ผลไม้ไทยในตลาดมหานครฉงชิ่งผู้นำเข้าเริ่มใช้เส้นทางR9

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 21, 2010 16:23 —กรมส่งเสริมการส่งออก

สภาพตลาดทั่วไป

ตลาดค้าส่งผลไม้ฉงชิ่งไช่หยวนป้า เริ่มดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 1996 ตลอดเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาได้รับการประเมินให้เป็นอันดับ 1 ในยี่สิบของตลาดผลไม้ของจีน เนื่องจากเป็นตลาดขายส่งผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของมหานครฉงชิ่ง โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 5 หมื่นตารางเมตร มีผู้ประกอบการกว่า 300 ราย พนักงานกว่า 1500 คนจำนวนลูกค้าประมาณหมื่นกว่าราย ประกอบกับปัจจัยด้านทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ศูนย์กลางการคมนาคมฉงชิ่ง ติดกับสถานีรถไฟ สถานีขนส่ง และท่าเรือฉงชิ่งไช่หยวนป้าริมฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียง ทำให้สะดวกในการขนส่งและกระจายสินค้า และที่สำคัญคือคุณภาพและความหลากหลายของสินค้าที่มีทั้งจากในประเทศ เช่นมณฑลฝูเจี้ยน กวางโจว เหอเป่ย กานซู ส่านซี กุ้ยโจว ยูนนาน ซินเจียง ไห่หนาน เป็นต้น และนำเข้าจากต่างประเทศ เช่นลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ ส้มโอ เป็นต้น จากประเทศต่างๆในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะประเทศไทย เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ตลาดแห่งนี้ได้รับรางวัลเป็นตลาดด้านผลิตภัณฑ์ผลไม้ Top 20 ของประเทศจีน และสามารถสร้างยอดค้าขายเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 4 แสนตัน เฉลี่ยสูงสุดถึงวันละ 1,600 ตัน

ตลาดค้าส่งผลไม้ฉงชิ่งไช่หยวนป้า---นโยบายครองความนิยมจากผู้บริโภคชาวฉงชิ่ง

ตลาดค้าส่งผลไม้ฉงชิ่งไช่หยวนป้าได้มีการพัฒนาและปรับปรุงระบบและโครงสร้างตลาดเรื่อยมา จนถึงปัจจุบันโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล 3 ด้านคือ ด้านนโยบาย ภาษี และอัตราค่าเช่า เป็นการลดต้นทุนการจัดการส่งผลให้ผลไม้ในตลาดไช่หยวนป้ามีราคาถูกกว่าตลาดอื่น ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมให้ผลไม้จากทั่วทุกสารทิศได้มาวางจำหน่ายที่นี่ ปริมาณการไหลเวียนของผลไม้ในแต่ละวันมีจำนวนมากทำให้ผลไม้คงความสดและใหม่อยู่เสมอ นอกจากนี้ ในตลาดยังมีระบบการตรวจสอบคุณภาพผลไม้ และมีเขตผลไม้ปลอดสารอีกด้วย ทำให้ตลาดผลไม้ไช่หยวนป้าได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เนื่องจากนโยบาย 3 ด้านข้างต้น ดึงดูดผู้ประกอบการจากต่างถิ่นเข้ามาทำการค้าขายที่ตลาดผลไม้แห่งนี้ ทำให้ตลาดแห่งนี้เป็นฐานที่สำคัญในการจำหน่ายผลไม้จากต่างมณฑลจำนวนมาก เช่น สับปะรดและกล้วย ของยูนนาน ท้อสดและลูกผีพา ของเสฉวน แอปเปิ้ล และแตงโม กีวี ของส่านซี แอปเปิ้ลของซานตง ชมพู่ สาลี่ ลูกท้อ และส้มโอ จากไต้หวัน เป็นต้น

ความร่วมมือระหว่างไทยกับตลาดค้าส่งผลไม้ฉงชิ่งไช่หยวนป้า

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตู (สคร. เฉิงตู) ได้เข้าร่วมประชุมหารือกับคณะผู้บริหารของตลาดขายส่งผลไม้ ฉงชิ่งไช่หยวนป้าและบริษัทตัวแทนจำหน่ายผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศรายสำคัญจำนวน 10 รายถึงรายละเอียดการจัดกิจกรรมเทศกาลผลไม้ไทยระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคม 2553 รูปแบบกิจกรรมคือการส่งเสริมให้ผู้ค้ากระจายผลไม้ดังกล่าวจะร่วมกันลดราคาขายส่งสำหรับผลไม้ไทยลงร้อยละ 10 เพื่อเชิญชวนจูงใจให้มีผู้ซื้อไปจำหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าวจะสามารถส่งเสริมการขายส่งผลไม้ไทยจากตลาดค้าส่งไปสู่กลุ่มผู้จำหน่ายรายย่อยได้มากขึ้น ส่งผลให้ผลไม้ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น

