รายงานตลาดข้าวในออสเตรเลีย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 21, 2010 17:17 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. นโยบายข้าว

ออสเตรเลีย เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก รวมทั้งข้าว โดยมีการผลิตในประเทศและส่งออก ในขณะที่มีการนำเข้าเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ ออสเตรเลียนำพันธุ์ข้าวจากหลายประเทศมาพัฒนาและขยายพันธุ์เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศได้ รวมไปถึงข้าวหอมมะลิของไทย และข้าวบาสมาติของอินเดียแต่ปัจจุบันมุ่งเน้นการปลูกข้าวขาวประเภทข้าวขาวเมล็ดกลางแทบทั้งหมด โดยจะเรียกว่าเป็นข้าวขาวเมล็ดยาว (Long grain white rice) แต่จะมีลักษณะสั้น ป้อม เมื่อหุงแล้วนุ่มกว่าข้าวเมล็ดยาวของไทย และเป็นคู่แข่งสำคัญสำหรับข้าวขาวของไทย ในขณะที่สำหรับข้าวหอมมะลิแทบจะไม่มีการปลูกและหันมาพึ่งการนำเข้าจากไทย

ออสเตรเลียเริ่มปลูกข้าวได้ในปี1914 แม้ว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวแห่งใหม่ แต่ออสเตรเลียก็เป็นประเทศที่มีผลผลิตต่อพื้นที่สูงที่สุดในโลก (เฉลี่ย 9 ตัน/เฮกเตอร์) และมีการใช้น้ำในการเพาะปลูกน้อยที่สุดในโลก ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาโดย สมาคมผู้ปลูกข้าว (Rice Grower Association) ปีละประมาณ 18 ล้านเหรียญออสเตรเลีย และจากหน่วยงานวิจัยและพัฒนาชนบทรัฐบาลออเตรเลีย (The Rural Industries Research and Development, the Australian Government) ปีละ 500,000 เหรียญออสเตรเลียเป็นระยะเวลา 7 ปี

ในระยะยาว รัฐบาลกลางและ The Department of Primary Industries ของออสเตรเลียมีแผนที่ทดลองปลูกข้าวในพื้นที่แห้ง (dry land rice) และพัฒนาชายฝั่งทางตอนเหนือให้เป็นเขตเพาะปลูกข้าวแห่งใหม่ เพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศและการส่งออกในอนาคต

2. สถานการณ์ข้าวในประเทศและปัญหา

ออสเตรเลียยังไม่สามารถผลิตข้าวได้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ เนื่องจากเป็นประเทศที่ประสบกับภาวะแห้งแล้งบ่อยครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของออสเตรเลีย ได้แก่ Murrumbidgee และ Murray valleys รัฐนิวเซาท์เวลส์และส่วนหนึ่งจากรัฐวิคตอเรีย ฤดูกาลเพาะปลูกของออสเตรเลียอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม-มีนาคม

3. การผลิต

1.1 พื้นที่

ออสเตรเลียมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 150,000 เฮกเตอร์

1.2 ปริมาณและผลผลิต

ออสเตรเลียมีปริมาณการผลิตข้าวโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 1.2 ล้านตัน อย่างไรก็ตามเมื่อปี 2551 ออสเตรเลียสามารถผลิตได้เพียง 19,000 ตัน ซึ่งน้อยที่สุดในรอบ 80 ปี ลดลงถึงร้อยละ 99 ของผลผลิตที่ผลิตได้สูงที่สุด 1.64 ล้านตันในปี 2544 และร้อยละ 90 ของปี 2550(โดยผลผลิตเกือบทั้งหมดเป็นข้าวเมล็ดกลาง) ทั้งนี้ เนื่องจากออสเตรเลียประสบปัญหาภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรงหลายปีติดต่อกัน เกษตรกรหลายรายหันไปปลูกผลผลิตทางเกษตรอื่น เช่น องุ่นสำหรับไวน์ และข้าวสาลี ซึ่งใช้น้ำในการเพาะปลูกน้อยกว่า ส่งผลให้การผลิตข้าวในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการในประเทศ นอกจากนี้ ข้าวเป็นพืชที่ทำรายได้ได้น้อยกว่าข้าวสาลีและสินค้าเกษตรอื่น

