เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ของมณฑลตะวันตกของจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 21, 2010 16:36 —กรมส่งเสริมการส่งออก

ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ ในประเทศจีนเริ่มมีการพูดถึง 'ยุทธศาสตร์ก้าวออกไป' หรือในภาษาจีนกลางคือ "โจ่วชูชี่ว์" กันหนาหู เหตุผลเนื่องมาจากนโยบายจากการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีนในช่วง มี.ค.2553 ที่นายกรัฐมนตรีจีนได้วางภารกิจการทำงานของรัฐบาลจีนในปี 2553 ไว้ 8 ด้าน ดังนี้

1. ยกระดับประสิทธิผลของการควบคุมเชิงมหภาค และการดำเนินนโยบายการคลังเชิงรุก

2. การปรับรูปแบบการพัฒนาและโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่ประหยัดทั้งพลังงานและทรัพยากร

3. การวางแผนพัฒนาเมืองและชนบทแบบมีบูรณาการ

4. การดำเนินยุทธศาสตร์โดยใช้การศึกษาและวิทยาศาสตร์สร้างชาติ

5. การพัฒนาวัฒนธรรม โดยเฉพาะการส่งเสริมเอกลักษณ์วัฒนธรรมดั่งเดิมอันดีงามของจีน

6. การสร้างหลักประกันสังคมและปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

7. การยืนหยัดนโยบายปฏิรูปและต่อยอดการปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศให้บังเกิดผล

8. การพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลในการให้บริการประชาชนเพื่อความพอใจของประชาชน

ย้อนกลับไปในช่วง 30 ปีของการเปิดประเทศ จีนใช้ 'ยุทธศาสตร์ดึงเข้ามา' หรือการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศเป็นหลัก ซึ่งผลจากยุทธศาสตร์ดังกล่าวก็ประสบผลดังที่เราเห็น คือ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยนั้นสูงถึงร้อยละ 8-9 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยมีตัวเลขมากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะหลังจากจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในปี 2001 ยิ่งทำให้เศรษฐกิจจีนถูกผูกติดเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลกอย่างรวดเร็วและแนบแน่นจนแยกกันไม่ออก เศรษฐกิจจีนได้อานิสงส์อย่างมากจาก "ทรัพยากรภายนอก" เช่น เทคนิคการบริหาร องค์ความรู้ เทคโนโลยี เงินทุน และตลาดสินค้าส่งออก จากนานาประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2009 ทำให้ผู้บริหารของประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ต้องกำหนดยุทธศาสตร์การเติบโตใหม่ ด้วยการลดการใช้ "ทรัพยากรคนอื่น" เพื่อการพัฒนาประเทศในรูปแบบที่ยั่งยืน และเป็นการปูพื้นฐานในการ "ก้าวออกไป" เป็นพี่ใหญ่ในพื้นที่อย่างแท้จริงและเต็มภาคภูมิ

จีนให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่อง Innovation Economy โดยได้กำหนดให้เป็น 1 ในภารกิจ 8 ข้อของการทำงานรัฐบาลจีนปี 2553 ตามที่กล่าวอ้างมาข้างต้น โดยการปรับรูปแบบการพัฒนาและโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งผู้นำของแต่ละมณฑลก็ได้นำแนวคิดที่เสมือนร่มใหญ่ มาดำเนินการออกนโยบายระดับมณฑลที่สอดคล้องกับอัตตลักษณ์ของตนเอง สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตู มีพื้นที่ดูแล 2 มณฑล 1 มหานคร 1 เขตปกครองตนเอง ดังนี้ มณฑลเสฉวน มณฑลกานซู มหานครฉงชิ่ง และเขตปกครองตนเองหนิงเซียะ แต่ละมณฑลมีนโยบบายดำเนินการในด้านต่างๆโดยสรุป ได้ดังนี้

มณฑลเสฉวน ---สร้างเฉิงตูเป็นศูนย์กลางการแพทย์ โลจิสติกส์ ท่องเที่ยว และอาหาร

นโยบาย "มุ่งตะวันตก" ของรัฐบาลกลางจีนตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้มณฑลเสฉวนพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การประชุมสมัชชาประชาชนมณฑลเสฉวน ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมาได้มีมติให้ดำเนินนโยบายสร้างเมืองเฉิงตูให้เป็นเมืองที่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยและทำงาน ดังนี้

