับตลาดอังกฤษ ผู้บริโภคชมชอบอาหารต่างชาติ (ที่ไม่ใช่อาหารยุโรป) อาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารที่พร้อมรับประทาน ทำให้ร้านอาหารประเภท fast food แบบที่เน้นสุขภาพมีการขยายตัวสูง บางร้านจะเลือกเมนูเด็ดของอาหารจีน ไทย ญี่ปุ่น ที่ผู้บริโภคสามารถสั่งอุ่นรับประทานได้ทันที เข้ามาขายพร้อมแซนวิชแบบฝรั่ง รวมทั้งน้ำเพื่อสุขภาพ เช่น น้ำตะไคร้ และผลไม้สด
2.1 สาขาการลงทุนใหม่ๆที่ไทยควรเข้าไปลงทุน / 2.2 เหตุผลหรือปัจจัยที่ส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนของไทยในสาขาดังกล่าว
สาขาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงในสหราชอาณาจักรในลำดับต้นๆ คือ สาขาการบินและอวกาศ ยานยนต์ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และสื่อ พลังงานทดแทน บริการด้านการเงินและบริการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ICT ชีววิทยาและNanotechnology
สาขาที่ไทยควรเข้ามาลงทุนในสหราชอาณาจักร ควรเป็นสาขาที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันและเป็นสาขาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนโดยหน่วยงานภาครัฐของสหราชอาณาจักร
สาขาอาหารและเครื่องดื่มยังเป็นสาขาที่ไทยควรเข้ามาลงทุน เนื่องจาก ปัจจุบันอาหารไทยและร้านอาหารไทยยังคงได้รับความนิยมเป็นลำดับต้นๆ ในสหราชอาณาจักร และยังมีโอกาสขยายตัวอยู่มาก ร้านอาหารประเภทสะดวกรวดเร็ว รับประทานได้ทันที เน้นประโยชน์ด้านสุขภาพ (healthy and organic) และจำหน่ายสินค้าอาหารที่ผ่านกระบวนการที่ยั่งยืน/รักษาสิ่งแวดล้อม (sustainable) มีลู่ทางที่ดีมาก
การลงทุนในร้านค้าปลีกจำหน่ายของขวัญ/ของใช้/ของตกแต่งบ้านประเภท fair trade ก็น่าสนใจ เนื่องจากชาวอังกฤษชมชอบให้ของขวัญในเทศกาลต่างๆ และ fair trade หรือ การไม่เอารัดเอาเปรียบด้านราคากับผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนา เป็นกระแสที่กำลังเป็นที่นิยม และมีแนวโน้มได้รับความนิยมต่อเนื่องต่อไป
นอกจากนี้ การลงทุนในธุรกิจให้บริการสปามีลู่ทางที่ดี เนื่องจากชาวอังกฤษเริ่มรู้จักประโยชน์ของสปาและการนวดในแง่ของการผ่อนคลายอารมณ์ และการรักษาสุขภาพที่ผสมผสานระหว่างร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้สปาและนวดแผนไทยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและยอมรับ แต่ยังมีผู้ประกอบการไทยจำนวนน้อยมากที่เข้ามาลงทุนเปิดธุรกิจนี้อย่างจริงจังในสหราชอาณาจักร
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน
ที่มา: http://www.depthai.go.th