อย่างไรก็ตามในปี 2551/52 สถานการณ์ภาวะความแห้งแล้งของออสเตรเลียดีขึ้นทำให้ผลผลิต เพิ่มขึ้นเป็น 63,000 ตัน โดยใช้พื้นที่เพาะปลูก 8,100 เฮกเตอร์ เป็นการส่งออก 22,700 ตัน (ร้อยละ 36 ของปริมาณที่ผลิตได้)

4. การบริโภค

4.1 ปริมาณ

ความต้องการบริโภคข้าวในประเทศของออสเตรเลียเฉลี่ยประมาณปีละ 215,000 ตัน แบ่งเป็นตลาดผู้บริโภค 60 % Food Service Sector 40 %

4.2 ประเภทข้าวและความนิยม

4.2.1 ชนิดข้าว

โดยปกติข้าวไม่ได้เป็นอาหารหลักของชาวออสเตรเลีย แต่ด้วยปัจจัยเรื่องการอพยพย้ายถิ่นของประชาชนจากประเทศที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ประกอบกับความนิยมในร้านอาหารเอเชีย เช่น ไทย จีน อินเดีย ทำให้ชาวออสเตรเลียเริ่มคุ้นเคยกับการบริโภคข้าวข้าวที่บริโภคทั่วไปในประเทศ มีทั้งข้าวเมล็ดกลาง ซึ่งเป็นที่นิยมของ

ชาวออสเตรเลียเชื้อสายคอเคเซียน ข้าวหอมมะลิและข้าวขาวซึ่งความต้องการส่วนใหญ่มาจากร้านอาหารไทย ร้านอาหารเอเชีย และกลุ่มผู้บริโภคชาวเอเซีย(เช่น จีน เวียตนาม ฯลฯ) ข้าวบาสมาติเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้อพยพหรือผู้มีเชื้อสายจากอินเดีย ปากีสถาน และตะวันออก-กลาง ข้าวนึ่งสำหรับผู้บริโภคจากแอฟริกา และตะวันออกกลางบางประเทศ และข้าวเหนียวสำหรับกลุ่มร้านอาหารเอเชียและจีน

สำหรับข้าวกล้อง เริ่มเป็นที่รู้จักและนิยมในหมู่ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ แต่เนื่องจากปัญหาด้านมาตรการสุขอนามัยทำให้การนำเข้าข้าวกล้องเป็นเรื่องยุ่งยากข้าวกล้องที่มีจำหน่ายในตลาดจึงเป็นข้าวในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และมีความหลากหลายของสินค้าน้อยมาก

4.2.2 ลักษณะการบรรจุ (Packaging)

ตลาดคอเคเชียน นิยมข้าวบรรจุถุงขนาด 1-2 กิโลกรัม/5 กิโลกรัมเนื่องจากไม่ได้รับประทานเป็นอาหารประจำ ส่วนตลาดเอเชียจะนิยมขนาด 10/20/25 กิโลกรัมทั้งนี้ สำหรับขนาด 20/25 กิโลกรัม ส่วนใหญ่จะจำหน่ายในร้าน Asian Grocery

นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่เป็นข้าวสำเร็จรูปพร้อมรับประทานบรรจุใน Retort pouch หรือในกล่องพลาสติกขนาดรับประทานประมาณ 1-2 serve ซึ่งสามารถเก็บในอุณหภูมิปกติ(ไม่ต้องแช่แข็ง) และสามารถเตรียมการรับประทานโดยใช้ไมโครเวฟเพียง 1 นาทีครึ่ง-2 นาทีเท่านั้น มีทั้งในรูปของข้าวขาวธรรมดา ข้าวปรุงรส และข้าวผัด รวมถึงข้าวสำเร็จรูปแช่แข็ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นนิยมอย่างมากสำหรับกลุ่มผู้บริโภคชาวคอเคเชียนที่ไม่ต้องการยุ่งยากกับการหุงข้า

5. การจัดจำหน่าย

5.1 ช่องทางการจัดจำหน่าย

อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่ซุปเปอร์มาร์เกตรายใหญ่จะหันมานำเข้าเองโดยตรงภายใต้ Private Brand กันมากขึ้น