1. เมืองสวนสมัยใหม่ (Chengdu City Modern Garden ) โดยมียุทธศาสตร์ 5 ประการคือ 1.วางแผนพัฒนาเขตเมืองและชนบทของเฉิงตูให้ดียิ่งขึ้น 2. เร่งรัดการส่งเสริมแผน "2 ฮับ 3 ศูนย์กลาง" 3. พัฒนาอุตสาหกรรมให้ก้าวทันสมัย 4. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างสังคมเมืองและชนบท 5. ขยายนโยบายการเปิดเสรีให้มากขึ้น

2. ศูนย์กลางท่องเที่ยว โลจิสติกส์ และอาหารเลิศรส รองผู้อำนวยการสำนักงานกรมการพาณิชย์นครเฉิงตู นาย จาง จินเชียน เปิดเผยว่าเฉิงตูกำหนดแผนพัฒนากิจการภาคบริการ 5 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเฉิงตูให้เป็น 2 เมือง 2 นคร 3 ศูนย์กลาง คือ เมืองแห่งซอร์ฟแวร์ และเมืองแห่งการท่องเที่ยว นครแห่งการจัดแสดงสินค้าและธุรกิจรับเหมาบริการ และนครแห่งวัฒนธรรมความคิดสร้างสรรค์ของจีน ศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ภาคตะวันตก ศูนย์กลางการเงิน ศูนย์กลางเทคโนโลยี ภายในปี 2012 ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าการค้าในธุรกิจบริการของเฉิงตูมากกว่า 3 แสนล้านหยวน สร้างงานมากกว่า 3.6 ล้านคนคิดเป็นอัตราร้อยละ 47 ของตำแหน่งงานในสังคม ซึ่งเขตเมืองศูนย์กลางจะกลายเป็นแกนกลางในการพัฒนากิจการภาคบริการของเฉิงตู แผนพัฒนาดังกล่าวได้แบ่งเขตพัฒนาเมืองตามความโดดเด่นดังนี้ ภาคตะวันออก เมืองอุตสาหกรรมและการค้า ภาคใต้ เมืองแห่งเทคโนโลยีและการค้า ภาคตะวันตก เมืองแห่งการพักผ่อนและสุขภาพ ภาคเหนือ เมืองแห่งธุรกิจการค้า ซึ่งปัจจุบันเฉิงตูมีเขตเศรษฐกิจที่สำคัญเช่น เขตอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจเฉิงตู เขตบริการการแพทย์และการรักษาเมืองเวินเจียง เขตโลจิสติกส์และท่าอากาศยาน เป็นต้น แผนพัฒนากิจการภาคบริการนครเฉิงตูฉบับนี้เป็นฉบับแรก มีเป้าหมายสร้างเฉิงตูให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และเป็นเมืองจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่จีนตะวันตก โดยการพัฒนาระบบโครงสร้างและข้อมูลโลจิสติกส์ขั้นพื้นฐานให้สมบูรณ์ในปี 2012 ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาให้เฉิงตูเป็นเมืองแห่งการค้าส่ง สวรรค์ของนักชอปปิ้ง และเมืองแห่งอาหารเลิศรส ได้สำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

3. เมืองการแพทย์นานาชาติ นายหลี่ ชุนเฉิง เลขาธิการพรรคฯประจำนครเฉิงตู และนายกเทศมนตรีนครเฉิงตู นายเกอ ฮงหลิง ได้จัดประชุมระดมสมองวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองเฉิงตู กับหน่วยงานทุกหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยนายหลี่ ชุนเฉิงได้ให้แนวทางนโยบายการพัฒนาให้อยู่บนพื้นฐานเดิม กำหนดตำแหน่งของตนเองเป็น "เมืองการแพทย์นานาชาติ" ธุรกิจบริการสุขภาพ และอุตสาหกรรมการกีฬาเป็นกระแสใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม มีโอกาสทางการตลาดที่ยังสามารถพัฒนาได้อีกมากมาย สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เมืองการแพทย์นานาชาตินครเฉิงตู เป็น1ในนโยบาย 26โครงการสร้างธุรกิจบริการสมัยใหม่ของนครเฉิงตู เริ่มต้นโครงการตั้งแต่ต้นปี 2009 ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 31.5 ตารางกิโลเมตร งบประมาณการลงทุน 3.4 หมื่นล้านหยวน โดยการสนับสนุนและผลักดันจากรัฐบาลเมือง เวินเจียง เป้าประสงค์เพื่อเป็นฮับศูนย์กลางด้านธุรกิจบริการด้านสุขภาพของจีนตะวันตก เช่น การดูแลรักษา การฟื้นฟู การวิจัยและพัฒนา การศึกษา การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ รวมทั้งกระบวนการของการดูแลสุขภาพ

