การปรับตัวของมณฑลในแคนาดาตะวันตกกับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรร ในศตวรรษที่ 21 มณฑลบริติชโคลัมเบีย : British Columbia (BC)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 16, 2010 14:35 —กรมส่งเสริมการส่งออก

บริติช โคลัมเบีย ในอดีต ได้เคยมีชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านป่าไม้ การประมง และเหมืองแร่ เพื่อการค้า อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรม ดังกล่าว ได้ลดความสำคัญลงและบริติชโคลัมเบีย ได้ผันตัวออกจากการเป็นแหล่งที่มีความสำคัญด้านอุตสาหกรรมพื้นฐานจากทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าว มาเป็นเวลานานกว่าสิบปี และมุ่งให้ความสำคัญด้านการส่งออกสินค้าไปยังมณฑลอื่นๆในแคนาดา และไปยังต่างประเทศในภาคธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่งการส่งออกสินค้าฯ มีมูลค่าถึงเกือบร้อยละ 50 ของ GDP ของมณฑล และหากจะพิจารณาในภาคธุรกิจที่มีการขยายตัวมากที่สุด จะพบว่าเป็นภาคธุรกิจส่งออกถึง 15 รายการ อย่างไรก็ตามในภาคธุรกิจส่งออกที่สำคัญเหล่านี้ ยังมีขนาดเล็กอยู่ ที่สำคัญ ๆ ดังนี้

1. อุตสาหกรรมด้าน เทคโนโลยีระดับสูง ( High Technology Industries) อุตสาหกรรมที่มีอัตราการขยายตัวสูง ได้แก่ อุตสาหกรรม ซ้อฟแวร์ ซึ่งมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 31 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา นอกจากนั้น Data Processing และ Computer system design ก็เป็นภาคธุรกิจที่มีการเติบโตในอัตราสูง บริติชโคลัมเบีย ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจคอมพิวเตอร์ โดยสนับสนุนการสร้างระบบการประกอบการที่สามารถแข่งขันได้ ในภาคธุรกิจการพัฒนาระบบซ้อฟแวร์ และการให้บริการด้านข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

2. ฟิลม์ และ ภาพยนต์ ( Film & Movie ) ภาพยนต์และงานผลิตโทรทัศน์ เป็นภาคธุรกิจที่มีจุดแข็ง และ มีอัตราการเติบโตสูง แม้ว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากค่าเงินเหรียญแคนาดา ที่แข็งเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ

3. ภาคการสำรวจพลังงาน( Extraction of Energy Industry) ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขึ้นด้านงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ด้านเครื่องมืออุปกรณ์และวิธีในการกลั่นน้ำมัน/ขุดเจาะ สำรวจ สกัดแร่ธาตุ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและใช้ต้นทุนต่ำกว่า ทั้งนี้ อุตสาหกรรม ก๊าซ ของบริติชโคลัมเบีย อยู่ระหว่างช่วงการเติบโตในอัตราสูง

4. ภาคการผลิตสัตว์น้ำ(Animal Aquaculture) บริติชโคลัมเบีย ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตปลาแซลมอน กุ้ง และ หอยนางรม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม ในการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงมีการต่อต้านภาคธุรกิจดังกล่าวเพิ่มขึ้น

5. การสร้างมูลค่าเพิ่มสูงในภาคธุรกิจผลิตภัณฑ์ไม้ (Higher value-added wood products Sector) ภาคธุรกิจนี้ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น สวนทางกับอุตสาหกรรมป่าไม้ที่มีความสำคัญลดน้อยลงมาก ทั้งนี้ เนื่องจาก บริติชโคลัมเบีย มีจุดแข็งด้านภาคการผลิต ผลิตภัณฑ์จาก Veneer plywood และ engineered wood

6. ธุรกิจด้านการศึกษา ( Advanced Education) บริติชโคลัมเบีย เป็นมณฑลที่มีศักยภาพสูงในด้านการศึกษาเพื่อความเจริญก้าวหน้า เนื่องจาก มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา หลายแห่งในบริติชโคลัมเบีย โดยเฉพาะ โรงรียนสอนภาษาอังกฤษ ( ESL training school ) เป็นแหล่งที่ได้รับความสนใจและสามารถดึงดูดนักศึกษาต่างประเทศให้เข้ามาศึกษาเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุที่ได้รับความนิยมสูง จึงมีจำนวนโรงเรียน/สถาบัน ในลักษณะดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องก่อให้เกิดรายรับจากนักศึกษาต่างชาติ หรือ " export earnings" ด้านการศึกษา เพิ่มขึ้นสูง โดยในปี 2545 รายรับดังกล่าว คิดเป็นร้อยละ 1.7 ของ GDP ของบริติชโคลัมเบีย

7. การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ( Eco-Tourism) ในภาพรวมด้านการท่องเที่ยวของบริติชโคลัมเบีย ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ทั้งหมดสามารถก่อให้เกิดรายได้ เป็นจำนวนถึง 13,800 ล้านเหรียญแคนาดาในปี 2551 ซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวของบริติชโคลัมเบีย มีมูลค่าสูงกว่า ภาคเหมืองแร่ เกษตรกรรม และประมง ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมสำคัญของมณฑล

จากการจัดอันดับของนิตยสารด้านการท่องเที่ยว แวนคูเวอร์นับเป็นเมืองที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของเมืองที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ซึ่งมีเขตชายแดนอยู่ตามแนวเทือกเขาร็อกกี้ทางตะวันตก และติดชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะในแคนาดา ภูมิทัศน์ภูดขาและชายหาด ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถล่องเรือได้ในฤดูร้อน และเล่นสกีได้ในฤดูหนาว นอกจากนั้น ยังสามารถทำกิจกรรมอื่นๆ อาทิ การตกปลา หรือชมทัศนียภาพของทะเลและชายฝั่งได้ ปัจจัยอำนวยดังกล่าว และอุณหภูมิที่ไม่หนาวจนเกินไป ทำให้ บริติชโคลัมเบีย เป็นแหล่งท่องเที่ยว สำหรับชาวแคนาดาและชาวต่างประเทศ โดยนักท่องเที่ยวที่สำคัญได้แก่นักท่องเที่ยวจากเอเซีย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของบริติชโคลัมเบีย ก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งมากกว่า 18,000 ตำแหน่ง โดย 1 ใน 14 ของผู้ทำงาน อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ในบรรดานักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังบริติชโคลัมเบีย พบว่า การท่องเที่ยวที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 12 ต่อปี และจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวที่ชอบการผจญภัยเล็กน้อย และชอบกิจกรรมกลางแจ้งที่มีความเสี่ยงน้อย ทำให้บริติชโคลัมเบียเป็นแหล่งนิยมของกลุ่มนักท่องเที่ยวดังกล่าว เนื่องจากสามารถทำกิจกรรมได้หลากหลาย อาทิ การปีนเขา การล่องแพ การแข่งเรือคยัค การเล่นสกี หรือการชื่นชมธรรมชาติที่สวยงาม ปัจจุบัน มีผู้ดำเนินการด้านการท่องเที่ยวในกิจกรรมกลางแจ้งดังกล่าวในบริติชโคลัมเบียกว่า 1,500 ราย และจากการศึกษาของกระทรวงธุรกิจขนาดย่อม การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของมณฑลฯ พบว่า กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้แก่ กลุ่ม Baby Boomers ซึ่งขณะเดียวกัน เป็นลูกค้าของธุรกิจด้านสุขภาพ และด้านการท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมผจญภัยเล็กน้อยด้วย

รัฐบาลส่วนท้องถิ่นของบริติชโคลัมเบีย ได้สนองตอบต่อการเพิ่มขึ้นของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยได้สละที่ดินประมาณร้อยละ 12.5 ของทั้งหมด หรือประมาณ 10 ล้านเฮกตาร์ ในการจัดทำเป็นสวนสาธารณะ พื้นที่เพื่อการสันทนาการ และการสำรองเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงธุรกิจขนาดย่อม การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ของมณฑลฯ ได้จัดทำยุทธศาสตร์ที่เน้น เรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อช่วยเหลือหน่วยเศรษฐกิจขนาดเล็ก ของชุมชนที่มีปัจจัยพื้นฐานที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้ โดยจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาพื้นที่ให้มีโอกาสธุรกิจด้านสันทนาการ โดยสามารถรักษาสภาพแวดล้อมได้ในขณะเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ชุมชน Cowichan Lake และ Valemount ที่ได้รับเงินทุนในการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อธุรกิจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และประสบความสำเร็จในการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้ถึงร้อยละ 5 ซึ่งจากความสำเร็จของชุมชนดังกล่าว รัฐบาลท้องถิ่นได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนอื่นๆ อีก 13 แห่ง เพื่อดำเนินกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน

โอกาสของผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทย จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในบริติชโคลัมเบียดังกล่าว เป็นโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้าเครื่องมือ อุปกรณ์ สำหรับใช้นอกบ้านและสินค้าเพื่อกิจกรรมสันทนาการ ( Outdoor equipment and recreational goods) ได้แก่ เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการปีนเขา การล่องเรือเคนู การล่องเรือคยัค การล่องแพ อานม้า จักรยาน อุปกรณ์เพื่อการเดินทาง เพื่อการแค้มปิ้ง เสื้อผ้า รองเท้า ที่ใช้เพื่อกิจกรรมต่างๆ อาทิ การเล่นสกี การเดินป่า ถุงนอนสำหรับนักเดินทาง กระเป๋าสะพายหลัง ฯลฯ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริติชโคลัมเบีย ได้มีการนำเข้า เต้นท์ ขวดน้ำ จักรยาน กระเป๋าสะพายหลัง แพยาง อุปกรณ์สำหรับการเล่นสกี และรองเท้าสำหรับเดินบนหิมะ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทยในการเสนอขายสินค้าดังกล่าว

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