ผู้ค้าข้าวรายใหญ่ในออสเตรเลียได้แก่ Sunrice ซึ่งเป็น Marketing Arm ให้กับสหกรณ์ผู้ผลิตข้าวของออสเตรเลีย (Ricegrowers’ Association of Australia Inc. ) ในลักษณะกึ่งผูกขาดเป็นผู้มีอิทธิพลมากในการจำหน่ายในตลาดออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิค ภายใต้ยี่ห้อ Sunrice and Sunlongโดยข้าวที่จำหน่ายและเป็นข้าวออสเตรเลียส่วนใหญ่เป็นข้าวขาว ข้าวกล้อง ส่วนข้าวหอมมะลิ และข้าวขาวเมล็ดยาว รวมทั้งข้าวหุงสำเร็จในรูป Retort Pouch บริษัท Sunrice นำเข้าจากไทยภายใต้แบรนด์ของบริษัทฯ

นอกจากนี้ ยังมีข้าวไทยที่คาดว่าส่งออกไปยังประเทศที่ 3 เพื่อทำการบรรจุถุงภายใต้ brand นั้นๆ และส่งมาจำหน่ายในออสเตรเลีย เช่น ข้าวหุงสำเร็จบรรจุกล่องพลาสติกของ Sunrice :ซึ่งนำข้าวไปบรรจุในไต้หวัน เป็นต้น

5.2 ราคาจำหน่ายในประเทศ

ราคาข้าวขาวไทยนำเข้าประมาณตันละ 608.50 เหรียญสหรัฐ/ตัน (2551/52) โดยข้าวหอมมะลิบรรจุถุงกิโลกรัมละประมาณ 3 เหรียญ และข้าวขาวประมาณ 2.50 เหรียญออสเตรเลีย ส่วนข้าวหุงสำเร็จอยู่ที่ประมาณ 2-3 เหรียญต่อถุง (ประมาณ 275 กรัม)

6. การนำเข้า/ส่งออก

6.1 การนำเข้า

ออสเตรเลียมีแนวโน้มการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นทุกปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละประมาณร้อยละ 10 คิดเป็นปริมาณนำเข้าประมาณ 120,000 ตัน/ต่อปี ในปี 2552 ออสเตรเลียนำเข้าข้าวทุกประเภทรวมทั้งสิ้นประมาณ 204,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 187 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 9.9 โดยส่วนใหญ่เป็นข้าวที่สีแล้วและอีกเล็กน้อยที่เป็นข้าวหัก การนำเข้าจากไทย ในปี 2552 ประมาณ 125,000 ตัน เป็นมูลค่าประมาณ 101 ล้านเหรียญฯ โดยไทยสามารถครองตลาดข้าวนำเข้าได้ร้อยละ 61 โดยปริมาณ(หรือร้อยละ54 โดยมูลค่า) แหล่งนำเข้าอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ (12.5%) ปากีสถาน (9.5%) อินเดีย (7%) จีน (3.1%) เวียตนาม (12.5%) สเปน (2.4%) เป็นต้น

6.2 การส่งออก

การส่งออกของออสเตรเลียค่อนข้างไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับภาวะผลผลิต โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเคยส่งออกสูงสุดในปี 2549 เป็นมูลค่า 163 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 318,500 ตัน และน้อยที่สุดในปี 2552 เป็นมูลค่า 24 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 17,300 ตัน โดยตลาดส่งออกสำคัญอยู่ที่ ตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น และฮ่องกง

7. กฎระเบียบการนำเข้าข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าว

เงื่อนไขการนำเข้าข้าวเพื่อการค้า มีดังนี้

1. ไม่ต้องขอใบอนุญาตนำเข้า

2. สินค้าต้องปลอดจากดิน แมลงมีชีวิต โรค (disease symptoms) เมล็ดพืช และสิ่งปนเปื้อนต่างๆ

3. หากมีเมล็ดพืชอื่นๆเจือปนจะต้องไม่เกินค่าที่กำหนดไว้ (เอกสารแนบ)

4. สินค้าทุกชนิดต้องผ่านการตรวจสอบเมื่อถึงออสเตรเลีย ก่อนนำออกสู่ตลาด

กระบวนการตรวจสอบและกักกัน (Quarantine Procedure):