โครงการฯจะแล้วเสร็จและพัฒนาเป็นศูนย์กลางการรักษาและฟื้นฟูของประเทศจีนแถบตะวันตก ได้ในปี 2012 และตั้งเป้าหมายพัฒนาจนเป็นสถานที่แบบอย่างด้านบริการสุขภาพของประเทศจีนในปี 2016 และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนานาชาติที่สำคัญในปี 2020 โดยมีสโลแกนคือ "การรักษา การแพทย์ และการท่องเที่ยว นานาชาติ"

มณฑลกานซู---คลังแห่งพลังงานลม อุตสาหกรรมผลไม้ ท่องเที่ยวเส้นทางสายไหม

ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมมณฑลกานซู ปี 2009 มูลค่า 2.669 แสนล้านหยวน อาศัยพื้นฐานเศรษฐกิจด้านการเกษตรเป็นสำคัญ นโยบายรัฐบาลมณฑลจึงพยายามสร้างจุดเด่นของตนเอง เพื่อก้าวให้ทันนโยบายการ "มุ่งพัฒนาจีนตะวันตก" โดยได้ออกนโยบาย และหาแนวทางการพัฒนาใหม่ๆเช่น

1. เป็นเขตพลังงานสะอาดที่ใหญ่ที่สุดของจีน นายเฝิง เจี้ยนเซิน (Feng Jianshen) รองผู้ว่าการมณฑลกานซูได้แถลงนโยบายว่า จะทำกานซูให้เป็นมณฑลที่มีการพัฒนาพลังงานสะอาด และเป็นเขตพลังงานสะอาดที่ใหญ่ที่สุดของจีนในอนาคต กานซูถูกขนานนามว่าเป็นคลังแห่งพลังงานลมระดับโลก โดยมีพลังงานลมสะสมถึง 237 ล้านกิโลวัตต์ แต่มีการนำมาใช้ประมาณ 40 ล้านกิโลวัตต์ ตลอดทั้งปีปริมาณแสงแดดส่องอยู่ที่ตารางเมตรละ 5,800 - 6,400 เมกะจูล (Megajoule) และมีแสงแดดต่อปีประมาณ 1,700 - 3,300 ชั่วโมง ตามแผนที่คาดการณ์ไว้ กานซูจะสร้างเขตพลังงานลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าระดับ 10 ล้านกิโลวัตต์จำนวน 1 แห่ง และภายในปี 2563 เขตพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของกานซูจะสามารถติดตั้งระบบการส่งกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลมได้มากกว่า 20 ล้านกิโลวัตต์ พร้อมทั้งติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 3.3 ล้านกิโลวัตต์

2. มณฑลแห่งอุตสาหกรรมผลไม้ ที่ประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมป่าไม้ของจีน ได้จัดการประชุมขึ้นที่เมืองหล่งหนาน และได้แถลงว่า ปัจจุบัน กานซูมีพื้นที่ป่าไม้และสวนผลไม้ ประมาณ 7 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่เพาะปลูกผลไม้ 3.2 ล้านไร่ มีปริมาณผลผลิตของผลไม้นานาชนิดรวมปีละ 4 ล้านตัน รวมมูลค่าประมาณ 7,500 ล้านหยวน โดยได้แบ่งการผลิตตามเขตดังนี้ เขตเมืองเทียนสุ่ย เมืองเจียยู่กวน และเมืองชิ่งหยาง เป็นเขตปลูกแอปเปิ้ลคุณภาพดี นครหลานโจว เขตปกครองตนเองชนชาติหลินเซี่ย เมืองจางเย่ และเมืองจิ่วเฉวียน เป็นเขตปลูกสาลี่คุณภาพดี เมืองจางเย่ เมืองอู่เวย และเมืองจิ่วเฉวียน เป็นเขตปลูกองุ่นเพื่อการหมักไวน์ เมืองหล่งหนานเป็นเขตปลูกวอลนัท เครื่องเทศฮัวเจียวและน้ำมันมะกอก ที่สำคัญคือวิสาหกิจแปรรูปผลไม้ของมณฑลกานซูมีกว่า 180 บริษัท

3. เขตเศรษฐกิจการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ที่ประชุมการดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวนครหลานโจวได้แถลงว่า รัฐบาลนครหลานโจวจะใช้เวลาราว 3 - 5 ปีในการสร้างให้มณฑลกานซูกลายเป็นเขตท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของภาคตะวันตกเฉียงเหนือ โดยจะสร้างเขตเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เพื่อให้นครหลานโจวกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ภายใต้สโลแกน "เมืองแห่งแม่น้ำเหลืองและเมืองแห่งถนนสายไหมที่โดดเด่น"

มหานครฉงชิ่ง เซี่ยงไฮ้แห่งภาคตะวันตก

"ฉงชิ่ง" มหานครแห่งที่สี่ของจีนเป็นเมืองท่าสินค้าแผ่นดินตอนใน (Inland port) ที่สำคัญของจีนมีบทบาทสำคัญในฐานะเมืองศูนย์กลางการค้าและการติดต่อกับฝั่งตะวันออกของจีนโดยการขนส่ง และลำเลียงผ่านทางแม่น้ำแยงซีเกียงสู่ทะเลจีนใต้ ด้วยลักษณะทำเลที่ตั้งอยู่ในเขตตะวันตกของจีน ปัจจุบันรัฐบาลจีนมีนโยบายพัฒนามหานครฉงชิ่งให้เป็น "เซี่ยงไฮ้แห่งภาคตะวันตก" มีการสนับสนุนการลงทุนและพัฒนาฉงชิ่งให้รุดหน้ารองรับกับการขยายตัวและความเจริญด้านเศรษฐกิจ นาย โป ซีไหล เลขาธิการพรรคฯประจำมหานครฉงชิ่งได้ให้นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ 5 ข้อ คือ 1.การพัฒนาหน่วยงานของรัฐให้มีศักยภาพสูง 2.กฎระเบียบที่สะอาดและโปร่งใส 3.ตลาดที่ยุติธรรมและเปิดเสรี 4.นโยบายที่มั่นคงและโปร่งใส 5.สิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่โดยมีโครงการที่สำคัญดังนี้

1. เขตเมืองท่าปลอดภาษีล่าสุดของจีนแห่งที่ 11 โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเขตเมืองท่าให้เป็น ศูนย์กลางที่สามารถให้บริการด้านการค้าการลงทุนอยางครบวงจร โดยการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ การแปรรูป ตัวแทนการขนส่ง โกดังเก็บของ ศูนย์แสดงสินค้าการให้บริการข้อมูล และการให้บริการด้านการเงิน ลฯ นอกจากนี้มาตรการพิเศษด้านภาษีและการควบคุมตรวจสอบที่ให้แก่เมืองท่าปลอดภาษีก็เป็นสิ่งที่ดึงดูดให้นักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนในจีนมากขึ้น โดยมีมาตรการไม่จัดเก็บภาษีส่งออกสำหรับสินค้าที่ขนส่งออกทางเขตเมืองท่าปลอดภาษี หรือการไม่จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีซื้อขายสำหรับการค้าขายระหว่างเขตเมืองท่าปลอดภาษี การยกเลิกใบอนุญาตการนำเข้าส่งออกของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศในเขตเมืองท่าปลอดภาษี รวมถึงการลดขั้นตอนตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐาน สินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่ซับซ้อนยุ่งยากลง เป็นต้น ล่าสุดแผนก่อสร้างเมืองท่าปลอดภาษี"ฉงชิ่งเหลียงลู่ชุ่นทาน"ในระยะแรกในปี 2007 ได้สร้างท่าเทียบเรือขนาดระวางน้ำหนัก 3,000 ตัน 2 แห่ง ซึ่งสามารถขนถ่ายตู้เก็บสินค้าได้จำนวน 2.8แสนตู้/ปี ในระยะที่2 จะมีการสร้างท่าเทียบเรือขนาดระวางน้ำหนัก 3,000 ตัน เพิ่มอีกเป็นจำนวน 4 แห่ง และเมื่อโครงการแล้วเสร็จเมืองท่าแห่งนี้จะกลาย เป็นท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ที่สุดในเขตแผ่นดินตอนในของจีน โดยสามารถขนถ่ายตู้เก็บสินค้าได้จำนวน 2 ล้านตู้/ปี

2. เขตอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหนักที่สำคัญของจีนมาตั้งแต่อดีต อุตสาหกรรมหลักประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์ อาวุธ เหล็ก และอลูมิเนียม รูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมของฉงชิ่งในอดีตใช้วิธีเรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแบบเทคโนโลยีของบริษัทต่างประเทศ (Reverse Engineering) ปัจจุบันรัฐบาลมหานครฉงชิ่งจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อให้บริษัทในพื้นที่สามารถพึ่งพาเทคโนโลยีของตนเองได้มากยิ่งขึ้น เป็นการวางนโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ปัจจุบันฉงชิ่งสามารถผลิตจักรยานยนต์ได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก คือ มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เป็น 1 ใน 6 ของปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ทั่วโลกรูปแบบการดำเนินธุรกิจผลิตส่วนประกอบรถยนต์และจักรยานยนต์ของนครฉงชิ่งเป็นไปในลักษณะคลัสเตอร์ นิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญของนครฉงชิ่งประกอบด้วย Chongqing Economic&Technological Development Zone , Chongqing Hi-tech Industrial Development Zone ,Chongqing Export Processing Zone , Silicon Valley-Chongqing Solfware Develoment Zone

3. ศูนย์กลางการลงทุนในแผ่นดินตอนใน รัฐบาลมหานครฉงชิ่งกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุน วัตถุประสงค์เพื่อต้องการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติในด้านต่างๆ เช่น การสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น การสร้างทางด่วน ท่าเรือ ระบบน้ำอุปโภคบริโภค โรงงานกำจัดของเสียจากภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับพืชสมุนไพร เช่น ส้ม ดักแด้ไหม สุกร ชา - อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องกล เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ชิ้นส่วนและอะไหล่ โดยเน้นเรื่อง R&D อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี และแร่ธาตุ สินค้าเทคโนโลยีชั้นสูง ภาคบริการ เช่น ธนาคาร ประกันภัย โลจิสติกส์ การศึกษา (ยกเว้นการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับการศึกษาภาคบังคับ)

เขตปกครองตนเองชนชาติหุยหนิงเซียะ

การประชุมสมัชชาประชาชนเขตปกครองตนเองชนชาติหุยหนิงเซียะครั้งที่ 10 นายหวัง เจิ้งเวยผู้ว่าการเขตปกครองตนเองหนิงเซียะ ได้แถลงว่าเป้าหมายในปี 2010 ผลิตภัณฑ์มวลรวมเขตฯ หนิงเซียะ ปี 2010 จะเติบโตร้อยละ 10 ( ปี 2009 มูลค่า 1.3346 แสนล้านหยวน) แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตต้องอาศัยจุดเด่นของตนเองในอุตสาหกรรมที่โดดเด่นของหนิงเซียะ ดังนี้

1. ด้านผลิตภัณฑ์และอาหารฮาลาล เขตปกครองตนเองชนชาติมุสลิมหนึ่งเดียวของประเทศจีน ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่มากที่สุดคิดเป็น ร้อยละ 36 ของประชากรในพื้นที่ ได้จัดประชุมสมาพันธ์ผู้ผลิตและประกอบการอาหารฮาลาลและผลิตภัณฑ์มุสลิมแห่งนครหยินชวนครั้งที่ 2 โดยมีการวางแผนรวมกลุ่มผู้ผลิตอาหารฮาลาลในพื้นที่ จัดตั้งองค์กรเพื่อส่งเสริมการตลาดอาหารและผลิตภัณฑ์มุสลิมของหนิงเซียะ เพื่อรุกทำการตลาดอาหารฮาลาลโลก ซึ่งกรมการพาณิชย์หนิงเซียะ มีแผนรุกเปิดศูนย์กระจายสินค้าอาหารและเครื่องใช้ชาวมุสลิมในพื้นที่เป้าหมายคือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกาให้ได้อย่างต่ำปีละ 3 แห่ง ล่าสุดในปี 2009 ที่ผ่านมาได้เปิดศูนย์กระจายสินค้าหนิงเซียะ ในประเทศไทย และมาเลเซีย