นางหวัง จิ้ง ผู้จัดการตลาดขายส่งผลไม้ไช่หยวนป้า กล่าวว่าตลาดไช่หยวนป้าเป็นเสมือนศูนย์กระจายผลไม้ในพื้นที่มหานครฉงชิ่งลูกค้าแต่ละวันจำนวนมากที่สุดสองหมื่นคน มีทั้งผู้จำหน่าย พ่อค้าหาบเร่แผงลอย และผู้บริโภคการจัดเทศกาลผลไม้ไทยร่วมกับตลาดไช่หยวนป้าเป็นผลดีต่อการส่งออกผลไม้ไทย เนื่องจากปัจจุบันชาวมหานครฉงชิ่งนิยมบริโภคผลไม้ไทยโดยเฉพาะ ลำไย กล้วยไข่ มังคุด ทุเรียน เรียงตามลำดับปริมาณนำเข้าตลาดผลไม้ไช่หยวนป้า มีบริษัทจำหน่ายผลไม้จำนวนมากมาย ซึ่งทางบริษัทสนใจที่จะนำเข้าผลไม้ไทยเพิ่มขึ้นและต้องการติดต่อธุรกิจกับผู้ส่งออกผลไม้ไทยรายใหญ่ รวมทั้งบริษัทที่ให้บริการทางด้านโลจิสติกส์ที่ครบวงจร สคร.จึงเชิญชวนนางหวัง จิ้ง ผู้จัดการตลาดฯจัดคณะผู้นำเข้าผลไม้ไทยตลาดผลไม้ไช่หยวนป้าพร้อมกับผู้จำหน่ายและสมาคมผลิตภัณฑ์ผลไม้เดินทางไปเยือนประเทศไทยในงานแสดงสินค้าและอาหารนานาชาติ (THAI FEX 2010) โดยกรมส่งเสริมการส่งออกจัดให้มีเวทีเจรจาซื้อขายผลไม้ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการค้าระหว่างนักธุรกิจสองฝ่าย

มุมมองของบริษัทนำเข้าและจำหน่ายผลไม้ไทย

นายหวัง เจิง ผู้จัดการบริษัทChongqing Fruit Trading Co.,Ltd. ผู้จำหน่ายผลไม้ไทยรายสำคัญในตลาดขายส่งไช่หยวนป้า ได้ให้ข้อมูลการตลาดของผลไม้ไทยในฉงชิ่งว่า บริษัทของตนรับซื้อลำไยจาก จ.เชียงใหม่ มังคุดจาก จันทบุรี ทุเรียนจาก นครศรีธรรมราช โดยมีต้นทุนค่าขนส่งอยู่ที่ 4,000 เหรียญสหรัฐต่อตู้ (23,000 หยวน) ซึ่งการดำเนินการจัดซื้อนั้นทางบริษัทได้ส่งพนักงานชาวจีนไปรับซื้อผลไม้ในไทย การจำหน่ายผลไม้จากไทยจะจำหน่ายได้น้อยสุดในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค.เนื่องจากเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลไม้ในฉงชิ่ง เช่น ราคาทุเรียนเดือน มิ.ย-ส.ค. ราคาจำหน่ายอยู่ที่ 10 หยวน/กิโลกรัม แต่ในช่วงเดือน ธ.ค.-ก.พ. จะสูงถึง 22 หยวน/กก.

การขนส่งผลไม้ไทยส่วนใหญ่นำเข้าทางเรือผ่านกวางโจว และทางบกผ่านมณฑลยูนนาน บริษัทของตนเริ่มบุกเบิกเส้นทางโลจิสติกส์ผ่านทางหลวงเส้นมุกดาหาร---สะหวันเขต(ลาว)---ด่านPuZhai (เวียดนาม-กวางสี)---ฉงชิ่ง ซึ่งนับเป็นเป็นรายแรก เพราะเป็นเส้นทางที่ช่วยลดระยะทาง และเวลาในการขนส่งลงกว่าร้อยละ 15 คือ จากเดิมขนส่งทางเรือ 7-10 วัน ลดลงเหลือ 4-5 วันในเส้นทางบกเส้นนี้ ซึ่งแนวโน้มเช่นนี้คาดว่าจะทำให้อีก 5 ปีข้างหน้าจะมีการค้าผลไม้ระหว่างไทย-ฉงชิ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 50-60 เนื่องจากหลังจากประเทศจีนและอาเซียนได้มี Free Trade Area จำนวนการนำเข้าผลไม้ไทยก็มีการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และปัจจุบันรัฐบาลกำลังก่อสร้างนิคม Logistics ในการนำเข้าและส่งออกเหรินหอ เขตหยูเป่ย ซึ่งคาดว่าจะสร้างเสร็จในปลายปีหน้า และสามารถอำนวยความสะดวกในการนำเข้าและส่งออกมากยิ่งขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

ที่มา: http://www.depthai.go.th


แท็ก ผลไม้ไทย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