5. สินค้าจะถูกสุ่มตรวจปริมาณข้าวเปลือก (paddy grain) ตามมาตรฐาน I.S.T.A. โดยทุกชิปเมนต์จะถูกสุ่มตรวจประมาณ 14 กิโลกรัม โดยจะต้องไม่มีข้าวเปลือกเกิน 5 เมล็ด/กิโลกรัม หรือ 70 เมล็ด/14 กิโลกรัมหากสุ่มตรวจพบเกินกว่าจำนวนที่กำหนด สินค้าจะถูกกักไว้เพื่อปรับเกรดหรือทำความสะอาด (re-graded หรือ cleaned) ณ สถานที่ที่ได้รับการรับรองจาก AQIS หรือ ทำการ devitalisation โดยวิธีการ moist heat หรือ re-export หรือ ทำลายสินค้า โดย ผู้นำเข้าต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย และหากเป็นวิธีการ regraded จะต้องถูกสุ่มตรวจอีกครั้งหนึ่ง

6. สินค้าจะถูกสุ่มตรวจการปนเปื้อนของเมล็ดพืชต่างๆ โดยปริมาณการสุ่มตรวจขึ้นกับดุลยพินิจของ AQIS ซึ่งขึ้นกับความสะอาดของแต่ละชิปเมนต์ หากสงสัยว่าจะมีการปนเปื้อนของเมล็ดพืชหรือดิน สินค้าจะถูกสุ่มตรวจตามมาตรฐานของ I.S.T.A. และนำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ โดยสินค้าจะถูกกักกันจนกว่าจะทราบผล และหากสิ่งปนเปื้อนเกินกว่าค่าที่กำหนด ผู้นำเข้าสามารถเลือกที่จะ re-export หรือ ปรับเกรดหรือทำความสะอาด (re-graded/cleaned) ณ สถานที่ที่ได้รับการรับรองจาก AQIS เพื่อให้ค่าการปนเปื้อนอยู่ในช่วงที่สามารถยอมรับได้ หลังจากนั้นจะถูกสุ่มตรวจอีกครั้ง และหากผลวิเคราะห์ปรากฏว่าค่าการปนเปื้อนอยู่ในช่วงที่ยอมรับได้ สินค้าก็จะได้รับการปล่อยอนึ่ง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาด การปรับเกรดหรือการทำลายสินค้าของออสเตรเลียมีมูลค่าสูง ดังนั้นผู้นำเข้าส่วนใหญ่นิยมเจรจาให้ผู้ส่งออกไทยรับคืนสินค้า (re-export) ไปแทน

7. การขนส่งโดยคอนเทนเนอร์ชนิดตู้เต็ม (Full Container Loads)

  • หากบรรจุภัณท์ เป็นไม้จะต้องผ่านการตรวจและ treatment ยกเว้นหากมีการรับรองว่าได้รับการ treatment ตามวิธีของ AQIS
  • จะต้องมีใบรับรอง Phytosanitary Certificate และใบรับรองความสะอาดและใบรับรอง Fumigation Certificate สำหรับตู้เปล่าจาก Accredited Fumigator ซึ่งผู้ส่งออกไทยสามารถขอรายชื่อได้จากกรมวิชาการเกษตรไทย
  • หากตู้คอนเทนเนอร์ถูกต้องตามระเบียบที่กำหนดจะถูกส่งตรวจตามข้อ 5-6 โดยสินค้าที่เป็น Bulk Rice จะมีวิธีการตรวจสอบที่ยุ่งยากกว่า Bagged Rice
  • หากตู้คอนเทนเนอร์ไม่ถูกต้องตามระเบียบที่กำหนดจะถูก unpack และตรวจสอบทั้งหมด
  • นอกจากนี้ สินค้าตู้เต็มจะต้องมี Packer’s Declaration ว่าตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้บรรจุนั้นสะอาด และปราศจากสิ่งปลอมปนจากพืช สัตว์และดิน
  • ต้องแสดง Official International Phytosanitary Certificate สำหรับสินค้าเกษตร ทันที ก่อนที่จะมีการโหลดสินค้า

ทั้งนี้ ก่อนส่งออกผู้ประกอบการไทยควรศึกษากฎระเบียบนำเข้าเพื่อความแน่ชัดอีกครั้ง เนื่องจาก AQIS มีการปรับเปลี่ยนระเบียบเป็นระยะ (www.aqis.gov.au)

สำนักงานส่งเสริมการค้า ณ นครซิดนีย์

ที่มา: http://www.depthai.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