2. ด้านพลังงาน สำนักงานอุตสาหกรรมและสารสนเทศแห่งนครหยินชวน เมืองเอกเขตฯหนิงเซียะได้แถลงเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2552 ที่ประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกใหม่ของจีน ได้ขนานนามให้นครหยินชวนเป็น "เมืองแห่งอุตสาหกรรมด้านพลังงานทางเลือกใหม่ของจีนที่คุ้มค่าแก่การลงทุน" ตั้งเป้าหมายให้ปี 2553 ปี 2558 และปี 2563 จะผลิตกำลังไฟฟ้าพลังงานลม 1 ล้านกิโลวัตต์ 3 ล้านกิโลวัตต์ และ 5 ล้านกิโลวัตต์ ตามลำดับ โดยรัฐบาลเขตฯอยู่ระหว่างการกำหนดและปรับปรุงนโยบายและสิทธิพิเศษต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียว (เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) เช่น พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์

3. อุตสาหกรรมเขตทะเลทราย เขตฯหนิงเซียะเป็น1 ใน 4 อันดับของมณฑลที่มีพื้นที่ทะเลทรายมากที่สุดในประเทศจีน มีแนวคิดอุตสาหกรรมขนานใหม่ที่จะนำเอาหลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่าง ๆ มาปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ในเขตทะเลทรายที่แห้งแล้ง โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ตามธรรมชาติทั้งทราย แสงแดด และ ลม มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น ประกาศพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมนำร่องด้วย 7 โครงการต้นแบบขนาดใหญ่แห่งแรกของ "อุตสาหกรรมเขตทะเลทราย" ของประเทศจีน ประกอบด้วย การปลูกพืชสมุนไพรจีนในเขตทะเลทราย การปลูกป่าไม้เศรษฐกิจสำหรับเขตทะเลทราย การปลูกผลไม้ประเภทแตง การพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการเกษตรสำหรับเขตทะเลทราย อุปกรณ์ก่อสร้างที่ใช้ทรายเป็นวัตถุดิบ อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกใหม่ และ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในทะเลทราย

4. การแปรรูปการเกษตร เช่น การแปรรูปขนแพะ เก๋ากี้ เหล้าองุ่น ผลิตภัณฑ์นม และเนื้อวัวเนื้อแกะฮาลาล เขตผลิตขนแพะของจีนที่สำคัญได้แก่ มองโกเลียใน ซินเจียง เหลียวหนิง ส่านซี กานซู หนิงเซี่ย ซานซี ทิเบต และชิงไห่ โดยขนแพะของมอลโกเลียในเป็นขนแพะที่มีคุณภาพดีที่สุด ส่วนขนแพะอำเภอถงซิน เมืองอู๋จงของเขตหนิงเซียะ ถูกขนานนามว่าเป็น "เมืองแห่งขนแพะ" เพราะเป็นเขตจำหน่ายขนแพะดิบที่ใหญ่ที่สุดของจีน และเมื่อปี 2549 เมืองหลิงอู่ เป็นอีกเมืองที่ถูกขนานนามว่า "เมืองแห่งอุตสาหกรรมขนแพะคุณภาพยอดเยี่ยมของจีน" ผลิตภัณฑ์เมล็ดเก๋ากี้เป็นอุตสาหกรรมหลักอันโดดเด่นของเขตหนิงเซียะ ในปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูก ประมาณ 208,333 ไร่ ถือเป็นฐานผลิตและค้าส่งผลิตภัณฑ์เก๋ากี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าการผลิตถึง 1500 ล้านหยวนต่อปี และมีการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ของจีน ในปี 2552 หนิงเซียะมียอดรวมการส่งออกเมล็ดเก๋ากี้อบแห้ง 17.88 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ น้ำเมล็ดเก๋ากี้ 2.4 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์เก๋ากี้ที่ส่งไปทวีปยุโรป 14.26 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